X clusive การเมือง หนูสไตล์ อนุทิน ชาญวีรกูล I don’t care วัยรุ่น-วัยเรียน-วัยเปลี่ยนชีวิต

รายงานพิเศษ | พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์

 

X clusive

การเมือง หนูสไตล์

อนุทิน ชาญวีรกูล

I don’t care

วัยรุ่น-วัยเรียน-วัยเปลี่ยนชีวิต

 

“อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เล่าชีวิตในวัยเยาว์ว่า เป็นเด็กทั่วไปแบบคนอื่น ถึงแม้จะเกเร ขี้เกียจเรียนบ้าง โดดเรียนบ้าง แต่เป็นคนที่มีเพื่อนเยอะ ชอบทำกิจกรรม เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนก็จะถนัดมากหน่อย

ตอนเรียนไม่ใช่สายตั้งใจเรียน แต่มีนิสัยที่ชอบช่วยเหลือคน จนมีเพื่อนเยอะ

ชีวิตตอนนั้นก็ต้องยอมรับว่าเราไม่เอาถ่าน จนวันที่ประกาศผลเอนทรานส์ เราเอนท์ไม่ติด เราก็เห็นแววตาของความผิดหวังจากพ่อแม่เป็นครั้งแรก ก็ทำให้เป็นจุดเปลี่ยนที่เริ่มทำให้เรามีสำนึก เลยขอกับพ่อว่าจะไปเรียนเมืองนอก

ผมพูดกับท่านว่า “จะต้องแก้ตัว จะไม่เรียนแค่ให้จบ ถ้าที่บ้านทำกิจการเกี่ยวกับวิศวกรรมก็ขอเป็นวิศวกร” การไปเรียนเมืองนอกก็เป็นโอกาสเดียวที่เราจะเปลี่ยนมาเรียนสายวิทย์ก่อน 1 ปีได้

สำหรับการใช้ชีวิตอยู่อเมริกามากว่า 6 ปี ถือว่าเป็นการใช้ประสบการณ์ชีวิตแบบเต็มๆ ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ได้เปลี่ยนชีวิตและกลับมามีอนาคตที่ดีทางด้านธุรกิจ และการเมือง ตอนใช้ชีวิตอยู่นั่นเราก็ไม่มีสิทธิพิเศษใดๆ เลย ต้องบริหารชีวิตตัวเองให้อยู่ให้ได้ เงินก็ไม่พอ ต้องทำงาน ทำทุกอย่าง ทั้งเสิร์ฟอาหาร ผู้ช่วยเชฟ ส่งพิซซ่า ฯลฯ ทำให้รู้ว่ากว่าจะได้มาแต่ละบาทมันเหนื่อย

อเมริกาดีอย่างคือถ้าคุณไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมายก็ไม่ต้องอาย ก็ถือว่าเป็น “มหา’ลัยชีวิต” ทำให้เหมือนได้ปริญญาสองใบ ทั้งวิศวะ และมหา’ลัยชีวิต

อีกหนึ่งอย่างที่เราเรียนรู้มาจากอเมริกา คือที่นั่นเราพูดคำว่า I don’t care ได้อย่างไม่อึดอัดใจ แต่ไทยพูดไม่ได้ แต่การที่ผมติดนิสัยนี้มามันก็ดีอย่าง คือมันทำให้เราสบายใจ เช่น เรามีปัญหาทั้งจากคนอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเรา

ประสบการณ์เรียนรู้จาก “คนการเมือง”

ในวงจรชีวิตผมก็จะมีอยู่สามสี่คนคือ คุณเนวิน คุณศักดิ์สยาม แล้วก็มีอีกคนคือคุณกนกศักดิ์ ปิ่นแสง เปรียบเสมือนเป็นพี่ใหญ่ กลายเป็นมากกว่าเรื่องการเมือง ความเป็นพี่น้อง เป็นครอบครัว ช่วงที่เจอปัญหาก็มีคนเหล่านี้คอยผลักดัน คอยเป็นกำลังใจ เชื่อไหมว่าคนที่พาลูกผมเข้าไปเรียนที่อังกฤษ คือคุณเนวิน ชิดชอบ เขาหาโรงเรียนให้เสร็จสรรพ เมื่อถามว่า “ระหว่างคุณอนุทิน กับคุณเนวิน ใครเด็ดขาดกว่ากัน?” เสี่ยหนูตอบทันที ว่ากันตามจริง เมื่อถึงเวลา ต้องถึงจุดที่ถอยกลับไม่ได้แล้ว ผมคิดว่าผมมากกว่า

ส่วนการได้ร่วมงานกับคนหลายคนที่ถือได้ว่าเป็นหัวหน้ารัฐบาล อย่างคุณทักษิณ ชินวัตร พล.อ.ประยุทธ์ ได้เรียนรู้จุดเด่นอะไรนั้น? อนุทินตอบว่า อย่างนายกฯ ทักษิณไม่ต้องพูดอยู่แล้วว่าเด่นยังไง ทุกเรื่องที่ท่านทำก็เด่นหมด ท่านเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในด้านการงานอย่างสูงมาก ทั้งด้านครอบครัวเองก็สูง เรื่องความเป็นผู้บังคับบัญชาถือว่าท่านเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีคนชอบเสี้ยมให้ผมไปปะทะกับท่านอยู่เรื่อย ผมทำไม่ได้ ผมไม่เคยหลุดจากตำแหน่งรัฐมนตรีเลยในรัฐบาลของท่าน ครอบครัวผม ลูกๆ ผมก็ได้รับความเมตตาจากท่านหมด

เรื่องวิถีทางการเมืองก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ส่วนของบุญคุณมันถอนไม่ออก ไม่ว่าใครจะมาบอกให้ผมไปชนกับท่านผมทำไม่ได้ สิ่งที่เรียนรู้มาจากท่านก็เยอะ อย่างเรื่องความเด็ดขาด บางครั้งที่ดูว่าท่านเด็ดขาดเหมือนเป็นกระบี่แล้งน้ำใจ บางทีก็จำเป็นต้องทำแบบนั้น

ส่วนที่เคยบินไปเคลียร์ใจกับคุณทักษิน ในช่วงหลังรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น ไม่เชิงเคลียร์ใจ แต่มันมีเหตุที่ต้องพบกัน แต่แน่นอนว่าเวลาเราเจอผู้ใหญ่ เรื่องไหนที่ทำให้ท่านไม่พอใจ ขัดเคืองใจก็ต้องขออภัย เรื่องนี้ผมสามารถพูดได้อยู่แล้ว การเมืองหลังจากที่ไม่มีพรรคไทยรักไทยแล้ว เราก็ต้องเลือกเส้นทางที่เราสบายใจทำงานได้ เราอาจไม่ชอบใจอะไรบางอย่างในบ้านเก่าของเรา แต่ตอนนั้นยังมีท่านทักษิณเป็นหัวหน้าอยู่เลยไปไหนไม่ได้

สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จุดเด่นของท่านลึกๆ แล้วท่านก็เป็นคนตรงไปตรงมา เปิดเผย และให้เกียรติผู้อื่น ท่านรับฟังข้อเสนอเวลาเราไปหารือกับท่านทุกเรื่อง แต่ก็ต้องรู้ว่าเรื่องไหนขอได้ไม่ได้ก็เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ในการอยู่ด้วยกัน สิ่งหนึ่งที่ผมต้องตอบตัวเองตลอดตอนที่ผมมีบทนำในทางการเมืองแล้ว คือผมต้องศึกษาทุกท่าน แล้วก็ต้องสรุปมาอย่างหนึ่งคือ คนที่จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้ต้อง 1.ต้องไม่ชั่ว 2.มีความสามารถ 3.มีความหวังดีต่อบ้านเมืองและประชาชน

เป็นคุณสมบัติพื้นฐานเพื่อที่ผมจะสามารถพูดคุยหารือ ให้เกียรติซึ่งกันและกันได้

 

ภูมิใจไทยกับการเป็น “หมู่บ้านกระสุนตก”

เป็นเรื่องปกติของการแข่งขัน นี่คือการแข่งขันเพื่อช่วงชิงอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ผมเชื่อว่าภูมิใจไทยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน เมื่อมีสถานการณ์คับขันอย่างโรคระบาดโควิด เราก็สามารถประคับประคองแก้ไขสถานการณ์ จนทำให้ประเทศของเรามีความมั่นคงทางสาธารณสุขมากกว่าสมัยก่อนมีโควิด และทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่เปิดประเทศได้อย่างเต็มที่ เศรษฐกิจในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่เจ็บหนักที่สุดสามารถกลับมาอย่างก้าวกระโดด เป็นสิ่งที่ใครจะพูดยังไงก็ตาม “นี่คือผลงานของพรรคภูมิใจไทย”

ถ้าพูดแบบ I don’t care เรื่องที่พรรคโดนโจมตีจากหลายฝ่าย การที่มีคนคิดว่า “เราเป็นคู่แข่ง” มันดีสำหรับเราหรือมันร้ายสำหรับเรา?

พรรคภูมิใจไทยไม่เคยคิดว่าใครเป็นคู่แข่ง ถ้าสังเกต ในการปราศรัยทุกครั้งไม่เคยมีครั้งไหนที่ภูมิใจไทยขึ้นบนเวทีแล้วกล่าวให้ร้ายพรรคอื่น พรรคอื่นจะเป็นยังไง มีสไตล์การทำงานอย่างไร “Not my business”

ส่วนคุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่มีปัญหากับพรรคนั้น อันนั้น Never cared

 

เป้า ส.ส.พรรคภูมิใจไทย

การจะบอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคจะได้ ส.ส.มากี่คน เท่ากับพรรคไปก้าวล่วงประชาชน เป้าหมายต้องมีอยู่แล้ว แต่การออกมาพูดว่าจะได้กี่คน พี่น้องประชาชนจะมองว่าเราลืมตัว ตอนนี้เราก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

ส่วนการจับมือกันใคร ผมจะตอบได้ก็ต่อเมื่อผมทราบผลลัพธ์ของการเลือกตั้ง ผมจะตัดสินใจในทางที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน และจะไม่มีวันหักหลังพี่น้องประชาชน

ผมรับรองได้ว่า ผมจะไม่คิดถึงใครนอกจากประเทศไทยและประชาชน

ถ้าประชาชนเลือกผมมามาก คำตอบมันก็ชัดเจน ตอนนี้ไม่มองส่วนอื่นนอกจากคนที่ประชาชนเลือกเข้ามา การเลือกตั้งในครั้งนี้ส่วนที่เลือกผู้แทนฯ เขตก็ว่ากันไป แต่สำหรับบัตรใบที่ 2 บัตรปาร์ตี้ลิสต์นั้น มองว่านั่นคือการเลือกนายกฯ แล้ว เบื้องต้นต้องได้ 25 เสียก่อน พรรคไหนไม่ถึงก็ต้องตัดออกไป และกระแสต่างๆ จากนั้นก็จะตัดออกไปทีละคนสองคน สุดท้ายก็คงเหลือไม่เกิน 3 คน

ผมว่าผมเป็นหนึ่งในนั้น ที่เหลือจะเป็นการตัดสินใจของพี่น้องประชาชน

พูดง่ายๆ “ถ้าอยากให้อนุทินเป็นนายกฯ ก็เลือกภูมิใจไทย ถ้าอยากให้ท่านนายกฯ ทักษิณกลับมาก็เลือกคุณอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร”

ส่วนครั้งที่แล้ว ‘เพื่อไทย’ เคยเสนอให้ผมเป็นนายกฯ แล้วทำไมถึงไม่รับ นั้นก็เพราะบริบทตอนนั้นมันต่างกัน ตอนนั้นประเทศไทยกำลังเป็นยุคที่เปลี่ยนผ่านจาก คสช. มันยังมี ม.44 อยู่จนกว่ารัฐบาลชุดใหม่ ถ้ามันไม่เป็นไปตามนั้น ม.44 สามารถยกเลิกการเลือกตั้งได้ ถึงแม้ท่านหัวหน้า คสช.จะบอกว่าไม่เคยคิดจะทำ มันคนละบริบทกัน วันนั้นถ้าผมอยากเป็นนายกฯ ก็เป็นได้ แต่ผมว่าประเทศบรรลัย ไปก็ไปได้ไม่กี่น้ำ และความวุ่นวายทุกๆ อย่างจะเกิดขึ้น รวมถึง คสช.ก็จะได้อยู่ต่อ

“เพราะฉะนั้น การที่บอกว่าผมสนับสนุน คสช. สนับสนุนเผด็จการ คิดดีๆ นะครับ ผมเป็นคนปิดเกมนะครับ” รัฐบาลตั้งได้เพราะภูมิใจไทยตัดสินใจเข้าร่วม เพื่อให้ระบบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยสิ้นสุดลง

 

มุมชีวิตส่วนตัว กับโครงการ “หัวใจติดปีก”

ผมชอบการขับเครื่องบินก็เหมือนเด็กวัยรุ่นที่ชอบความผาดโผน มีคนบอกว่าผมดูไม่มีอะไรให้ต้องซีเรียส จริงๆ มันก็มี แต่มันมีที่ให้ระบายออก นั่นคือการขับเครื่องบิน

มันก็เหมือนนั่งสมาธิ มันต้องมีสมาธิ คิดตลอดเวลาว่าเราจะทำยังไงให้เรากับเครื่องบินลอยอยู่บนฟ้าจนถึงที่หมายปลายทาง

พอเราบินมากๆ มันก็เริ่มเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ผมก็จะกลายเป็นคนที่ What if ตลอด

ส่วนหัวใจติดปีกนั้น เกิดจากการที่เรามีเพื่อนเป็นหมอ “คุณหมอพัชร อ่องจริต” หมอเขาเป็นทั้งเพื่อนเที่ยว เพื่อนนั่งเครื่องบินที่ผมขับ มีวันหนึ่งหมอเขาก็โทร.มาว่า “เกิดกรณีฉุกเฉินต้องไปอุดรธานีมีผู้เคราะห์ร้ายที่สมองตายแล้ว ญาติต้องการบริจาคหัวใจ ซึ่งหัวใจที่ออกมาจากตัวแล้วจะมีเวลาอยู่ 4 ชั่วโมงต้องนำส่งไปที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ซึ่งถ้ารอไฟลต์บินพาณิชย์ช่วงเช้าไม่ทันแน่” ทุกนาทีเซลล์ต่างๆ มันก็เริ่มด้อยลงไป

การบินภารกิจนี้ครั้งแรกตอนนั้นคือวันที่ 24 ธันวาคม ปี 2557 เวลาประมาณหนึ่งทุ่ม หมอเขาโทร.มา ผมก็ไปทันที เพราะเป็นสิ่งที่อยากทำ ตั้งแต่นั้นมาผมก็บอกหมอว่าผมขอรับเหมาภารกิจนี้ตลอด ไม่ต้องกังวลอีกแล้วถ้ามีเคสแบบนี้ เวลาไหนก็โทร.มาได้เลย จังหวัดที่ผมไปแล้วรู้สึกดีมากๆ คือจังหวัดที่มันไม่ค่อยมีไฟลต์บินอย่างบุรีรัมย์ตอนห้าทุ่ม หรือสกลนครตอนเช้าตรู่ นอกจากหัวใจ บางทีก็มีอวัยวะอื่นๆ ที่เขาฝากมาบ้าง เราก็รู้สึกว่า “ตัวเรามีคุณค่าเหมือนกัน” ได้ทำอะไรที่อยากทำแล้วก็เป็นประโยชน์ ที่ตอนนี้ก็ทำไปประมาณ 60 กว่าเคสแล้ว

ผมขอเก็บความรู้สึกตรงนี้ไว้ เรื่องตรงนี้อยากเก็บไว้เอง เป็นมุมส่วนตัว อันนี้อาจเป็นอานิสงส์ที่ทำให้ผมได้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ พอทำมาเรื่อยๆ ผมรู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ ไม่เคยปฏิเสธแม้แต่เคสเดียว

สมมุติโทร.มาตอนนี้ผมคงต้องยกมือไหว้ แล้วเดินออกกลางการสัมภาษณ์เลย แล้วพรุ่งนี้จะมาอธิบายว่าทำไมอยู่ๆ ถึงเดินออกไป…

ชมคลิปรายการ