จากกติกาฉ้อฉล สู่ประชาธิปไตยเพ้อฝัน

เหยี่ยวถลาลม

 

จากกติกาฉ้อฉล

สู่ประชาธิปไตยเพ้อฝัน

 

กว่า 2,500 ปีก่อน “พิธากอรัส” นักคณิตศาสตร์และนักปรัชญากรีก ผู้มีอายุในช่วงก่อนพุทธศักราช 27-พุทธศักราช 46 บอกว่า ปฐมธาตุของโลกคือ หน่วย (Unit) และจำนวนเลข คือลักษณะสำคัญที่สุดของสรรพสิ่งในโลก

ไม่รู้จะเรียก ความฝันหรือเพ้อฝัน

พิธากอรัส ไปไกลถึงขั้นรวมกลุ่มผู้คน จัดตั้งสมาคม บัญญัติกติกาห้ามกินถั่ว ห้ามกินเนื้อสัตว์ เป็นปฏิบัติวิถีเพื่อ “ความหลุดพ้น”

ถัดมา “เฮราคลีตุส” ร่วมยุคใกล้ๆ พิธากอรัส ตั้งทฤษฎีว่า ความเปลี่ยนแปลงคือคุณลักษณะที่แท้จริงของสรรพสิ่ง ทุกสิ่งในโลกไม่มีความเที่ยงแท้ หรือคงที่ – นี่ก็ไปไกล

ยุคต่อมา “โสเครติส” ผู้อุทิศชีวิตสังเวยให้กับความรู้จนในที่สุดถูกศาลเอเธนส์พิพากษา “ประหารชีวิต” ฐานมอมเมาเยาวชน ไม่นับถือเทพเจ้าประจำชาติ ทำลายกฎหมาย ประเพณี และวัฒนธรรมของเอเธนส์ ทั้งที่ปรัชญาของโสเครติส คือ การใช้วิภาษวิธีเป็นเครื่องมือค้นหาความรู้

 

จะว่าไปแล้ว มนุษย์เป็นสัตว์ที่ช่างฝันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ และก็ด้วย “ความฝัน” และความเพียรพิสูจน์ในสิ่งที่ฝันทำให้มนุษย์ได้ค้นพบความรู้ สั่งสมประสบการณ์จนสามารถก่อร่างสร้างอารยธรรม

ระเบียบหรือกฎหมายก็เป็นอารยธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดจากความคิดฝันที่อยากจะเห็นผู้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและสันติ

ความคิดฝันทางด้านกฎหมาย มีพัฒนาการยาวนานควบคู่กับปรัชญาทางการเมือง

เชื่อว่าหลายคนต้องเคยได้ยินคำกล่าวนี้ “คนเสมอภาคภายใต้กฎหมายเดียวกัน”

นั่นก็เป็นความคิดฝัน

แต่สำหรับในบางสังคมรวมทั้งไทย ตำแหน่งแห่งหน หน้าที่การงาน สถานะทางสังคม และฐานะทางเศรษฐกิจของคนยังคงมีอิทธิพลทำให้ประโยคนั้นเป็นได้แค่ “ความเพ้อฝัน”

ถึงแม้ระบบยุติธรรมในประเทศไทยจะได้รับการวางรากฐานเอาไว้ดี แต่ “คน” ซึ่งทำหน้าที่อยู่ในระบบยังไปไม่ถึง

ปรัชญาหรือแนวความคิดของกฎหมายว่าอย่างไรก็ว่าไป การประพฤติปฏิบัติของ “คน” ในระบบยุติธรรมยังสามารถฉีกแนวไปคนละทาง จนกระทั่งเกิดคำกล่าวที่สะท้อนถึงความพิกลพิการ เช่น สองมาตรฐาน, หลายมาตรฐาน หรือไม่มีมาตรฐานเอาเสียเลย

แต่เชื่อหรือไม่ว่า เขาเหล่านั้นยังคงคับฟ้า ลุ่มหลงงมงาย เห็นผิดเป็นชอบ มากไปด้วยจริตของผู้ทรงอำนาจ ใครจะวิพากษ์วิจารณ์ด้วยสุจริตอย่างไรก็จะถูกตีความว่าหมิ่นหยามทำลายความศักดิ์สิทธิ์

 

ถึงวันนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า “คนล้มเลือกตั้ง-ต้องติดคุก”

ส่วนคนที่ก่อรัฐประหาร “ล้มรัฐบาล” ซึ่งมาจากการเลือกตั้งนะหรือ ยังไม่เคยถูกดำเนินคดีและต้องโทษ “จำคุกตลอดชีวิต” หรือ “ประหารชีวิต” สักราย

ไม่เพียงแต่เท่านั้น ภายหลังรัฐประหารทุกครั้ง “คณะรัฐประหาร” ยังจัดตั้งคนจำนวนหนึ่งให้เขียนกติกา หรือรัฐธรรมนูญที่เกื้อกูล “การสืบทอดอำนาจ” ให้กับตัวเอง

ที่ควรเป็นกติกาจึงถูกเรียก “กติโกง”!

การเลือกตั้งหลังรัฐประหารทุกครั้งจึงต้องเล่นกันตาม “กติโกง”

เช่นเดียวกับเลือกตั้งในปี 2562 ที่ก่อกำเนิด “พรรคพลังประชารัฐ” ขึ้นมา แล้วจับมือกับ “250 ส.ว.” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งตั้ง ร่วมกันยกมือให้ “ประยุทธ์” เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องมาตั้งแต่ยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557

เลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะมาถึงก็อยู่ภายใต้กติกาเดิม

 

ในหนังสือเล่มล่าสุดของอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ชื่อ Transform or Die หรือ “ปฏิรูปกองทัพไทย” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน

มีตอนหนึ่งความว่า

สำรวจจากกองทัพทั่วโลกแล้วพบว่า ทหารมีภารกิจหลักสำคัญคล้ายคลึงกัน 5 ประการคือ

1.ปกป้องเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐ 2.รักษาสันติภาพ รวมถึงภารกิจในการบังคับให้เกิดสันติภาพ 3.ช่วยเหลือ และบรรเทาภัยพิบัติ 4.ช่วยเหลือรัฐบาลพลเรือนในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน และ 5.มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์หรือบทบาททางสังคม

ยุคหลังสงครามเย็น อ.สุรชาติชี้ว่า หลายประเทศปฏิรูปกองทัพด้วยหลัก 3 ข้อที่เหมือนกันคือ

1.ปรับกองทัพให้อยู่ในกระบวนการสร้างประชาธิปไตย 2.ปรับกองทัพให้เหมาะกับการรับมือภัยคุกคามใหม่ๆ และ 3.ปรับบทบาทกองทัพให้สอดรับกับโลกาภิวัตน์

“ทหารการเมือง” นับเป็นพฤติการณ์ที่ล้าหลังป่าเถื่อนแล้ว!

 

ขณะนี้เลือกตั้ง 2566 ใกล้มา ในจำนวนหลายพรรคการเมืองที่ลงสนามประชันขันแข่งเพื่อจะมีที่นั่งเป็น “เสียงข้างมาก” ในสภาผู้แทนราษฎรนั้น

1 พรรค มี ป.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค

อีก 1 พรรค ดังแล้วแยกวง มีคนอื่นตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา แต่ล็อกสเป๊กจะเสนอชื่อ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี อีกรอบ

สมมุติว่า ทั้ง 2 พรรคการเมืองนี้ ไม่ชนะเลือกตั้ง

ทั้ง ป-ประวิตร ป-ประยุทธ์ เจ๊ง ไม่ได้เป็นฝ่ายรัฐบาล!

ส.ว. 250 คน รอยกมือเก้อ!

คำถามจะพรั่งพรูตามมา หลังเลือกตั้ง 2566 รัฐบาลพลเรือนจะต้องเผชิญกับอะไรต่อไปอีกหรือไม่ เช่น นักร้องออกอาละวาด บ้านเมืองถูกปั่นให้ป่วน บรรยากาศไม่สงบเรียบร้อย ท.ทหารขึงขัง

น่าสงสัยหรือไม่ว่า ทำไม “ทีมไอโอ” ที่บ่อนทำลายพรรคการเมืองและประชาธิปไตยไม่ถูกจัดให้เป็น “ภัยความมั่นคง” และไม่ถูกดำเนินคดีอาญา ตามมาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น ในขณะที่ “รัฐบาลประยุทธ์” เอาจริงเอาจังกับการจับกุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กลุ่มเยาวชนปลดแอก นับร้อยไปดำเนินคดีฐานก่อความปั่นป่วน ยุยงปลุกปั่น กระด้างกระเดื่อง

ประเทศไทยสถาปนา “ประชาธิปไตย” มา 91 ปีแล้ว แต่กลับมีสถิติที่โลกต้องอึ้ง-ทึ่ง-เสียว

นั่นคือ มีรัฐประหาร เฉลี่ยทุก 6.5 ปี

ประชาธิปไตยไทยวนอยู่ในอ่าง

เลือกตั้งแล้วรัฐประหาร ฉีกกติกาเก่า เขียนกติโกงใหม่ เพื่อสืบทอดอำนาจ ปะหน้าทาแป้งแปลงโฉมลงเลือกตั้ง เมื่อสู้ไม่ได้ก็ปล่อยให้พลเรือนเล่นกันสักพัก พอมีจังหวะก็ปั่นจนสุกงอมได้ที่ นักการเมืองเลว นักการเมืองโกง เชื้อเชิญให้พึ่งใครอีกล่ะ

ทหารมาแล้ว จัดฉากมอบดอกไม้ เชิดชูคณะรัฐประหารกู้บ้านกู้เมือง ส่งพวกเดียวกันเขียนกติกาใหม่ ให้สืบทอดอำนาจ พอจัดเลือกตั้งแล้วก็แพ้ราบคาบ

พอจะสรุปความได้ว่า “วงจรอุบาทว์” ของการเมืองไทยดำรงอยู่ได้ด้วย 2 ปัจจัย

1.ความไม่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย กับ 2.ความไม่ตั้งมั่นในภารกิจหน้าที่ของ “กองทัพ” กับ “กระบวนการยุติธรรม”

นั่นคือเหตุปัจจัยที่ทำให้ “ประชาธิปไตยไทย” ยังเป็นได้แค่ “ความเพ้อฝัน”!?!!!