ข้อถกเถียงเรื่องความมีอยู่ของพระเจ้า (จบ) การตอบโต้ของดาร์วินและดอว์คินส์

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

www.facebook.com/bintokrit

 

ข้อถกเถียงเรื่องความมีอยู่ของพระเจ้า (จบ)

การตอบโต้ของดาร์วินและดอว์คินส์

 

การพิสูจน์ความมีอยู่ของพระเจ้าด้วยวิธี “การอ้างเหตุผลแบบมีเป้าประสงค์” (Teleological Argument) ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การอ้างเหตุผลเชิงออกแบบ” (Design Argument หรือ Argument from Design) ของบรรดานักบุญและนักเทววิทยา อย่างเช่น อไควนัสและพาเลย์ ไม่ได้ถูกนักปรัชญาอย่างฮูมโจมตีเท่านั้น

แต่ยังถูกโต้แย้งอย่างหนักจากนักวิทยาศาสตร์ที่ใช้ตรรกะแบบ “การอ้างเหตุผลเชิงธรรมชาติ” (Naturalistic Argument) อีกด้วย

ซึ่งแนวคิดสำคัญที่สุดในสายนี้ก็คือ “ทฤษฎีวิวัฒนาการ” (Theory of Evolution) ของ “ชาร์ลส์ ดาร์วิน” (Charles Darwin, 1809-1882) นักชีววิทยาชาวอังกฤษ จากหนังสือ On the Origin of Species by Means of Natural Selection (1859) ซึ่งฉบับภาษาไทยแปลโดย นำชัย ชีววิวรรธน์ และคณะ ใช้ชื่อว่า “กำเนิดสปีชีส์”

ดาร์วินอธิบายจุดกำเนิดดั้งเดิมของสิ่งมีชีวิตว่ามาจากเงื่อนไขที่ประจวบเหมาะขององค์ประกอบต่างๆ ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตขึ้น “โดยบังเอิญ” ไม่ใช่มาจากการสร้างอย่างจงใจของใครทั้งสิ้น

เขาชี้ให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตถือกำเนิดขึ้นบนโลกและวิวัฒนาการเป็นลำดับโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยพระเจ้าหรือผู้สร้างใดๆ

นอกจากนี้ ยังบรรยายถึงกระบวนการดิ้นรนอยู่รอดและปรับตัวของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ทำให้แต่ละสปีชีส์เกิดการวิวัฒนาการและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ รวมทั้งปรับปรุงแต่ละสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่สุด

สปีชีส์ใดไม่สามาถปรับตัวได้ก็จะสูญพันธุ์ เหลือเพียงแต่ผู้เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมเท่านั้นที่อยู่รอด

เขาเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า “การคัดสรรทางธรรมชาติ” (Natural Selection) ซึ่งคำอธิบายนี้ขัดแย้งกับคำอธิบายเรื่องการกำเนิดโลกจากพระเจ้าดังที่ระบุไว้ในคัมภีร์ไบเบิล

นักวิทยาศาสตร์ในฝ่ายการอ้างเหตุผลเชิงธรรมชาติบางคน อย่างเช่น “ริชาร์ด ดอว์คินส์” (Richard Dawkins, 1941-ปัจจุบัน) นักชีววิทยาชาวอังกฤษ มั่นใจถึงขนาดสรุปว่าฝ่ายการอ้างเหตุผลเชิงออกแบบได้ถูกทำลายลงโดยสมบูรณ์แล้ว พระเจ้าไม่มีอยู่จริง เขาปฏิเสธผู้สร้างอันชาญฉลาดที่อยู่เหนือธรรมชาติ และประกาศว่าศรัทธาทางศาสนาทำนองนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องมายาทั้งนั้น

ทัศนะของดอว์คินส์ปรากฏให้เห็นในหนังสือชื่อก้องของเขามากมายหลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็น The Selfish Gene (1976) (เล่มนี้ เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ แปลเป็นภาษาไทยแล้วกับ สำนักพิมพ์มติชน เมื่อปี พ.ศ.2559 ใช้ชื่อว่า “ยีนเห็นแก่ตัว”) The Blind Watchmaker (1986) และ The God Delusion (2006) เป็นต้น

เขาเสนอว่าสิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการไปเองตามสภาพแวดล้อมเพื่อความอยู่รอดในธรรมชาติ

สิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมมากกว่าก็คงอยู่

แล้วคุณลักษณะต่างๆ ของบรรดาผู้ที่เหลืออยู่ก็ถูกส่งต่อทางยีนของบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่น

กระบวนการนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาก่อน แต่เป็นไปตามธรรมชาติผ่านการคัดสรร แพร่พันธุ์ กระจายพันธุ์ และกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ตามบริบทรอบตัว

เพราะฉะนั้น หากจะมีช่างนาฬิกาอยู่แบบที่พาเลย์กล่าว ช่างผู้นั้นก็เป็น “ช่างนาฬิกาตาบอด” (The Blind Watchmaker) ซึ่งไม่มีเป้าประสงค์ใดๆ มาก่อน

เมื่อการอ้างเหตุผลเชิงธรรมชาติในทฤษฎีวิวัฒนาการทำให้การอ้างเหตุผลเชิงออกแบบลดความน่าเชื่อถือลง

พวกเทวนิยมที่เชื่อเรื่องพระเจ้าจึงปรับเปลี่ยนการอ้างเหตุผลมาใช้วิธีที่เรียกว่า “การอ้างเหตุผลแบบปรับจูน” (Fine – Tuning Argument) คือถึงสิ่งมีชีวิตจะวิวัฒนาการไปเองตามสภาพแวดล้อม แต่ก็มีความเป็นไปได้น้อยมากที่เงื่อนไขต่างๆ เช่น แรงโน้มถ่วง มุมหรือองศาระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ องค์ประกอบและปริมาณของแร่ธาตุ อุณหภูมิ วงโคจรของดวงดาว เป็นต้น จะประกอบกันเข้าอย่างประจวบเหมาะ จนเกิดระบบสุริยจักรวาลเช่นนี้ เกิดโลกที่มีสภาพแวดล้อมอย่างนี้ และถือกำเนิดสิ่งมีชีวิตขึ้น

ถ้าปัจจัยต่างๆ ผิดเพี้ยนไปจากที่ผ่านมาแม้เพียงเล็กน้อยก็ย่อมไม่อาจเกิดสิ่งมีชีวิตได้

แต่ถึงกระนั้น เงื่อนไขทั้งหมดก็ถูก “ปรับจูน” จนกระทั่งประกอบกันเข้าอย่างเหมาะเหม็งน่าอัศจรรย์ ดังนั้น จึงต้องมี “ผู้สร้างอันชาญฉลาด” (Intelligent Designer หรือ Intelligent Creator) ทำให้เกิดสภาวะนี้ขึ้นเป็นแน่

และผู้สร้างนั้นก็คือ “พระเจ้า” นั่นเอง

 

ทว่าการอ้างเหตุผลแบบปรับจูนก็ถูกพวกอเทวนิยมโต้กลับว่าเป็น “การอ้างเหตุผลบกพร่องแบบล็อตเตอรี่” (Lottery Fallacy) หรือการอ้างเหตุผลวิบัติแบบล็อตเตอรี่ คือต่อให้โอกาสถูกหวยมีน้อยเพียงใดแต่ก็มีโอกาสถูกอยู่ดี เพราะมีโอกาสน้อยไม่ได้หมายความว่าไม่มีเลย

เช่นเดียวกับจักรวาลซึ่งกว่าจะมีสภาพแบบนี้ได้ก็คงผ่านช่วงเวลาที่องค์ประกอบและเงื่อนไขต่างๆ ยังไม่ลงตัวนับครั้งไม่ถ้วนตลอดอายุอันยาวนานของจักรวาล

หากมีใครบางคนถูกหวยรางวัลที่หนึ่งได้ฉันใด ก็ย่อมมีสักวันที่บางดวงดาวจะเกิดสิ่งมีชีวิตขึ้นมาได้ฉันนั้น

แต่อย่างไรก็ตาม พวกเทวนิยมที่ใช้การอ้างเหตุผลแบบมีเป้าประสงค์และการอ้างเหตุผลเชิงออกแบบก็ยังคงยืนกรานที่จะเชื่อในพระเจ้าต่อไปโดยให้เหตุผลว่า

(1) ทฤษฎีวิวัฒนาการไม่ได้หักล้างการมีอยู่ของพระเจ้า แต่แค่บอกว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกถือกำเนิดอย่างไร และมีกระบวนการวิวัฒนาการต่อมาได้อย่างไรเท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงไม่อาจสรุปได้ว่า “ไม่มีพระเจ้า”

(2) เมื่อถอยกลับและย้อนหาสาเหตุต้นตอของสิ่งมีชีวิตไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดคำถามว่ากระบวนการวิวัฒนาการเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วใครกันที่ทำให้เกิดกระบวนการนี้ขึ้น ใช่หรือไม่ว่าผู้ทำให้เกิดกระบวนการวิวัฒนาการดังกล่าวก็คือพระเจ้านั่นเอง

(3) ข้อพิสูจน์ของฝ่ายการอ้างเหตุผลเชิงธรรมชาติอย่างดาร์วินหรือดอว์คินส์เป็น “คำอธิบายเชิงประจักษ์” (Empirical Explanation) เท่านั้น ไม่สามารถหมายรวมหรือกล่าวอ้างว่าเป็นความจริงทั้งมวลโดยสมบูรณ์ได้ พูดง่ายๆ ก็คือ ต่อให้มันจริงก็เป็นแค่ “ความจริงเชิงประจักษ์” (Empirical Truth) คือบอกว่าจริงได้เท่าที่ปรากฏให้เห็นผ่านการสังเกตด้วยประสาทสัมผัส แต่ไม่อาจอ้างว่าเป็น “ความจริงอย่างจำเป็น” (Necessary Truth) ที่เป็นดั่งสัจธรรมชั่วนิจนิรันดร์อันไม่ขึ้นต่อข้อมูลทางประสาทสัมผัสใดๆ

ในขณะที่คำอธิบายของการอ้างเหตุผลแบบมีเป้าประสงค์และการอ้างเหตุผลเชิงออกแบบก็ยังคงมี “ความเป็นไปได้เชิงตรรกะ” (Logical Possibility) อยู่เช่นเดิม ด้วยเหตุนี้มโนทัศน์เรื่องการมีอยู่ของพระเจ้าจึงไม่ถูกทำลายลง

และทำให้ท้ายที่สุดข้อถกเถียงของทั้งสองฝ่ายก็ยังคงยันกันอยู่ตรงนี้

 

ได้เห็นการใช้เหตุผลของทั้งฝ่ายเทวนิยมและอเทวนิยมไปมากมาย ลองคิดดูว่าฝ่ายไหนมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่า

สำหรับผู้เขียนโดยส่วนตัวแล้วมองว่าฝ่ายการอ้างเหตุผลเชิงธรรมชาติดูจะมีแต้มต่ออยู่พอสมควรเพราะ

(1) แม้การพิสูจน์ของฝ่ายการอ้างเหตุผลเชิงธรรมชาติจะไม่สามารถยืนยันได้ว่าพระเจ้ามีอยู่หรือไม่ แต่อย่างน้อยก็พิสูจน์อะไรได้เป็นจำนวนมาก เช่น พิสูจน์ความจริงเชิงประจักษ์ด้วยทฤษฎีวิวัฒนาการ

(2) ถึงแม้ทฤษฎีวิวัฒนาการจะอาศัยการอ้างเหตุผลแบบอุปนัย (Induction)1 ซึ่งในทางตรรกะแล้วไม่ได้การันตีความจริงแท้แน่นอนก็ตาม แต่มีความน่าเชื่อถือสูง ทำให้คาดการณ์ความเป็นไปของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ได้ และขณะนี้ก็ยังไม่มีคำอธิบายใดสามารถหักล้างทฤษฎีนี้ได้ด้วย

(3) ฝ่ายการอ้างเหตุผลเชิงธรรมชาติไม่ได้สรุปเกินกว่าข้ออ้าง คือเมื่อพบว่าสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดวิวัฒนาการมาจากอะไร เป็นอย่างไร ก็อธิบายไปเท่านั้น ไม่ได้สรุปเกินเลยหรือยืนยันว่ามีพระเจ้าหรือไม่ เพราะตัวข้ออ้างไม่สามารถสรุปถึงขนาดนั้นได้ คือยอมรับว่าทัศนะของตนเป็นเพียงข้อสันนิษฐานซึ่งมีความเป็นไปได้สูง

ในขณะที่ฝ่ายการอ้างเหตุผลแบบมีเป้าประสงค์ไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้เลย แต่กลับยืนยันว่าต้องมีพระเจ้าอยู่แน่ แถมยังเปลี่ยนคำอธิบายของตนไปเรื่อยๆ เมื่อถูกโจมตีจากฝ่ายตรงข้าม

(4) การแสวงหาความจริงและหาคำตอบไม่ควรตั้งธงเอาไว้ล่วงหน้า สิ่งที่ควรตั้งไว้ก่อนคือข้อสันนิษฐานเพื่อทำการพิสูจน์เท่านั้น หากใช่ก็ยอมรับ หากไม่ใช่ก็ตกไป และไม่ว่าข้อสันนิษฐานนั้นถูกหรือผิดก็จะได้ความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นเสมอ คือรู้ว่าข้อสันนิษฐานนี้ไม่จริง หรือไม่ก็เพิ่มระดับความน่าเชื่อถือได้

แต่ดูเหมือนว่าฝ่ายการอ้างเหตุผลแบบมีเป้าประสงค์มีการตั้งธงคำตอบไว้ล่วงหน้าแล้วว่ามีพระเจ้า

ดังนั้น เมื่อเกิดคำอธิบายที่ดีกว่า หรือมีข้อพิสูจน์ที่หักล้างความเชื่อเดิม พวกเขาจึงเปลี่ยนคำอธิบายใหม่ แทนที่จะเลิกความเชื่อเก่า

(5) แนวคิดของฝ่ายการอ้างเหตุผลแบบมีเป้าประสงค์อิงอยู่กับพระเจ้าซึ่งไม่มีความชัดเจนและหาฐานอันแข็งแรงมารองรับไม่ได้ จึงต้องอ้างอิงกับแนวคิดของตัวเองไปเรื่อยๆ เช่น ถ้าอิงคัมภีร์ไบเบิล ก็ต้องอ้างว่าเป็นความจริงตามตัวบทหรือคัมภีร์ หากสิ่งที่คัมภีร์ระบุไว้เป็นจริง สิ่งที่อ้างตามมาก็อาจเป็นจริงได้ แต่ถ้าตัวบทไม่จริง ความจริงที่ได้จากตัวบทก็อาจเป็นเท็จไปด้วย แล้วคัมภีร์ที่ใช้เป็นความจริงหรือไม่ ใครจะรู้?

(6) ฝ่ายการอ้างเหตุผลแบบมีเป้าประสงค์ใช้คำอธิบายที่ต้องอาศัยการอ้างอิงจากจุดใดจุดหนึ่งภายในระบบความเชื่อของตนเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำนิยาม และกลายเป็นทึกทักไปเองว่าจริง

ตัวอย่างคือ คำนิยามของพระเจ้าว่ามีคุณสมบัติอย่างไร อาทิ เป็นผู้สร้าง (creator) เป็นผู้ทรงพลังอำนาจสมบูรณ์ (omnipotent) เป็นผู้ปรากฏอยู่ทุกแห่งหน (omnipresent) เป็นสัพพัญญู (omniscient) ฯลฯ

การกล่าวอ้างว่ามีพระเจ้าอยู่จริงก็ต้องอาศัยนิยามเหล่านี้มายืนยัน เช่น จักรวาลต้องมีผู้สร้าง เมื่อไม่มีมนุษย์คนใดสร้างจักรวาลได้ จึงเหลือแต่เพียงพระเจ้าเท่านั้นที่เป็นไปได้ เพราะพระเจ้าเป็นผู้มีอำนาจสมบูรณ์ ดังนั้น พระองค์จึงเป็นผู้สร้างจักรวาล

การอ้างแบบนี้ก็เหมือนพูดเองเออเอง ตั้งนิยามขึ้นมาแล้วก็ยืนยันความจริงโดยอ้างอิงนิยามนั้นต่อไป ถ้าหากการอ้างเหตุผลเช่นนี้ใช้การได้ ใครๆ ก็อ้างว่ามีกระสืออยู่จริงได้ โดยไม่จำเป็นต้องหาหลักฐานเชิงประจักษ์มาพิสูจน์ยืนยัน เพราะกระสือก็มีนิยามอยู่จำนวนหนึ่งเช่นกัน

(7) พระเจ้าเป็นมโนทัศน์ที่คลุมเครือ ฉะนั้น จึงต้องนิยาม แต่จะนิยามได้อย่างไรในเมื่อไม่มีใครเข้าถึงพระเจ้าได้โดยตรง ทั้งยังไม่รู้ว่านิยามนั้นมาจากไหนและถูกต้องหรือไม่ นับเป็นข้อจำกัดที่ไม่เหมือนการนิยามวัตถุทางกายภาพที่สามารถจำกัดความได้อย่างแน่ชัด

(8) เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว การอ้างเหตุผลเชิงธรรมชาติ พิสูจน์ได้ ทำนายได้ คาดการณ์ได้ แต่ การอ้างเหตุผลแบบมีเป้าประสงค์ พิสูจน์ไม่ได้ ทำนายไม่ได้ คาดการณ์ไม่ได้ ทำให้ดูคล้ายกับความเชื่องมงายและฝังหัวอย่างชนฝา (dogma)

ในขณะที่ฝ่ายการอ้างเหตุผลเชิงธรรมชาติดูน่าเชื่อถือกว่า

 

ข้อถกถียงเรื่องพระเจ้าอาจไม่มีประโยชน์โดยตรงสำหรับชาวพุทธในสังคมไทย

แต่สะท้อนบรรยากาศทางปัญญาในสังคมยุโรปได้เป็นอย่างดี

ที่ความเชื่ออันต่างกันสุดขั้วและดูเหมือนพิสูจน์ไม่ได้ต้องมาอยู่ร่วมกัน และพยายามขบคิดหาคำอธิบายสิ่งต่างๆ อย่างสุดความสามารถ

ขณะที่หลายสังคมอาศัยเพียงความเชื่อปลอบประโลมใจไปวันๆ แต่หาเหตุผลอธิบายไม่ได้เลย

ตัวอย่างนี้จึงเป็นบทเรียนชั้นดีสำหรับการฝึกวิเคราะห์วิจารณ์ทุกสิ่งรอบตัว รวมทั้งเป็นแบบอย่างการสร้างรากฐานความคิดและสรรพวิทยาการ

จนผลักดันให้สังคมยุโรปเจริญก้าวหน้าแซงอารยธรรมอื่นได้

กระทั่งครองความเป็นมหาอำนาจของโลกไปในที่สุด

1วิธีการอ้างเหตุผลแบบอุปนัยคือการสรุปความจริงทั่วไปจากกลุ่มตัวอย่างจำนวนหนึ่ง แล้วสร้างคำอธิบายที่ใช้ได้กับทุกกรณีทั้งๆ ที่มีข้อมูลเพียงบางกรณี ด้วยเหตุนี้จึงไม่ได้มีสถานะเป็นความจริงอย่างจำเป็นซึ่งถูกต้องเสมอ แต่เป็นความจริงที่มีความเป็นไปได้สูงเท่านั้น