เศรษฐกิจ / บาทแข็งค่าขย่มส่งออกเซ โจทย์หิน…เอสเอ็มอีเจอศึกหนัก แค่ป้องเสี่ยงไม่พอต้องเร่งปรับทัพ

เศรษฐกิจ

บาทแข็งค่าขย่มส่งออกเซ
โจทย์หิน…เอสเอ็มอีเจอศึกหนัก
แค่ป้องเสี่ยงไม่พอต้องเร่งปรับทัพ

ย้อนกลับไปปลายปีก่อน
สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิฐต่างประเมินว่า ค่าเงินบาทปี 2560 จะมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐ ซึ่งตลาดเงินต่างรอลุ้นการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐคนนี้
รวมทั้งทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดการณ์ว่าเงินทุนที่ไหลเข้ามายังประเทศเกิดใหม่และไทย ในพันธบัตร หุ้น เป็นต้น จะไหลกลับประเทศ ส่งผลให้ค่าบาทอ่อนค่าอยู่ที่ระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากปี 2559 ที่ 35.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
แต่เมื่อพิจารณาผลงานของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ผ่านมา ยังไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้และมีความเสี่ยงในการดำเนินตามนโยบายที่หาเสียง ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อสหรัฐลดลง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจึงอ่อนค่าเมื่อเทียบสกุลอื่น
เป็นแรงหนุนค่าเงินบาทแข็งค่า ประกอบกับขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 3 ขยายตัว 4.3% สูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส หรือ 4 ปี 6 เดือน แรงหนุนสำคัญจากการส่งออกไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องชัดเจนตั้งแต่ปลายปี 2559 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ทั้งยังผลต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลสูง โดยช่วง 9 เดือนแรก 2560 ถึง 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่าปีนี้ไทยเกินดุล 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย จึงมีเงินทุนไหลเข้าในช่วงนี้
ซึ่งล่าสุด ค่าเงินบาททำสถิติแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 30 เดือน ตั้งแต่เมษายน 2558 ที่ 32.54 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แตะที่ระดับในเดือนพฤศจิกายน 2560 นี้ 32.76 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
และแนวโน้มเงินทุนไหลจะยังมีต่อเนื่องจนถึงช่วงกลางปี 2561
โดยจะเริ่มเห็นเงินทุนไหลออกบ้าง หาก ธปท. เริ่มพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังจากที่คงมาเป็นระยะเวลานานที่ 1.50% แต่จะยังมีเงินทุนไหลเข้ามาหนุนจากทิศทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่องและการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น

ด้าน นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า มีโอกาสที่ค่าบาทจะแข็งค่าขึ้นจากการเกินดุลการค้าที่สะท้อนจากดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมีผลกดดันกำไรของผู้ประกอบการภาคการส่งออก เพราะเมื่อแลกดอลลาร์สหรัฐมาเป็นสกุลเงินบาทจะได้มูลค่าน้อยลง เมื่อเทียบกับกรณีที่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า โดยช่วงนี้แรงหนุนที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการขายดอลลาร์สหรัฐของผู้ส่งออกด้วย เพราะทิศทางค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อ
ดังนั้น ความผันผวนของสถานการณ์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่ภาคธุรกิจจะต้องติดตาม สถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะต้องยอมรับว่า รายรับของผู้ประกอบการภาคการส่งออกของไทยส่วนใหญ่กว่า 77% ของการส่งออกรวม จะเป็นรายรับในรูปของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงและความผันผวนเมื่อแปลงกลับมาเป็นรายได้ในรูปเงินบาทตามจังหวะเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า ขณะที่รายรับที่อยู่ในรูปเงินบาท ซึ่งปลอดภัยจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมีสัดส่วนเพียง 14% ของการส่งออกรวม
สำหรับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ไม่น่าเป็นห่วงแต่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ไม่ได้คาดว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าเร็ว ซึ่งเป็นโจทย์ของธุรรกิจที่ต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจอยู่รอดในภาวะที่ค่าเงินบาทแข็ง จะทำอย่างให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างกำไรให้ดีกว่าเดิม ใช้กระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนลง หรือพยายามลดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน
อาทิ สัญญาฟอร์เวิร์ด และออปชั่น เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการสามารถประเมินรับรู้และบริหารจัดการรายได้จากการส่งออกที่มีความแน่นอน

สอดคล้องมุมมองกับ นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหาภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ หรืออีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ประเมินว่า ค่าเงินบาทช่วงต้นไตรมาสที่ 4 เริ่มกลับมาแข็งอีก ซึ่งผู้ประกอบการที่ส่งออกได้ดอลลาร์สหรัฐมา แต่ยังไม่ได้นำไปลงทุนเพิ่มทำให้ยังมีเงินดอลลาร์สหรัฐค้างอยู่ในระบบ และเมื่อไม่ได้นำไปใช้ กังวลว่าค่าเงินบาทจะแข็งกว่านี้แล้วนำมาแลกในช่วงนี้ยิ่งทำให้ค่าเงินบาทแข็ง รวมทั้งปัญหาที่พบ คือผู้ส่งออกโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรที่ตั้งราคาขายล่วงหน้าไว้โดยไม่ได้เผื่ออัตราแลกเปลี่ยน เมื่อนำเงินดอลลาร์สหรัฐจากการค้าขายมาแลกเป็นเงินบาท อาจจะได้กำไรน้อยลง ดังนั้น ผู้ส่งออกที่จะตั้งราคาสินค้าขายในช่วง 3 หรือ 6 เดือนข้างหน้านี้ก็คงจะต้องตั้งราคาเผื่ออัตราแลกเปลี่ยนพอสมควร
“ทิศทางค่าเงินบาทตอนนี้ถ้าพูดจริงๆ เหตุผลทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ไม่สามารถอธิบายว่าทำไมบาทแข็งค่า เพราะก่อนหน้านี้ประเมินกันว่า เมื่อสหรัฐขึ้นอัตราดอกเบี้ย ปลายปีนี้ 1 ครั้ง และปีหน้าอีก 3 ครั้ง ประเมินว่าเงินทุนที่เคยไหลเข้ามาในประเทศตลาดเกิดใหม่น่าจะไหลออกไป แต่ขณะนี้ปัจจัยอื่นทั้งจากฝั่งสหรัฐ และเอเชียที่แนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้น นักลงทุนเชื่อมั่นจึงยังมีเงินไหลเข้าอยู่ และระยะสั้นๆ 1-2 เดือนข้างหน้าไม่มีปัจจัยใหม่ให้ค่าเงินบาทกลับไปอ่อนค่ามาก ทั้งนี้ ต้องติดตามมาตรการภาษีของสหรัฐว่าจะสามารถผ่านสภาได้หรือไม่ ถ้าไม่ผ่านก็จะมีผลกระทบเชิงลึกต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุนสหรัฐ อาจจะเป็นปัจจัยเดียวที่อ่อนค่าได้บ้าง”
นายพชรพจน์กล่าว

ทั้งนี้ “อมรเทพ จาวะลา” ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า เอสเอ็มอีต้องปรับตัวให้ทันกับธุรกิจรายใหญ่ที่ปรับตัวเร็ว เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งจะทำให้เอสเอ็มอีเป็นห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจรายใหญ่ได้ และต้องใช้โอกาสจากตลาดอาเซียน โดยเฉพาะตลาดเพื่อนบ้านซีแอลเอ็มวีให้เป็นประโยชน์เพื่อขยายตลาดในภาวะที่ตลาดในประเทศชะลอตัว รวมทั้งเอสเอ็มอีต้องมีธรรมมาภิบาลในการทำธุรกิจ เช่น ภาครัฐส่งเสริมการทำธุรกรรมผ่านอีเพย์เมนต์ หรือบัญชีเดียว แต่เอสเอ็มอีกังวลเรื่องว่าจะเสียภาษีเพิ่ม แทนที่จะมองว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจการและการเข้าถึงสินเชื่อ ทำให้เสียโอกาสธุรกิจได้
การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นผลมาจากหลายปัจจัย ซึ่ง ธปท. ผู้ดูแลเสถียรภาพการเงินโดยรวมยังออกมาเตือนเสมอว่า ไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิด ในส่วนของผู้ประกอบการต้องไม่ชะล่าใจว่าจะมีใครดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้ เพราะไม่มีใครที่จะควบคุมได้ การเคลื่อนไหวเป็นไปตามกลไกตลาดและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
ดังนั้น ธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อรักษากำไรและควรป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่ายได้!!!