“ประหาร”สมัยก่อนทำที่ทาง 3 แพร่ง 4 แพร่ง มีบันทึกว่า “สำเหร่” เป็นที่ฆ่าคน

ญาดา อารัมภีร
รูปปั้นหม่อมไกรสร หรือกรมหลวงรักษรณเรศร ตามจินตนาการของช่างปั้นในปัจจุบันในศาลกรมหลวงรักษรณเรศร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ ณ วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ หรือวัดเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา

ประจาน (4)

ประจานเป็นการลงโทษโดยทำให้ผู้กระทำผิดเสื่อมเสียเกียรติ อัปยศอดสู เป็นที่เข็ดขยาดแก่ผู้ได้พบเห็น

สถานที่ประจานนอกจาก ‘ตลาด’ ยังมี ‘ทางสามแพร่ง ทางสี่แพร่ง’ และ ‘ตะแลงแกง’

บทละครในเรื่อง “รามเกียรติ์” ฉบับรัชกาลที่ 2 หลังจากพระมงกุฎถูกเพชฌฆาตพาตระเวนประจานรอบเมืองแล้ว ก็ถูกนำไปยัง ‘ตะแลงแกง’ หรือ ‘ที่ประหารชีวิต’ กวีบรรยายถึงสถานที่ประจานและประหารซึ่งเป็นที่เดียวกันว่า

“บัดนั้น เหล่าพวกเพชฌฆาตอาจหาญ

เที่ยวตระเวนเวียนรอบขอบปราการ ครั้นถึงที่สถานตะแลงแกง

จึ่งเอากุมาราขึ้นขาหย่าง ประจานไว้ที่กลางทางสามแพร่ง

พวกถือดาบองครักษ์ฝักแดง ระวังอยู่ตามตำแหน่งทุกหมวดกอง”

 

น่าสังเกตว่าบทละครในเรื่อง “รามเกียรติ์” ฉบับรัชกาลที่ 1 มิได้ประจานพระมงกุฎที่ ‘ทางสามแพร่ง’ แต่เป็น ‘ทางสี่แพร่ง’

“บัดนั้น ฝ่ายนายเพชฌฆาตทั้งสี่

ครั้นตระเวนไปรอบบุรี มาถึงซึ่งที่ตะแลงแกง

จึ่งเอาขึ้นขาหยั่งประจานไว้ ที่ในหนทางสี่แพร่ง

นายไพร่ล้วนถือดาบแดง ตามตำแหน่งรักษาทุกคืน”

‘แพร่ง’ หมายถึง ทางแยกทางบก ลองนึกถึงภาพ ‘ทางแยก’ คือที่ซึ่งแยกออกเป็นหลายทาง เช่น สามแยก คือ ที่ซึ่งแยกออกเป็น 3 ทาง สี่แยก คือ ที่ซึ่งแยกออกเป็น 4 ทาง

ไม่ว่าจะเป็นสามแยก หรือสี่แยกล้วนมีจุดบรรจบกันก่อนจะแยกออกไป ทั้งสามแยก-สามแพร่ง และสี่แยก-สี่แพร่ง เป็นที่สัญจรผ่านไปมาของผู้คนมากมายจากหลากหลายที่ จัดเป็นพื้นที่สาธารณะเช่นเดียวกับตลาด เหมาะแก่การประจานผู้กระทำความผิดให้ผู้พบเห็นเกรงกลัวไม่กล้าทำ

เพราะไม่อยากได้รับผลเช่นเดียวกับผู้กระทำผิดนั้นๆ

 

เมื่อทางสามแพร่งซึ่งเป็นทางแยก 3 สาย เกิดจากทางสายหนึ่งมาบรรจบเป็นมุมฉากกับทางอีกสายหนึ่ง ใช้เป็นที่ประจานประหารชีวิต จึ่งน่าจะทำให้เกิดความเชื่อสืบต่อกันมาว่า เป็นสถานที่อัปมงคล ศูนย์รวมวิญญาณหรือสัมภเวสีทั้งหลาย อาทิ วิญญาณผีตายโหง วิญญาณเร่ร่อน ถือว่าเป็นทางผีผ่าน มักใช้เป็นสถานที่ทำพิธีไสยศาสตร์ เช่น ฝังรูปฝังรอย และทำพิธีเซ่นผีที่เรียกว่า เสียกบาล ไว้ที่ทางสามแพร่ง

สถานที่ประจานและประหารชีวิต แม้วรรณคดีจะมิได้ระบุสถานที่แน่นอน บอกเพียงคร่าวๆ ว่าเป็นทางสามแพร่ง ทางสี่แพร่ง อยู่แห่งหนตำบลใดก็ไม่รู้

แต่ปรากฏ “ชื่อสถานที่” อยู่ในหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับเหตุการณ์สมัยต้นรัตนโกสินทร์

“อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ อธิบายว่า

“สำเหร่, เปนชื่อที่ตำบลหนึ่ง, อยู่ใต้เมืองฟากตวันตก, เรียก สำเหร่ เปนที่ฆ่าคน” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

“จดหมายเหตุความทรงจำ” ของกรมหลวงนรินทรเทวี บันทึกเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ ‘สำเหร่’ ว่า สำเร็จโทษพระราชวงศ์ประหารด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคา และประหารชีวิตพวกพ้องบริวารที่เป็นสามัญชนที่สำเหร่

“เจ้าลำดวน เจ้าอินทปัต คบคิดกับอินกลาโหม พินาศอัคคี สกลนิกร จะทำศึกเสี้ยนแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระไอยกา นายเวร นายปลัดเวร ฟ้องกราบทูล ไต่ถามรับเปนสัตย์ ลงพระราชอาญาคนละร้อย ให้สำเร็จโทษ ณ วัดประทุมคงคา ทั้งนั้นให้ประหารชีวิตร ศีศะเสียบไว้สำเหร่” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ไม่ต่างกับการสำเร็จโทษกรมหลวงรักษรณเรศรและประหารชีวิตบ่าว 3 คน “พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3” ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) บันทึกว่า

“จึ่งโปรดถอดออกเสียจากที่กรมหลวง ให้เรียกว่า หม่อมไกรสร ลงพระราชอาญาแล้วให้ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคา เมื่อ ณ วันพุธ เดือน ๑ แรม ๓ ค่ำ อายุได้ ๕๘ ปี แต่บ่าว ๓ คน ขุนวุฒามาตย์ ขุนศาลคน ๑ เป็น ๔ คนด้วยกัน ไปประหารชีวิตเสียที่สำเหร่ในวันเดียวกัน”

รายละเอียดของการประหารที่สำเหร่สมัยรัชกาลที่ 4 มีอยู่ในหนังสือ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” ของสังฆราช ปาลเลกัวซ์ (ฉบับสันต์ ท.โกมลบุตร แปล)

“ผู้กระทำความผิดสถานหนักนั้น เจ้าพนักงานจะจัดการนำตัวไปประหารชีวิตเสียที่ตำบลหนึ่งเรียกว่า ‘สำเหร่’ (samre) ทางตอนใต้ของตัวนคร

ณ ที่นั้นเขาจะตัดศีรษะนักโทษเสียด้วยดาบ หรือไม่ก็เอามัดเข้าไว้กับเสาแล้วใช้หอกแทงจนตาย หลังจากนั้นศพจะถูกสวนทวารหนักเสียบเอาขึ้นขาหยั่งตั้งไว้ให้เป็นเหยื่อแก่แร้งกา”

เขียนถึงตอนนี้ อยู่ๆ ก็รู้สึกขนลุก ผู้เขียนเป็นชาวสำเหร่เสียด้วย

จบแค่นี้ดีกว่า •

 

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร