ข้อถกเถียง เรื่องความมีอยู่ของพระเจ้า ตอนที่ 1 อไควนัส พาเลย์ ฮูม

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

www.facebook.com/bintokrit

 

ข้อถกเถียง

เรื่องความมีอยู่ของพระเจ้า ตอนที่ 1

อไควนัส พาเลย์ ฮูม

 

ข้อถกเถียงเรื่อง “ความมีอยู่ของพระเจ้า” (Existence of God) เป็นหัวข้อสำคัญที่ผู้ศึกษาวิชาปรัชญาในมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับบัณฑิตศึกษาซึ่งต้องอุทิศเวลาให้ไม่ใช่น้อย

ประเด็นนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาปรัชญาศาสนา (Philosophy of Religion) คือศึกษาศาสนาผ่านวิธีการทางปรัชญา อันต่างกับวิชาศาสนาหรือศาสนศึกษาที่อาศัยศรัทธาทางศาสนาเป็นพื้นฐานการศึกษา

ดังนั้น การเรียนศาสนาหรือศาสนศึกษาจึงมักแสวงหาความรู้ความเข้าใจเรื่องราวของศาสนานั้นๆ โดยไม่ได้สงสัยหรือตั้งคำถามต่อสถานะความจริงของศาสนามากนัก

ผู้เขียนเองในฐานะที่เคยเป็นนักเรียนปรัชญาในระดับบัณฑิตศึกษามาก่อนก็เคยนึกสงสัยอยู่เหมือนกันว่า ทำไมการเรียนปรัชญาในเมืองไทยซึ่งผู้เรียนทุกคนเป็นชาวไทยพุทธนั้นจะต้องเสียเวลามากมายไปกับการศึกษาข้อถกเถียงเรื่องการมีอยู่ของพระเจ้าด้วย

แต่ครั้นเรียนไปนานๆ เข้าก็มองเห็นความสำคัญของหัวข้อนี้

พร้อมกับรู้สึกทึ่งต่อวิธีการถกเถียงและอยู่ร่วมกันระหว่างผู้คนทั้งหลาย อันมีทัศนะ จุดยืน และเหตุผลที่แตกต่างกันสุดขั้ว

ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพื้นฐานทางปัญญาและบรรยากาศการศึกษาในสังคมยุโรปอย่างน่าสนใจ

จึงหยิบยกเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง

 

ย้อนกลับไปในยุโรปสมัยกลาง (Middle Ages) หรือที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นยุคมืด (Dark Ages)

เนื่องจากอิทธิพลของคริสตจักรที่แผ่ขยายครอบคลุมไปทั่วทั้งยุโรป โดยมีความเชื่อเรื่องการมีอยู่ของพระเจ้าเป็นหลักที่ไม่อาจปฏิเสธได้

เป็นผลให้เกิดบรรยากาศที่ปิดกั้นความคิดของผู้คนไม่ให้ออกนอกกรอบทางศาสนา

เมื่อสภาพแวดล้อมไม่เอื้อให้ผู้คนคิดสงสัยอย่างเป็นอิสระ ความรู้ ภูมิปัญญา วิทยาการต่างๆ จึงไม่เจริญรุ่งเรืองและเติบโตได้ไม่มากนัก

พออาศัยศรัทธาความเชื่ออยู่เหนือเหตุผล ผู้คนจึงใช้ชีวิตเสมือนอยู่ท่ามกลางความมืดมิด ที่ไม่รู้เลยว่าในความมืดนั้นแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผู้คนจำนวนมากที่ตั้งคำถามต่อการมีอยู่ของพระเจ้า และพยายามพิสูจน์ความจริงเรื่องนี้อย่างสุดความสามารถ

ดังจะเห็นได้จากการดีเบตกันระหว่างนักคิดสองฝ่ายในเรื่อง “แบบการสร้างของพระเจ้า” (Design Argument) ซึ่งถกเถียงกันว่าพระเจ้ามีอยู่จริงหรือไม่

ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่ามี และเมื่อมี ดังนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลจึงไม่ได้ดำเนินไปโดยตัวของมันเอง แต่เป็นไปตามความประสงค์ของพระเจ้า

ฝ่ายนี้พอจะเรียกรวมๆ กันไปว่าคือพวก “เทวนิยม” (Theism)

ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าไม่มีพระเจ้า หรือต่อให้มี มนุษย์ก็รับรู้ไม่ได้ เข้าถึงพระเจ้าโดยตรงไม่ได้ และพระเจ้าไม่เกี่ยวข้องกับการกำหนดกฎเกณฑ์ความเป็นไปของชีวิตและสรรพสิ่งต่างๆ

ในขณะที่กฎเกณฑ์ทางธรรมชาติสามารถเข้าใจ อธิบาย และทำนายได้ ด้วยความสัมพันธ์เชิงเหตุกับผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์

ฝ่ายนี้พอจะเรียกรวมๆ กันว่าคือพวก “อเทวนิยม” (Atheism)

ฝ่ายเทวนิยมมีการอ้างเหตุผลหลายแบบ แต่ที่รู้จักกันมากก็คือ “การอ้างเหตุผลแบบมีเป้าประสงค์” (Teleological Argument) หรือการอ้างเหตุผลเชิงจุดมุ่งหมาย

บางคนก็เรียกว่าการอ้างเหตุผลเชิงอันตวิทยา ซึ่งอธิบายว่าทุกสรรรพสิ่งเกิดขึ้นและดำเนินไปตามความประสงค์ของพระเจ้า ดังนั้น มันจึงเป็นไปตามจุดหมายที่พระเจ้าได้วางไว้แล้ว

Teleological มาจากคำว่า telos ในภาษากรีก แปลว่าจุดมุ่งหมายหรือเป้าประสงค์ เมื่อแนวคิดนี้เชื่อว่าทุกสิ่งได้ถูกออกแบบไว้แล้ว ดังนั้น จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “แบบการสร้างของพระเจ้า” หรือ “การอ้างเหตุผลจากการออกแบบ” (Argument from Design)

โดยมีนักปรัชญาชื่อดังอยู่หลายคนที่ใช้วิธีการอ้างเหตุผลแบบนี้เพื่อพิสูจน์ความมีอยู่ของพระเจ้า เช่น โธมัส อไควนัส (Thomas Aquinas) และวิลเลียม พาเลย์ (William Paley)

โธมัส อไควนัส (1225-1274) นักปรัชญา นักเทววิทยา และนักบุญชาวอิตาลี เสนอข้อพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้า 5 ข้อ

โดยข้อที่ห้าเป็นการอ้างเหตุผลแบบเป้าประสงค์ว่าโลกมีความเป็นระบบระเบียบและดูเหมือนสรรพสิ่งมีลักษณะบางอย่างเพื่อดำเนินไปสู่เป้าหมาย

เช่น ปลาต้องว่ายน้ำจึงมีครีบและหาง หมาต้องแทะกระดูกเลยมีเขี้ยวที่แข็งและคม สิ่งมีชีวิตธรรมดาสามัญไม่สามารถออกแบบและกำกับความเป็นไปต่างๆ เช่นนี้ได้

ดังนั้น จึงต้องมี “ผู้สร้างอันชาญฉลาด” (Intelligent Designer) ซึ่งก็คือพระเจ้านั่นเองเป็นผู้ออกแบบขึ้นมาให้เป็นอย่างนี้

วิลเลียม พาเลย์ (1743-1805) นักบวชและนักเทววิทยาชาวอังกฤษเสนอ “ข้อเปรียบเทียบเรื่องนาฬิกา” (Watchmaker Analogy) ขึ้นมา ในหนังสือชื่อ Natural Theology or Evidences of the Existence and Attributes of the Deity ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1802

โดยอธิบายว่าสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติมีความละเอียดซับซ้อนและมีประสิทธิภาพ ซึ่งดูแล้วเห็นได้ชัดว่าต้องมีผู้ออกแบบจัดสร้างขึ้นมาอย่างมีเป้าหมาย

พาเลย์ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับนาฬิกาว่า เมื่อใดก็ตามที่พบนาฬิกาทุกคนย่อมรู้ได้ทันทีว่าสิ่งประดิษฐ์ที่ละเอียดซับซ้อนเช่นนี้ต้องมีช่างนาฬิกาสร้างขึ้นมาเพื่อเป้าหมายบางอย่างแน่นอน

นาฬิกาถูกสร้างขึ้นมาโดยมีเป้าหมายเพื่อบอกเวลา

สิ่งต่างๆ ทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็น ดวงตา สมอง หรือกายของมนุษย์ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งประดิษฐ์อันประณีตที่ต้องมีใครสร้างอย่างมีเป้าหมายเช่นกัน

เมื่อดูนาฬิกาแล้วรู้ว่ามีช่างทำนาฬิกาฉันใด เห็นมนุษย์แล้วย่อมรู้ว่าต้องมีพระเจ้าสร้างมนุษย์ฉันนั้น

 

แต่การอ้างเหตุผลจากการออกแบบก็ถูกโต้แย้งอย่างหนักจากนักคิดมากมายในสมัยต่อมา เช่น เดวิด ฮูม (David Hume, 1711-1776) นักปรัชญา บรรณารักษ์ นักประวัติศาสตร์ และนักเศรษฐศาสตร์ชาวสกอตแลนด์ยุคเรืองปัญญา

โจมตีว่า

ประการที่หนึ่ง มันเป็นการเปรียบเทียบที่ผิดพลาด (False Analogy) เพราะไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์กับสิ่งต่างๆ ทางธรรมชาติจนทำให้สามารถเปรียบเทียบกันได้

เช่น เมื่อเห็นบ้าน ทุกคนรู้ว่าต้องมีคนสร้างบ้าน เห็นรถยนต์ โทรศัพท์มือถือ หรือสิ่งประดิษฐ์อะไรก็ตามแต่ ย่อมรู้ว่าวัตถุเหล่านี้มีคนสร้างขึ้นมา

แต่จักรวาล ธรรมชาติ ตลอดจนสรรพสัตว์ต่างๆ จะสรุปว่ามีคนสร้างได้อย่างไร

นั่นคือไม่สามารถสรุปคำอธิบายโลกธรรมชาติในแบบเดียวกับที่สรุปเรื่องสิ่งประดิษฐ์ของคนได้

ประการที่สอง ถ้าบอกว่าจักรวาลมีผู้สร้าง แล้ว “ผู้สร้าง” คนนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

หรือกล่าวอีกทางก็คือใครเป็นผู้สร้างของผู้สร้างคนนั้น

ในทางปรัชญาเรียกปัญหาแบบนี้ว่าเป็น “การถอยกลับไปได้ไม่สิ้นสุด” (Infinite regress)

คือเมื่อคิดว่าพระเจ้าเป็น “สิ่งจำเป็นที่ต้องมีอยู่เสมอ” (Necessary Being) ทีนี้พอจะหาสาเหตุของการเกิดจักรวาลก็เลยต้องอ้างว่าจักรวาลมาจากพระเจ้าคือผู้สร้าง

ฮูมเห็นว่าแทนที่จะคิดว่าพระเจ้าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีอยู่เสมอ เหตุใดจึงไม่มองว่า “จักรวาลก็อาจเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีอยู่เสมอ” ด้วยเช่นกัน

โดยจักรวาลมีอยู่อย่างนั้นเองมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว การอธิบายเช่นนี้มีน้ำหนักไม่ต่างกันและฟังขึ้นกว่าอ้างพระเจ้าด้วยซ้ำ

สุดท้ายก็คือ ประการที่สาม การอ้างเหตุผลจากการออกแบบบอกอะไรได้เพียงเล็กน้อย คือบอกว่าอาจมีผู้สร้าง ซึ่งจริงๆ แล้วอาจมีหรือไม่มีก็ได้

ต่อให้มีผู้สร้างจริงก็ไม่รู้ว่ามีผู้สร้างกี่คน ทั้งๆ ที่พระเจ้าตามคำนิยามต้องมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น

ในเมื่อการอ้างเหตุผลจากการออกแบบไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับคุณลักษณะของผู้สร้างเลย ดังนั้น สรรพสิ่งจึงอาจมาจากผู้สร้างอื่นที่ไม่ใช่พระเจ้า ทำให้ไม่สามารถสรุปหรือยืนยันการมีอยู่ของพระเจ้าได้

(บทความนี้มี 2 ตอนจบ โปรดติดตามตอนต่อไปในฉบับหน้า)