33 ปี ชีวิตสีกากี (13) | ชีวิต ‘นรต.’ ใหม่ เดินสวนรุ่นพี่ต้องหยุดยืนตรง

ชีวิตนักเรียนใหม่ ในความทรงจำเมื่อ 44 ปีที่ผ่านมานั้น

ผมเริ่มเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ตำแหน่งตำรวจ จากเดิมที่ไม่เคยมีความรู้อะไรในสมองเกี่ยวกับตำรวจเลย

เมื่อเสร็จการกล่าวอุดมคติตำรวจ ผู้บังคับกอง ผู้บังคับหมวด และผู้ช่วยผู้บังคับหมวด ได้นำนักเรียนใหม่ หรือนักเรียนนายร้อยตำรวจ ชั้นปีที่ 1 ไปสักการบูชาศาลเจ้าพ่อสามพราน ซึ่งตั้งอยู่ที่หัวมุมด้านซ้ายมือเมื่อหันหน้าเข้าหาโรงเรียน อยู่ติดถนน เหมือนกับศาลทั่วๆ ไป

ไม่ยิ่งใหญ่อลังการ แต่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพของนักเรียนนายร้อยตำรวจ

ก่อนสอบประจำภาคก็จะมาทำพิธีสักการบูชาเพื่อให้สอบผ่านทุกครั้งไป

หรือก่อนจะเดินทางไปฝึกภาคสนามยังพื้นที่ต่างจังหวัดก็ขอพรให้คุ้มครองปลอดภัยกลับมา

รวมทั้งการสักการบูชาหลวงพ่อนาค พระพุทธรูปที่นักเรียนนายร้อยตำรวจเคารพนับถือกันต่อๆ มา

จากนั้นนักเรียนใหม่ทั้งหมด ก็ถูกนำแถวมายังกองร้อยที่ 1 ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังใหม่ของทุกคน

กองร้อยที่ 1 ประกอบไปด้วยตึก 2 ชั้น จำนวน 2 หลัง

ตึกหน้า มีชื่อว่า ตึกขันตีอุสาหะ เป็นตึกสำหรับนักเรียนใหม่ หมวดที่ 1, 2 และ 3

ส่วนตึกหลัง มีชื่อ วิจัยกรณี เป็นตึกสำหรับหมวดที่ 4, 5 และ 6

ต่อจากนี้ไปนักเรียนใหม่ทุกคนจะมีคำนำหน้าชื่อตัวเองว่า นักเรียนนายร้อยตำรวจ ตัวย่อคือ นรต. โดยมีรุ่นพี่ ปีที่ 4 มาเป็นนักเรียนปกครอง และเรียกตำแหน่งนี้ว่า ผู้ช่วยผู้บังคับหมวด เรียกสั้นๆ ว่า ผู้ช่วย ซึ่งจะมาพักนอนที่ตึกเดียวกับนักเรียนใหม่ ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน

ส่วนเวลาเรียนจะแยกไปเรียนที่ตอนเรียนของกองร้อยที่ 4 หรือชั้นปีที่ 4 ภาษาตำรวจ ทหาร เรียกตอนเรียน คือ ห้องเรียน ซึ่งไม่ยอมเรียกให้เหมือนชาวบ้านเขา

หน้าที่ของผู้ช่วยผู้บังคับหมวด คือ ควบคุมดูแล ตั้งแต่นำการออกกำลังกาย การฝึกทั้งการฝึกท่าบุคคลมือเปล่า และท่าบุคคลประกอบอาวุธ แนะนำระเบียบวินัย การจัดการเข้าเวรยาม และการประพฤติปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับการเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ ทั้งที่อยู่ภายในโรงเรียน และเมื่อเดินทางออกไปนอกโรงเรียน

ผู้ช่วยผู้บังคับหมวด สามารถลงโทษนักเรียนใหม่ทั้งการลงโทษด้วยการออกกำลังกาย หรือการให้เข้าเวรยาม และการกักบริเวณในวันเสาร์อาทิตย์

 

กองร้อยที่ 1 แบ่งนักเรียนนายร้อยตำรวจออกเป็น 6 หมวด หมวดละ 40 นาย

มีนักเรียนปกครอง ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้บังคับหมวด จำนวน 6 นาย รับผิดชอบคนละ 1 หมวด

กองร้อยที่ 1 หมวดที่ 1 คือ นรต.สุภโชค ประดิษฐ์เกษร หมวดที่ 2 นรต.วิเชียร แช่มช้าง หมวดที่ 3 นรต.สุทธิชัย กองกันภัย หมวดที่ 4 นรต.กำพล วงศ์ธนู หมวดที่ 5 นรต.สนั่น แดงแสง และหมวดที่ 6 นรต.วชิระศักดิ์ พุ่มทอง

ในเบื้องต้น นักเรียนใหม่จำนวน 240 นาย (แต่เท่าที่ผมจำได้จะมีจำนวน 243 ถึง 247 นาย เพราะช่วงนั้นมีคนออก คนเข้าตลอดในช่วงแรกๆ) จะถูกสั่งให้ไปรวมกันที่ลานปานะดิษฐ์ ซึ่งเป็นลานปูนซีเมนต์ขนาดกว้างโดยประมาณ 25 เมตร ยาวประมาณ 80 เมตร

ลานนี้ตามปกติทุกวัน จะใช้เป็นลานเรียกรวมแถวของนักเรียนนายร้อยตำรวจทุกชั้น ตั้งแต่ตอนเช้า เวลา 08.00 น. เคารพธงชาติ เวลา 12.00 น. ประชุมชี้แจงก่อนรับประทานอาหารมื้อเที่ยง เวลา 18.00 น. เคารพธงชาติ และก่อนรับประทานอาหารมื้อเย็น เวลา 20.00 น. สวดมนต์ท่องอุดมคติตำรวจ และประชุมชี้แจง

นักเรียนใหม่จะถูกแบ่งออกเป็น 6 หมวด โดยผู้ช่วยผู้บังคับหมวดสั่งให้ทุกคนเข้าแถวตอนเรียง 6 คือ เข้าแถวตามลำดับความสูง

คนที่ตัวสูงที่สุด 6 คน จะยืนอยู่แถวหน้าแล้วไล่ไปตามลำดับความสูง

เมื่อนับในทางลึก แถวที่ 1, 2 และ 3 จะถือเป็นหมวดที่ 1, 2 และ 3 จะพักอยู่ที่ตึกหน้า ขันตีอุสาหะ ส่วนแถวที่ 4, 5 และ 6 เป็นหมวดที่ 4, 5 และ 6 พักที่ตึกหลัง วิจัยกรณี

จากนั้นทุกคนก็ถูกสั่งให้ขนของใช้ส่วนตัวไปประจำเตียงของตัวเอง

ผมถูกจัดให้อยู่หมวดที่ 6 เลขประจำตัว 226 มีผู้ช่วยผู้บังคับหมวดที่ปกครองดูแล คือ นรต.วชิระศักดิ์ พุ่มทอง

เตียงนอนผม ฝั่งซ้ายมือ คือ นรต.ฉลอง ภาคย์ภิญโญ เป็นคู่ Buddy ของผมตลอดชั้นปีที่ 1 ฉลองเป็นชาวโคราช

เตียงนอนถัดไป คือ นรต.ปฐม ศุกระมูล เป็นนักตะกร้อฝีมือดีของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ มีลีลาการกระโดดฟาดที่สุดยอด แต่ต่อมาได้เสียชีวิตไปแล้ว

ส่วนเตียงนอนฝั่งขวามือผม คือ นรต.เกียรติพงศ์ ขาวสำอางค์ มาจากโรงเรียนเตรียมทหาร บ้านอยู่สามพราน ใกล้ๆ แค่นี้

และเตียงนอนถัดไป คือ นรต.วิศรุต ไวคกุล ลูกชายของนายตำรวจ บ้านอยู่กรุงเทพฯ มาจากโรงเรียนบดินทร์เดชา เมื่อจบจากสามพรานไปไม่นานนัก ก็เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์

พวกที่อยู่ตึกเดียวกันชั้นเดียวกัน จะคุ้นเคยกันเร็ว ปลายเตียงนอนผม เยื้องๆ กัน ก็คือ นรต.ณัฐ อรรถกวิน และ นรต.ปณิธาน สันติเพ็ชร

 

โรงเรียนนายร้อยตำรวจ จะคัดเลือกนักเรียนชั้นปีที่ 4 เป็นหัวหน้านักเรียนนายร้อยตำรวจ

ในปีนั้นคือ นรต.อรรถชัย เกิดมงคล และ นรต.สุภโชค ประดิษฐ์เกษร รองหัวหน้านักเรียนและเป็นผู้ช่วยผู้บังคับหมวดที่ 1 กองร้อยที่ 1 อีกตำแหน่งหนึ่ง ทั้ง 2 คนจะสวมหมวกแก๊ปสีแดงมีกะบังหมวกสีดำ ส่วนผู้ช่วยผู้บังคับหมวดที่ 2 ถึง 6 จะสวมหมวกแก๊ปสีเขียว และมีสายรัดคางสีฟ้าซึ่งทำด้วยไหมถักคาดบนกะบังหมวก

นักเรียนนายร้อยตำรวจ ชั้นปีที่ 4 จะถูกคัดเลือกจากเพื่อนร่วมรุ่นและผู้บังคับบัญชา ให้ไปทำหน้าที่ปกครองนักเรียนนายร้อยตำรวจทุกชั้น

ชั้นปีที่ 2 ผู้ช่วยผู้บังคับหมวด จะสวมหมวกแก๊ปสีเขียว มีสายรัดคางสีเหลืองคาด

ชั้นปีที่ 3 ผู้ช่วยจะสวมหมวกแก๊ปสีเขียว มีสายรัดคางสีม่วงคาด

ชั้นปีที่ 4 ผู้ช่วยจะสวมหมวกแก๊ปสีเขียว มีสายรัดคางสีเขียวคาด

หากมีนักเรียนนายร้อยตำรวจอบรม หรือหลักสูตรการอบรมผู้จบปริญญาตรีเพื่อเป็นนายตำรวจ ก็จะมีผู้ช่วยผู้บังคับหมวดไปปกครอง โดยสวมหมวกแก๊ปสีเขียว มีสายรัดคางสีกากีคาดบนกะบังหมวก

ส่วนนักเรียนนายร้อยตำรวจทั่วๆ ไป จะสวมหมวกแก๊ปตามสีประจำกองร้อย และใช้สายรัดคางคาดบนกะบังหมวก ที่ทำด้วยไหมถักสีขาวคาดบนกะบังหมวก

กองร้อยที่ 1 หรือนักเรียนนายร้อยตำรวจ ชั้นปีที่ 1 สวมหมวกแก๊ปสีฟ้า

กองร้อยที่ 2 หรือนักเรียนนายร้อยตำรวจ ชั้นปีที่ 2 สวมหมวกแก๊ปสีเหลือง

กองร้อยที่ 3 หรือนักเรียนนายร้อยตำรวจ ชั้นปีที่ 3 สวมหมวกแก๊ปสีม่วง

กองร้อยที่ 4 หรือนักเรียนนายร้อยตำรวจ ชั้นปีที่ 4 สวมหมวกแก๊ปสีเขียว

สำหรับผู้ที่จบปริญญาตรีและสอบคัดเลือกเพื่ออบรมเป็นนายตำรวจได้ จะอบรมที่กองร้อยที่ 5 และสวมหมวกแก๊ปสีกากี

 

ในค่ำคืนแรกและต่อๆ มา หัวหน้านักเรียนนายร้อยตำรวจ และผู้ช่วยผู้บังคับหมวด กองร้อยที่ 1 ทุกหมวด ได้ประชุมชี้แจงระเบียบวิธีปฏิบัติในขณะเป็นนักเรียนใหม่ จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรให้ถูกต้องตามระเบียบวินัย

ซึ่งมีรายละเอียดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นระบบฉากในการรับประทานอาหาร การจัดวางบนโต๊ะในวงอาหาร ละเอียดถึงขนาดระบุลักษณะการจัดจานอาหาร ผิดจากนี้ไม่ได้

แจงการเก็บที่นอน จะต้องขึงให้ผ้าคลุมเตียงเรียบตึง สะอาด ไม่มีคราบสกปรก เส้นผมเพียง 1 เส้นตกอยู่ก็ไม่ได้ เพราะนั่นหมายถึงอิสรภาพในวันหยุดจะหายไปทันที คือ ถูกกักบริเวณ หรือต้องเข้าเวรยาม

การจัดตู้เสื้อผ้า หรือตู้ยืน ซึ่งตั้งอยู่ข้างเตียงนอน มี 3 ชั้น

ชั้นบนวางหมวก มี 4 ใบ คือ หมวกครึ่งยศ หมวกหม้อตาลสีกากี หมวกหม้อตาลสีขาว และหมวกฝึก การจัดหมวกให้เสมอกับขอบ และชิดด้านข้าง โดยหันหน้าหมวกออกมา

ชั้นกลาง แขวนเสื้อ เน็กไท เข็มขัด เสื้อแขวนทางซ้าย เริ่มจากชุดปกติขาว ชุดเกียรติยศ ชุดกากีคอเปิด (ชุดคอแบะ) ชุดกากีคอปิด (ชุดเล็ก) ชุดฝึก ชุดศึกษา เสื้อเชิ้ตแขนยาว และชุดลำลอง

การแขวนกางเกง ให้กางเกงอยู่ข้างในเสื้อ โดยอย่าให้เลยออกมา

เมื่อเอาชุดใดออกมาใช้ให้เลื่อนชุดที่เหลือเข้าไป เสื้อตัวในสุด ให้ชิดกับขอบตู้ด้านใน เวลาเกี่ยวไม้แขวนเสื้อ ให้ขออยู่ด้านใน

ทางด้านขวา เรียงจากด้านขวาสุดดังนี้ สายกระบี่ พร้อมด้วยกระบี่สั้น เน็กไท เข็มขัดชุดเล็ก เข็มขัดชุดฝึก (สำหรับแต่งกับชุดฝึกสีเขียว) เข็มขัดชุดศึกษา เข็มขัดชุดลำลอง

ชั้นกลางด้านล่าง วางผ้าด้วยกัน 2 กอง ผ้าขาว วางอย่างน้อย 2 ตัว เป็นเสื้อคอแดง ผ้ากากี วางอย่างน้อย 2 ตัว ต้องวางเสมอกับกองผ้าขาว และบนกองผ้าสีกากี ใช้วางหมวกสีกองร้อย (หมวกแก๊ป) ผ้าปูตัก ต้องพับเรียบร้อย เสมอกับผ้าขาว การวางต้องวางด้านมนออกข้างนอก และต้องวางอย่างน้อย 2 ผืน

ชั้นล่างสุด วางผ้า 2 กอง ด้านซ้าย วางผ้าบาง ผ้าขาวม้า กางเกงนอน ด้านขวา วางผ้าสี เสื้อสีกองร้อย ชุดฝึก (ชุดฟาติก) และวางหมวกฝึก ถุงเท้า วางเสมอผ้าบาง

ประตูตู้ยืน แขวนผ้าเช็ดตัว ต้องจัดให้ชิดขอบด้านนอก โดยหันด้านมนออกมา กระจกต้องเช็ดทุกวัน ป้ายชื่อโลหะ ต้องขัดด้วย เครื่องสนาม วางไว้บนหลังตู้ยืน แล้วนำหมวกเหล็กวางไว้บนเครื่องสนาม เสื้อที่นำไปแขวนต้องติดกระดุมทุกเม็ด

รองเท้าที่วางใต้เตียงนอน ต้องวางเป็นระเบียบเรียงไปตั้งแต่รองเท้าคอมแบต รองเท้า Jungle รองเท้าคัตชู รองเท้าผ้าใบ และรองเท้าแตะ ส่วนกระเป๋าวางตรงข้ามกับรองเท้า

นับต่อจากเวลานี้ไป เมื่อนักเรียนใหม่เดินออกนอกชายคาจะเดินเอ้อระเหยลอยชายเหมือนอยู่ข้างนอกโรงเรียนไม่ได้แล้ว แต่จะต้องวิ่งอย่างเดียว การเลี้ยวฉากทุกครั้งที่เป็นมุมฉากให้เตะฉาก ก่อนถึงจุดเลี้ยว ต้องเตะฉาก 3 ก้าว แล้วจึงซ้ายหรือขวาหัน เตะฉาก 2 ก้าว จึงวิ่งต่อไป ขณะเตะฉากมือทั้งสองข้างขัดหลัง

หากสวนทางกับนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นพี่ หรือผู้บังคับหมวด ผู้บังคับกอง จะต้องหยุดยืนตรง เพื่อเป็นการแสดงความเคารพผู้ที่อาวุโสกว่า จนรุ่นพี่หรือผู้บังคับบัญชาผ่านไป จึงวิ่งต่อไปได้

 

การเดินผ่านนักเรียนชั้นสูง หรือผู้บังคับบัญชา ต้องขออนุญาตถึงผู้ได้รับการเคารพก่อน โดยทำก่อนถึง 3 ก้าว แล้วให้ทิ้งมือทั้ง 2 ข้างแนบชิดลำตัว พร้อมทั้งสะบัดหน้าไปทางผู้ได้รับความเคารพ เดินไป 2 ก้าว แล้วจึงสะบัดหน้ากลับตามเดิม แล้วเดินต่อไป การเดินสวน ให้หยุดทำความเคารพ ไม่ต้องขออนุญาตผ่าน ทั้งยังมีกฎและข้อปฏิบัติต่างๆ อีกมากมาย เมื่อออกจากกองร้อย ให้ปิดกระดุมคอเสื้อทุกครั้ง

การรับประทานอาหารบนโรงอาหารให้ปิดกระดุมคอเสื้อ เว้นแต่จะได้รับคำสั่งให้อนุญาตปลดได้

ทุกครั้งก่อนที่จะวิ่งเข้าแถวหน้ากองร้อย ให้ตะโกนตรงทุกครั้ง

เมื่อเลิกแถว ในตอนเช้าหรือเย็น จะขึ้นกองร้อย จะต้องถอดรองเท้าที่หลังกองร้อย การตัดเล็บ ช่วยป้องกันเล็บขบ เล็บถอด

เมื่อจะไปกองแพทย์ ต้องขออนุญาตผู้ช่วยผู้บังคับหมวด หรือผู้บังคับหมวด และมีใบส่งตัว