อุแว้’ธิปไตย อุ๊งอิ๊ง จากนายกฯ โพล สู่นายกฯ จริง?

อะไรไม่เคยได้เห็น ก็จะได้เห็นจริงๆ… เป็นครั้งแรกที่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้สนับสนุนหลักเพื่อไทย เอ่ยชื่ออย่างตรงไปตรงมา วิจารณ์ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ในฐานะผู้สนับสนุนหลักพรรคก้าวไกล ว่าก้าวไกลชักจะทำตัวคล้ายประชาธิปัตย์

ไม่รู้ว่าเพราะอะไรทักษิณจึงเปิดหน้าเล่นบทนี้เอง สืบต้นสายปลายเหตุ เห็นว่าเป็นบทสัมภาษณ์ของธนาธรที่ไปวิจารณ์ระบบพรรคการเมืองเก่า ย้ายข้างสลับขั้วกันจนไม่สนใจเรื่องอุดมการณ์ประชาธิปไตย แม้ในคลิป ธนาธรไม่ได้เอ่ยชื่อพรรคเพื่อไทย แต่ทักษิณคงเข้าใจว่าเป็นการพูดถึงพรรคเพื่อไทย

มากกว่านั้น จริงๆ ทักษิณรู้ต่างหาก ว่ายิ่งใกล้เลือกตั้ง ใครกันคือคู่แข่งที่แท้จริงในสนามที่จะถึงนี้ ดูจากผลโพลล่าสุด ก็ยืนยันตามนั้น

 

เพราะผลสำรวจของนิด้าโพล เรื่อง “ศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 1” ระหว่างวันที่ 2-8 มีนาคม จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวม 2,000 หน่วยตัวอย่าง เมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 38.20 ระบุว่าเป็น “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 15.75 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล อันดับ 3 ร้อยละ 15.65 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรครวมไทยสร้างชาติ

สำหรับพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 49.75 ระบุว่าเป็นพรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 17.40 พรรคก้าวไกล อันดับ 3 ร้อยละ 11.75 พรรครวมไทยสร้างชาติ

เช่นเดียวกับพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 49.85 พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 17.15 พรรคก้าวไกล อันดับ 3 ร้อยละ 12.15 พรรครวมไทยสร้างชาติ

ต้องยอมรับว่า ณ ขณะนี้ นิด้าโพลถือว่ามีความน่าเชื่อถือมากที่สุดในบรรดาสถาบันจัดทำโพล ที่ตกเป็นข่าวรายวัน สร้างผลงานความแม่นยำจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ขนาดอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังกล่าวถึงและมองการตั้งรัฐบาลหน้า จากฐานของนิด้าโพล

 

จากผลโพลจะเห็นว่า ก้าวไกลมาเป็นอันดับ 2 ในทุกรูปแบบการสำรวจ ขณะที่รวมไทยสร้างชาติ พรรค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นอันดับ 3

นำห่างขนาดนี้ คู่แข่งของเพื่อไทยจึงไม่ใช่การเอาชนะรวมไทยสร้างชาติเสียแล้ว แต่คือการจะดึงคะแนนจากอันดับ 2 ให้ชนะขาด แลนด์สไลด์ตามนโยบายพรรค มากกว่า

สรุป ณ เวลานี้ กระแสของเพื่อไทยมาเป็นที่ 1 ขึ้นแท่นตั้งแต่การเลือก ส.ส.เขต ส่วนบัญชีรายชื่อก็นำแบบม้วนเดียวจบ ขณะที่ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นำโด่งเป็นนายกฯ ทิ้งห่างอันดับ 2 พิธาจากก้าวไกล และโดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ได้อันดับ 3 ขาดลอย จนแทบจะไม่ใช่คู่แข่งกัน

คำถามต่อไปของเพื่อไทยจึงไม่สำคัญว่าจะชนะเลือกตั้งยังไง แต่อยู่ที่จะชนะยังไงให้มาก และจะตั้งรัฐบาลอย่างไร หรือจะทำคลอดนายกรัฐมนตรีคนใหม่ให้อุแว้ออกมาแข็งแรง สามารถนำพารัฐบาลได้หรือเปล่า

 

แพทองธารที่อุ้มท้องแก่เดินหาเสียง ขึ้นเวทีปราศรัย ผู้คนเป็นห่วงเป็นใยและชื่นชมในสปิริตนักการเมืองในแง่ที่ว่า แม้จะลำบากแค่ไหน แต่ก็ให้ความสำคัญกับประชาชนในการเดินทางลงพื้นที่ไปขอคะแนนให้คนมากาบัตรให้ อันเป็นที่มาของนักการการเมืองที่เกิดจากระบอบประชาธิปไตย

แต่คงต้องยอมรับว่าถึงที่สุด เร็วๆ นี้ ภาพของแพทองธาร ก็จะต้องหายออกจากเวที พักการเดินหาเสียง ปราศรัยและลงพื้นที่ซึ่งเป็นช่วงสำคัญของการหาเสียงเลือกตั้ง

จึงต้องดูว่าเพื่อไทยจะแก้เกมนี้อย่างไรเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่ติดสปีดลงพื้นที่อย่างหนัก

แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่า หากชนะเลือกตั้ง แพทองธารจะเป็นนายกฯ เองจริงหรือไม่ ซึ่งก็มีสัญญาณจากทักษิณ ชินวัตร ที่เพิ่งออกมาการันตีว่า ถ้าได้รับโอกาสให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มั่นใจว่าอุ๊งอิ๊งจะทำได้ดีว่าตนเองแน่นอน

ทั้งนี้ ทักษิณเห็นว่า แพทองธารเข้าใจเรื่องการเมืองดีมาก เข้าใจปัญหาคนรากหญ้า เพราะอยู่ในวงการเมืองกับตนเองมานาน แต่การที่เพื่อไทยเสริมทัพด้วยเศรษฐา ทวีสิน ที่ชำนาญเรื่องเศรษฐกิจภาพรวม เข้าใจแนวโน้มการต่อสู้ในตลาดโลก ยิ่งทำให้เพื่อไทยมีความแข็งแกร่งในแง่ของการฟื้นฟูเศรษฐกิจจาก 8 ปี รัฐบาลมรดก คสช.

ผสมเข้ากับยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ที่ต้องยอมรับว่าเป็นวาทกรรมการตลาดการเมืองที่เหนือชั้น เข้ากับบริบท ชวนให้ผู้ใช้สิทธิต้องคิดในทางยุทธศาสตร์การเมืองว่าจะตัดสินใจเลือกใครเพื่อให้เกิดชัยชนะเด็ดขาดในการสู้กับรัฐบาลจากมรดกระบอบ คสช. รวมถึง 250 ส.ว.

แถมยังมีผลทางจิตวิทยาการเมืองที่ส่งผลต่อกลุ่มก้อนการเมืองต่างๆ การย้ายขั้วต่างๆ ของบ้านใหญ่ จนแห่กันย้ายกลับเพื่อไทยไปแล้วหลายหลัง

 

สติธร ธนานิธิโชติ จากสถาบันพระปกเกล้า อธิบายเรื่องแลนด์สไลด์เพิ่มว่าเป็นการรุกฆาตไปที่ฐานเสียงของพรรคก้าวไกลที่เคยแชร์คะแนนไปเมื่อปี 2562 กลับมาให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ยังไปกระแทกบรรดาพรรคที่คิดยุทธศาสตร์รอบนี้ว่า อย่างไรก็เป็นพรรคร่วมรัฐบาลจะดร็อปลงในเชิงกระแส

แน่นอนว่าแลนด์สไลด์เป็นยุทธศาสตร์การเลือกตั้งที่ประสบความสำเร็จ ดูตัวอย่างมาจากการชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คนกรุงได้บทเรียนว่า หากไม่เลือกแบบยุทธศาสตร์แล้วแย่งคะแนนฐานเสียงกันเอง สุดท้ายก็แพ้ เพื่อไทยจึงมั่นใจในเกมนี้เป็นอย่างยิ่ง และดูสำเร็จด้วยดี ถ้าดูจากผลโพลภาพรวมประเทศ แม้แต่รายจังหวัด

ภาคใต้ที่เพื่อไทยไม่เคยคิดว่าจะมี ส.ส. แต่ผลโพลล่าสุด แม้คะแนนจะตาม พล.อ.ประยุทธ์ แต่คะแนนของแพทองธารก็มาเป็นอันดับ 2 เช่นเดียวกับคะแนนการเลือกพรรคที่พุ่งขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน

เพื่อไทยยังวางกำหนดการปล่อยนโยบายอย่างคนเก๋าเกม ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวออกมาในช่วงแรกให้คนจดจำ เกิดการถกเถียง กระทั่งเลียนแบบจากพรรคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเรื่องค่าแรง การจ้างงาน เรื่องสุขภาพ ท่องเที่ยว เน้นการสร้างรายได้ และยังมีเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ยาเสพติด ที่ดิน

จากนั้นก็ปล่อยนโยบายระลอก 2 ให้คู่แข่งตามไม่ทัน เช่น นโยบายรายได้ครอบครัว การกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ การสร้าง Fintech Center นโยบายสู้ฝุ่น PM 2.5 เรื่องหนังสือเดินทาง ยกเลิกเกณฑ์ทหาร และนโยบายสิทธิผู้หลากหลายทางเพศ

เรียกได้ว่าออกนโยบายมาต่อเนื่อง หล่อเลี้ยงและดันให้กราฟความนิยมพุ่งขึ้นตลอด

 

เมื่อหันมองการเมืองรอบทศวรรษที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าการเมืองขณะนี้ เอื้อให้พรรคเพื่อไทยมากที่สุดอย่างไม่เคยมีก่อน จากผู้ถูกกระทำ ถูกยึดอำนาจ แต่ก็ยังประคองตัวเองอยู่ในระบบ มาจนกระทั่งชนะเลือกตั้ง ได้ ส.ส.มากที่สุดในประเทศเมื่อปี 2562 แต่ก็ไม่สามารถรวมกับพันธมิตรตั้งรัฐบาลได้ แม้จะเสนอเก้าอี้นายกฯ ให้คนอื่น เขาก็ไม่เอา หันไปจับมือ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งรัฐบาลเสียเฉย

สุดท้ายผ่านมาจนหมดสมัย คะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ดิ่งลง ปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง ส่งผลต่อผู้คนถ้วนหน้าแบบไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่ม

นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้ผลโพลล่าสุดของนิด้าโพล คะแนนเลือกพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลเกือบ 50% คะแนนเลือกอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร เป็นนายกฯ มากเกือบ 40% โดยหากนำแค่อันดับ 1 และอันดับ 2 ซึ่งเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน 2 พรรคมารวมกัน คะแนนจะพุ่งไปถึงเกือบ 70%

ทุกอย่างล้วนเกิดจากฝีมือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เอง

ล่าสุด สมศักดิ์ เทพสุทิน และสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 2 รัฐมนตรีจากรัฐบาลประยุทธ์ ที่ลาออกไปซบเพื่อไทย ว่า จากการเก็บข้อมูลมาตลอด เชื่อมั่นว่า “เพื่อไทย” ได้จัดตั้งรัฐบาลแน่

สมศักดิ์ เจ้าของวลี “รัฐธรรมนูญนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา” ถึงกับระบุว่า “เราตัดสินใจ เพราะดิน ฟ้า อากาศ ข้อมูลหลายอย่าง ข้อมูลครบ เราจึงตัดสินใจไม่พลาด ที่ย้ายไปเพื่อไทย”

 

แต่ก็อย่าประมาท อย่าลืมว่านี่คือสงครามครั้งสุดท้ายของมรดกจากรัฐบาล คสช. ฝ่ายอำนาจเดิมก็ย่อมงัดทุกกลยุทธ์มาใช้ทั้งบนดินและใต้ดิน

ในเชิงข้อมูลข่าวสาร ครอบครัวชินวัตรจะต้องเจอกับแรงกดดัน การขุดคดีอดีตนายกฯ ในอดีตขึ้นมาหลอกหลอน

ในเชิงการเมือง จะได้เจอกับกลไกอำนาจรัฐ

เช่นเมื่อไม่นานมานี้เราได้เห็นการเทกระจาด แจกเงินให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จากนั้นก็อนุมัติเพิ่มเงินให้เทศบาล อบต. ตอบแทนนักการเมืองท้องถิ่น โดยไม่ได้ใช้งบฯ กลาง แต่ไปดึงจากงบฯ ของแต่ละท้องถิ่นที่จะใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นนั้นๆ รวมเงินตอบแทนส่วนนี้ ว่ากันว่าเกือบ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ยังไม่นับการอนุมติเพิ่มเงินให้ อสม.ทั่วประเทศ เป็นเงินก้อนโต

แน่นอน การตอบแทนคนทำงานเป็นสิ่งที่ดี แต่คำถามที่หลายคนสงสัย ทำไมเพิ่งมาขึ้นรัวๆ ติดๆ กันตอนนี้ มองจากดาวอังคารก็รู้ว่าคิดอะไร ประชาชนเขาดูออก

น่าสนใจไม่น้อยว่า ทั้งปฏิบัติการแจกสะบั้นหั่นแหลก ปฏิบัติการลงพื้นที่รัวๆ ในนามของการไปตรวจราชการ บางจังหวัดไปทำพิธิเปิดงานเสวนา ตรวจการสร้างที่จอดรถโรงพยาบาล เปิดแพขนานยนต์ ที่คนต่างถามว่าระดับนายกฯ จะไปทำไม

 

แต่ทำขนาดนี้ผลโพลก็ยังแพ้อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ขาดลอย ไม่รู้ว่าฝ่ายอำนาจเดิมจะหาวิธีดัน พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นเป็นนายกฯ ได้อย่างไร อาการแบบนี้แหละน่ากังวล เพราะยังมีไม้ตายที่เคยใช้ได้ผล นั่นคือการยุบพรรค หรือการยืดเลือกตั้ง

ซึ่งแน่นอนถ้าทำแบบนั้นอีก มันก็คือการประกาศสงครามกับประชาชนอีกครั้งหนึ่ง แล้วครั้งนี้จะหนักหนาสาหัสกว่าทุกครั้ง อย่าลืมว่า ประชาชนเขาซ้อมลงถนนกันตั้งแต่ปี 2563 แล้ว

จนถึงวันนี้เส้นทางนายกฯ ของอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ถ้าวัดตามกระแส จึงเป็นไปได้ แต่กว่าจะถึงวันนั้นก็คงไม่ง่าย ต้องประคองยุทธศาสตร์การเมืองของเพื่อไทยให้ดี ไม่ให้คะแนนตก

มากกว่านั้นคือการเตรียมแผน เตรียมเครื่องมือป้องกันในการฝ่าดงระเบิดที่ฝ่ายอนุรักษนิยมวางไว้ และ 2 นายกฯ แห่งตระกูลชินวัตร เคยโดนมาแล้ว