รัฐสวัสดิการกับนโยบายอภิสิทธิ์ชน ความแตกต่างที่ต้องตอกย้ำ ในช่วงการเลือกตั้ง

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ฝนไม่ถึงดิน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

 

รัฐสวัสดิการกับนโยบายอภิสิทธิ์ชน

ความแตกต่างที่ต้องตอกย้ำ

ในช่วงการเลือกตั้ง

 

เมื่อเข้าถึงช่วงการเลือกตั้งเรามักมีคำถามอยู่ตลอดว่า การพูดถึงนโยบายที่ประชาชนได้รับประโยชน์ก็จะมีคำถามว่า นโยบายนี้เป็นนโยบาย “ประชานิยม” หรือไม่

หรือหากเจาะจงลงไป นโยบายรัฐสวัสดิการแตกต่างกับประชานิยมอย่างไร?

เมื่อ 20 ปีก่อน คำว่าประชานิยมถูกใช้ในไทยด้วยนัยยะเชิงลบ ในลักษณะของการเป็นนโยบายที่ปราศจากการวางแผน นโยบายที่เน้นแต่การใช้เงิน เพื่อให้เกิดความนิยม

ซึ่งหากย้อนกลับไปสิ่งที่เราจะพบคือคำว่า “ประชานิยม” ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาในช่วงยุคสมัยความรุ่งเรืองของลัทธิเสรีนิยมใหม่

ยุคสมัยที่อำนาจทุนขยายตัวอย่างมาก และการตัดสวัสดิการเกิดขึ้นแพร่หลายในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

นโยบายวินัยทางการคลัง การรัดเข็มขัดเชิงนโยบาย ลดหย่อนภาษีสำหรับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และนำสู่การตัดลดนโยบาย ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น

ยังไม่นับรวมการขยายตัวของกลุ่มทุนข้ามชาติ ที่อาศัยประโยชน์จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในประเทศโลกที่สาม ตักตวงผลประโยชน์มากมายมหาศาล

กล่าวคือ ได้สร้างความเหลื่อมล้ำไปทั่วโลก

จนต้นศตวรรษที่ 21 พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายในละตินอเมริกาเริ่มชนะการเลือกตั้งและมีแนวนโยบายที่ตรงข้ามกับแนวทางเสรีนิยมใหม่ โดยมีการรื้อฟื้นนโยบายสวัสดิการต่างๆ ขึ้นมา

ลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้กลุ่มชนชั้นนำฝ่ายขวาในสหรัฐอเมริกา รวมถึงนักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งเริ่มประดิษฐ์คำว่า “ประชานิยม-Populism”

เพื่อใช้โจมตีและด้อยค่ารัฐบาลฝ่ายซ้ายในละตินอเมริกา

 

คําว่าประชานิยมระบาดไปทั่วโลกแม้กระทั่งในไทย

ในช่วงประมาณปี 2544-2549 คำว่าประชานิยมก็ถูกนำมาใช้เพื่อโจมตีนโยบายสวัสดิการของพรรคไทยรักไทย และเป็นหนึ่งในข้ออ้างของการรัฐประหารในปี 2549

คำว่าประชานิยมนี้มีช่วงพีกของตัวเองในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 แต่พอย่างเข้าสู่ช่วงทศวรรษ 2010 คำว่าประชานิยมก็เริ่มดูไร้สาระเพราะรัฐบาลฝ่ายขวาเองก็เริ่มใช้นโยบายประชานิยม

เช่น การปลุกแนวคิดชาตินิยม การกีดกันผู้อพยพ การตัดสวัสดิการแรงงานข้ามชาติ การแบ่งแยกชนชั้น การสร้างวัฒนธรรมจารีตนิยมเพื่อกดแรงงานสตรี และปลุกเร้าให้ได้รับความนิยมจากผู้สนับสนุนฝ่ายขวาของตนเอง ก็ล้วนสามารถใช้ “นโยบายประชานิยม” ได้เช่นเดียวกัน

ดังนั้น ในบริบทสังคมโลก คำว่าประชานิยมจึงเสื่อมหายไป

ซึ่งไม่ใช่เพราะว่ามีแนวคิดอื่นมาโต้แย้ง แต่เป็นความน่าตลกที่ว่าสุดท้ายทุกฝ่ายก็มีความเป็นประชานิยมอยู่ในตัวเอง

ประชานิยมที่เป็นคำวิจารณ์ คำด้อยค่า ก็ถูกเลิกใช้ไปโดยปริยาย

เพราะทุกฝ่ายเมื่อถึงการเลือกตั้งก็ต้องพยายามสร้างความนิยมให้แก่นโยบายตัวเอง

 

ทีนี้ปัญหาหลักคือ รัฐสวัสดิการกับประชานิยม มีความต่างกันหรือไม่

ประการแรกที่เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่าช่วงหนึ่งมีความพยายามอย่างมากในการแยกนโยบายรัฐสวัสดิการออกจากนโยบายประชานิยม

เช่น พยายามบอกว่ารัฐสวัสดิการพูดเรื่องที่มาของรายได้ พูดถึงความเป็นสถาบันของการออกแบบนโยบาย ไม่ใช่เพียงแค่การแจกเงิน ฯลฯ

ความพยายามเหล่านี้เพื่อที่จะทำให้ทุกฝ่ายเกิดการยอมรับรัฐสวัสดิการ ว่าเป็นนโยบายที่มีความยั่งยืนมากกว่านโยบายประชานิยมเมื่อ 20 ปีก่อน

แต่เมื่อเวลาผ่านก็พิสูจน์ให้เห็นว่า การต่อต้านนโยบายรัฐสวัสดิการที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกี่ยวกับว่ามันเป็นนโยบายประชานิยมหรือไม่

แต่เกิดขึ้นเพราะ “รัฐสวัสดิการ” ท้าทายต่อผลประโยชน์ของชนชั้นนำ และเพิ่มผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ อันเป็นสิ่งที่เกิดมานานนับศตวรรษอยู่แล้ว

ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือไม่ใช่การแยกนโยบายรัฐสวัสดิการกับประชานิยม

แต่คือแยกนโยบายรัฐสวัสดิการกับนโยบายอภิสิทธิ์ชน

ซึ่งผมขอลิสต์ประเด็นดังต่อไปนี้

 

– รัฐสวัสดิการเน้นเก็บภาษีทางตรงอัตราก้าวหน้า นโยบายอภิสิทธิ์ชนลดหย่อนภาษีกลุ่มคนมั่งคั่ง

– รัฐสวัสดิการเน้นสวัสดิการถ้วนหน้าให้สวัสดิการในฐานะสิทธิ นโยบายอภิสิทธิ์ชนสวัสดิการแบบเงื่อนไขซับซ้อน เน้นระบบคูปอง พิสูจน์ความจนยุ่งยากเพื่อรับสิทธิ์แม้สิทธิประโยชน์จะน้อยกว่า

– รัฐสวัสดิการจะเข้มงวดกับชนชั้นนำกดดันให้ลดงบประมาณด้านความมั่นคงหรือสิทธิประโยชน์ของชนชั้นนำ ขณะที่นโยบายของอภิสิทธิ์ชนจะเข้มงวดกับประชาชนโดยอ้างเรื่องวินัยทางการคลัง และกลไกตลาด แต่กลับใช้งบประมาณมหาศาลเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มตัวเองเพียงแค่หยิบมือเดียว

– รัฐสวัสดิการ เงินบาทแรกจนบาทสุดท้ายถูกส่งตรงสู่ประชาชน ขณะที่นโยบายอภิสิทธิ์ชนปรนเปรอชนชั้นนำจนอิ่มหนำและโยนเศษเนื้อข้ามกำแพง

– รัฐสวัสดิการเน้นความสำคัญของชีวิตคน นโยบายของอภิสิทธิ์ชนนำตัวเลขเป็นข้ออ้างอยู่เหนือชีวิตของคน และผลักดันให้ประชาชนยอมรับเงื่อนไขว่ามีสิ่งที่สำคัญกว่าชีวิตของประชาชนเสมอ

ในช่วงก่อนการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566 ผมจะนำเสนอความแตกต่างของนโยบายสำหรับคนส่วนใหญ่ในนามของรัฐสวัสดิการที่แตกต่างจากนโยบายของอภิสิทธิ์ชนโดยละเอียดตลอดเดือนเมษายน สามารถติดตามได้อย่างต่อเนื่องในคอลัมน์นี้