เลือกตั้ง 2566 เดิมพันครั้งสำคัญของคนไทย-ก้าวไกล ‘เบญจา แสงจันทร์’

เลือกตั้ง 2566 เดิมพันครั้งสำคัญของคนไทย-ก้าวไกล ‘เบญจา แสงจันทร์’ ชี้จุดอ่อน ‘สภาไทย’ ลั่นไม่มีเวลาไหนเหมาะสมแก้ 112 เท่าตอนนี้

 

ใกล้แล้วกับการเลือกตั้ง 2566 มติชนสุดสัปดาห์ ได้มีโอกาสนั่งคุยรีวิวการเป็น ส.ส.สมัยแรกของ “เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้ที่อภิปรายเรื่องที่ใครไม่ค่อยกล้า “พูด” ถึงในสภา กับเส้นทางการเมืองตลอด 4 ปีภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เบญจาบอกว่า 4 ปีที่ผ่านมาจริงๆ เรามีเป้าหมายที่อยากเห็นในสภาคือ “การเป็นความหวัง” ให้กับผู้คนได้ แต่ 4 ปีที่ผ่านมาเรารู้สึกเลยว่ามันยังห่างไกลจากคำว่า “สมบูรณ์แบบ” ยังห่างไกลจากเป้าหมายนั้นอยู่เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในฐานะกรรมาธิการ หรือผู้แทนราษฎรที่ต้องลุกขึ้นอภิปรายในสภา หรือแม้แต่การออกตรากฎหมายต่างๆ

พรรคอนาคตใหม่ที่ปัจจุบันเป็นพรรคก้าวไกลเราวางเป้าหมายไว้ว่า อยากเห็นกฎหมายที่ก้าวหน้าสอดคล้องกับสังคมไทย วันนี้เรายังไปไม่ถึง

การทำงานที่ผ่านมาเรารู้สึกว่า ‘สภาไทย’ กีดกันในเรื่องของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ พอกีดกันในเรื่องนี้มันทำให้ดูไม่มีความหวัง แต่จริงๆ แล้วในมุมมองของเราเวลาที่เราทำงานเราก็ยังรู้สึกว่าในอีก 4 ปีข้างหน้าน่าจะไปได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

เรื่องที่ค้างคาใจตอนนี้คิดว่าเป็นเรื่องแก้กฎหมายหลายๆ ฉบับ อย่าง สมรสเท่าเทียม/สุราก้าวหน้า/พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ก็ยังไม่สามารถเข้าสู่สภาได้

หรือแม้แต่ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อมในอนาคต ซึ่งกฎหมายอะไรแบบนี้ที่ในทั่วโลกมีใช้กันมานานมากแล้วแต่ในสภาไทยก็ยังไม่ให้ผ่าน

สิ่งนี้ไม่ใช่ความประทับใจ แต่เรียกว่าเป็น “ความเสียดาย” ที่ไม่สามารถทำให้มันผ่านไปได้มากกว่า

อีกสิ่งที่อาจไม่ได้เรียกว่าความประทับใจแต่คือ “ปรากฏการณ์ใหม่” ที่เราได้ทำในสภาคือ การอภิปรายงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับงบฯ สถาบันกษัตริย์ หรือแม้แต่การอภิปรายที่แหลมคมของคุณรังสิมันต์ โรม เป็นสิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกว่าในอดีตมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยพอมันมาในสมัยที่เราก้าวเข้ามาและทำสิ่งนี้

เรารู้สึกว่านี้แหละคือความก้าวหน้าของสภาไทยที่เราอยากเห็น

 

ทำไมถึงกล้าอภิปราย 112?

เบญจาเล่าว่า ตอนแรกที่เข้ามาเป็น ส.ส. ก็ไม่ได้คาดหวังมาก่อนว่าต้องพูดถึงเรื่องนี้ ส่วนตัวแล้วเราเป็นคนชลบุรี เราจะได้เห็นการถูกกดทับของคนตัวเล็กตัวน้อย เราเข้าใจเป็นอย่างดีในพื้นที่ของชลบุรี หรือในพื้นที่ EEC (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก)

เราเข้าใจว่าพื้นที่เหล่านี้จะเป็นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนอย่างเท่าเทียมและมีการลงทุนทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมหาศาล

แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมาผู้คนตัวเล็กตัวน้อย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแรงงาน ชาวประมง หรือกลุ่มคนที่ไม่ใช่กลุ่มธุรกิจ หรือนายทุน พวกเขาถูกกดทับด้วยคำว่า “เขตเศษฐกิจพิเศษ” ที่พิเศษสำหรับนายทุนหรือคนที่มีอิทธิพลเท่านั้น พอเราเห็นมาอย่างงี้โดยตลอด เราจึงอยากทำหน้าที่เป็นปากเป็นสียงแทนคนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้

ทำให้พอเข้ามาทำหน้าที่ สิ่งหนึ่งที่เราอยากทำอยู่ตลอดคือการแก้กฎหมาย ที่ประกาศใช้ในช่วงของ คสช.

แล้วสิ่งหนึ่งที่เราเห็นถึงความผิดปกติคือ ทุกๆ ครั้งที่เรานั่งเป็นกรรมาธิการและได้มีโอกาสพิจารณากฎหมาย หรือพิจารณางบประมาณต่างๆ สิ่งหนึ่งที่สภาผู้แทนราษฎรไม่เคยแตะเลยคือเรื่องงบประมาณที่เกี่ยวข้องสถาบัน ไม่ใช่แค่งบฯ ส่วนราชการ แต่รวมถึงงบฯ ที่มีนามสกุลต่างๆ งบฯ โครงการในพระราชดำริ หรืองบฯ ที่นำไปจัดสรรทำเป็นซุ้ม เราเห็นว่างบประมาณเหล่านี้ไม่ถูกแตะต้องและไม่มีการอภิปรายถึงเรื่องนี้ในสภามาก่อนเลย

แม้จะมีข้อจำกัดในสภาว่าห้ามพูดถึงโดยไม่จำเป็น แต่พอมาทำงานจริงๆ มันมีความจำเป็นที่จะต้องพูดถึงเพราะงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันมีการใช้โดยหน่วยงานราชการต่างๆ และมีพี่น้องประชาชนรับผลกระทบจากโครงการเหล่านั้นและส่งหนังสือร้องเรียนมาทางพรรคอนาคตใหม่ (ในเวลานั้น) จนปัจจุบันเป็นพรรคก้าวไกลก็ยังคงได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตามที่เราได้รับร้องเรียน เราก็มองว่าควรที่จะต้องถูกพูดถึงโดยมีเราทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงแทนพี่น้องประชาชน

เวลามีคนพูดว่า “การแก้ 112 ยังไม่ควรพูดถึงในเวลานี้” ไม่มีเวลาไหนที่เหมาะสมเท่าตอนนี้ เพราะที่ผ่านมาก็ไม่มีใครกล้าพูดถึง และการบอกว่า “ควรพูดถึงเรื่องปากท้องก่อน” เรื่องเศรษฐกิจก็มีกระทรวงที่ดูแลเรื่องเศรษฐกิจ เราสามารถทำทุกอย่างไปพร้อมกันได้

สำหรับพรรคก้าวไกลเราไม่ได้มองแค่มุมเดียว จะเห็นว่าก้าวไกลมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเมืองดีด้วย ปากท้องดีด้วย และยังมีอนาคตอีกด้วย เรามีนโยบายที่เป็น 9 เสาหลักโดยทุกเรื่องเกี่ยวข้องกับปากท้อง เศรษฐกิจ การเมือง ทำให้ทั้ง 9 เสาหลักนี้สามารถทำไปพร้อมๆ กันได้

เราคิดว่า “ปากท้องจะดีต้องการเมืองดีด้วย”

โดยส่วนตัวเองมองว่า 112 ไม่ควรมีที่มีทางในสังคมประชาธิปไตยอีกแล้ว ถึงแม้เราจะอยากเห็นการยกเลิก แต่ปัจจุบันการแก้ไขอาจเป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้ง่ายที่สุด 112 กฎหมายฉบับนี้เมื่อมันถูกร่างขึ้นมาได้ก็ควรถูกแก้ไขได้ ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่ามีมวลชนออกมาเรียกร้องและลงชื่อให้ยกเลิกกฎหมายนี้กว่า 2 แสนคน เราต้องไม่ลืมว่าคนเหล่านี้มีตัวตนอยู่จริงๆ ในอีกมุมหนึ่งคนที่เขาไม่เห็นด้วยก็มีตัวตนอยู่เช่นกัน ในมุมของเราก็มองว่าการ ‘แก้ไข’ เป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้มากที่สุด

เอาจริงๆ แล้วกฎหมายแบบนี้ในต่างประเทศเขาแทบจะไม่ได้ใช้เลย การมีกฎหมายในการคุ้มครองพระมหากษัตริย์หรือคุ้มครองสถาบัน ถ้าหากมีการกระทำใดที่เป็นการละเมิดสถาบันก็จะได้รับโทษเป็นการปรับเท่านั้น ไม่มีกฎหมายที่มาลิดรอนเสรีภาพจำคุกประชาชน 3-15 ปีแบบนี้

 

มองเลือกตั้ง 2566

เป็นการเดิมพันครั้งสำคัญของคนไทย และพรรคก้าวไกล

นี่เป็นการเดิมพันว่าแนวความคิดแบบ “ก้าวไกล” จะสามารถลงหลักปักฐานในสังคมไทยได้หรือไม่ในต่อๆ ไป

เราเห็นการตื่นตัวที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากเห็นอนาคตของเยาวชนคนหนุ่มสาวทั่วทั้งประเทศ ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงมีเยาวชนที่จะเลือกตั้งได้ครั้งแรกไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน

เราจึงคิดว่าในการเลือกตั้งปี 2566 นี้มันจะเป็นสิ่งที่แสดงเจตจำนงบางอย่างว่าการเมืองแบบก้าวไกลจะปักธงในสังคมไทยได้ไหม จะไปต่อได้ในแบบไหน และเราจะอยากเห็นอนาคตในแบบไหน

สังคมไทยตอนนี้ถอยไปไกลกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว 4 ปีที่ผ่านมาระบอบที่เป็นอยู่มันฉุดรั้งให้ประเทศไทยไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ จริงๆ เราอยู่ในระบอบแบบเดิมนี้มาเกือบทศวรรษแล้ว แล้วระบอบแบบนี้มันทำให้เศรษฐกิจเราตกขบวน การเมืองไทยมันล้าหลัง

เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะเกิดในการเลือกตั้งปี 2566 มันเป็นการพิสูจน์ว่าเราจะพาสังคมไทยไปข้างหน้าได้มากกว่านี้หรือเปล่า

 

พูดถึง “พล.อ.ประยุทธ์”

คิดถึงสิ่งที่พี่น้องประชาชนตั้งคำถามถึงคำมั่นสัญญาที่ พล.อ.ประยุทธ์ให้ไว้กับประชาชนว่า “จะคืนความสงบให้ประชาชน” ทำได้มากแค่ไหน?

อยู่มาเกือบ 9 ปี ทุกวันนี้เวลาลงพื้นที่ ประชาชนต่างตั้งคำถามกับเศรษฐกิจไทย

ตั้งคำถามกับเรื่องการศึกษาไทย เจอพี่น้องแรงงานพวกเขาก็ถามเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่เขาบอกไว้ว่าจะขึ้นเป็น 425 บาท

เราก็จะนึกถึงแต่คำถามที่พี่น้องประชาชนถามกับเราว่า “พล.อ.ประยุทธ์นอกจากจะไม่ทำตามคำมั่นสัญญาแล้ว ยังจะมีหน้าไปต่ออีกเหรอ”

ตอนนี้เราตกขบวนหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเมือง หรือเศรษฐกิจ ทุกอย่างต้องทำไปพร้อมกัน ถ้าถามว่าอะไรจะสำคัญที่สุด ทุกคนอาจมองเรื่อง “เศรษฐกิจ” เป็นเรื่องสำคัญที่สุด แต่เรามองว่าการจะมีเศรษฐกิจที่ดี การจัดสรรปันส่วนอำนาจให้พี่น้องประชาชนก็สำคัญเช่นกัน สวัสดิการที่ดีของประชาชนจะมีไม่ได้เลยถ้ายังมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ยังไม่ได้ยึดโยงกับพี่น้องประชาชน เราไม่สามารถที่จะแก้ไขเรื่องอื่นๆ ได้เลยไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม การศึกษาหรือค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบันถ้าเรายังไม่สามารถแก้ปัญหาที่ต้นตอได้คือ “รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้จัดสรรอำนาจกับพี่น้องประชาชน”

เพราะฉะนั้น เรื่องที่สำคัญเร่งด่วนนอกจากแก้ปัญหาเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กันแล้วคือการออกแบบและแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

 

คุณสมบัติของผู้นำคนต่อไป

วันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่เหมาะสมจะเป็นผู้นำให้สังคมไทยสำหรับพรรคก้าวไกลคงไม่มีใครเหมาะสมเท่าคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อีกแล้ว หลังจากนี้คงต้องเป็นฉันทามติของประชาชนว่าอยากเห็นผู้นำแบบคุณพิธา ผู้นำที่มีวุฒิภาวะ ผู้นำในแบบที่สามารถนำประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า และเป็นผู้นำที่จะถือธงนำประเทศไทยได้

4 ปีที่ผ่านมาเรามีเป้าหมายอยากจะเห็นการสถาปนาอำนาจของพี่น้องประชาชนผ่านการใช้อำนาจในสภา ถ้าถามถึงความหวังเราอยากเห็นอนาคตของสังคมไทยที่ก้าวไปอีกแบบหนึ่งที่มีการสถาปนาอำนาจสูงสุดที่เป็นอำนาจของพี่น้องประชาชนตามบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเราอยากเห็นการเอากองทัพออกจากการเมืองไทยหยุดการทำรัฐประหาร และคิดว่ามันจะไปได้ไกลกว่านี้ถ้าหากเราเห็นการปฏิรูปกองทัพด้วย

และหลังจากนั้นเราอยากเห็นการฟื้นฟูประเทศจากความบอบช้ำในช่วงของความขัดแย้งซึ่งมันอาจใช้เวลายาวนาน มันควรจะเริ่มได้แล้วในช่วงยุคสมัยของเรา

ชมคลิป