เดินสวน ‘ศรัทธาประชาชน’

เมนูข้อมูล | นายดาต้า

 

เดินสวน ‘ศรัทธาประชาชน’

 

มีถ้อยคำหนึ่งที่ถูกหยิบมาแชร์กันอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่กระแสประชาธิปไตยเสรีนิยมขึ้นมานำความคิดของผู้คนในสังคม

“คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง”

มีการกล่าวอ้างว่าเป็นคำของคนนั้นคนนี้ โดยไม่ได้อธิบายว่าเป็นถ้อยความที่สรุปมาจากความคิดที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ความเป็นไปของสังคมแบบไหน อะไรเป็นเหตุให้มีการหยิบยกคำนี้ขึ้นมากล่าว

อาจจะเพราะเป็นถ้อยความที่หวังผลต่อทัศนคติทางการเมือง ที่ต้องการให้ความสำคัญกับ “ตัวบุคคล” มากกว่า “ระบบโครงสร้างอำนาจ” จึงทำให้มีถ้อยความที่ว่าไปแล้วดูจะมุ่งสอนให้นำมาใช้พัฒนาตัวเองนี้ กลายเป็นถูกต่อต้านจากกลุ่มผู้ที่เห็นว่าจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลง “ระบบโครงสร้างอำนาจ” ที่ครอบงำสังคมจนทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม หรือสร้างความไม่เท่าเทียมให้เกิดขึ้น

จนเกิดคำว่า “คนดีย์” ขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ของการไม่ยอมรับข้อสรุป “คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง”

 

ถึงวันนี้ ระหว่าง “การเชิดชูตัวบุคคล” กับ “ความเชื่อมั่นในระบบ” ได้ขยายตัวมาเป็น “ความขัดแย้ง” ในค่านิยมทางการเมืองของคนไทย

การเชิดชู “คนดี” ขยายเป็น “การยอมรับเผด็จการ” ขณะที่ “ความเชื่อมั่นในระบบ” ขยายเป็น “ศรัทธาในประชาธิปไตย” พัฒนาสู่ความขัดแย้ง ขยายสู่ความแตกแยก นำสู่การต่อสู้ทางการเมืองที่เอาเป็นเอาตายกับการเอาชนะอย่างเด็ดขาด เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งแพ้ราบคาบ

ผลการศึกษาของ “สถาบันพระปกเกล้า” ที่นำเสนอเมื่อเร็วๆ นี้ เรื่อง “มองพฤติกรรมการเลือกตั้งผ่านค่านิยมประชาธิปไตยของประชาชน ใน 2 ทศวรรษ”

ในคำถาม “ต้องการประชาธิปไตยหรือไม่” ที่มีคำตอบให้เลือก 3 ข้อ คือ 1.ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองมากกว่าระบอบการปกครองระบอบอื่น 2. สำหรับฉันจะปกครองแบบประชาธิปไตย หรือเผด็จการไม่สำคัญ 3. การปกครองระบอบเผด็จการน่าพึงพอใจมากกว่า

ย่อๆ คือ 1. นิยมประชาธิปไตย 2. ระบบอะไรก็ได้ 3. นิยมเผด็จการ

สถาบันพระปกเกล้าเก็บข้อมูลความคิดของประชาชนในประเทศในรอบ 2 ทศวรรษ หรือย้อนไป 20 ปีมาเปรียบเทียบกันพบว่า

ปี 2544 นิยมเผด็จการร้อยละ 11.7, อะไรก็ได้ร้อยละ 5.2, นิยมประชาธิปไตย ร้อยละ 81.1

ปี 2549 นิยมเผด็จการร้อยละ 15, อะไรก็ได้ร้อยละ 3.3, นิยมประชาธิปไตยร้อยละ 81.7

ปี 2553 นิยมเผด็จการร้อยละ 14.5, อะไรก็ได้ร้อยละ 6.8, นิยมประชาธิปไตยร้อยละ 78.7

ปี 2557 นิยมเผด็จการร้อยละ 31, อะไรก็ได้ร้อยละ 9.1, นิยมประชาธิปไตยร้อยละ 59.9

ปี 2561 นิยมเผด็จการร้อยละ 19.3, อะไรก็ได้ร้อยละ 15, นิยมประชาธิปไตยร้อยละ 79.1

ปี 2565 นิยมเผด็จการร้อยละ 19.3, อะไรก็ได้ร้อยละ 9.8 นิยมประชาธิปไตยร้อยละ 70.8

 

ที่สะท้อนจากข้อมูลของสถาบันพระปกเกล้านี้ หากนำไปย้อนดูแลการเลือกตั้งในแต่ละช่วงเวลาตามเจตนาของการศึกษา

จะพบว่าผลออกมาตามค่านิยมนี้อยู่ไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม แม้ “ความนิยมต่อประชาธิปไตยจะสูงกว่าเผด็จการ” มาตลอด และผลเลือกตั้งจะออกมาตามผลการศึกษานั้น

แต่ “รัฐบาลประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นความนิยมของประชาชนส่วนใหญ่มาตลอด กลับไม่ใช่ทางเลือกของประเทศนี้ที่จะให้มามีอำนาจบริหารประเทศ

“อำนาจประชาชน” พ่ายแพ้ต่อ “อำนาจของกลุ่มบุคคล” เสมอมา

จึงเกิดคำถามที่น่าสนใจคือ

“การเลือกตั้งครั้งใหม่” ที่จะเกิดขึ้นในอีกเดือนกว่าๆ ข้างหน้านี้

ตัวแทนของระบบที่ประชาชนนิยมมากกว่า จะได้รับอนุญาตให้เข้ามาบริหารจัดการประเทศ ในนามรัฐบาล แทนระบบที่คนส่วนน้อยให้ความเชื่อถือหรือไม่