วัดที่ไม่มีการเผาศพ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

อาจจะเป็นด้วยวัยของผมประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งคือผมมีผู้คนที่ต้องเกี่ยวข้องสมาคมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ทำให้ในแต่ละสัปดาห์ผมมีงานสังคมที่ต้องไปปรากฏร่างเพื่อมีส่วนร่วมเป็นจำนวนไม่ใช่น้อย

งานแต่งงาน งานวันเกิดนั้นผมถือว่าถ้าได้รับเชิญแล้วไปบ้างไม่ไปบ้างก็ไม่เป็นไร ถ้าไม่มีหน้าที่เป็นพิเศษถึงเราไม่ไปเขาก็แต่งงานหรือฉลองวันเกิดกันได้

แต่งานอีกชนิดหนึ่งคืองานศพนั้น แม้เจ้าภาพเขาไม่ได้เชิญ แต่พิจารณาแล้วควรจะไปร่วมงาน ผมก็ถือเป็นกิจสำคัญที่ไม่ควรขาด เพราะคนเราจะได้เห็นน้ำใจกันก็ในยามทุกข์มากกว่ายามสุข

อีกเหตุผลหนึ่งที่เป็นความจริงที่เจ็บปวด คือคนเราตายได้ครั้งเดียว ถ้าไม่ไปงานศพเขาคราวนี้ก็ไม่มีงานศพ (คนเดียวกัน) คราวหน้าให้ไปอีกแล้ว แต่สำหรับงานแต่งงานหรืองานฉลองวันเกิดนั้น พลาดคราวนี้ไป ก็ยังไปงานแต่งงานของเขาในอนาคตได้อีกหลายรอบ หรืออย่างน้อยปีหน้าก็ฉลองวันเกิดได้อีก จริงไหมครับ

เพราะฉะนั้น กิจวัตรประจำอย่างหนึ่งของผมคือการไปงานศพตามวัดวาอารามต่างๆ ถ้าเป็นงานศพที่จัดขึ้นในต่างจังหวัดก็ต้องถือว่าเป็นกรณีพิเศษจริงๆ ที่จะขวนขวายไปร่วมงาน งานศพส่วนใหญ่ที่ผมมีโอกาสไปร่วมฟังสวดพระอภิธรรมก็ดี ไปร่วมงานฌาปนกิจหรืองานพระราชทานเพลิงก็ดี จึงวนเวียนอยู่ในวัดที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ขานชื่อวัดก็ได้ครับว่าส่วนใหญ่แล้วก็หนีไม่พ้นวัดธาตุทอง วัดมกุฏกษัตริยาราม วัดโสมนัสวิหาร วัดเทพศิรินทราวาส วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลองเปิดหนังสือพิมพ์ดูแล้วลองทำสถิติดูก็จะได้ชื่อวัดไม่แตกต่างกันกับที่ผมว่ามานี้ล่ะครับ

 

เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทำไมถึงไม่มีการจัดงานศพหรือเผาศพที่วัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์) วัดบวรนิเวศ วัดชนะสงคราม หรือวัดอีกหลายวัดที่อยู่ในบริเวณกรุงเทพฯ ตอนในกันบ้าง

เรื่องนี้มีเหตุผลครับ และเป็นเหตุผลที่สัมพันธ์กับคำว่า “ประตูผี” ที่เราขานชื่อกันอยู่บ่อยครั้งเวลาอยากจะกินก๋วยเตี๋ยวผัดไทยนั่นแหละ

เรื่องมีอยู่ว่า เป็นธรรมเนียมมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาว่าจะไม่มีการเผาศพคนทั้งหลายภายในบริเวณกำแพงพระนคร เว้นแต่งานพระบรมศพหรือศพสำคัญที่มีพระเมรุหรือเมรุกลางเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่นานปีทีหนจึงจะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง

แต่สำหรับคนทั่วไปตายแล้วต้องออกไปเผานอกเมืองทั้งสิ้น เหตุผลสำคัญน่าจะเป็นเรื่องสุขอนามัย เพื่อให้คนทั้งหลายไม่ต้องอดทนอยู่กับกลิ่นและควันที่ไม่น่าอภิรมย์ ขณะเดียวกันก็อาจจะแถมในเรื่องการเผาศพที่ครั้งนั้นทำกันกลางแจ้ง ถ้าเกิดฟืนไฟลุกลามกระเด็นกระดอนไปติดบ้านเรือนซึ่งเป็นเรือนไม้เรือนหลังคาจากเสียเป็นส่วนใหญ่ ความเสียหายก็จะมากมายเกินประมาณ

เพราะฉะนั้น สมัยอยุธยาจึงต้องชักศพออกไปเผานอกเมืองทั้งสิ้น ส่วนจะไปเผาวัดไหนบ้างนั้น เสียดายที่ผมเกิดไม่ทัน ไม่เช่นนั้นจะได้นำมาเล่าสู่กันฟังให้ครึกครื้นไป

พอมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์หรือกรุงเทพฯ ซึ่งเราต้องไม่ลืมว่าห่างจากวันเดือนปีสุดท้ายของอยุธยาเพียงแค่สิบห้าปี ผู้คนที่มาสร้างและมาอยู่อาศัยในพระนครแห่งใหม่นี้ไม่ใช่ใครที่ไหนเลย หากแต่เป็นชาวอยุธยามาแต่ดั้งเดิม

 

ยกตัวอย่างเช่น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในวันที่เสียกรุงนั้นพระชนมพรรษา 30 พรรษาแล้ว อีกสิบห้าปีต่อมาเมื่อพระองค์มีบุญวาสนาได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระชนมพรรษาก็เพียง 45 พรรษาเท่านั้น เมื่อเป็นดังนี้แล้วจึงไม่น่าแปลกใจที่พระองค์จำความในสมัยอยุธยาว่าเป็นอยู่กันอย่างไรได้ละเอียดครบถ้วน เมื่อพระองค์สร้างกรุงเทพฯ เป็นราชธานี พระองค์จึงยกกติกาไม่เผาศพในกำแพงพระนครมาใช้ในเมืองใหม่แห่งนี้ด้วย

กำแพงพระนครอยู่ตรงไหนหรือครับ

ถ้าใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นการกำหนดเขตพระนครฝั่งด้านตะวันตก วงเขตที่เป็นกำแพงเมืองก็เริ่มจากป้อมพระสุเมรุซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ยังปรากฏหลักฐานอยู่ เดินแนวกำแพงเลียบคลองบางลำภูหรือคลองโอ่งอ่างไปโดยตลอด สังเกตเห็นไหมครับว่าหน้าวัดบวรนิเวศวิหารทุกวันนี้ก็ยังมีกำแพงพระนครและประตูเมืองประตูเดียวที่ยังเหลืออยู่ จากนั้นกำแพงพระนครก็เป็นร่องรอยอีกช่วงหนึ่งตรงป้อมมหากาฬและกำแพงหน้าวัดราชนัดดารามและวัดเทพธิดาราม

คราวนี้ก็ถึงประตูผีแล้วล่ะครับ

ตำแหน่งประตูผีน่าจะอยู่ตรงถนนบำรุงเมืองที่พุ่งตรงมาจากเสาชิงช้ามุ่งหน้าไปทางสะพานกษัตริย์ศึก

ประตูที่ว่านี้ปัจจุบันไม่เหลือซากแล้ว คงเหลือแต่เพียงชื่อปรากฏเป็นร่องรอยหลักฐานว่าเป็นประตูสำหรับนำศพออกนอกพระนครเพื่อไปปลงศพตามกติกา นึกออกไหมครับว่าพ้นประตูนี้ไปนิดเดียวเลี้ยวซ้ายมือก็จะถึงบริเวณวัดสระเกศ ซึ่งเป็นวัดนอกกำแพงพระนครถูกต้องตามกติกาทุกประการ

 

ในครั้งก่อนวัดสระเกศถึงเป็นวัดที่สะดวกที่สุดสำหรับการปลงศพ เวลาเกิดเหตุสำคัญ เช่น มีโรคระบาด มีคนตายจำนวนมากพร้อมๆ กัน การเผาศพที่วัดสระเกศทำไม่ได้หมดสิ้น ถึงกับต้องปล่อยศพวางไว้กลางแจ้งก็เคยปรากฏ นี่เองจึงเป็นต้นกำเนิดของคำว่า “แร้งวัดสระเกศ” ซึ่งไม่ใช่อะไรอื่นไกลเลยนอกจากแร้งจริงๆ มากินศพที่ถูกทอดทิ้งไว้

สยองวุ้ย!

แต่ในเหตุการณ์ปกติวัดสระเกศก็เป็นวัดที่สะอาดสะอ้านและเป็นวัดที่ได้รับความนิยมในการปลงศพจากผู้คนทุกชั้น แม้จนศพเจ้านายชั้นหม่อมเจ้าหรือขุนนางผู้ใหญ่ก็ปลงศพเผาศพที่วัดสระเกศได้ทั้งสิ้น

เรื่องควรกล่าวอีกข้อหนึ่งคือในสมัยโบราณนั้น ถ้าเจ้าภาพศพรายใดมีปัญญาทำเมรุเผาศพเป็นการเฉพาะกิจขึ้นมาได้ เขาก็ต้องขวนขวายที่จะสร้างเมรุมาเอง อารมณ์ประมาณว่าตั้งข้อรังเกียจที่จะใช้เมรุร่วมกับคนอื่น แต่วิธีการอย่างนี้สิ้นเปลืองมาก เพราะนอกจากเมรุซึ่งเป็นอาคารหลักแล้ว ยังต้องประกอบด้วยอาคารบริวารอีกหลายหลัง ถ้าไม่มีวาสนาบารมีหรือไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอก็ลำบากล่ะ

วัดบางวัด เช่น วัดสุวรรณารามทางฝั่งธนบุรี และวัดสระเกศทางฝั่งพระนคร จึงเอื้อเฟื้อทำเมรุปูนขึ้นเป็นเมรุถาวร เพื่อประหยัดทรัพย์ของผู้ที่ไม่มีกำลังสร้างเมรุเฉพาะกิจ นานวันเข้าเมรุถาวรอย่างนี้ก็เป็นที่นิยม และปรากฏขึ้นทั่วไปในอีกหลายวัดบรรดาที่อยู่นอกกำแพงพระนคร

นี่เองเป็นคำเฉลยว่าทำไมเราจึงไม่เคยได้รับเชิญไปเผาศพที่วัดโพธิ์หรือวัดสุทัศน์ และอีกหลายวัดที่อยู่ในกำแพงพระนคร

ธรรมเนียมไม่เผาศพในกำแพงพระนครนี้ถือกันมาหลายร้อยปีแล้ว และยังคงถืออยู่ในทุกวันนี้ จะโดยเรารู้สึกตัวหรือไม่ก็ตามที ฮา!

 

พูดถึงเมรุถาวรแล้วขอแถมท้ายอีกหน่อยเถิดครับ กล่าวโดยเฉพาะคือเมรุวัดเทพศิรินทราวาส เวลาอ่านแจ้งความตามหนังสือพิมพ์จะพบว่าวัดเทพศิรินทร์นั้นแปลกกว่าวัดอื่นเพราะมีเมรุถึงสองเมรุ เรียกว่าเมรุด้านทิศใต้เมรุหนึ่ง มีขนาดย่อมหน่อย

ส่วนอีกเมรุหนึ่งเรียกว่าเมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ เมรุที่สองนี้เป็นเมรุของหลวงคือสำนักพระราชวังเป็นเจ้าของและเป็นผู้ดูแล ส่วนเมรุด้านทิศใต้นั้นเป็นของวัด

คำว่า “พลับพลาอิสริยาภรณ์” มีที่มาจากการสร้างพลับพลาหลังนี้เพื่อใช้เป็นพลับพลาในงานพระศพพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอิสริยาภรณ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อพุทธศักราช 2437 และโดยพระเกียรติยศของเจ้านายพระองค์นี้ไม่ถึงขนาดที่จะมีพระเมรุกลางเมืองที่ท้องสนามหลวง

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดการพระราชทานเพลิงที่สุสานหลวงวัดเทพศิรินทร์ซึ่งอยู่ทางด้านหลังของวัด

งานพระเมรุครั้งนั้นยังคงใช้วิธีการสร้างพระเมรุชั่วคราวขึ้นตรงบริเวณพื้นที่ว่างหน้าพลับพลาซึ่งสร้างถาวร และพระราชทานนามพลับพลาตามพระนามพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น

นั่นแปลว่าตั้งแต่พุทธศักราช 2437 เป็นต้นมามีพลับพลาอิสริยาภรณ์เกิดขึ้นเป็นของถาวรแล้ว แต่เมื่อมีงานพระราชทานเพลิงศพเจ้านายหรือข้าราชการผู้ใหญ่ที่สุสานหลวงนี้ ก็ต้องสร้างพระเมรุหรือเมรุชั่วคราวขึ้นทุกครั้งไป

 

จนถึงงานพระศพสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระราชอุปัธยาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้าเมื่อพุทธศักราช 2503 นี้เอง สำนักพระราชวังจึงสร้างเมรุถาวรขึ้นบริเวณหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ดังที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ เพื่อใช้ในการพระศพสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้นเป็นคราวแรก

หลังจากนั้นเมรุนี้ก็ได้ใช้ในราชการเรื่อยมาจนทุกวันนี้ ถ้าเป็นการพระศพเจ้านายก็ออกนามเมรุนี้ว่า พระเมรุ แต่ถ้าเป็นศพข้าราชการหรือคนทั่วไปที่ได้รับพระราชทานโกศก็ออกนามแต่เพียงแค่ เมรุ เฉยๆ

ไม่น่าเชื่อเลยว่าแค่นึกถึงเรื่อง “ก๋วยเตี๋ยวผัดไทยประตูผี” แล้วจะเลยเถิดมาถึงตรงนี้ได้

หยุดเขียนไว้แค่นี้ก่อนดีกว่า เดี๋ยวผมจะนั่งรถไปกินก๋วยเตี๋ยวผัดไทยแล้วล่ะ

ไปด้วยกันไหมครับ ผมกำลังหาเจ้ามืออยู่ทีเดียว