สุรพศ ทวีศักดิ์ : ศาสนาสถาปนาการเมือง

เท่าที่ผมสังเกตในบ้านเรา การพูดว่า “ศาสนาควรแยกจากการเมือง” มาจากคนสองกลุ่มหลักๆ

กลุ่มแรก พูดบนจุดยืนแนวคิดโลกวิสัย (Secularism) แต่คนที่ยืนยันชัดเจนบนจุดยืนนี้จริงๆ ก็มีน้อย

บางทีการพูดว่าศาสนาควรแยกจากการเมือง มักจะเป็นการพูดตามๆ กันมากกว่าที่จะแสดงจุดยืนแนวคิดโลกวิสัยอย่างชัดแจ้ง

อีกกลุ่มคือฝ่ายอนุรักษนิยม มีทั้งพระและฆราวาส ยืนยันว่าศาสนาควรแยกจากการเมือง แต่เป็นศาสนาและการเมืองใน “ความหมายแคบ” คือ ศาสนาหมายถึง “พระ” ส่วน “การเมือง” คือการเมืองภาคนักการเมือง

ศาสนาไม่ยุ่งการเมืองก็หมายถึงพระไม่แสดงออกในทางสนับสนุนนักการเมือง พรรคการเมือง ไม่ออกมาชุมนุมสนับสนุนพรรคการเมือง หรือ “เสื้อสี” ใดสีหนึ่ง เป็นต้น

แต่การที่พระออกมาชุมนุมเรียกร้องกระทรวงพุทธศาสนา (ที่ได้สำนักพุทธฯ แทน) ชุมนุมเรียกร้องให้บัญญัติพุทธศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ ชุมนุมปกป้องมหาเถรสมาคม หรือเรียกร้องให้ออกกฎหมายใดๆ เกี่ยวกับเรื่องทางสงฆ์ กลุ่มนี้ก็จะอ้างว่านี่เป็น “การพระศาสนา” ไม่ใช่ “การเมือง” แต่อย่างใด

ยิ่งกว่านั้น การที่พระเทศนาสอนว่า การเมืองต้องมีศีลธรรม ประชาธิปไตยต้องมีธรรมาธิปไตย ได้ “คนดี” มาปกครอง ฯลฯ ย่อมถือเป็นหน้าที่และบทบาทที่พึงกระทำ

แน่นอน การเทศนาและประกอบพิธีกรรมเชิดชูความภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยิ่งเป็น “หน้าที่หลัก” ของคณะสงฆ์เลยทีเดียว

แต่หน้าที่เช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นการยุ่งการเมืองแต่อย่างใด

เช่นเดียวกัน การที่พระเซเลบออกมาเทศนาสนับสนุนว่า “ค่านิยม 12 ประการคล้ายธรรมะในพุทธศาสนา”

หรือแม้แต่มีพระออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หากจะถือว่าเป็นการยุ่งการเมือง ก็ย่อมถือเป็นการเมืองที่พระควรยุ่ง หรือมีหน้าที่ต้องยุ่งเพื่อรักษาชาติบ้านเมือง

 

ความสับสน ลักลั่นของกรอบความหมาย “ศาสนาควรแยกหรือไม่แยกจากการเมือง” ดังตัวอย่างที่ยกมาเป็นต้น หากสืบสาวไปจะพบว่าเป็นความสับสน ลักลั่นที่อยู่บนทัศนะพื้นฐานผิดๆ ที่ว่า “ศาสนาถูกดึงมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง”

ทัศนะนี้เชื่อว่าศาสนาบริสุทธิ์สะอาด ส่วนการเมืองเป็นเรื่องสกปรก และศาสนาก็จะถูกทำให้เสียหาย ผิดเพี้ยน หรือสกปรกเมื่อถูกดึงมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง

แต่ถ้าฝ่ายศาสนามี “เจตนาดี” มาช่วยทำให้การเมืองสะอาดขึ้นก็เป็นเรื่องที่ดีหรือควรทำ

ความจริงแล้วศาสนาเองมีสองด้าน

คือด้านสว่างและด้านมืด

การเมืองก็เช่นกัน แม้แต่พุทธะเองก็เคยเตือนว่า การนับถือศาสนานั้นเหมือนกำใบหญ้าคา หากไม่ระมัดระวังให้ดีมันอาจบาดมือเลือดซิบ

ยิ่งกว่านั้น เมื่อมองในทางประวัติศาสตร์ย่อมไม่ใช่เพียงอย่างที่พูดๆ กันว่า “ศาสนาถูกดึงมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง” แต่ความจริงแล้ว ศาสนาต่างหากที่สถาปนาระบบการเมืองการปกครองขึ้นมา

 

ในยุคชนเผ่า หัวหน้าเผ่าเป็นทั้งผู้นำชนเผ่าและผู้นำศาสนา ในอารยธรรมเมโสโปเตเมียและอียิปต์ ผู้ปกครองคือนักบวช หรือไม่ก็เป็นกษัตริย์ที่เป็นโอรสเทพ หรือเป็นเทพเองเลย เนื่องจากศาสนาพหุเทวนิยมในยุคนี้ทำหน้าที่ตอบคำถามทุกเรื่อง ทั้งเรื่องจักรวาลวิทยา การปกครอง ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิต กฎหมาย วัฒนธรรมประเพณี กระทั่งความเป็นชาติพันธุ์เดียวกันของคนในแต่ละสังคม

อารยธรรมศาสนาสายยูดายก็เกิดจากการเมืองเรื่องศาสนาและชาติพันธุ์ การนับถือพระเจ้าองค์เดียว (เอกเทวนิยม) เกิดจากการดูถูกความงมงายในการนับถือเทพเจ้าหลายองค์ (พหุเทวนิยม) พวกพหุนิยมเป็นพวกนอกรีตในสายตาพวกเอกเทวนิยม ขณะที่พวกเอกเทวนิยมก็เป็น “พวกนอกรีต” ในสายตาพวกพหุนิยม

แต่ชัดเจนว่า การนับถือพระเจ้าองค์เดียวของชาวยิว ไม่ได้มีความหมายเป็นเพียง “การนับถือศาสนา” เท่านั้น ความหมายที่สำคัญกว่าคือ พระเจ้าองค์เดียวได้รวมชาติพันธุ์ของชาวยิวให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

แล้วพระเจ้าองค์เดียวก็นำชาวยิวเข้าสู่สมรภูมิการต่อสู้กับพวกที่นับถือเทพหลายองค์ ปลดปล่อยชาวยิวจากการถูกอำนาจฝ่ายพหุเทวนิยมกดลงเป็นทาส แล้วนำชาวยิวออกเดินทางเร่ร่อนยาวนานเพื่อแสวงหา “แผ่นดินแห่งพันธสัญญา” ในยุคโมเสส

 

ในยุคเยซูพระเจ้าองค์เดียวปรากฏขึ้นในฐานะ “ผู้ไถ่บาป” ที่สอนให้มนุษย์รักต่อพระเจ้าและรักกันและกัน แต่รางวัลที่มนุษย์ตอบแทนแก่พระผู้ไถ่บาป ก็คือ “การตรึงกางเขน” ด้วยข้อกล่าวหาว่า เยซูดูหมิ่นพระเจ้า และประกาศตนเป็นกษัตริย์ของชาวยิว

หลังยุคเยซู เมื่อศาสนาพระเจ้าองค์เดียวเข้ามาสู่โรม ย่อมเข้ามาด้วยสายตาดูแคลนเทพเจ้าหลายองค์ ขณะที่พวกนับถือเทพหลายองค์ก็รังเกียจพระเจ้าองค์เดียว การปราบปรามเข่นฆ่าผู้เผยแผ่ศาสนาคริสต์อย่างโหดเหี้ยมจึงเกิดขึ้น

ทว่า ท้ายที่สุดศาสนาคริสต์ก็มีชัย เมื่อจักรพรรดิคอนสแตนตินหันมานับถือคริสต์และตั้งศาสนจักรคริสต์โรมันคาทอลิกขึ้น ทำให้ศาสนาคริสต์เรืองอำนาจเหนือยุโรปตลอดยุคกลาง ด้วยการสถาปนาการปกครองสองระบบคู่ขนานกันคือ การปกครองทางโลก มีกษัตริย์ใช้อำนาจปกครองในนามของพระเจ้า และการปกครองทางจิตวิญญาณ

มีพระสันตะปาปาใช้อำนาจปกครองในนามของพระเจ้าองค์เดียวกัน

 

หันมาดูอารยธรรมอินเดีย ยิ่งชัดเจนว่าศาสนาพราหมณ์-ฮินดูสถาปนาระบบสังคมการเมืองขึ้นมาเลย ถือว่า “ระบบวรรณะสี่” ถูกกำหนดมาอย่างตายตัวโดยพระพรหมผู้สร้างโลก ชนชั้นปกครองคือกษัตริย์และพราหมณ์ ผู้ถูกปกครองคือไวศยะและศูทร เฉพาะศูทรนั้นคือ “ทาส”

ฉะนั้น นอกจากศาสนาจะสถาปนาระบบการเมืองการปกครองขึ้นมาแล้วยังสถาปนา “ระบบทาส” ขึ้นมาอีกด้วย

ศาสนาคริสต์นั้น แม้จะเคยมีมิติการปลดปล่อย แต่นักบุญเปาโลได้นำทาสที่หนีเจ้านายมาแล้วหันมานับถือคริสต์ไปคืนให้กับเจ้านาย พร้อมขอให้เจ้านายให้ความเมตตาต่อทาสชาวคริสต์ผู้นี้ด้วย และนักบุญออกัสตินก็สอนว่า “ระบบทาสเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานมาเพื่อลงโทษต่อบาปของมนุษย์” เป็นต้น

ขณะที่พุทธศาสนาก็สอนหลักการปกครองที่ถือว่า “พุทธธรรมราชา” กับ “จักรพรรดิธรรมราชา” ควรทำหน้าที่สนับสนุนกัน

โดยธรรมราชาต้องใช้หลักจักกวัตติวัตรและทศพิธราชธรรมในการปกครอง ยิ่งกว่านั้นยังมีวรรณกรรมอมตะ “เวสสันดรชาดก” ที่พระโพธิสัตว์บริจาคลูกเป็นทาสเพื่อบำเพ็ญทานบารมีสู่พระโพธิญาณ

 

ดังนั้น ในยุคสมัยใหม่ เมื่อเกิดแนวคิดและการเคลื่อนไหวเรื่อง Secular จึงหมายถึง การทำให้การเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา และเรื่องสาธารณะอื่นๆ หลุดพ้นออกมาจากระบบการเมืองการปกครองที่สถาปนาขึ้นโดยศาสนา

เนื่องจาก Religion นั้นหมายถึง ข้อผูกมัด, กฎ, คำสั่งของพระเจ้าที่กำหนดระบบการเมืองการปกครอง ศีลธรรม ขนบจารีตของสังคม และวิถีชีวิตของบุคคลขึ้นมาดังกล่าวแล้ว ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู, คริสต์, อิสลาม มีความเป็น Religion ในความหมายเช่นนี้อย่างชัดแจ้ง ศาสนาพุทธที่ไม่มีความเชื่อเรื่องพระเจ้าก็เป็นศาสนาที่สร้างการเมืองแบบที่ผู้ปกครองเป็นธรรมราชา, พระโพธิสัตว์, สมมติเทพขึ้นมาด้วยเช่นกัน

ถ้าพูดให้ถูกตามกรอบคิด Secular จึงควรพูดว่า “แยกการเมืองออกจากศาสนา” ซึ่งเกิดจากการสรุปบทเรียนแล้วว่า เมื่อการเมืองการปกครองและเรื่องสาธารณะอื่นๆ อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองที่อิงศาสนาแบบยุคกลางย้อนไปในยุคโบราณ สิทธิ เสรีภาพ หรือประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นไม่ได้

พูดชัดๆ คือ การแยกการเมืองออกจากศาสนา คือการเปลี่ยนระบบการปกครองจากระบบการปกครองแบบที่ศาสนาสถาปนาขึ้น มาเป็นระบบการปกครองแบบทางโลก คือระบอบประชาธิปไตย (และระบบอื่นๆ ที่ไม่อิงหลักศาสนา) แต่ไม่ใช่ทำให้ศาสนาหายไปจากสังคม เพราะทำไม่ได้

ที่ทำได้คือสร้างหลักประกันเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนา ซึ่งจำเป็นต้องแยกองค์กรศาสนาออกจากโครงสร้างอำนาจรัฐ เพื่อไม่ให้ศาสนาใดๆ มีอำนาจรัฐและใช้อำนาจรัฐกดขี่เสรีภาพได้แบบยุคกลางอีกต่อไป

 

อิทธิพลของโลกสมัยใหม่ที่แยกการเมืองออกจากอำนาจศาสนาดังกล่าว ได้ส่งผลให้อิสลามซึ่งยังเป็นศาสนาการเมืองแบบยุคกลาง (หรือเปลี่ยนไปได้น้อยสุด) กลายเป็นศาสนาที่ “แปลกหน้า”

ขณะที่พุทธศาสนาไทยกลายเป็นศาสนาที่อยู่ในภาวะสับสน ลักลั่นในเรื่องยุ่ง ไม่ยุ่งการเมืองดังกล่าวมาแล้วแต่แรก

และทำให้รัฐประชาธิปไตยแบบไทยมีหน้าตาแบบ “รัฐกึ่งศาสนา” คือ มีทั้งระบบอำนาจบนความเชื่อในสมมติเทพแบบศาสนา และมีระบบอำนาจบนหลักการทางโลกควบขี่กันไปดังที่เป็นมาและเป็นอยู่