ยุบสภา ยุบพรรค ทุบพวกเห็นต่าง

ลากกันมาสุดทางจริงๆ สำหรับรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ครองอำนาจยาวนานสู่ปีที่ 9 แบบจำใจต้องยุบสภา 1-2 วัน ก่อนหมดวาระ ตามแท็กติกทางกฎหมายเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

ถ้าไม่มีกฎเกณฑ์เรื่องระยะเวลาการย้ายพรรคของผู้สมัครกรณียุบสภาไว้ พล.อ.ประยุทธ์คงจะอยู่จนครบสมัยนั่นแหละ

ที่จริงการยุบสภามีการพูดกันหนาหูตั้งแต่ปลายปี 2565 กระทั่งมีแนวโน้มจะยุบสภาหลังการประชุมเอเปคเดือนพฤศจิกายน แต่ก็ไม่สามารถทำได้ อันเนื่องมาจากปัญหาภายในของพรรครัฐบาล จน พล.อ.ประยุทธ์ต้องแยกออกมาเพื่อเข้าสังกัดพรรคการเมืองใหม่ สู้ศึกเลือกตั้ง หวังคว้าเก้าอี้ไปให้ได้มากที่สุดเพื่อต่อรองตั้งรัฐบาลใหม่

นั่นคือที่มาที่ทำให้กรอบการยุบสภาต้องเลื่อน เพราะพรรคใหม่ที่สังกัดยังไม่พร้อม มายุบเอาวันท้ายๆ ก่อนหมดอายุรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงต้นๆ สัปดาห์หน้า

 

วันนี้ต่างฝ่ายต่างเดินหน้าเก็บแต้มการเมืองกันไม่เว้นแต่ละวัน ปรับลุคกันใหญ่โต หวังครองใจผู้ลงคะแนน มาถึงตอนนี้แล้ว น่าสนใจว่าฝั่งผู้มีอำนาจรัฐยังไม่หยุดทำงาน ลงพื้นที่ไปต่างจังหวัดกันรายวัน ในนามของการไปตรวจราชการ ทั้งที่ก็รู้ๆ อยู่ว่ามันเป็นการไปปราศรัยเก็บคะแนน

จริงๆ กฎหมายก็เขียนไว้ชัด ในช่วงฤดูเลือกตั้งว่าห้ามใช้กลไกรัฐมายุ่งหรือมีส่วนช่วยในการหาเสียง เรื่องนี้ไม่ต้องรอให้ใครมาเตือน หากมีสำนึกว่าการแข่งขันในเกมจะต้องแฟร์ๆ การหาเสียงในนามของการตรวจราชการที่ใช้งบฯ หลวงดูแลค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็ควรหยุดได้แล้ว

นี่อะไร นอกจากลงพื้นที่ ประชุม ครม. 2-3 นัดที่ผ่านมา กลับทิ้งทวนแจกเงินสารพัด ขึ้นเงินเดือนนักการเมืองท้องถิ่น เทศบาล อบต. ขึ้นเงินเดือนกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ขึ้นเงินให้ อสม.ทั่วประเทศ รัวๆ

ว่ากันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ กระสุนจะปลิวว่อนทั่วประเทศ เป็นการเลือกตั้งที่ใช้เงินมากที่สุดตั้งแต่เคยมีมา

ขณะที่ฝั่งตรงข้ามไม่ได้มีกลไกอะไรช่วยเหลือ ซ้ำยังถูกกระทำมาหลายต่อหลายครั้ง

 

ล่าสุดฝ่ายฝั่งตรงข้ามเจอข่าวเรื่องการยุบพรรคอีก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อไทย ก้าวไกล

เรื่องนี้ต้องระวัง อย่าลืมตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ฝ่ายอนุรักษนิยมใช้กลไกนี้มาโดยตลอด โดยเฉพาะหากประเมินว่าฝ่ายตนเองจะพ่ายแพ้ เพราะได้ผลดี มีประสิทธิภาพในการจัดการฝ่ายตรงข้ามได้อย่างเด็ดขาด ด้วยต้นทุนที่ถูกมาก ไม่ต้องใช้กำลังทางกายภาพใดๆ

เป็นการประหารชีวิตทางการเมืองด้วยวิธีการทางกฎหมาย ตั้งแต่การยุบพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน ไทยรักษาชาติ จนถึงพรรคอนาคตใหม่

นอกจากนี้ ข่าวลือเรื่องยุบพรรค (แม้ที่สุดอาจไม่ถูกยุบจริง) แต่มีประสิทธิภาพทางการเมืองในเชิงการขู่ หรือการเตือนเรื่องการเปลี่ยนข้างทางการเมืองจากผู้มีอำนาจ สื่อสารไปยังขั้วการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะขั้วพันธมิตรที่เคยทำงานกันมา แต่ต้องถอยไปลงสนามแข่งขัน

กลไกกฎหมายอย่างการยุบพรรค การตัดสิทธิเรื่องคุณสมบัติต่างๆ แม้จะเป็นลูกไม้เก่า แต่มันยังใช้ได้ดี พลังต้านทางการเมืองมี แต่โดยรวมแล้ว “คุ้มค่า” และกระแสการยุบพรรคคงจะทวีความเข้มข้นหลังการยุบสภา

 

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง พรรครวมไทยสร้างชาติ ระดับแกนนำของพรรคปราศรัยดึงสถาบันเบื้องสูงมาหาเสียงทางการเมืองอย่างชัดเจนบนเวทีหลายครั้ง หลายฝ่ายรุมวิจารณ์ ร้องเรียนไปยัง กกต. สุดท้าย กกต.ทำได้แค่แจกใบเตือนอย่าทำอีก ท่ามกลางความคาใจของสังคมว่าความผิดสำเร็จแล้วมิใช่หรือ

ก่อนหน้านี้ไม่นาน คำร้องที่สมชัย ศรีสุทธิยากร เรื่องการขนคน-แจกของในงานเปิดตัว พล.อ.ประยุทธ์เข้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็เพิ่งถูกตีตก

อาการแบบนี้มันทะแม่งๆ อย่าลืมว่านี่คือการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของฝ่ายอำนาจนิยมที่ครองอำนาจรัฐมาตั้งแต่ปี 2557

ดังนั้น มรดก คสช.ที่ชื่อว่าองค์กรอิสระ ก็อาจถูกนำมาใช้งานได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะช่วงที่จนตรอก ยิ่งผลโพลทุกโพลถล่มทลาย ยิ่งน่ากลัว

 

จนถึงวันนี้แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะขอลงสนามการเมืองอีกครั้ง ก็ยังทำตัวอยู่เหนือความเป็นการเมือง ไม่เข้าใจวิถีทางการเมือง การอยู่กับความเห็นต่าง

ขณะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่ตรวจราชการที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี มีหญิงสูงวัยไปดักรอขบวน เพื่อตำหนิการทำงานของนายกฯ ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ใช้มือปิดปากและล็อกคอ ฉุดกระชากตัวเข้าไปในซอกรถ ด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ในและนอกเครื่องแบบ 4-5 คน บางคนใช้ร่มมากางเพื่อกันไม่ให้มีใครถ่ายภาพได้

คลิปดังกล่าวกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการกระทำที่รุนแรงเกินกว่าเหตุหรือไม่ เพราะเป็นภาพน่าตกใจที่เจ้าหน้าที่หลายคนใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงสูงวัย

แต่ยิ่งน่าตกใจมากไปกว่านั้น คือความเห็นของผู้นำประเทศในกรณีดังกล่าว ที่นอกจากไม่ขอโทษ ยังกระทำตรงกันข้าม

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ โดยถามกลับสื่อมวลชนที่ตั้งคำถามว่า สิ่งที่เจ้าหน้าที่กระทำกับผู้หญิงสูงวัยคนนั้น แรงตรงไหน? ราวกับว่าที่เจ้าหน้าที่ทำนั้นไม่ได้ใช้ความรุนแรง เป็นวิธีการที่ถูกต้อง ครั้นยังถามย้ำว่าสิ่งที่ผู้หญิงสูงวัยคนดังกล่าวทำนั้นผิดกฎหมายหรือไม่? แถมยังเย้ยว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามที่จ้องมาป่วน และมากันแค่ 3 คน แต่ พล.อ.ประยุทธ์มาทำประโยชน์ให้คนนับหมื่น สื่อมวลชนอย่าไปให้ค่า

“คำถามแบบนี้อย่าถามกันอีกนะ คนมาเป็น 10,000 คน กับคนอีกแค่ 3 คน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

คนใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ หน.พลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ไม่เห็นด้วยกับท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า

“ผมคิดว่าบุคคลสาธารณะต้องรับฟังให้มาก โดยเฉพาะความเห็นต่าง ผมไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลัง หรือการฟ้องร้องเพียงเพราะเขาคิดไม่เหมือนเรา ปัญหาความแตกแยกของประเทศมีมานานเกินไปแล้ว อยากให้แต่ละฝ่ายรับฟังกันมากขึ้น” พล.อ.ประวิตรกล่าว

ขณะที่ จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุว่า “เขามาพูดมาว่าคุณ เป็นสิทธิของเขา ถ้าเห็นว่าเขาหมิ่นประมาท คุณก็ไปแจ้งความดำเนินคดีได้ แต่ตำรวจจะไปล็อกคอ ปิดปากลากตัวเขาอย่างนั้นไม่ได้ คุณต้องห้ามตำรวจ ตำหนิตำรวจ เข้าใจมั้ย”

แม้แต่เสียงของอดีต ส.ส.ราชบุรี ผู้เคยปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ในสภาอย่างปารีณา ไกรคุปต์ ยังออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย ระบุว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ

“ขอต่อต้านกลุ่ม 3 นิ้วอย่างสุดโต่ง แต่การกระทำครั้งนี้ เกินไป… ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่หยุดพฤติกรรมดังกล่าว ท่านคงไม่ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ได้ปิดปาก ฉุด กระชาก ลากดึง ประชาชนเยี่ยงหมาเช่นนี้ เกินไป” ปารีณาระบุ

 

เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องไปขุดคุ้ย หรือไปมองว่า หญิงสูงวัยดังกล่าวมีความเห็นทางการเมือง เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองเช่นใดมา เพราะที่สุด ปัญหาหลักใหญ่ใจความ วิธีคิดของราชการ ที่ปฏิบัติต่อผู้มีอำนาจ และตัวผู้มีอำนาจเองที่คิดอย่างไร

1. คือตำรวจต้องไม่คิดว่านี่คือการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ การใช้กำลังกับผู้เห็นต่างทางการเมืองต่อผู้แสดงออกทางการเมืองไม่ใช่เรื่องที่ถูก แม้จะทำแบบนี้มาตลอดนับตั้งแต่รัฐประหาร แต่ต้องย้ำว่าในระบอบประชาธิปไตย เรื่องนี้ผิด

กรณีมีคนไม่เห็นด้วยทางการเมืองมาวิจารณ์ แสดงความเห็นนายกฯ สิ่งที่ข้าราชการพึงกระทำคือ เจรจา จัดโซนนิ่งพื้นที่ หากเขาไม่มีท่าทีคุกคามด้วยการใช้กำลังต่อผู้นำประเทศ เจ้าหน้าที่ก็ทำได้แค่นั้น ไม่มีสิทธิใช้กำลังนำตัวออกนอกพื้นที่ ไม่มีสิทธิเอามืออุดปาก อุดจมูก

นายกฯ คือบุคคลสาธารณะ กินภาษีประชาชน การถูกต่อว่าด่าทอ เป็นเรื่องปกติมากๆ ในสังคมประชาธิปไตย ยกเว้นการจะเดินไปชกหน้า หรือถือไม้ไปไล่ฟาด อันนั้นแหละเรียกว่าผิดคดีอาญา

แต่วันนี้หญิงสูงวัยดังกล่าวกลับถูกแจ้งข้อหา ขัดคำสั่ง-ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

2. นายกรัฐมนตรีต้องเข้าใจว่าตัวเองคือนักการเมือง ไม่ใช่ทหาร ความอดทนต่อความเห็นต่างคือคุณสมบัติข้อหนึ่งของนักการเมืองระบอบประชาธิปไตย ยิ่งไปมองว่าการทำของเจ้าหน้าที่ถูกต้องแล้ว ยิ่งสร้างมาตรฐานที่ผิด ในอนาคตเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติเช่นนี้กับคนเห็นต่างอีก และหนักขึ้นเรื่อยๆ

สัปดาห์ก่อนมีกรณีพรรคก้าวไกลเปิดตัวผู้สมัคร กทม.ทั้ง 33 เขต จู่ๆ มีชาวบ้าน 3-4 คนมายืนชูป้ายหน้าเวทีวิจารณ์พรรคก้าวไกล สิ่งที่แกนนำทำคือการเข้าไปพูดคุย สอบถามความข้องใจ และห้ามปราม ไม่ให้กองเชียร์เข้าไปต่อว่า แต่มองว่าเป็นสิทธิ คลิปดังกล่าวกลายเป็นไวรัลแง่บวกให้ก้าวไกลซะงั้น

หรือจะย้อนกลับไปสมัยอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556 ระหว่างเยี่ยมเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ มีสตรีขี่มอเตอร์ไซค์ดักเป่านกหวีดใส่ พร้อมต่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เข้าไปถามและพูดคุยรับทราบถึงความไม่พอใจ กระทั่งขอจับมือ

หรือจะย้อนกลับไปกรณี จิตรา คชเดช นักเคลื่อนไหวที่ไปชูป้ายดีแต่พูด ใส่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ เมื่อปี 2553 หรือกรณีถูกเพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ ชูป้ายใส่กรณีคนตายช่วงสลายชุมนุม แม้แต่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขณะเดินหาเสียงเมื่อปี 2562 ก็เจอชูป้ายด่าทอมาแล้วทั่วประเทศ

สิ่งที่ทั้งสองคนรับมือ ก็คือการอดทน มองเป็นเรื่องธรรมดา และอธิบายจุดยืนในมุมของตนเอง

 

ดังนั้น การจะถูกยืนด่าบ้าง ใครๆ ก็โดน ไม่มีใครรอด ปัญหาคือเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนักการเมืองแล้ว ภาพแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น และโดยเฉพาะคำพูดเยาะเย้ย ถากถาง ไล่ไปหาหมอ ยิ่งไม่ควร เป็นแบบอย่างให้เจ้าหน้าที่รัฐวางตัวผิดๆ

คอการเมืองคงสงสัย พล.อ.ประยุทธ์ เวลาลงพื้นที่คุยกับสารพัดสัตว์อย่างเอ็นดู ทะนุถนอม มีมารยาท เสียงหวาน เป็นข่าวดังมาตลอดเกือบ 9 ปี

แต่เวลาคุยถึงคน โดยเฉพาะคนเห็นต่างทางการเมือง ถึงปฏิบัติตรงกันข้ามกับแบบที่คุยกับบรรดาสัตว์ทุกที