ระทึกแบงก์ล้มในอเมริกา สะเทือนตลาดหุ้นไทยร่วงหนัก ‘คลัง-แบงก์ชาติ’ จับตาใกล้ชิด

สัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะ Silicon Valley Bank (SVB) ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 16 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ตกสู่ภาวะล้มละลาย นอกจาก SVB แล้ว ยังมีธนาคาร Silvergate และธนาคาร Signature ด้วย

ทั้งนี้ แม้ว่าผลกระทบทางตรงต่อประเทศไทยจะยังไม่ปรากฏ โดยหลายฝ่ายต่างออกมายืนยันว่า ไทยไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง และแบงก์ไทยแข็งแกร่ง

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ระบบสถาบันการเงินไทยยังมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ และประเทศไทยมีระบบการคุ้มครองเงินฝากที่มีความเข้มแข็ง พร้อมรองรับสถานการณ์ที่มีความผันผวน

“ประชาชนจึงไม่ควรตื่นตระหนกว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินของประเทศไทยแต่อย่างใด” นายพรชัยกล่าว

 

น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ชี้แจงว่า ผลกระทบจากกรณี SVB ต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยมีจำกัด เนื่องจากไม่มีธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีธุรกรรมโดยตรงกับ SVB

และปริมาณธุรกรรมโดยรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยใน Fintech และ Startup ทั่วโลกมีน้อยกว่า 1% ของเงินกองทุนของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่สำคัญพบว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยไม่มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล ขณะที่กลุ่มธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับต่ำที่ประมาณ 200 ล้านบาท

“ธปท.ขอย้ำว่ามีการกำกับดูแลธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลและ venture capital ที่เข้มงวด เช่น การให้หักเงินลงทุนในเหรียญออกจากเงินกองทุนชั้นที่ 1 (CET1) ในทุกกรณี รวมทั้งกำหนดเพดานการลงทุนและการกำกับความเสี่ยงในด้านต่างๆ เพื่อป้องกันผลกระทบจากความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มธนาคารพาณิชย์ต่อเงินฝากของประชาชน” น.ส.สุวรรณีกล่าว

อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นสัปดาห์ ตลาดเงินตลาดทุนยังไม่สามารถคลายความกังวลลงได้ เพราะยังคงปรากฏข่าวในเชิงลบอย่างต่อเนื่องว่า อาจจะมีแบงก์อื่นๆ ของสหรัฐที่จะประสบปัญหาจนล้มละลายอีกหลายแห่ง

ทำให้หุ้นสหรัฐและยุโรปตกต่อเนื่อง ลามมาถึงตลาดหุ้นไทย โดย SET Index ตกต่อเนื่องตลอด 2 วัน (13-14 มีนาคม) ลงไปมากกว่า 75 จุด

 

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า การปรับตัวลงแรงของตลาดหุ้นไทย โดยเมื่อวันที่ 14 มีนาคม SET Index ปิดต่ำสุดในรอบ 1 ปี 7 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2564 ที่ปิดอยู่ที่ 1,521.72 จุด และมีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดในรอบ 1 เดือน นับจากวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ที่มีมูลค่ากว่า 114,246 ล้านบาท

ทั้งนี้ นักลงทุน 3 กลุ่มที่มีการขายสุทธิ คือ นักลงทุนต่างชาติ มูลค่า 4,727 ล้านบาท สถาบันในประเทศ 2,442 ล้านบาท และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ 2,601 ล้านบาท

“นักลงทุนในตลาดมีความกังวลมากเกินไป (Overreact) จากความไม่แน่นอนจากเหตุการณ์ที่ธนาคารในสหรัฐอเมริกามีการปิดตัวลง ประกอบกับตลาดหุ้นได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลง 2.1% ซึ่งกระทบกลุ่มพลังงานอย่างรุนแรง” นายภากรกล่าว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยที่ตก เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก โดยสาเหตุสำคัญมาจากการปิดแบงก์ของสหรัฐ ที่สร้างความตื่นตกใจไปทั่วโลก เพราะเกรงว่าจะกระทบกับระบบการเงินของประเทศต่างๆ อย่างไรก็ดี มาตรการของทางสหรัฐที่ออกมา ก็สร้างความมั่นใจให้กับตลาดเงินขึ้นมาได้

“ในส่วนของไทย ก็ได้ตรวจสอบ ได้หารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เราไม่ได้มีธุรกรรมกับ 2 แบงก์ที่ปิดไป ส่วนที่มีก็อาจจะมีที่ลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี่กับอีก 2 แบงก์ ที่ยังจับตาดูอยู่ ดังนั้น เท่าที่ประเมินของเราก็ยังไม่ได้มีผลกระทบอะไร” นายอาคมกล่าว

รมว.คลังกล่าวด้วยว่า กรณีหากมีสถานการณ์อะไรที่จำเป็นต้องเข้าไปดูแล แม้จะเป็นช่วงที่มีการยุบสภา หรืออยู่ในระหว่างรัฐบาลรักษาการ ก็สามารถดำเนินการได้ เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลอยู่แล้ว ในกรณีเกิดปัญหาใดๆ ที่กระทบคนหมู่มาก ก็จำเป็นต้องดำเนินการ แต่ก็หวังว่า เหตุที่เกิดขึ้นในสหรัฐจะไม่ส่งผลกระทบในวงกว้าง

 

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า ไทยคงได้รับผลกระทบในแง่ความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนเป็นหลัก ส่วนในแง่ผลกระทบต่อแบงก์ไทยมีจำกัด เนื่องจากแบงก์ไทยมี Exposure ทางตรงกับแบงก์สหรัฐ 2 แห่งที่ประสบปัญหาน้อยมาก หรือไม่มีเลย

ขณะที่โครงสร้างสินทรัพย์และเงินฝากของแบงก์ไทยมีการกระจายตัว และปรับกลยุทธ์ เพื่อลดผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น ต่อพอร์ตเงินลงทุนในตราสารหนี้มาตั้งแต่ปี 2565

รวมถึงแบงก์ไทยยังมีสภาพคล่องอยู่ในระดับสูงเกินเกณฑ์และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูง และเข้มแข็งกว่าแบงก์ในสหรัฐโดยเฉลี่ย

ฟากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ระบุว่า ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พบว่า สถาบันการเงินของไทยไม่มีธุรกรรมโดยตรงที่เกี่ยวข้องกับธนาคารดังกล่าว และไม่ได้รับผลกระทบจากการเพิกถอนใบอนุญาตของธนาคารในสหรัฐดังกล่าว

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้นักลงทุนกลับไปสู่โหมดกลัวความเสี่ยง (risk-off) โดยเงินลงทุนไหลออกจากตลาดหุ้นกลับไปสินทรัพย์ปลอดภัย

ซึ่งในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า ตลาดหุ้นโลกยังอยู่ในโหมดไซด์เวย์ดาวน์ ส่วนตลาดหุ้นไทย หากโชคดีเงินเฟ้อกลับเข้าที่เข้าทาง ดอกเบี้ยขึ้นจนสุดที่ 2% และท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวอย่างดี ขณะที่เลือกตั้งประกาศผลเรียบร้อยไม่ได้มีปัญหาอะไร มีรัฐบาลใหม่และทีมเศรษฐกิจที่ดี จะทำให้ครึ่งปีหลังมีโอกาสจะเป็น safe haven ที่มีเงินทุนไหลกลับเข้ามาได้

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (ห้องค้ากสิกรไทย) กล่าวว่า ตลาดเงินและตลาดทุน จะตกอยู่ในภาวะความผันผวนไปอีก 5-6 เดือนข้างหน้า กว่าที่ความเชื่อมั่นจะทยอยฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคสถาบันการเงิน จะมีลักษณะคล้ายกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับธนาคารเลห์แมน บราเธอร์ส เมื่อปี 2551 ซึ่งหากเศรษฐกิจสหรัฐมีปัญหา ก็จะกระทบมาถึงไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“การค้าขายระหว่างประเทศประมาณ 90% ของไทย ยังคงใช้เงินสกุลดอลลาร์เป็นหลักในการซื้อขาย ย่อมมีผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแน่นอน” นายกอบสิทธิ์กล่าว

 

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย แนะนำให้ผู้ลงทุน ชะลอการลงทุนในกองทุนหุ้นสหรัฐไปก่อน แม้จะประเมินว่าเหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะไม่ลุกลามและอยู่ในกรอบจำกัด

นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า บลจ.ไทยไม่มีการลงทุนโดยตรงใน SVB แต่เป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวมปลายทาง (Master Fund) โดยเป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนเฉพาะกลุ่ม Financial และ Financial Technology (Fintech) เท่านั้น โดยกองทุน Master Fund จะมีการจำกัดสัดส่วนการลงทุนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ทำให้ผลกระทบนั้นอยู่ในวงที่จำกัด

ด้านนางพราวพร เสนาณรงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ธุรกิจที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ก.ล.ต. เช่น กองทุนรวม จากการสอบถามพบว่า มีบางแห่งที่ฝากเงินอยู่ใน SVB แต่เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

ขณะที่ผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ของไทยในแง่การระดมทุน ยังไม่มีบริษัทใดได้รับผลกระทบ เพราะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ด้านผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัล ก็ยังไม่พบว่าบริษัทได้รับผลกระทบโดยตรงเช่นกัน ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ในไทยก็ยังปกติดี ยังมีสภาพคล่อง รวมถึงมีการชำระราคาหลักทรัพย์ก็เป็นปกติดี

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะยังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจนกับประเทศไทย แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะหากเศรษฐกิจสหรัฐมีปัญหา ก็ย่อมส่งผลมาถึงไทยอย่างแน่นอน