‘สัจธรรม’ | ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ถึงวันนี้ เราอยู่ในยุคสมัยที่พาหนะพัฒนาไปไกล มีรถซึ่งมีประสิทธิภาพดีๆ นั่ง หรือขับในการเดินทางไกลๆ สะดวกสบาย โดยเฉพาะการนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้ อีกทั้งดูเหมือนว่า รถจะทำความเร็วได้อย่างไร้ขีดจำกัด

แต่มีรถอยู่ประเภทหนึ่ง ที่คล้ายกับว่า ในการใช้จริงๆ แล้ว รถสวยงามรุ่นใหม่ๆ จะด้อยความสามารถกว่ารถประเภทนี้ในรุ่นเก่าๆ นั่นคือรถขับเคลื่อนสี่ล้อ

การนำรถรุ่นใหม่ๆ พวกนี้มาดัดแปลง ไม่ได้ทำเพื่อให้สวยงามขึ้น แต่ดัดแปลงให้เป็นแบบรถรุ่นเก่าที่บริษัทรถเลิกผลิตไปแแล้ว เช่น ช่วงล่างชนิดคานแข็ง รวมทั้งระบบเพลา ที่เป็นแมน่วล ไม่ใช่ออโตเมติก

มีแต่รถแบบดั้งเดิมเท่านั้น ที่จะใช้งานได้จริงช่วงฤดูฝนในบางผืนป่า

 

แต่ก็เถอะ เอาเข้าจริงแล้ว แม้ว่ารถจะมีความสามารถมาก ไปได้แทบทุกที่ ในป่าจะมีทางหรือไม่ กระนั้นใช่ว่าสมควรจะใช้รถเป็นพาหนะไปในทุกที่

บางแห่ง การนำรถเข้าไปอาจส่งผลเสียกับ “เจ้าของบ้าน” อย่างคาดไม่ถึง

ดังนั้น การจอดรถเอาสัมภาระใส่เป้ ออกเดิน เป็นวิธีซึ่งไปได้ถึงจุดหมาย

เดินไปตามด่านที่สัตว์ป่าสร้าง และใช้ทางด่าน จะเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างแหล่งอาหารและโป่ง เรากับสัตว์ป่าใช้เส้นทางเดียวกัน มีโอกาสพบเจอกันบนเส้นทางบ้าง ไม่ว่าจะเป็นสัตว์กินพืช หรือสัตว์ผู้ล่า สัตว์กินพืชไปไหน ช่วงเวลาใด เหล่านักล่าก็ตามมาทำงานของพวกมัน

ในวิถีของสัตว์ป่า พวกมันไม่ได้เดินไปทั่ว การเดินทางส่วนใหญ่มีแหล่งอาหารเป็นตัวกำหนดจุดหมาย และพวกมันใช้ด่านเป็นถนน

สัตว์ป่าไม่มี “อิสระ” นักหรอก พวกมันมีตารางชีวิตเดิมๆ หมุนเวียนไปตามฤดูกาล

 

เดินบนด่าน การเดินค่อนข้างสบาย

ยิ่งหากเป็นพื้นที่ซึ่งมีช้างอาศัยอยู่ประจำ ด่านจะโล่งราบเรียบ อีกทั้งเส้นทางจะเลี่ยงๆ การขึ้นสูงชัน ลัดเลาะไปตามหุบ อ้อม วกวน แต่เดินสบายกว่า

หากเลือกใช้จีพีเอสกำหนดเส้นทางเอง ตัดตรง คล้ายเส้นทางจะใกล้กว่า มักเพิ่มความเหนื่อยล้าอีกหลายเท่า

เดินตามด่านช่วงฤดูฝนพบเจอทากไม่ใช่เรื่องแปลก

เช่นเดียวกับการผจญกับเห็บในช่วงเวลาฤดูแล้ง

ทากใช้แรงสั่นสะเทือน ความร้อนจากตัวคนและสัตว์ในการคืบคลานเข้าหา หรือชูตัวคอยดักเกาะ

ถึงด่านจะโล่ง แต่การเดินก็ควรทิ้งระยะห่างจากคนเดินหน้าบ้าง เพราะกิ่งไม้บางกิ่งมีหนามที่ระตามตัวคนเดินหน้า จะเหวี่ยงมาโดนคนเดินข้างหลังง่ายๆ

มีจีพีเอสช่วยเรื่องการเดินสู่จุดหมาย แต่วิธีเดิมๆ คือหันมองข้างหลัง สังเกตทิศทาง จำไว้ เพื่อใช้ในขากลับ และหากพลัดหลงจากเส้นทาง อยู่ในป่า โอกาสที่เครื่องมือต่างๆ จะใช้ไม่ได้ เกิดขึ้นเสมอ

เรื่องง่ายๆ ที่อาจลืม ถ้าจะเอื้อมมือคว้าต้นไม้ข้างทางเพื่อช่วยพยุงตัวกันลื่น ดูว่าเป็นต้นหนามไหม ต้นไม้บางชนิดอย่างต้นช้างร้องนั่นลำต้นคมราวมีดโกน

ช้าง – ฤดูแล้ง อาหารเหลือไม่มาก แต่ช้างก็รู้ดีว่า ในช่วงเวลาขาดแคลนจะต้องไปหาอาหารที่ใด พวกมันเรียนรู้ที่จะอยู่กับความแห้งแล้ง อีกไม่นาน ฤดูกาลจะเปลี่ยนแปลง สภาพป่าจะกลับมาเขียวชอุ่ม

เดินในป่า เราขนน้ำไปไม่ได้มากหรอก ถ้าเป็นฤดูฝน จะไม่ยุ่งยากเพราะแหล่งน้ำมีทั่วไป ตามลำห้วยสายย่อยๆ ในแผนที่มีพิกัดลำห้วย แต่ไม่ได้บอกว่ามีน้ำหรือไม่ เพราะในช่วงแล้ง ลำห้วยสายหลักเท่านั้นที่จะมีน้ำ

น้ำหายาก แหล่งน้ำที่เหลือ ย่อมเป็นที่หมายปองของสัตว์ จึงสมควรที่จะต้องตั้งแคมป์ให้ห่างออกมา ไม่เช่นนั้นสัตว์ไม่กล้าเข้ามาในแหล่งน้ำ ย่อมเป็นการรบกวนพวกมันอย่างไม่ได้ตั้งใจ

ขุดหลุมทรายในลำห้วยแห้งๆ ให้ลึกสัก 1-2 ศอก ทิ้งไว้สักพัก มีน้ำซึมออกมาใช้บริโภคได้

หากไปพบลำห้วยตื้นๆ ขุ่น น้ำสกปรก วิธีขุดหลุมข้างๆ น้ำที่ซึมเข้ามาจะใสสะอาด

นี่เป็นวิธีที่ช้างใช้

 

เราอยู่ในยุคสมัยที่มีอุปกรณ์ต่างๆ ช่วย อำนวยความสะดวกมากมาย การใช้ชีวิตในป่าไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไปแล้ว การเตรียมพร้อมจำเป็น ป่าไม่ใช่ที่ผจญภัย ไม่ใช่ที่พิสูจน์ตัวตน

เตรียมตัวให้พร้อม เปิดใจ ยอมรับความเป็นชีวิตที่อยู่รอบๆ การเดินในป่าจะไม่ไร้ความหมาย

แม้ว่าจะไม่ใช่เส้นทางอันรกทึบก็มีโอกาสพบหนามหวาย และหนามชนิดอื่นๆ ทางด่านราบเรียบ

เมื่อถูกหนามพวกนี้เกาะติด ต้องถอยหลัง เพื่อปลดหนามออกเสียก่อน ดันทุรังเดินไปข้างหน้า ไม่เสื้อผ้าก็อาจเป็นหนังเราเองที่จะฉีกขาด

การเดินป่าอาจไม่ต่างจากการดำเนินชีวิต

เดินหน้าอย่างเดียวโดยไม่รู้จักถอยเพื่อตั้งหลักใหม่บ้าง วันพรุ่งนี้อาจไม่สดใสเท่าใดนัก นี่คล้ายสัจธรรม

เป็น “สัจธรรม” ที่จำเป็นต้องเรียนรู้ ก่อนไปถึงจุดหมาย… •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ