ข้อสงสัยเรื่อง“ประยูร ภมรมนตรี” กับการกวาดล้างวัฒนธรรมจีน ในพื้นที่พระพุทธบาท สระบุรี

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

เทศกาลตรุษจีนและเทศกาลกินเจเป็นช่วงเวลาสำคัญของคนไทยทั้งประเทศไม่ว่าจะมีเชื้อสายใด

แต่กว่าที่วัฒนธรรมจีนจะมีอิทธิพลต่อสังคม และแพร่หลายไปทุกผู้ทุกคนขนาดนี้ วัฒนธรรมจีนเคยประสบกับช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ยากลำบากจากนโยบายชาตินิยมในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

การกีดกันวัฒนธรรมจีนนี้อยู่ภายใต้นโยบายที่มุ่งสนับสนุนความเป็นไทยรูปแบบเดียว และสลายวัฒนธรรมอื่นให้กลายเป็นไทยตามนิยามของรัฐนี้มีผลต่อทุกวัฒนธรรม โดยเฉพาะกลุ่มชาวจีน

เช่น การลดอิทธิพลทางเศรษฐกิจ การสงวนอาชีพ การจำกัดพื้นที่ทำกิน การปิดโรงเรียน เป็นต้น

ทำให้คนจีนเกิดการปรับเปลี่ยนชื่อแซ่และวิถีชีวิตไปด้วย

สำหรับการขจัดวัฒนธรรมจีนในประเทศไทยมีตัวอย่างให้เห็นในหลายที่

เช่น ในวัดพระพุทธบาท จ.สระบุรี ซึ่งอนุมานว่าเกิดขึ้นครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2487

เมื่อ พล.ต.ประยูร ภมรมนตรี (ยศในขณะนั้น) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการก่อสร้างพุทธบุรีมณฑล อันเป็นนครศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาและเป็นเขตปลอดทหาร

ที่มาของเรื่องคือในช่วงปลายสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะที่ญี่ปุ่นกำลังเพลี่ยงพล้ำและมีทีท่าว่าจะแพ้สงครามโลก

รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงอาศัยโอกาสนี้เตรียมแผนการสู้รบขั้นเด็ดขาดกับญี่ปุ่น โดยใช้เพชรบูรณ์เป็นฐานทัพ

ด้วยความที่เป็นความลับสุดยอด จอมพล ป. จึงอำพรางแผนการใช้เพชรบูรณ์เป็นฐานทัพ ด้วยการออก พ.ร.ก. ย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์อย่างรีบด่วน

แต่หลังจากญี่ปุ่นระแคะระคาย กองทัพญี่ปุ่นจึงคิดจะส่งทหารเข้าไปประจำการอยู่ที่เขาคูบา จ.สระบุรี และที่พระพุทธบาท จ.สระบุรี อันเป็นพื้นที่ตรงกลางระหว่างลพบุรีกับสระบุรี ซึ่งมีกองบัญชาการทหารไทยตั้งอยู่

จอมพล ป. จึงแก้เกมญี่ปุ่น ด้วยการประกาศให้พระพุทธบาทเป็น “พุทธบุรีมณฑล” มีสถานะเป็นเขตปลอดทหาร ญี่ปุ่นจึงไม่อาจย้ายกองทัพส่วนหนึ่งมาตั้งที่นี่ได้

อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.อนุมัติ พ.ร.ก.จัดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ ได้ตกไป โดยพ่ายแพ้จากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนน 48 ต่อ 36

และร่าง พ.ร.บ.อนุมัติ พ.ร.ก.พุทธมณฑลบุรี ก็ตกไปด้วยคะแนนเฉียดฉิว คือ 43 ต่อ 41

เป็นผลทำให้แผนการนี้เป็นอันยุติ และทำให้จอมพล ป.ประกาศลาออกในเวลาต่อมา และโครงการทั้งหมดเป็นอันล้มเลิกไปด้วย

ตัวของประยูรเองได้เขียนเล่าเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ “ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า”

โดยเริ่มจากการเท้าความย้อนไปตั้งแต่ครั้งบูรณะมณฑปวัดพระพุทธบาท ดังที่กล่าวเอาไว้ว่า

“จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นบูรณปฏิสังขรณ์สร้างมณฑปขึ้นใหม่เป็นคอนกรีต และปรับปรุงบริเวณให้สะอาดพ้นจากสภาพรุงรัง ในการนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมีพระองค์เจ้าวรรณไวทยากรฯ (พล.ต.กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) เป็นประธาน ขุนสมาหารหิตคดีเป็นผู้แทนกระทรวงมหาดไทย และข้าพเจ้าผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีสมเด็จวัดอนงคารามเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสงฆ์”

รวมทั้งได้กล่าวเอาไว้อีกว่า

“ข้าพเจ้าได้ติดตามไปร่วมงานและรอนแรมที่พระพุทธบาทด้วยหลวงพิเนศร์กรมการศาสนาเป็นประจำแทบทุกสัปดาห์ เป็นเวลาปีเศษ ข้าพเจ้าได้กวาดล้างเก๋งจีน สิงโต และเครื่องประดับ ที่ส่งเสริมวัฒนธรรมจีนไปโดยสิ้นเชิง”

ซึ่งจากบันทึกนี้จึงทำให้อนุมานได้ว่าก่อนหน้าปี พ.ศ.2487 มีศาสนสถานและศาสนวัตถุตามวัฒนธรรมจีนอยู่ในวัดมากมาย แต่ถูกทำลายหรือย้ายออกไปหมด เหลือเพียงแต่ศาลเจ้าและโรงเจนอกวัดที่ยังคงอยู่

สำหรับสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น เก๋งจีน เมื่อถูกรื้อออกไปจนหมดแล้วก็ไม่หวนกลับมาสร้างภายในรั้ววัดอีกเลย แต่อาศัยอาคารสถาปัตยกรรมไทยเป็นที่ใช้งานแทน เช่น วิหารจีน ข้างมณฑป ตรงบันไดที่มาจากทางประตูยักษ์

วิหารจีนนี้จริงๆ แล้วชื่อว่า “วิหารคลังล่าง” สันนิษฐานว่าสร้างมาช้านานตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมแล้ว เดิมเคยใช้เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งวัดพระพุทธบาท ก่อนจะย้ายพิพิธภัณฑ์ไปอยู่ที่วิหารหลวงจนกระทั่งปัจจุบัน

ในขณะที่วัตถุที่มีขนาดพอขนย้ายได้ อย่างเช่น สิงโตจีน ก็สร้างใหม่และยกกลับเข้ามาประดิษฐานอยู่ภายในวัดเป็นจำนวนมากหลังจากที่นโยบายชาตินิยมได้เลิกใช้ไปแล้ว

อนึ่ง หากใครไม่รู้จักประยูร ภมรมนตรี ขอแนะนำเพิ่มเติมสักเล็กน้อยว่าเขาคือพ่อของ “แซม” ยุรนันท์ ภมรมนตรี นักแสดงและนักการเมืองชื่อดัง ยศสุดท้ายของประยูรคือพลโท

เป็นบุตรของ พ.ต.พระชำนาญคุรุวิทย์ (แย้ม ภมรมนตรี) นักเรียนไทยในเยอรมันรุ่นแรกๆ กับแพทย์หญิงแอนเนลี ไฟร์เอ ชาวเยอรมัน

นอกจากนี้ ประยูรยังเป็นเพื่อนร่วมชั้นของจอมพล ป. ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก และเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญในการก่อตั้งคณะราษฎรขึ้นที่กรุงปารีส ในขณะที่กำลังศึกษาวิชารัฐศาสตร์อยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม แม้วัฒนธรรมจีนในแถบนี้จะเคยถูกกวาดล้างมาก่อน แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าพื้นที่พระพุทธบาท สระบุรีในปัจุบันนั้นเป็นเมืองที่มีศาลเจ้าและโรงเจของชาวไทยเชื้อสายจีนอยู่เป็นจำนวนมาก

กล่าวกันว่าในอดีตเคยมีอยู่นับร้อยแห่งเรียงติดกันเลยทีเดียว

ปัจจุบันแม้จะไม่ได้มีมากมายถึงเพียงนั้นแต่ก็ยังคงมีหนาแน่นกว่าที่อื่นอยู่ดี คือมีหลายสิบแห่งชุมนุมกันอยู่ทั่วเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรอบวัดพระพุทธบาท

ชุมชนชาวจีนเหล่านี้หลงเหลือรอดมาถึงทุกวันนี้ได้อย่างไร และมีอะไรที่เป็นมรดกตกทอดจากเหตุการณ์ครั้งนั้นบ้าง ยังไม่มีเอกสารใดๆ ที่ช่วยไขข้อสงสัยนี้ได้

ปริมาณศาสนสถานของชาวจีนที่มีอยู่มากจนผิดสังเกตนี้ยังขาดการศึกษาทางประวัติศาสตร์อย่างเป็นระบบ จึงยังไม่สามารถหาคำอธิบายที่ชัดเจนและสมบูรณ์ได้ว่าเหตุใดชาวไทยเชื้อสายจีนจึงมาชุมนุมกันอยู่ตรงนี้ และมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ละแห่งมีที่มาที่ไปแตกต่างกันหรือไม่

และในยามที่เกิดภัยจากภาครัฐ เช่น สมัยของประยูร ภมรมนตรี นั้น พวกเขาปรับตัวเพื่อหาทางรอดได้อย่างไร

ข้อสงสัยเหล่านี้ไม่มีคำตอบอยู่ในทั้งบันทึกของ พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี และ พล.ต.อนันต์ พิบูลสงคราม บุตรชายของจอมพล ป.พิบูลสงคราม รวมทั้งผู้คนที่ศาลเจ้าและโรงเจต่างๆ ในพื้นที่ก็ไม่มีใครทราบเรื่องด้วย

เมื่อผู้เขียนเกิดความฉงนสนใจในแง่มุมต่างๆ ตัวอย่างเช่น เหตุใดศาลเจ้าโรงเจบางแห่งจึงสร้างอาคารศาลเจ้าที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบอาร์ตเดโค (Art Deco) ไม่ใช่สถาปัตยกรรมจีนตามขนบ รูปแบบทางสถาปัตยกรรมเช่นนี้เกี่ยวข้องกับการปรับตัวเพื่ออยู่รอดในยุคสมัยนั้นหรือไม่ ก็ไม่มีใครตอบคำถามเหล่านี้ได้

เรื่องราวของชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนในพระพุทธบาท สระบุรี จึงยังเป็นพื้นที่สำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ยังสดใหม่ หาคนไขปริศนาแทบไม่ได้

รอคอยเหล่านักคิด นักวิชาการด้านจีนศึกษา และนักประวัติศาสตร์ที่สนใจลงมาทำการศึกษาค้นคว้าต่อไปในอนาคต