คุยกับนักการเมือง ชื่อ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ เข้ามาเพื่อทำให้ได้ ทำไม่ได้ก็ลาออกไป

เปลี่ยนผ่าน | ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

คุยกับนักการเมือง

ชื่อ ‘เศรษฐา ทวีสิน’

เข้ามาเพื่อทำให้ได้

ทำไม่ได้ก็ลาออกไป

 

ต้นเดือนมีนาคม ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี พร้อมด้วยสื่อมวลชนในเครือมติชนคณะใหญ่ ได้เดินทางไปสัมภาษณ์ “เศรษฐา ทวีสิน” นักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” อย่างเป็นทางการ

ท่ามกลางความเชื่อมั่นว่า สถานภาพดังกล่าวย่อมบ่งชี้ว่าเศรษฐาน่าจะกลายเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยไปโดยปริยาย

และนี่คือบทสนทนาบางช่วงตอน ที่สื่อเครือมติชนได้พูดคุยกับว่าที่แคนดิเดตผู้นำประเทศรายนี้

เศรษฐายอมรับว่า ผู้นำคนต่อไปของประเทศต้องเผชิญหน้ากับภารกิจอันซับซ้อนหนักหน่วง

“ผมอยากจะเรียนอย่างนี้ว่า ผู้นำคนต่อไปจะเจอปัญหาหนักแน่นอน แต่ถ้าคุณจะอาสาเข้ามาแล้ว คุณอย่าเข้ามาแล้วอธิบายทำไมถึงทำไม่ได้ คุณเข้ามาเพื่อทำมันให้ได้ ถ้าอธิบายว่าทำไมถึงทำไม่ได้ เจอแต่ปัญหา คุณก็อย่าเข้ามาตั้งแต่ตอนต้น หรือถ้าเข้ามาแล้ว เจอปัญหาจริงๆ แล้วทำไม่ได้ ก็ลาออกไป ใช่ไหมครับ”

ทั้งนี้เพราะปัญหาที่นายกรัฐมนตรีไทยต้องเจอ จะไม่ได้มีแค่เรื่องเศรษฐกิจหรือภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ปัญหาความหลากหลายทางเพศสภาพ ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อม

“ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่มีประชากรไทยลดลงเป็นครั้งแรก เกิดจากอะไร เกิดจากคนไม่อยากมีลูก เกิดจากเด็กๆ รุ่นใหม่ออกไปตั้งรกรากอยู่ต่างประเทศ อย่าลืมนะครับ คนที่เขาออกไป เขาออกไปเพราะอะไร เขาออกไปเพราะว่าเขาผิดหวัง ไม่มีการพูดคุย เขาออกไปเพราะว่าเขามีความสามารถที่จะออกไปอยู่ที่อื่นได้

“คนไม่อยากมีลูกเพราะอะไร ตัวเองลำบาก ทุกวันนี้ชักหน้าไม่ถึงหลัง น้ำท่วมตลอดเวลา โลกร้อน อุณหภูมิสูงขึ้น น้ำจะท่วม 364 วันต่อปีหรือเปล่า ไม่อยากให้มีความลำบากเรื่อง PM 2.5 ตัวเองแพ้ฝุ่นแพ้อะไรอยู่อย่างนี้ คือเป็นหน้าที่รัฐบาลที่ต้องหยิบยกเรื่องพวกนี้มาพูดคุยหรือเปล่า สำคัญเท่าเทียมกับเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ สำคัญเท่าเทียมกับเรื่องปากท้อง

“ถ้าเกิดไม่พูดวันนี้ ไม่ทำวันนี้ เราก็จะเสียบุคลากรที่ดีๆ ไป”

นับจากนี้ เศรษฐาจะต้องปรับโหมดเข้าสู่การเป็นนักการเมืองเต็มตัว ซึ่งเขาก็ยอมรับตรงๆ ว่า อาจมีบางเรื่องที่ตนเองไม่สามารถจะทำได้ดีอย่างฉับพลันทันใด

“วันนี้ผมเป็นประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย เดี๋ยวอาทิตย์หน้าคงเริ่มลงพื้นที่ อย่างที่ผมบอกว่า จะขึ้นเวทีปราศรัยเลยหรือเปล่า จะไปพูดอะไร ถ้าเรายังไม่รู้จริง ผมยังไม่เคยเจอชาวบ้านเลย ผมยังไม่เคยกินข้าวกับชาวนา ชาวสวน ชาวไร่เลย ผมจะพูดอะไรกับเขา ใช่ไหมครับ มันต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป

“อาทิตย์หน้า ผมก็จะเดินทางขึ้นไปทางด้านเหนือ เป็นภาคกลางก่อน วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ไปรับฟังความเห็นเขาก่อน ไปคลุกคลีเขาหน่อย หลายๆ อย่างผมคงตอบไม่ได้ ต้องยอมรับ

“แล้วเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ถึงเวลาที่เรามีองค์ความรู้พอประมาณ พอที่จะโน้มน้าวเขาในเรื่องนโยบายได้ ผมก็จะมีการขึ้นเวทีปราศรัย มีการสนทนากัน ในระยะสั้นนี้อาจเป็นแค่วงเล็กๆ ก่อน ผู้นำทางด้านความคิด หอการค้าจังหวัด หรือโรตารี่อำเภอ ก็คงไปนั่งพูดคุยกันไปก่อน เป็นช่วงที่ต้องเก็บข้อมูลให้ดี”

เมื่อให้ลองจินตนาการภาพตนเองยืนปราศรัยบนเวทีขนาดใหญ่ เบื้องหน้าเป็นมวลชนใส่เสื้อแดงหลายหมื่นคน เศรษฐาตอบกลับมาว่า

“มันคงต้องมีวันนั้น แต่ว่าผมเป็นคนที่ step by step นะ ขั้นตอนต้องคิดภาพตัวเองก่อน ลงไปคุยกับชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ผมก็จะบอกทีมไปเลย ผม (อายุ) 61 แล้วนะ เล่นกีฬามาก็เยอะ ร่างกายเองเข่าก็ไม่ค่อยดี ผมนั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบไม่ได้นะ ยังไงต้องขออนุญาต อันนี้ ผมก็พูดถึงตัวตนจริงๆ ผมก็ไม่เสแสร้ง ผมนั่งไม่ได้ อาจจะต้องนั่งบนตั่ง บนอะไร ก็ว่ากันไป

“เดี๋ยวมันเมื่อย มันเจ็บ มันก็คุยไม่รู้เรื่อง เรื่องทับศัพท์ (ภาษาอังกฤษ) ศัพท์แสง มันก็ต้องพัฒนากันไปนะ มันก็ต้องขอเวลา ผมเองผมก็ยอมรับว่ามีความกังวลอยู่ ถามว่ากังวลไหม ก็กังวลเรื่องพวกนี้

“ผมคิดว่าผมมีไอเดีย ผมคิดว่าพรรคมีนโยบายดีๆ ที่จะสื่อสารออกไป แต่ถ้าเกิดสื่อสารไปแล้วมันไม่ถึง ความผิดมันอยู่ที่ผม มันไม่ได้อยู่ที่พรรคการเมือง (ไม่ได้) อยู่ที่พี่หมอมิ้ง (นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช) ซึ่งเป็นประธานนโยบาย ผมต้องมีความพยายามตรงนี้ให้มันมาก

“แล้วเราอาจจะมีขีดจำกัดจริงๆ ก็ได้ มันก็ต้องมีล่ามบ้าง มีคนแปลไทยเป็นไทย ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน ผมคงไม่ไปลงพื้นที่คนเดียว ก็คงต้องมีตัวช่วยบ้าง แล้วก็คงต้องมีความผิดพลาดบ้าง ตรงนี้เราก็ต้องเตรียมใจ คงมีคนมาว่าบ้าง มันก็ต้องทน อะไรที่เป็นประโยชน์เราก็ต้องฟัง ไม่ใช่ฟังเฉยๆ ฟังแล้วต้องปฏิบัติด้วย ฟังแล้วต้องแก้ไขด้วย”

ถึงที่สุด ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยยอมรับว่า ในแง่ทักษะความเป็นนักปราศรัยแล้ว เขาอาจไม่ได้เป็นคนที่เก่งที่สุดของพรรค

“แต่ถ้าเกิดมันต้องถูกโยนเข้าไป (บนเวที) จะให้เก่งเหมือนคุณอุ๊งอิ๊ง (แพทองธาร ชินวัตร) มีพลัง มีออร่า เหมือนกับคุณอุ๊งอิ๊ง ก็คงลำบาก จะให้เป็นหัวหน้ามวลชนที่พูดจาแล้วมีพลังมหาศาลระดับโลกอย่างคุณณัฐวุฒิ (ใสยเกื้อ) ก็ยากมาก คงไม่มีความเป็นไปได้”

 

แม้ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เศรษฐาจะบอกกล่าวกับสื่อมวลชนหลายสำนักว่า ตัวเลือกเดียวในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของเขา คือ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ดี ในวันที่สนทนากับสื่อเครือมติชน เราได้ลองให้เขาเล่นเกมสวมบทบาทสมมุติ ว่าถ้าวันหนึ่งต้องดูแลงานด้านใดด้านหนึ่ง คือ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เขาอยากจะดูแลงานด้านไหน?

เศรษฐานิ่งคิดอยู่ครู่ใหญ่ ก่อนจะเอ่ยคำตอบขึ้นแบบพลิกโผว่า

“ต่างประเทศครับ คุณก็รู้ พรรคการเมืองเนี่ย เวลารัฐบาลใหม่เข้ามา เลือกตั้งจบ (มักมีคำถามว่า) กระทรวงการคลังคือใคร ใครดูแลเรื่องคมนาคม ใครดูแลเรื่องเกษตร ใครดูแลเรื่องพาณิชย์ ใครเป็นรัฐมนตรีพลังงาน แต่คุณไม่เคยสนใจเลยนะ ว่าใครคือรัฐมนตรีต่างประเทศ

“รัฐมนตรีต่างประเทศ ขอโทษเลยนะ ในสายตาของผู้สื่อข่าวหรือประชาชนทั่วไป เป็นกระทรวงเกรดซี

“คุณไปดูสมัยก่อนสิ สมัยท่านถนัด คอมันตร์ หรือว่าลูกศิษย์ลูกหาของท่านที่เติบโตเป็นใหญ่เป็นโตในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นท่านอานันท์ ปันยารชุน ท่านอาสา สารสิน ท่านวิทยา เวชชาชีวะ หรือหลายๆ ท่าน เป็นบุคคลที่น่านับถือ แล้วก็มีความสามารถสูง สมัยก่อนนะ

“จริงๆ แล้ว ผมเชื่อว่ากระทรวงการต่างประเทศจะต้องมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้น ในการที่นำเราไปสู่ต่างประเทศให้ได้”

นี่คือบางมุมคิดที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นตัวของตัวเองของนักการเมืองหน้าใหม่ชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน”