จุดจบเผด็จการปากีสถาน “เปเวซ มูชาร์ราฟ” ตำนานนายพลสั่งปฏิวัติจากบนฟ้า

(Photo by Rizwan TABASSUM / AFP)

เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2023 พล.อ.เปเวซ มูชาร์ราฟ (Pervez Musharraf) อดีตประธานาธิบดีปากีสถาน เสียชีวิตที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรดส์ ด้วยวัย 79 ปี

ย้อนกลับไปดูประวัตินายพลมูชาร์ราฟ

เปเวซ มูชาร์ราฟ เกิดที่นิว เดลลี อินเดีย ปี 1943 สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกปากีสถาน (Pakistan Military Academy Command and Staff College)

ยศทหารสูงสุด General ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกปี 1999

ปลายปี 1999 วันนั้น ผมอยู่ที่การาจี ปากีสถาน ไปติดต่อเรื่องจะนำเรืออวนลากไทยมาทำประมงในปากีสถาน เหมือนกับเรือเกาหลีที่เข้าไปจับปลาในปากีสถานอยู่แล้ว

ยังจำได้ว่า ตอนที่นั่งเครื่องการบินไทย TG ไปการาจีนั้น แอร์โฮสเตสมาบอกว่า “พี่เป็นผู้โดยสารคนไทยคนเดียวบน Airbus (A330) ลำนี้ พี่จะไปทำอะไรที่ปากีสถาน”

ผมตอบไปว่า “จะไปทำอย่างเดียวกับคนพวกนั้นไปทำ” พร้อมชี้มือไปที่นักธุรกิจเกาหลีบนการบินไทยเที่ยวบินนั้น

ปี พ.ศ.นั้น เกาหลีมีความสนิทสนมกับปากีสถานมาก รถยนต์เกาหลีวิ่งเต็มการาจี ร้านอาหารในการาจีขายเหล้าขายเบียร์ไม่ได้ แต่อนุญาตให้ภัตตาคารเกาหลีขายได้ นักธุรกิจเกาหลีเดินขวักไขว่ในการาจี เรือประมงเกาหลีจับปลาในปากีสถานหลายลำ

แต่เกาหลีไม่มีเที่ยวบินตรงจากโซลมาการาจี ต้องบินมาต่อเครื่องไทยที่กรุงเทพฯ บินเข้าการาจี

การบินไทยกล้าๆ กลัวๆ กับการาจี ชั่วโมงบินจากดอนเมืองไปการาจี 5 ชั่วโมงครึ่ง ใช้กัปตัน 2 คน คนหนึ่งนอนมาจากกรุงเทพฯ ไปขับเครื่องบินขากลับ เพิ่มจำนวนแอร์โฮสเตสมากกว่าปกติ ปฏิบัติงานควบ 2 กะ เอาช่างเครื่องติดเครื่องมาจากดอนเมืองเพื่อตรวจเช็กเครื่องที่การาจี

การบินไทยไม่กล้าพักลูกเรือที่การาจี

แต่ผมนอนโรงแรม Continental ที่เดียวกับที่พักลูกเรือของ Lufthansa

 

12 ตุลาคม 1999 นายพลมูชาร์ราฟผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุดทำการปฏิวัติ สาเหตุเกิดจากการความขัดแย้งกับนายกรัฐมนตรีนาวาซ ชาริฟ (Navaz Sarif) ที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งมาท่วมท้น

นายพลมูชาร์ราฟบินไปเยือนศรีลังกา ขากลับนายกรัฐมนตรีนาวาซ ชาริฟ สั่งปิดสนามบิน ไม่ให้เครื่องบินของมูชาร์ราฟลง

นายพลมูชาร์ราฟสั่งทหารปฏิวัติ เขาบัญชาการมาจากบนท้องฟ้า

เป็นการปฏิวัติที่คลาสสิคที่สุดในโลก บัญชาการจากฟากฟ้า

วันนั้นผมอยู่ในการาจี ยังจำได้ว่า น.ส.พ. The Dawn ของการาจีฉบับวันรุ่งขึ้น บรรยายถึงการปฏิวัติจากฟากฟ้าของนายพลมูชาร์ราฟอย่างน่าตื่นเต้น แต่เป็นการปฏิวัติที่ไม่เสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด

หลังการปฏิวัติ เช่นเดียวกับนักปฏิวัติทั้งหลาย นายพลมูชาร์ราฟสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นประธานาธิบดี พร้อมเขียนกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองนานัปการ

ขณะเดียวกัน นายพลมูชาร์ราฟก็จับนายกรัฐมนตรีนาวาซ ชาริฟ เข้าตะรางตามสูตรของนักปฏิวัติ

นาวาซ ชาริฟ ออกจากคุก แล้วลี้ภัยไปอยู่ดูไบ

 

ศาลสูงปากีสถานในขณะนั้นรับรองการปฏิวัติของนายพลมูชาร์ราฟ และยังอนุญาตให้เขาสามารถปรับแก้รัฐธรรมนูญบางส่วนเพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจและนำประชาธิปไตยมาสู่ปากีสถาน

นายพลเปเวซ มูชาร์ราฟ สถาปนาตัวเองขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 12 ของปากีสถาน พร้อมกับดำรงตำแหน่งผู้นำกองทัพไปด้วยเป็นเวลา 9 ปี

มูชาร์ราฟคือผู้นำเผด็จการจากกองทัพคนที่ 4 ของปากีสถาน

ผู้นำเผด็จการปากีสถานคนก่อนหน้านี้ที่คนไทยผู้จักดีคือ นายพลเซีย อุลฮัก คนนี้จับผู้นำปากีสถานคนก่อนคืออาลี บุตโต อดีตประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีปากีสถานผู้ก่อตั้งพรรคประชาชนปากีสถาน พ่อของนางเบนาซีร์ บุตโต แขวนคอ

นายพลเซีย อุลฮัก มากรุงเทพฯ ช่วงนั้นมีนักศึกษาไทยออกมาประท้วง

กงเกวียนกำเกวียน นายพลเซีย อุลฮัก ถูกลอบสังหารโดย ฮ.ที่โดยสารถูกวางระเบิดกระจุย

 

มูชาร์ราฟให้คำมั่นสัญญาที่จะเร่งฟื้นฟูประชาธิปไตยของประเทศ พร้อมปราบปรามคอร์รัปชั่นและส่งเสริมการรับผิดต่างๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างมาก ขณะเดียวกันก็มีแรงสนับสนุนของประชาชนปรับเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศเฟื่องฟูเพราะความช่วยเหลือจากต่างประเทศ จากการสนับสนุนกองกำลังพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐอเมริกาในสงครามอัฟกานิสถาน

เรียกว่า มูชาร์ราฟเลือกข้างถูก

ในช่วงเวลานั้น พรรคการเมืองหลักๆ หลายพรรคระบุว่า ตนนั้นถูกรัฐบาลกดดันและปราบปรามอยู่ ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองก็ถูกจับกุมตัวไปมากมาย และเสรีภาพของสื่อและระบบตุลาการก็ถูกจำกัด

มูชาร์ราฟเผชิญปัญหาและแรงกดดันมากมาย จนตกลงที่จะก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำกองทัพ หลังจากประกาศระงับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญของประเทศ และประกาศภาวะฉุกเฉินในเดือนพฤศจิกายน 2007 มีผลให้กิจกรรมทางการเมืองทั้งหมดถูกสั่งห้าม และสื่อก็ถูกปิดปาก สมาชิกอาวุโสฝ่ายตุลาการบางรายก็ถูกควบคุมตัว

การประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญพร้อมประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งนี้ มูชาร์ราฟหวังจะขยายเวลาสืบทอดการครองอำนาจ แต่กลับส่งผลให้ประชาชนออกมาต่อต้านอย่างรุนแรง

 

การเมืองในปากีสถานเล่นกันแรง นางเบนาซีร์ บุตโต อดีตนายกรัฐมนตรีหญิง 2 สมัย บินจากลอนดอนมาหาเลียงเลือกตั้งในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชนปากีสถาน (PPP) พรรคฝ่ายค้านในขณะนั้น ขณะหาเสียงเลือกตั้งบนเวทีที่เมืองราวันปินดี เมื่อ 27 ธันวาคม 2007 เธอถูกปืนยิงใส่และการจุดระเบิดพลีชีพ เธอมีทีมรักษาความปลอดภัยจากอังกฤษมาคอยดูแล แต่ก็คุ้มครองชีวิตไม่ได้

เบนาซีร์ บุตโต เสียชีวิตพร้อมกับคนอื่นอีก 24 คน

ทุกสิ่งเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่มูชาร์ราฟเป็นประธานาธิบดีปากีสถาน

ถึงอย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเดือนกุมภาพันธ์ 2008 พรรคของนางเบนาซีร์ บุตโต ชนะการเลือกตั้งท่วมท้น และได้ยื่นถอดถอนมูชาร์ราฟ เขาจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือนสิงหาคม 2008 ก่อนจะโดนถอดถอน แล้วเดินทางออกจากปากีสถานไปอยู่ที่ดูไบในปีถัดมา

นายพลเปเวซ มูชาร์ราฟ กลับมาปากีสถานอีกครั้งเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2013 แต่คราวนี้เป็นฝันสลายของมูชาร์ราฟเพราะประชาชนไม่สนับสนุนเหมือนเดิม อีกทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งตัดสิทธิ์ของเขาเนื่องจากปัญหาต่างๆ ในอดีต

 

กงเกวียนกำเกวียนย้อนรอยเข้าใส่มูชาร์ราฟ นายกรัฐมนตรีนาวาซ ชาริฟ ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนอีกครั้งในปี 2013 จับมูชาร์ราฟส่งฟ้องในข้อหากบฏต่อแผ่นดินจากการระงับใช้รัฐธรรมนูญและประกาศภาวะฉุกเฉินในปี 2007 เพราะเป็นการประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

มูชาร์ราฟประกันตัวระหว่างถูกดำเนินคดี และขออนุญาตศาลเดินทางมารักษาตัวในดูไบเมื่อปี 2016

ปี 2019 ศาลปากีสถานตัดสินว่า มูชาร์ราฟมีความผิดจริง และสั่งลงโทษประหารชีวิต แต่ไม่ได้ตัวมาแขวนคอ เพราะมูชาร์ราฟอยู่ในดูไบ

มูชาร์ราฟเสียชีวิตที่โรงพยาบาลอเมริกันในดูไบ คนรอบข้างในนาทีสุดท้ายคือ ภรรยา ลูกชายและลูกสาว

การที่ศาลปากีสถานอ่านคำพิพากษาลับหลังให้ประหารชีวิต พล.อ.เปเวซ มูชาร์ราฟ แสดงให้เห็นการเปลี่ยนผ่านอิทธิพลทางทหารในปากีสถานที่เริ่มหมดสิ้นไปแล้ว

 

ผมกลับมาเมืองไทยเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ โชเฟอร์แท็กซี่ที่รับผมจากสุวรรณภูมิมาส่งที่บ้าน อยู่ในวัยเดียวกับผม เขาเป็นอดีตพนักงานสินเชื่อธนาคารที่เกษียณแล้วแต่ยังต้องดิ้นรนด้วยการขับแท็กซี่เลี้ยงชีพ

เขาบ่นว่า เศรษฐกิจเมืองไทยแปดปีที่ผ่านมาย่ำแย่เหลือเกิน การคอร์รัปชั่นมีอยู่แทบทุกหน่วยงาน

เขาอยากให้เผด็จการไทยถูกลงโทษเหมือนมูชาร์ราฟ เผด็จการปากีสถาน