ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 กันยายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | ภาพยนตร์ |
เผยแพร่ |
Hell and High Water เป็นทั้งหนังปล้น (heist movie) และหนังคาวบอยตะวันตกในยุคปัจจุบัน แต่เหนืออื่นใด เป็นหนังดรามาที่ตึงเครียด ซึ่งมีแคแร็กเตอร์ที่สร้างได้อย่างดี และบทสนทนาที่แสบๆ คันๆ กระจายอยู่ตลอดทั้งเรื่อง
เมื่อเปิดเรื่อง เราเห็นสองหนุ่มพี่น้องตระกูลเฮาเวิร์ด คือ แทนเนอร์ (เบน ฟอสเตอร์) และโทบี้ (คริส ไพน์) เข้าปล้นธนาคารสาขาในเมืองเล็กๆ ของเท็กซัส โดยสวมหน้ากากสกีปิดหน้า และเรารู้ว่าหนุ่มสองคนนี้วางแผนเข้าปล้นเมื่อธนาคารเพิ่งเปิดทำการ เนื่องจากเป็นเวลาที่ยังไม่มีผู้คนมา
เทคนิคการปล้นก็ดูลูกทุ่งมากๆ คือเข้าจู่โจมถึงตัวพนักงานธนาคาร และใช้ปืนจี้ให้เปิดเซฟ โดยจะกวาดไปแต่ธนบัตรย่อยที่ไม่มีเครื่องหมาย
เมื่อเจอปัญหาเฉพาะหน้าว่าสาวพนักงานแบงก์ไม่ได้ถือกุญแจไขตู้เซฟ ต้องรอให้หัวหน้ามาถึงก่อน โจรสวมหน้ากากสองคนก็เถียงกันเองไปมา และทำท่าว่าการปล้นจะล้มเหลวเอาง่ายๆ แต่พวกเขาก็รอดตัวมาได้พร้อมธนบัตรปลีกหอบใหญ่
การปล้นแบงก์ของพวกเขามุ่งเฉพาะธนาคารเท็กซัสมิดแลนด์สาขาย่อย และทำท่าว่าจะไม่เป็นไปตามแผนทุกครั้ง
เนื่องจากตัวต้นคิดในการปล้นธนาคาร คือโทบี้ ไม่อยากให้เกิดการบาดเจ็บหรือมีคนตาย แต่ว่าแทนเนอร์ พี่ชาย ซึ่งเพิ่งออกจากคุกมา ก็มีแนวโน้มที่จะแสดงความรุนแรงนอกแผนอยู่เสมอ
มาร์คัส แฮมิลตัน (เจฟฟ์ บริดเจา) เป็นเท็กซัส เรนเจอร์ ผู้รักษากฎหมาย ที่มารับคดีนี้ โดยมีเพื่อนร่วมงานคือ อัลเบอร์โต (กิล เบอร์มิงแฮม) ซึ่งมีเชื้อสายอินเดียนแดง
จากการปล้นสองธนาคารโดยผู้ร้ายลอยนวลไปได้สบายๆ และแทบไม่ได้ทิ้งร่องรอยอะไรให้ติดตามได้ มาร์คัสได้ข้อสรุปว่าโจรไม่ได้ทำเพราะความโลภ แต่ต้องการหาเงินจำนวนหนึ่งไปทำอะไรสักอย่าง และการที่เลือกปล้นแต่ธนาคารมิดแลนด์ ก็น่าจะมีแรงจูงใจหรือเหตุผลเบื้องหลังที่อธิบายได้
มาร์คัสกำลังจะเกษียณอายุจากงานในไม่กี่อาทิตย์ข้างหน้า จึงรับทำคดีนี้อย่างมุ่งมั่น ไม่ลดละและใจเย็น
มาร์คัสสวมเครื่องแบบเรนเจอร์ สวมหมวกปีกกว้าง พูดสำเนียงเท็กซัส ทำให้เขาเหมือนนายอำเภอในหนังคาวบอยตะวันตก ซึ่งดูเหมือนว่าเท็กซัสภาคตะวันตกในปัจจุบันแทบจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เว้นแต่นายอำเภอขับรถไปไหนมาไหน แทนการขี่ม้า
และอัลเบอร์โต คู่หูของเขา หน้าตาบอกความเป็นอินเดียนแดงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น “คู่หูคู่ฮา” ของหนังเรื่องนี้ จึงยังเป็นไม้เบื่อไม้เมา เหมือนคาวบอยกับอินเดียนแดง
ความสนิทสนมของคนทั้งคู่แสดงออกโดยการ “กัด” ทุกประโยคที่ออกจากปากแบบไม่ต้องสุภาพหรือถนอมน้ำใจกัน
ซึ่งถ้ามองตามความถูกต้องทางการเมืองของสมัยปัจจุบัน ก็จะถือว่าเป็นการเหยียดผิวอย่างรุนแรง
ผู้เขียนชอบบทพูดอีกตอนระหว่างการติดตามดักจับคนร้าย และต้องค้างแรมในโรงแรม มาร์คัสไม่มีอะไรทำ ก็เข้าไปนั่งเล่นในห้องของอัลเบอร์โต ซึ่งดูทีวีอย่างไม่มีความสุข เพราะถูกกวนถูกวิจารณ์อยู่ตลอด จนต้องไล่ให้กลับไปนอนในห้องของตัวเอง
ในตอนเช้า เมื่ออัลเบอร์โตออกจากห้องมาเจอมาร์คัสนั่งเอ้อระเหยอยู่ที่ระเบียงหน้าห้อง เขาถามว่ามาทำอะไรอยู่ ทำไมไม่นอนอยู่ในห้อง มาร์คัสตอบว่า “ฝึกอนาคต” ซึ่งหมายถึงว่าอนาคตของคนเกษียณแล้วจะไม่มีอะไรทำ นอกจากนั่งอยู่ที่ระเบียง เฝ้ามองดูความเป็นไปของโลกรอบตัว
โจรสองพี่น้องก็มีบทโต้ตอบแสบๆ กันหลายตอน โดยเฉพาะเมื่อแทนเนอร์ซึ่งเป็นอดีตนักโทษ มีนิสัยชอบความรุนแรง และชอบทำอะไรผิดแผน ชวนให้ถูกจับได้เกือบทุกครั้ง
ความสนุกของหนังอยู่ที่รายละเอียดและแคแร็กเตอร์ของตัวละคร มีบทที่ชนะใจคนดูทุกคน ซึ่งเป็นบทเล็กๆ ของสาวเสิร์ฟสูงวัย (มาร์กาเร็ต บาวแมน) ในเมืองชนบท ระหว่างที่มาร์คัสกับอัลเบอร์โตไปรอจับผู้ร้าย
นางมายืนที่โต๊ะ รอรับคำสั่งอาหารแบบชาวเท็กซัสแท้ คือพูดอะไรตรงแหน็วเป็นขวานผ่าซาก ถามแขกว่า “จะไม่เอาอะไร” แทนที่จะถามเหมือนคนเสิร์ฟทั่วไปว่า “จะรับอะไร” พอแขกนั่งงงเป็นไก่ตาแตก (ว่าจะ “ไม่” สั่งอะไรมากิน)
นางก็อธิบายว่ามาที่นี่ไม่มีใครเขาสั่งปลาเทราต์กันหรอก (ก็ดินแดนคาวบอยเลี้ยงวัวแท้ๆ นี่) ทุกคนต้องสั่งทีโบนสเต๊กกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้น จะไม่เอาอะไรที่มากับสเต๊ก ระหว่างถั่วกับมันฝรั่ง ทำเอาอินเดียนกับคาวบอยผู้ห้าวหาญจ๋อยไปเลย ค่อยๆ ตอบคำของนางอย่างเจียมเนื้อเจียมตัวไม่กล้าสั่งอะไรนอกเมนู
ก่อนหน้านี้ยังมีสาวเสิร์ฟอีกคน (เคที่ มิกสัน) ที่มีบทบาทมากกว่า แต่ยังไม่แสบเท่า ในตอนที่เห็นหนุ่มหน้ามน โทบี้ มานั่งกินอาหารอยู่คนเดียว ระหว่างรอพี่ชายอยู่ และเข้ามาตีซี้ด้วย จนในที่สุดโทบี้ทิ้งทิปไว้ให้ถึงสองร้อยเหรียญ ด้วยความเห็นใจในคนที่ประสบความเดือดร้อนทางการเงินเหมือนกัน
และตอนหลังโดนเรียกตัวมาสอบถามเกี่ยวกับผู้ชายที่ดูจะเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการปล้นธนาคารฝั่งตรงข้ามกับร้านอาหาร
เธอแทบจะไม่ยอมให้ความร่วมมือ และเห็นใจผู้ต้องสงสัยมากกว่าฝ่ายรักษากฎหมาย
เนื้อหาของหนังสะท้อนภาพสังคมในระดับกว้าง ที่โดนกระหน่ำด้วยภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง การทำไร่นาที่ไม่ประสบผล รวมทั้งความโลภของธุรกิจใหญ่ที่จ้องจะเอารัดเอาเปรียบผู้คนที่ทุกข์ยาก
การกระทำของสองพี่น้อง นอกจากจะเป็นการแก้เผ็ดสถาบันการเงินที่ฉกฉวยผลประโยชน์ และ “ทำนาบนหลังคน” แล้ว ยังเป็นความพยายามสร้างอนาคตที่มั่นคงให้แก่ลูกหลาน โดยมองย้อนกลับไปสู่บรรพบุรุษที่ทำมาหากินแบบชักหน้าไม่ถึงหลัง ลำบากยากจนมาตลอด
ใช่ว่าการกระทำสิ่งที่ผิดจะแก้ให้ทุกอย่างถูกต้องได้ เพราะคนทำผิดย่อมต้องถูกจับได้และรับผลตามสมควร ในกรณีนี้ ผู้ที่รับผลจังๆ คือแทนเนอร์ ซึ่งทำอะไรโดยไม่ยั้งคิด
เนื้อหาที่อยู่เบื้องหลังเรื่องราวทั้งหลายทั้งปวงนี้ ถูกนำเสนอผ่านอัลเบอร์โต อินเดียนแดง ที่กลายมาเป็นผู้รักษากฎหมาย เขามองเห็นความเป็นไปของเรื่องราวในภาพรวมที่ย้อนกลับไปหลายร้อยปี เมื่อคนผิวขาวเข้ามาแย่งชิงดินแดนไปจากพวกอินเดียนแดง และตอนนี้ดินแดนนั้นก็กำลังถูกแย่งชิงเปลี่ยนมือต่อไป
หนังเรื่องนี้จึงมีเนื้อหามากไปกว่าเรื่องราวการปล้นธนาคารของสองพี่น้อง และต้องขอบอกว่ายิ่งมามองย้อนกลับไปในรายละเอียดต่างๆ ในบทหนัง ก็ยิ่งทำให้เนื้อหาแน่นขึ้น และชอบมากยิ่งขึ้นอีกค่ะ
HELL OR HIGH WATER
กำกับการแสดง
David Mackenzieนำแสดง
Chris Pine
Ben Foster
Jeff Bridges