ระบอบอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง : เข้าร่วมหรือคว่ำบาตรการเลือกตั้ง

บทความพิเศษ | อุเชนทร์ เชียงเสน

อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

[email protected]

 

ระบอบอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง

: เข้าร่วมหรือคว่ำบาตรการเลือกตั้ง

 

ในหลายครั้ง การเมืองเป็นเรื่องย้อนแย้ง ก่อนการเลือกตั้ง 2562 ฝ่ายผู้ครองอำนาจได้ท้าทายให้พรรคฝ่ายตรงกันข้ามไม่ลงเลือกตั้งเพราะวิจารณ์ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 กติกาการเลือกตั้ง ไม่เป็นประชาธิปไตย

ผ่านมา 4 ปี ในการเลือกตั้ง 2566 ที่จะถึงนี้ ปรากฏมีการท้าทายลักษณะเดียวกัน แต่มาจากผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านด้วยกันเอง

การตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมการเลือกตั้ง คว่ำบาตร หรือลงถนนประท้วงหลังการเลือกตั้ง เป็นประเด็นถกเถียงสำคัญและไม่มีคำตอบตายตัวสำหรับฝ่ายค้านหรือฝ่ายตรงกันข้ามผู้ครองอำนาจในระบอบอำนาจนิยมสมัยใหม่ที่มีสถาบันการเมืองประชาธิปไตยหรือการเลือกตั้งดำรงอยู่

โดยในการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบ มีชื่อเรียกระบอบแบบนี้อย่างหลากหลาย เช่น ระบอบผสม (Hybrid) ระบอบอำนาจนิยมที่มีการแข่งขัน (Competitive Authoritarianism) ระบอบอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง (Electoral Authoritarianism) ประชาธิปไตยที่มีคำคุณศัพท์ (Democracy with Adjectives)

 

ระบอบอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง

(Electoral Authoritarianism)

ก่อนจะตัดสินใจอย่างไร เราควรจะทำความเข้าใจระบอบการเมืองนี้เสียก่อน

Andreas Schedler หนึ่งนักวิชาการชื่อดังที่สนใจเรื่องนี้ ได้ออกมาเตือนว่า ความคิดเรื่องประชาธิปไตยที่ผูกไว้อย่างแนบแน่นกับการเลือกตั้งนั้นอันตราย

เพราะในประวัติศาสตร์ การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการควบคุมของระบอบอำนาจนิยมได้เช่นเดียวกับวิถีทางประชาธิปไตย

หลังคลื่นลูกที่สามของการทำให้เป็นประชาธิปไตย (The third wave of democratization) ที่ผู้คนต่างเชื่อว่าประเทศเผด็จการต่างๆ กำลังมุ่งหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยนั้น ในความเป็นจริง จำนวนมากกลายมาเป็นอำนาจนิยมรูปแบบใหม่ ที่ไม่ใช่เผด็จการพรรคเดียว เผด็จการทหาร หรือเผด็จการที่เป็นตัวบุคคลแบบเดิม

แต่เป็น “ระบอบอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง (Electoral Authoritarianism)”

และได้อธิบายระบอบนี้ไว้ว่า

ระบอบอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง ยังเล่นเกมการเลือกตั้งแบบหลายพรรคอยู่ โดยมีการเลือกตั้งหัวหน้าฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติตามระยะเวลา แต่มีการละเมิดหลักเสรีภาพและความเป็นธรรมแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้งและเป็นระบบ เพื่อที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือของระบอบอำนาจนิยมมากกว่าเครื่องมือของประชาธิปไตย (2006; p.3)

ในแง่นี้ การจัดการเลือกตั้งจึงเป็นความพยายามให้ได้มาซึ่งรูปลักษณ์หรือ “ฉากหน้า” ความชอบธรรมแบบประชาธิปไตย เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับตัวแสดงทั้งภายนอกและภายใน เพื่อสืบทอดอำนาจต่อไปเท่านั้น

ดังนั้น Schedler จึงจัดวางระบอบนี้ไว้ในพื้นที่คลุมเครือระหว่างประชาธิปไตยที่ชัดแจ้งกับอำนาจนิยมเต็มรูปแบบ

โดยทำการแบ่งแยกพื้นที่สเปกตรัมระบอบการเมืองออกเป็น 4 ส่วน คือ ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม (liberal democracy) ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง (electoral democracy) อำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง (electoral authoritarianism) และเผด็จการแบบปิดหรือเต็มขั้น (closed authoritarianism)

เพื่อทำให้เห็นความแตกต่างของระบอบดังกล่าว

เขาแยกประชาธิปไตยแบบเสรีกับแบบเลือกตั้งบนหลักการว่า “การเลือกตั้งเป็นเงื่อนไขจำเป็นแต่ไม่ใช่เงื่อนไขพอเพียงสำหรับประชาธิปไตยสมัยใหม่” กล่าวคือ ขณะที่ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมไปไกลกว่าเงื่อนไขการเลือกตั้งซึ่งเป็นขั้นต่ำ ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งจำกัดไว้แค่การเลือกตั้ง แต่ล้มเหลวในการทำให้มิติอื่นของรัฐธรรมนูญ เช่น หลักนิติรัฐ ( the rule of law) ความรับผิดทางการเมือง (political accountability) เป็นสถาบัน

ส่วนการแยกประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งกับอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้งนั้นอยู่บนหลักการว่า ประชาธิปไตยต้องการการเลือกตั้ง แต่ไม่ใช่การเลือกตั้งแบบใดก็ได้ ต้องเสรีและเป็นธรรมเท่านั้นถึงจะเรียกว่าประชาธิปไตย ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งนี้ปฏิบัติตามบรรทัดฐานประชาธิปไตยขั้นต่ำนี้ ขณะที่อำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้งมีการเลือกตั้งก็จริงแต่ไม่เสรีและยุติธรรม แต่การมีอยู่ของการเลือกตั้งในบางแบบนี้แยกตัวมันเองออกจากระบอบอำนาจนิยมเต็มรูปแบบ

ตารางแสดงการกระจายระบอบการเมืองแบบต่างๆ ตามภูมิภาคทั่วโลก (ไม่นับรวมประเทศประชาธิปไตยที่เป็นอุตสาหกรรมแล้ว คือ ยุโรปตะวันตก ญี่ปุ่น และประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก) ได้แสดงให้เห็นถึงการกระจายตัวของระบอบอำนาจนิยมไว้อย่างน่าสนใจ ในปี 2001

เมื่อมองภาพกว้าง เกือบ 30 ปีของคลื่นของการทำให้เป็นประชาธิปไตยนั้น มีเพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 45) เท่านั้นของประเทศทั้งหมดที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย (แบบเสรีนิยม+แบบเลือกตั้ง)

แต่ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 55) อยู่ในระบอบอำนาจนิยม โดยเป็นอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้งมากกว่าสองในสาม (ร้อยละ69.9) ของระบอบเผด็จการทั้งหมด

และเมื่อเปรียบเทียบทุกประเภทแล้ว ระบอบอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้งมีมากที่สุด (ร้อยละ 38.4) ขณะที่อำนาจนิยมแบบปิดนั้นมีน้อยที่สุด (ร้อยละ 16.5)

 

เข้าร่วม หรือคว่ำบาตร

ขณะที่ผู้ครองอำนาจในระบอบนี้ต้องเผชิญหน้ากับ “ปัญหาเขาควายของการเลือกตั้ง (electoral dilemma)” ภาวะที่กลืนไม่เข้าคายออกว่าต้องควบคุมบงการการเลือกตั้งมากขนาดไหนเพื่อให้รับชัยชนะโดยไม่ทำลายความน่าเชื่อถือของผลการเลือกตั้งมากเกินไป

ฝ่ายค้านต้องเลือกเช่นกันว่าจะเข้าร่วมการเลือกตั้งหรือไม่ หรือท้ายที่สุดต้องลงถนนประท้วงหลังการเลือกตั้ง โดยมีข้อถกเถียงในการสนับสนุนหรือคัดค้านที่สำคัญดังต่อไปนี้

การเข้าร่วมลงแข่งขันในการเลือกตั้ง

ผู้สนับสนุนมักให้เหตุผลว่าการเข้าร่วมจะช่วยให้พรรคการเมืองปรากฏตัวตนเป็นที่รู้จักและเข้าถึงประชาชนได้กว้างขวางขึ้น เพราะการเลือกตั้งเป็นเวทีในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ของพรรค ทำให้พรรคมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชน และเสนอตัวเป็นทางเลือกแทนระบอบเดิม หากได้ที่นั่งในฝ่ายนิติบัญญัติหรืออื่นๆ ที่สำคัญ ถือว่าเป็นการไปอยู่ในระบบการเมือง ย่อมเป็นโอกาสในการผลักดันวาระของตนได้

นอกจากนั้น การเข้าร่วมยังเป็นหนทางหนึ่งที่แสดงถึงความยึดมั่นต่อหลักการประชาธิปไตย มุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในระบบการเมืองที่ดำรงอยู่แม้ว่าจะมีข้อบกพร่องก็ตาม การลงเลือกตั้งสำคัญต่อพรรคการเมืองในการสร้างฐานสนับสนุนและทำให้ตัวเองเป็นกลุ่มการเมืองที่มีความชอบธรรม

อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมการเลือกตั้งที่มีโอกาสชนะน้อยนี้ อาจทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายค้านต่อสาธารณชนในฐานะผู้แพ้การเลือกตั้ง และถูกอ้างความชอบธรรมโดยผู้ครองอำนาจในฐานะผู้ชนะการเลือกตั้ง

การคว่ำบาตรการเลือกตั้ง

สำหรับผู้สนับสนุนการคว่ำบาตรนั้นให้มักให้เหตุผลว่า การคว่ำบาตรเป็นการแสดงการไม่ยอมรับความชอบธรรมของระบอบหรือกระบวนการเลือกตั้งและชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการปฏิรูป นอกจากนั้น ยังทำให้เป้าหมายของพวกเขาดึงดูดความสนใจ และวางตัวเองเป็นผู้พิทักษ์ประชาธิปไตยที่แท้จริง รวมทั้งใช้ระดมผู้สนับสนุนและสร้างโมเมนตัมสำหรับเป้าหมายในอนาคต

แต่อีกด้านหนึ่ง การคว่ำบาตรอาจทำให้พรรคการเมืองสูญเสียการเป็นที่รู้จักและความสำคัญของตนเองได้ เพราะถูกมองว่าไม่ใช่คู่ต่อสู้และเป็นทางเลือกของประชาชน และพลาดโอกาสในการมีส่วนร่วมกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สร้างการสนับสนุนเป้าหมายของตนเอง และที่สำคัญเป็นการปล่อยให้เวทีการเมืองที่เป็นทางการถูกครอบครองโดยผู้ครองอำนาจเพียงลำพัง

ทั้งนี้ คำอธิบายแรงจูงใจในการเลือกยุทธศาสตร์เหล่านี้ของฝ่ายค้านนั้นมีหลากหลาย

บางส่วนเน้นไปที่การคำนวณความเป็นไปได้ของชัยชนะซึ่งสัมพันธ์กับความรุนแรงของการควบคุมบงการการเลือกตั้ง

แต่ในความเป็นจริงคือ การเลือกตั้งแบบอำนาจนิยมส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกคว่ำบาตร การคว่ำบาตรเป็นข้อยกเว้นมากกว่าจะเป็นกฎทั่วไป

ขณะที่บางส่วนเน้นไปที่ปัจจัยความแตกต่างทางอุดมการณ์ที่รุนแรงกับระบอบที่เป็นอยู่และความต้องการเป็นที่รับรู้หรือระดมการสนับสนุนนั้น แต่ทั้งหมดนี้สามารถเกิดและทำได้ทั้งกรณีที่พรรคการเมืองมีส่วนร่วมและคว่ำบาตรการเลือกตั้ง

ดังนั้น จึงมีผู้เสนอว่าการพิจารณาเรื่องนี้ต้องมองให้ไกลไปกว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว นั่นคือ การรับรู้ถึงความเข้มแข็งและเสถียรภาพของระบอบ

ตัวอย่างเช่น

การคว่ำบาตรสามารถเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ที่ใหญ่กว่า เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการประท้วงหลังการเลือกตั้ง ที่อาจบ่อนทำลายเสถียรภาพและอำนาจของระบอบในท้ายที่สุด

เมื่อเผชิญหน้ากับการคว่ำบาตร รัฐบาลจะมีสองทางเลือกคือปฏิรูปหรือเพิกเฉย

หากรัฐบาลไม่ตอบสนอง ฝ่ายค้านมีทางเลือกสุดท้ายคือ ระดมการประท้วงหลังการเลือกตั้งหรือไม่ก็ยอมรับผลจากการตัดสินใจคว่ำบาตร

ในแง่นี้การเลือกและประเมินความสำเร็จของยุทธศาสตร์จึงเชื่อมโยงกับความเชื่อของฝ่ายค้านว่ากำลังเผชิญหน้ากับระบอบการปกครองที่เข้มแข็งหรืออ่อนแอด้วยเช่นกัน

แต่ไม่ง่ายแค่นี้ การมองว่ารัฐบาลอ่อนแออาจนำไปสู่การตัดสินใจระดมกำลังเพื่อเอาชนะผ่านการเลือกตั้งก็ได้ เพราะการประท้วงหลังการเลือกตั้งมีต้นทุนและความเสี่ยงต่อการปราบปรามที่สูงกว่า และการลงแข่งเลือกตั้งแล้วทำให้เห็นว่ามีการทุจริต บงการผลการเลือกตั้งขนาดใหญ่และรุนแรง สามารถเป็นขั้นตอนหนึ่งที่นำไปสู่การประท้วงหลังการเลือกตั้งได้เช่นเดียวกัน

 

กลับมาที่ประเทศไทย ในเชิงกรอบการวิเคราะห์ ประเทศไทยในปัจจุบันถูกจัดอยู่ในกลุ่มระบอบอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง

แต่ค่อนข้างมีการแข่งขันมากขึ้นนิดหนึ่ง

ฝ่ายค้านมีโอกาสได้ที่นั่งมากพอที่จะมีบทบาทในระบบการเมืองหรือชนะการเลือกตั้งได้เช่นกัน

ดังนั้น ถ้าดูจากเหตุผลสนับสนุน/คัดค้าน จึงไม่แปลกใจที่ฝ่ายค้านทุกพรรคตัดสินใจลงเลือกตั้งในปี 2562

และผลที่เกิดขึ้นคือเพื่อไทยได้ที่นั่งในสภามากที่สุด

แต่ด้วยการควบคุมผ่านสถาบันอื่นๆ การสงวนที่นั่งให้กับวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในการโหวตนายกรัฐมนตรี จึงทำให้ผลการเลือกตั้งกับการเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาลไม่สัมพันธ์กัน วิธีนี้เป็นเมนูหนึ่งในการควบคุมบงการในระบอบอำนาจนิยม

ดังนั้น ในบริบทนี้สำหรับการเลือกตั้ง 2566 ไม่มีเหตุผลที่หนักแน่นในการคว่ำบาตร

การท้าทายพรรคฝ่ายค้านจึงไม่มีเหตุผลอื่นนอกจากความต้องการเป็นผู้แข่งขันรายเดียวในตลาดฝ่ายค้าน

ตรงกันข้าม สิ่งที่น่าสนใจและท้าทายยิ่งกว่าคือ อะไรคือทางเลือก

ระหว่าง 1) จับมือกับฝ่ายค้านด้วยกันเองต่อสู้กับการบงการในลักษณะที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ทั้งในช่วงการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้ง แม้กระทั่งการร่วมมือกับประชาชนลงท้องถนนถ้าจำเป็น เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบ

หรือ 2) จำนนต่อการบงการ ยอมถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของระบอบอำนาจนิยมต่อไป