‘สาทิตย์’ วิพากษ์สภายุค ‘อุดมการณ์ล่มสลาย’ ถ้าฝ่ายค้านเป็น ‘ก้าวไกล-ปชป.’ รับรอง สนุกแน่!

ในโอกาสที่สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันทำงานมาได้ครบ 4 ปี ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี จึงชวน “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้แทนฯ 7 สมัย ให้มาวิพากษ์วิจารณ์แง่มุมต่างๆ ของสภาชุดนี้

สาทิตย์เริ่มต้นด้วยประเด็นการขาดความเป็นเอกภาพในฝ่ายรัฐบาล

“ประสบการณ์ ส.ส. 7 สมัย ผมคิดว่าสภาชุดนี้เป็นชุดที่ทำหลายเรื่องที่ผมไม่เข้าใจมากที่สุด

“หนึ่ง รัฐบาลผสมมีถึง 20 พรรค ซึ่งเยอะมาก แล้วก็ในแง่ทางความคิดนี่ขาดความเป็นเอกภาพค่อนข้างมาก เหมือนกับว่ามีอำนาจต่อรองบางอย่างในรัฐบาลในแต่ละช่วง ก็เลยทำให้การขับเคลื่อนนโยบายมันออกมาในลักษณะว่ามีเอเจนด้า (วาระทางการเมือง) ของพรรคการเมืองเข้าไปปรากฏอยู่ด้วย

“แทนที่จะเป็นหนึ่งเดียวหรือเป็นเนื้อเดียว เป็นรัฐบาลในภาพรวม อันนี้มันเหมือนกับย้อนกลับไปสู่ยุคที่เป็นรัฐบาลหลายพรรค

“พอภาพรัฐบาลเป็นแบบนั้น ในสภาก็เลยเหมือนกับแต่ละพรรคต่างก็มีเอเจนด้าของตัวเอง แล้วหลายเรื่องก็อาจจะโหวตทางเดียวกัน หรือโหวตไม่ไปทางเดียวกัน ผมยกตัวอย่างเช่น กฎหมาย กยศ. อาจจะชัดเจนที่สุด หรืออย่างนโยบายกัญชา ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความที่ไม่ค่อยจะไปในทิศทางเดียวกันมากนัก

“ในขณะเดียวกัน การทำงานในสภา ในกรรมาธิการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมาธิการร่วม ซึ่งมี ส.ว.มาร่วมด้วย เกือบทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์นะ คุณไปสังเกตดู ว่า ส.ว.เลือกกันแล้วจะได้เป็นประธาน เพราะว่าฝั่ง ส.ส.แบ่งข้างและแข่งกันเอง เสียง ส.ว.เลยชนะทุกครั้ง เพราะ ส.ว.เหมือนกับเป็นพรรคเดียว และมีความเป็นเอกภาพมากกว่า”

ส.ส.ตรัง ยังมองว่าการทำงานด้านนิติบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้มีคุณภาพที่ลดน้อยลง

“แต่เรื่องที่ลึกไปกว่านั้น อันนี้ขออนุญาตวิจารณ์ตรงไปตรงมาเลย อาจจะตรงไปตรงมามากไปนิด บางคนอาจจะไม่ค่อยสบายใจ แต่จะพูดตรงๆ ผมว่าคนที่เอาจริงเอาจังกับงานสภาลดน้อยลงกว่าที่ผมเคยเห็น

“คำว่าเอาจริงเอาจังหมายความว่าศึกษาระเบียบวาระอย่างจริงจัง เอามาวิเคราะห์เทียบเคียง ลุกขึ้นแสดงความคิดความเห็น ตั้งแต่ตัวกฎหมาย ตัวญัตติ ตัวตั้งกระทู้ถามต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น

“ยิ่งถ้าเป็นเรื่องกระทู้ถาม ปัญหาชาวบ้าน (ยังมี) แต่ว่าการตั้งประเด็นญัตติในเชิงตรวจสอบนโยบาย หรือเป็นเรื่องของสาธารณะในภาพรวม มันไม่ค่อยเห็น แต่มันจะมีการผลักดันประเด็นการเมืองค่อนข้างเยอะ ซึ่งอาจจะเกี่ยวเนื่องมากับสถานการณ์ คสช.ก่อนหน้านี้ก็เป็นได้

“ในยุคที่ผมทำงานเป็น ส.ส.ใหม่ๆ ปี 2538-2539 หรือกระทั่งปี 2544 คนที่เอาจริงเอาจังเรื่องงานสภาค่อนข้างเยอะ แล้วก็ในแต่ละพรรค ถ้าจะยกมือพูดกันในสภา ต้องโหวตมาจากในพรรคก่อนนะ เพราะทุกคนอยากพูดกันมาก

“ที่สำคัญคือ ส.ส.รุ่นใหม่ -ผมไม่นับก้าวไกลนะ ผมว่าก้าวไกลทำงานที่ค่อนข้างจะเป็นระบบ เหมือนเขามีธิงก์แทงก์ (ทีมงานคลังสมอง) คอยช่วยคิด- จะขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละคน ผมว่าเรื่องแปรญัตติมันก็มีน้อยลง

“แล้วกฎหมายที่มาแต่ละอย่างมันมีจุดบกพร่องหรือมีจุดอ่อน จนกระทั่งต้องมาแก้ในวาระที่ 3 ก่อนที่จะโหวตก็หลายครั้ง อย่างกฎหมายตำรวจที่ผมเคยติติงในสภา อย่างนี้เป็นต้น

“พูดตรงๆ คือ ส.ส.รุ่นใหม่ที่อินกับงานสภา ที่ไม่ใช่อาศัยสภาเป็นประเด็นขับเคลื่อนการเมือง แต่ทำงานโดยเนื้อแท้ของนิติบัญญัติ ริเริ่มนำเสนอกฎหมาย สร้างสรรค์แนวคิดต่างๆ เชิงนิติบัญญัติ ผมว่ามันน้อยกว่าในอดีตที่ผ่านมา ผมว่ามันมีปัญหาเกือบทุกพรรค”

 

นักการเมืองรุ่นเก๋าจากประชาธิปัตย์วิพากษ์ต่อว่า สำหรับเขาแล้ว การเมืองยุคนี้คือยุค “อุดมการณ์ล่มสลาย”

“ผมวิจารณ์ว่า การเมืองยุคนี้เป็นยุคอุดมการณ์ล่มสลาย มันเป็นไปได้อย่างไรที่คุณอยู่พลังประชารัฐสู้กับเพื่อไทยมาเกือบตาย วันดีคืนดีคุณลาออกจากพลังประชารัฐไปอยู่เพื่อไทย วันดีคืนดีคุณลาออกจากเพื่อไทยไปภูมิใจไทย คุณสลับขั้วกัน คุณไม่รู้สึกอะไรเลยเหรอวะ?

“เฮ้ย! แนวคิดอุดมการณ์มันต่างกันนะ ส.ส.ลาออกจากสภาไป 100 กว่าคน แล้วทุกคนกลายเป็นว่าเรื่องย้ายพรรคเป็นเรื่องปกติ ซึ่งในยุคก่อน การย้ายพรรคมันเรื่องใหญ่มากนะครับ อาจจะต้องถูกขับออกหรือแนวคิดเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

“แต่ไอ้นี่มันย้ายไปย้ายมากันจนกระทั่งเป็นเรื่องปกติ ผมงงมากว่านี่คือยุคอุดมการณ์ล่มสลายเหรอ? ประชาธิปไตยในระบบตัวแทนมันกำลังมีปัญหาอย่างที่อเมริกามีหรือเปล่า?

“เพราะฉะนั้น โดยส่วนตัว ผมตั้งใจว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ ในการรณรงค์หาเสียง มันต้องแทรกการพูดเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองลงไปในการปราศรัย เพื่อให้การศึกษาคนด้วย เพราะการเมืองระบอบรัฐสภามันมากกว่าประเด็นความเห็นการเมืองว่าแค่ชอบหรือไม่ชอบอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง

“แต่มันต้องโยงถึงฐานคิด-แนวคิด อุดมการณ์-อุดมคติ ที่โยงไปสู่นโยบาย-เป้าหมายสุดท้ายของแนวคิดนั้น ต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น อันนี้คือวิจารณ์ตรงไปตรงมา”

 

ท่ามกลางการคาดเดาซีเนริโอต่างๆ ของการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง 2566 ก็มีคอการเมืองหลายรายที่วาดฝันไว้ว่า บางทีในสภาผู้แทนราษฎรชุดหน้า เราอาจได้เห็นพรรคประชาธิปัตย์จับมือเป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคก้าวไกล ซึ่งสาทิตย์ยอมรับว่า เขาเคยได้ยินเสียงเชียร์ทำนองนี้มาบ้างเหมือนกัน

“อันนี้ผมยอมรับเลยว่ามีคนคิดจริง คือถามว่าดีไหม? แน่นอนในฐานะที่เป็นพรรคการเมือง คนก็คิดอยากได้เสียงข้างมากไปเป็นรัฐบาลอยู่แล้ว

“แต่ว่าการเป็นฝ่ายค้าน ผมว่าบริบทมันขึ้นอยู่กับว่า หนึ่ง คือ รัฐบาลเป็นใครก่อน? แล้วบทบาทของรัฐบาลทำงานเป็นอย่างไร? มีปัญหาไหม? ซึ่งถ้ามีปัญหา บทบาทของประชาธิปัตย์ในฐานะฝ่ายค้านที่ผ่านมาในอดีต ผมว่าจะเป็นที่ฝังใจของคน และเป็นที่จดจำของคน ว่าเป็นการตวจสอบที่ตรงไปตรงมาและเข้มข้น ซึ่งตรงนั้นมันก็ช่วยชูบทบาทของพรรค

“ในขณะเดียวกัน ในทางหนึ่งมันก็สะท้อนให้เห็นเหมือนกันว่า หรือคนไม่จดจำหรือ (ไม่) ชื่นชอบบทบาทการเป็นรัฐบาลของพรรค ซึ่งอันนี้ก็เป็นคำถามซึ่งต้องให้คนที่เป็นรัฐมนตรีเขาหาคำตอบอยู่เหมือนกัน

“แต่เกิดสมมุติเป็นอย่างนั้นจริงๆ (ก้าวไกลและประชาธิปัตย์จับคู่เป็นฝ่ายค้าน) ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ผมว่า โอ สภาสนุกครับ (หัวเราะ)

“แต่ต้องยอมรับตรงๆ นะ ผมพูดกับเพื่อนหลายคนว่า ย้ายพรรคกันขนาดนี้ แล้วก็ปั่นป่วนในการเลือกตั้งกันขนาดนี้ ผมมองไม่ออกจริงๆ ว่า หน้าตาของสภา (จะ) ออกมาเป็นอย่างไร แล้วหน้าตารัฐบาลจะเป็นอย่างไร ณ วันนี้มองไม่ออกเลย”