‘ชินัวส์คั่วเขมร’ หรือกลเกมเก่าพรรคคอมมิวนิสต์?

อัญเจียแขฺมร์ | อภิญญา ตะวันออก

 

‘ชินัวส์คั่วเขมร’

หรือกลเกมเก่าพรรคคอมมิวนิสต์?

 

จําได้เลาๆ ว่า ก่อนยึดอินโดจีนได้ ฝรั่งเศสเคยคิดการณ์ใหญ่หมายยึดจีนตอนใต้ผ่านต้นทางแม่น้ำโขง/แม่กง ทะลุจากดินแดนกัมพูชาขึ้นไปถึงยูนนาน แต่ไม่สำเร็จ ความทะเยอทะยานของบารังก็แค่อยากทำให้จักรภพอังกฤษเห็นว่า ข้าก็แน่เหมือนกัน

ทุกวันนี้ เกี่ยวกับเรื่องอดีตอาณานิคมระหว่างบารังหรืออังกฤษ ว่าใครแน่ที่เหนือกว่ากัน นั้นยังไม่มีข้อยุติ

แต่ที่แน่ๆ ประเทศในอดีตของฝรั่งเศสแต่ละชาติ ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา ยังหาความจำเริญไม่ได้เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสรกแขมร์ที่บารังรักมาในฐานะที่เป็นอดีตอาณานิคมที่มีอารยธรรมขอมอันเกรียงไกร

เมื่อเทียบกับความรู้สึกว่าอังกฤษกินรวบประเทศตำนานด้านอารยธรรมกระทั่งได้กัมพูชา บารังก็รู้สึกว่า ตนยืดอกข่มอังกฤษได้เหมือนกัน แถมยังทะเยอทะยานหมายว่าจะอาศัยแม่น้ำโขงเขมรลาวเป็นต้นทาง หวังรุกคืบจีนขึ้นไป

แต่เชื่อไหม 100 ปีต่อมา แนวคิดการณ์ใหญ่บารังนี่แหละ ที่พรรคคอมมินิสต์จีนนำไปพัฒนาและรื้อฟื้นความเป็นเจ้าอาณานิคมใหม่ในศตวรรษที่ 21

และประเทศที่เห็นชัดคาตานั้นก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นแคว้นเขมรยุคเตโชฮุนนี่เอง

แต่ระบอบของบารังฝันอันมีต่อจีนแผ่นดินใหญ่นั้นไม่ใช่เรื่องแปลก เห็นอยู่ว่า อิทธิพลชาวจีนโพ้นทะเลทั้งแคว้นอันนัม/เวียดนามและเขมรในมณฑลอินโดจีน ล้วนแต่สร้างความมั่งคั่งให้บารังอย่างมีวิสัยทัศน์

ตัวอย่างตลาดในกลางนครในสมัยอินโดจีนแห่งแรกของเขมรที่บารังสร้างให้ ใหญ่โตประหนึ่งท้องพระโรงของพระราชวัง ก็มาจากแนวคิดของเจ้าสัวจีนคนหนึ่งที่เมืองกำโปด เจ้าหน้าที่บารังอินโดจีนน่ะ ถึงกับยกความสำเร็จให้อย่างปลื้มปริ่มในไอเดีย ด้วยเหตุว่า มันได้ฟื้นเศรษฐกิจกัมพูชาหลังจากจมปลักมานานโข

การสร้างเมือง มีส่วนสำคัญที่บันดาลให้ประเทศเติบโตไปพร้อมกันกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

เมื่อมองย้อนกลับ ไซ่ง่อนก็เติบโตเฉกนี้เช่นกัน ด้วยพลังพ่อค้าจีน/ชินัวส์ คนเหล่านี้ได้ ต่อมาได้กลายเป็นกลุ่มอีลิตที่ช่วยให้ภาครัฐอินโดจีนประสบความสำเร็จและสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ถึงขนาดว่า ในมุมหนึ่งทางสังคม เด็กสาวบารังคนหนึ่งถึงกับนึกอยากมีอาชีพเป็นคุณโส คู่นอนชั่วคราวเศรษฐีชินัวส์

มาร์เกอริต ดูราส เด็กสาวคนนั้น ในงานเขียนของเธอต่อเนื่องกัน 2-3 เล่มในนวนิยายเพ้อฝัน แต่มันกลับเผยให้เห็นว่า นายหน้าชินัวส์อินโดจีนคือองคาพยพของรัฐอินโดจีน!

ก็ให้คิดดูแล้วกันว่า ความมั่งคั่งชาวจีนเมื่อร้อยกว่าปีก่อนโน้น ยังถึงกับทำให้สาวกำดัดในครอบครัวข้าราชการบารังอินโดจีนคนหนึ่ง มองเห็นภาพจินตนาการประโลมโลกย์ในนิยายของเธอ และนั่นคือหลักฐานเชิงปัจเจกที่พอเหลืออยู่ให้ตีความถึงอำนาจอันเหมือนซอฟต์เพาเวอร์ในหมู่ชนชาวจีนแห่งภูมิภาคนี้

เป็นอิทธิพลที่เหนือกว่าเชิงปัจเจกใดๆ ในฐานโครงสร้างทางสังคม อย่างเห็นได้ที่ชาวจีนอีลิตไม่กี่หยิบมือก็สามารถช่วยขับเคลื่อนประเทศในสมัยบารังอินโดจีน เป็นคุณสมบัติพิเศษที่หาได้ยากในชนชาติอื่น และด้วยอิทธิพลนั้นที่จีนสั่งสมมาต่อภูมิภาคนี้

ตั้งแต่อดีตอาณานิคมเก่าอินโดจีนจนทุกวันนี้ ไม่แต่กัมพูชา ลาว-ไท้กัว-เมียนมา ล้วนแต่ตกอยู่ในวังวนอิทธิพลเดียวกัน

Khmer Times

พลัน วันวารย้อนกลับ ศตวรรษที่ 20 สมัยร้อยปีที่ยังไม่มีสาธารณรัฐประชาชนจีน การต่อสู้กับวิกฤตใน-นอกประเทศที่โถมเข้าหาผ่านกาลเวลา กระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์สามารถสร้างผลผลิตจากเศรษฐกิจเสรี กระทั่งสยายปีกเศรษฐกิจจากมณฑลไปสู่ภูมิภาค

น่าประทับใจว่า ความสำเร็จ 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มากมายนั้น ด้านหนึ่งการมองการณ์ไกลของเหล่าผู้นำ ตลอดจนความทะเยอทะยานของทั้งฝ่ายรับและฝั่งรุกซึ่งช่างบังเอิญมาเจอกัน

ราวกับอยู่ในระบอบเดียวกันกับระบบอุปถัมภ์อันถาวร ท่ามกลางแบบทดสอบพิษเศรษฐกิจที่รุกคืบโจมตีทั่วภูมิภาค ทว่า นั่นไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้กัมพูชาเรียนรู้และเปลี่ยนโฉมหน้าของตัวเอง ทั้งการพึ่งพาเศรษฐกิจจีนในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดลักษณะพิเศษของ 2 ผู้นำประเทศนี้ อย่างที่ยากจะสังฆกรรมได้ในชาติอื่นๆ

โดยเฉพาะความเป็น “ระบอบฝัน” อันมั่นคงเดียวกันในอุดมการณ์แบบพรรคคอมมิวนิสต์

และเพื่อให้คำอธิบายนี้เห็นภาพคือการที่ทางการกัมพูชาส่งนักกีฬาทั้งหมดของตน (ยกเว้นฟุตบอล) ยกประเทศ ไปฝึกซ้อมเก็บตัวที่สาธารณรัฐประชาชนจีน

ตลอดจนการขอให้จีนอุดหนุนช่วยเหลือทางการเงินอื่นๆ ตลอดจนการพยุงสถาบันการเงินกัมพูชาที่กำลังประสบหายนะตามมาจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่ภาคเอกชนของจีนก่อไว้

เผยให้เห็นว่า กัมพูชาขณะนี้ คล้ายมีสถานะเป็นมณฑลโพ้นทะเลนอกแผ่นดินทางการจีน

แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ ดูเหมือนว่าหัวหน้ามณฑลแห่งนี้จะไม่มีทักษะใดๆ ในด้านบริหาร นอกจากแบมือขอเงินอุดหนุนจากส่วนกลาง-บองทมแผ่นดินใหญ่ไปวันๆ

แต่ไม่ว่าจะอ่อนแออย่างไรก็ตาม กัมพูชาก็ยังจะประโยชน์ข้างหน้าต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน อย่างไม่อาจจะตัดรอน

Cambodianess

เราจึงรู้สึกได้ในนาทีระทึกระทัน ในทันทีที่ผู้เขมรกลับมาจากปักกิ่ง พลัน การปลิดชีพ VOD (Voice of Democracy) สื่ออิสระสำนักสุดท้ายก็ตามมาอย่างเลือดเย็น

อย่างที่รู้กัน นี่เป็นระเบียบวิธีสำนักคอมมิวนิสต์นิยมกระทำ แบบเดียวกับสมัยเขมรแดง-พล พต ที่พอกลับมาจากปักกิ่ง การกวาดล้างขั้วตรงข้ามอย่างเบ็ดเสร็จ

ระบอบฮุนเซนก็ไม่ต่างกัน ในการกวาดล้างฐานันดรสี่ให้มีผลก่อนการเลือกตั้งกลางปีนี้

ยุทธวิธีแบบระบอบพรรคคอมมิวนิสต์ที่กลับมาฟื้นตัวหลังยุคสงครามเย็น การเดินสายเยือนลาวและลงนามความร่วมมือต่างๆ ล้วนแต่บ่งบอกสัญญาณว่าถ้าดูเนื้อในทุกประการ ระบอบพรรคประชาชนกัมพูชาฮุนเซนนี้ มีการจัดตั้งศูนย์อำนาจและสืบทอดมายาวนาน

เล่าว่า ในคณะฮุน เซน นั้น มีพฤติกรรมแบบชาวพรรคแดงมานานแล้ว ซ้ำยังมีวิธีการแบบตำรวจลับ/แกสตาโปซึ่งตกยุคไปแล้วอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะกลวิธี กำราบฝ่ายตรงข้ามในแบบต่างๆ อย่างน่าตื่นตะลึง ซึ่งสำหรับคนที่เติบโตในโลกกึ่งเสรีจะไม่มีวันเข้าใจต่อกลวิธีปฏิบัติการแบบกึ่งพรรคคอมมิวนิสต์สังคมนิยมในกัมพูชา

ตัวอย่างไม่กี่ปีที่ผ่านมา ระบอบฮุนเซนได้หน่วงเหนี่ยวกักขังชุน จันบุต อดีตหัวหน้าข่าว RFA ตามมาด้วยการ “ยัดข้อกล่าวหา” แบบเดียวกับที่พรรคคอมมิวนิสต์ในโลกนี้กระทำ อาทิ ข้อหาเป็นภัยความมั่นคงประเทศ ซึ่งพวกสายลับคอมมิวนิสต์ที่คิดอะไรไม่ออกจะนิยมยัดเยียดให้ทุกฝ่าย แม้แต่เคสที่ถือสัญชาติอเมริกันอย่างชุน จันบุต ก็ตาม

ฉันจึงไม่แปลกใจ ที่หลังจากเพิกถอนสำนักข่าวไปแล้ว นายฮุน เซน ก็ประกาศใหม่ ให้พนักงานทั้งหมดของวีโอดี สามารถสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ทันที ตามแต่ความสมัครใจ!

Bangkok Post

หากการฉลอง 65 ปี นับแต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา/1958 นี้ จะเป็นที่มาของการเดินหน้า สร้างระบอบฝันอันมั่นคงของทั้ง 2 ฝ่าย ในวาระครบรอบ 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรืออย่างไรก็ตาม

แต่ใครจะนึกว่า คณะผู้นำรุ่นต่อรุ่นของปักกิ่งที่เคยสนับสนุนระบอบพล พต แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จใดๆ นั้น จู่ๆ ทุกอย่างในสมัยระบอบฮุนเซนกลับเป็นเรื่องง่ายไปหมด

แต่ชีวิตพลเมืองชาวเขมรต่างหาก ที่น่าจะยาก และยากขึ้นไปอีกขั้น ต่อความเป็นฮุนเซนเวอร์ชั่นใหม่ที่ไม่ว่าโดยทางใด นโยบายระหว่างประเทศกัมพูชาจะไม่สุ่มเสี่ยงเป็นแห่งที่ 2 รองจากไต้หวันกระนั้นหรือไม่?

ประกาศไว้ เพื่อนร่วมหมู่บ้าน ชีวิตคงยากไปด้วย!

The Phnom Penh Post
EAC News Cambodi