ภูมิใจไทยปักธงตรงไหน ไหวไหม ก็คนกรุงเทพฯ ‘เยอะ’ นะ | ประกิต กอบกิจวัฒนา

ประกิต กอบกิจวัฒนา

เราเริ่มเห็นแต่ละพรรคแบไต๋นโยบายเพื่อใช้หาเสียงเลือกตั้ง ปี 2566 กันขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้ แทบทุกพรรคต้องชูจุดเด่นด้วยวลีสั้นๆ เพื่อให้คนจดจำได้ทันทีว่าพรรคของตัวเองมีจุดขายอะไร

เพื่อไทย “คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน”
ก้าวไกล “กาก้าวไกล ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม”
พลังประชารัฐ “ป้อม 700” “มีลุงไม่มีแล้ง”
รวมไทยสร้างชาติ “เลือกลุงตู่อยู่ต่อ”

คำขวัญของ 4 พรรคที่ยกมานี้ ทำให้เห็นคู่ต่อสู้ในการเลือกตั้งว่าแนวโน้มจะแบ่งเป็น 2 คู่ชัดเจนสำหรับคนที่จะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คือกลุ่มที่เลือก “เพื่อไทยหรือก้าวไกล” และกลุ่มที่ให้ใจ “ป้อมหรือตู่”

พอมาทบทวนดูเปรียบเทียบการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 กับ ปี 2566 สถานการณ์การเมืองเปลี่ยนไป ฝ่ายที่เคยเป็นพรรคพวกเดียวกันต่างมีที่ “ทาง” ของตน มีแฟนคลับแยกกันเป็นกลุ่มก้อนชัดขึ้นเรื่อยๆ

มองสนามเลือกตั้งแค่ในกรุงเทพฯ แนวโน้มของทั้ง 4 พรรคก็น่าจะมีโอกาสเข้ายึดเก้าอี้ ส.ส. ซึ่งในกรุงเทพฯ สามารถเลือก ส.ส.ได้มากที่สุด คือ 33 คน

แล้วประชาธิปัตย์ไปไหน…ผมว่าพรรคนี้ก็น่าจะรู้ตัวแล้วว่าโอกาสจะกลับมาชิงที่นั่งให้เหมือนเก่านั้นมันยากเข้าขั้นแสนสาหัส เหลือแค่พื้นที่ภาคใต้ แต่ก็จะเป็นสนามต่อสู้กับพรรคอื่นๆ ที่มีความมั่นใจมากขึ้นว่าจะมามีส่วนแบ่งที่นั่งเบียดประชาธิปัตย์ได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้

มีอีกพรรคที่ต้องถือว่าหาญกล้าในการเข้ามาปักธงเพื่อจะขอที่นั่ง ส.ส.ใน กทม. จากการชูนโยบายพรรคทั่วเมืองว่า “พูดแล้วทำ” คือ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งผมอยากชวนคุณวิเคราะห์การทำแบรนด์ของพรรคนี้กับความเป็นคนกรุงเทพฯ กันหน่อย

 

พรรค “พูดแล้วทำ” ภูมิใจไทย
คนกรุงเทพฯ สนใจเลือกไหม

จากไร่กัญชา จนถึงยาโควิด

ประคองชีวิต ฝ่าวิกฤตกันมา

จากฟ้าจรดน้ำ ทั้งเรือกสวนไร่นา

ทำเหมือนดังวาจา จริงทุกนโยบาย

ถ้าพรรคภูมิใจไทยเปิดเพลงนี้ดังกระหึ่มทั่วตรอกซอกซอยในระหว่างตระเวนหาเสียงเลือกตั้งในเขตต่างๆ ของกรุงเทพฯ นึกสินึก ว่าสีหน้าคนกรุงเทพฯ จะเป็นเช่นไร

ต่อให้พรรคภูมิใจไทย ภูมิใจนักหนา ประกาศลั่นทุกเวทีว่า ทำได้ทุกนโยบายที่ประกาศไว้ แต่ถามคนกรุงเทพฯ หรือยังว่า…สนไหม…

เพราะภาพของ “กัญชาเสรี” ที่มาจากพรรคนี้นั้น มันทิ่มแทงใจคนหลายวงการมาก ตั้งแต่บุคลากรทางการแพทย์ คนทำงานด้านเด็ก เยาวชน ไปจนถึงพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายในครอบครัว

แม้ว่าในด้านหนึ่ง มีคนได้ประโยชน์จากนโยบายกัญชาเสรีนี้ก็ตาม แต่เสียงก่นด่าจากความเสียหายที่เกิดขึ้นผ่านข่าวต่างๆ ที่เห็นถึงผลกระทบจากการที่กัญชากลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่าย ก็ทำให้คนจำนวนมากรับไม่ได้

ซึ่งคนจำนวนมากนี้ เชื่อผม มีคนกรุงเทพฯ ที่อายุ 40 ขึ้นไปรวมอยู่ด้วย และแน่นอนว่าคนกลุ่มนี้ “ยี้” เรื่องกัญชา

 

“ภูมิใจไทย” ความหวังของคนกรุงเทพฯ
จะได้ใจ “คนรุ่นใหม่” ไหม

จากข้อมูลสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อเดือนเมษายน 2565 นับเฉพาะผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ที่มีอยู่ 4,374,131 คน กลุ่มผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรก หรือ First Time Voter มีอยู่ประมาณ 16% หรือเกือบ 7 แสนคนนี้ได้มีโอกาสใช้สิทธิเลือกผู้ว่าฯ กทม.ไปแล้ว แต่ยังไม่เคยได้เลือก ส.ส.

กลุ่มคนอายุ 28-40 ปี เป็นกลุ่มที่มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากที่สุดประมาณ 1,013,270 คน กลุ่มอายุ 41-50 ปี ที่มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ประมาณ 871,272 คน กลุ่มอายุ 51-60 ปี มีประมาณ 826,760 คน กลุ่มอายุ 61-70 ปี มีจำนวนประมาณ 611,232 คน และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มอายุ 71-80 ปี มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ประมาณ 309,315 คน

การได้คะแนนเสียงแบบชนะคู่แข่งอย่างถล่มทลายของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กลายมาเป็นบทเรียนสำหรับการหาเสียงเพื่อเลือกตั้ง ส.ส. ที่กำลังจะเกิดของทุกพรรคที่ลงสนาม กทม. เพราะต้องนำมาวิเคราะห์ฐานเสียงของแต่ละพรรคพร้อมกับความนิยมของคนแต่ละกลุ่มที่มีต่อตัวผู้นำพรรค

เนื่องจากกติกาของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ ทุกคนจะได้กาบัตร 2 ใบ ส.ส.ในพื้นที่ก็จะต้องประกาศจุดยืนกับฐานเสียงตัวเองอย่างเต็มที่ว่าตนเองจะอยู่พรรคการเมืองที่ชูตู่ ชูป้อม หรือชูอิ๊ง เพื่อให้คนเห็นด้วยและเลือกทั้งพรรคและทั้ง ส.ส.เขต

ผู้สมัคร ส.ส.ในนามภูมิใจไทย แม้มั่นใจถึงขั้นประกาศปักธงกรุงเทพฯ เพราะเชื่อว่า พรรคภูมิใจไทยจะมีโอกาสได้เป็นพรรคที่เป็นความหวังของทั้งคนกรุงเทพฯ และคนไทย

ลองดู พรรคลองประกาศว่า “เลือกภูมิใจไทย จะได้อนุทิน” คิดว่าคนกรุงเทพฯ ที่ยกมือบอกว่าอยากได้ “อนุทิน” เป็นความหวัง มีสักเท่าไหร่ และเป็นคนวัยไหน

ไม่ใช่ “คนรุ่นใหม่” แน่นอน เพราะอะไร เรามาวิเคราะห์ต่อ

 

ภาพลักษณ์ “เสี่ยหนู”
“ผู้ชอบท้า” มากกว่า “ทำ” ไหม…
ในสายตาคนกรุง

“ในมุมมองของผม คนกรุงเทพฯ มักจะมีเหตุผลในการเลือก ส.ส.แตกต่างกันในแต่ละการเลือกตั้งเสมอ และในการเลือกตั้งครั้งนี้ คนกรุงเทพฯ จะเลือกเพราะต้องการคนที่สามารถตอบโจทย์เรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งคุณอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เหมาะสมและน่าสนใจให้กับคนกรุงเทพฯ ได้เช่นกัน เพราะมีประสบการณ์ในเรื่องการทำธุรกิจทั้งในและนอกประเทศมาโดยตลอด

นอกจากนี้ อีกหนึ่งเหตุผลในการเลือกของคนกรุงเทพฯ ในการเลือกตั้งครั้งนี้คือต้องการให้มีพรรคการเมืองหลักขึ้นมาต่อสู้กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากอีกพรรคการเมืองหนึ่งด้วย…”

นั่นคือคำสัมภาษณ์ที่พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ แม่ทัพใหญ่ผู้มีสิทธิขาดอำนาจเต็มในการลงทำศึกชิงเก้าอี้ ส.ส.กรุงเทพมหานคร ของพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ไว้ในสื่อไทยรัฐออนไลน์ (25 มกราคม 2566)

ที่คุณพุทธิพงษ์พูดและผมคิดว่า ถูก คือเรื่องหลังที่บอกว่าคนกรุงเทพฯ ต้องการให้มีพรรคการเมืองหลักขึ้นมาต่อสู้กับแคนดิเดตนายกฯ จากอีกพรรคหนึ่ง ซึ่งถ้าให้เดา ผมว่าก็คงหมายถึงพรรคเพื่อไทย แต่ก็มีพรรคอื่นให้เลือกที่น่าสนกว่าภูมิใจไทยไหมล่ะ

ในส่วนที่บอกว่าคนกรุงเทพฯ สนใจเรื่องการแก้ไขเศรษฐกิจเป็นหลัก และคุณอนุทินมีศักยภาพนั้นน่ะ ผมว่าคุณพุทธิพงษ์หวังกับคนกรุงเทพฯ มากไปไหมที่จะคิดแบบเดียวกัน

ดูประวัติศาสตร์การเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา เอาสั้นๆ แค่การเลือกผู้ว่าฯ กทม. คุณพุทธิพงษ์ตีโจทย์แตกไหมว่าทำไมคนกรุงเทพฯ ถึงเทเสียงให้ชัชชาติกันขนาดนั้น

ไม่ใช่เรื่องปากท้องเป็นเรื่องหลักหรอกนะ แต่เพราะ “ความเป็นผู้นำ” ในนิยามของคนกรุงเทพฯ ที่อาจจะต่างจากหลักสากลทั่วไป คือ ถึงหน้าตาไม่หล่อ แต่ก็ต้องมีบุคลิกภาพที่ดี เป็นคนที่พูดจารู้เรื่อง ไม่ก้าวร้าว มีแบ๊กกราวด์พื้นฐานครอบครัวที่ดี ไม่เป็นศัตรูกับฝ่ายไหน และไม่แสดงตัวว่ามีผลประโยชน์กับใครทั้งนั้น

 

“เยอะนะ” คนกรุงเทพฯ เนี่ย

เมื่อนำคุณสมบัติของอนุทิน ชาญวีรกูล ออกมากาง โดยอ้างอิงจากข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงวิกฤตวัคซีนจากสถานการณ์โควิดมาจนถึงปัญหาการประกาศนโยบายกัญชา ผมว่าคนกรุงเทพฯ ไม่สนหรอกว่าคุณอนุทินสามารถทำได้อย่างที่พูดทุกนโยบาย เพราะ “ไม่บาย” ตั้งแต่ภาพลักษณ์ “ความเป็นเสี่ยหนู” ที่ชอบออกมาท้าทายผ่านสื่อแล้ว

ต่อให้คุณอนุทินมีประสบการณ์การทำธุรกิจมามากมาย แต่จุดยืนทางการเมืองที่ประกาศชัดว่าไม่เข้าร่วมพรรคที่มีนโยบายต้องการแก้ไขกฎหมายที่ส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น ทำให้ตัดกลุ่ม Gen Z และ Y ไปได้เลย

เพราะประชากรสองกลุ่มนี้แสดงจุดยืนทางการเมืองชัดเจนและมีความเหนียวแน่นต่อพรรคที่แสดงออกว่าเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมกันในทุกมิติเป็นเรื่องหลัก (นึกหน้าชาวทวิตภพเข้าไว้)

สำหรับกลุ่ม Gen X และ Baby Boom ประชากรส่วนหนึ่งของสองกลุ่มนี้ที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งคือคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านล้อมรั้ว และบ้านแนวสูงคือคอนโดมิเนียม เป็นกลุ่มที่เข้าถึงตัวยากสุด ช่องทางที่จะสร้างภาพลักษณ์ให้ดูเป็น “ผู้นำ” ที่คนกรุงเทพฯ ชอบ เหมือนที่ผมอธิบายไว้แล้ว คือ เข้าทางสื่อโซเชียลมีเดียเป็นหลัก

แต่ที่เห็นจากการทำแบรนด์ของพรรคในสื่ออย่าง Facebook ผมก็บอกได้เพียงว่า คนกรุงเทพฯ ไม่ซื้อนโยบายของพรรคภูมิใจไทยหรอก เพราะภาพของ “กัญชาเสรี” ฝังลงไปในความทรงจำของคนกรุงเทพฯ แล้ว

ถึงจะมีนโยบายดูแลคนกรุงเทพฯ ทุกวัน ทุกเวลา ครอบคลุมทุกวัย ด้วย “ภูมิใจกรุงเทพฯ 24/7” เพื่อแก้ไขปัญหาให้คนกรุงเทพฯ ตอกย้ำแนวทาง “ภูมิใจไทย พูดแล้วทำ” โดยยึดหลักการ “เพิ่มรายได้-ลดรายจ่าย-ให้โอกาส”

ผมว่า คนกรุงเทพฯ มีตัวเลือกเรื่องนโยบายเหล่านี้…เยอะนะ

สลัดภาพ “ความเป็นเสี่ย” ออกให้ได้ก่อน…ดีมั้ย ค่อยมาปักธงลงกรุงเทพฯ