สงครามยูเครน 2023 รบยาว รบหนัก หยุดรบ?

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

สงครามยูเครน 2023

รบยาว รบหนัก หยุดรบ?

 

“สาระสำคัญของสงครามคือ การทำลายขวัญกำลังใจและความมุ่งมั่นในการรบของผู้บังคับบัญชาฝ่ายตรงข้าม ด้วยการสร้างสถานการณ์ทางยุทธการ หรือทางยุทธศาสตร์ที่คาดไม่ถึง และไม่เป็นคุณกับฝ่ายเขา ไม่ใช่การฆ่าทหารข้าศึก หรือการทำลายยุทโธปกรณ์ของข้าศึก”

Colonel William S. Lind (1997)

 

สงครามยูเครนเดินทางมาครบ 1 ปีแล้ว แต่สงครามยังดำเนินต่อไป ดังนั้น บทความนี้จะทดลองคาดคะเนถึง “จุดสิ้นสุด” ของสงครามในอนาคต ซึ่งอาจปรากฏด้วยสถานการณ์จำลองใน 5 รูปแบบ

ดังนี้

 

1) ชัยชนะของยูเครนและกลับสู่สถานะเดิมปี 1991

วันนี้ปรากฏชัดเจนแล้วว่า การใช้กำลังบังคับเพื่อให้ยูเครนกลับไปอยู่ใน “โลกของรัสเซีย” (Russian World หรือ Russkiy Mir) เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ การยันการรุกทางทหารของรัสเซีย และรัฐยูเครนไม่ล่มสลายไปด้วยการยึดครองของรัสเซีย ก็ถือว่ายูเครนชนะแล้วในระดับหนึ่ง

แต่ถ้าจะต้องได้รับ “ชัยชนะอย่างสมบูรณ์” ด้วยการเอาดินแดนที่รัสเซียยึดครองในไครเมียและดอนบาสกลับคืนมาทั้งหมดแล้ว ชัยชนะในนิยามเช่นนี้ดูจะเป็นไปไม่ได้ง่าย

และในระยะสั้น การจะผลักดันให้กองทัพรัสเซียต้องถอยออกจากยูเครนทั้งหมด ก็อาจจะเป็นไปได้ยาก

แต่กระนั้น หลังจากชัยชนะของการรุกกลับที่เคอร์ซอนในช่วงปลายปี 2022 แล้ว ชาวยูเครนมีความหวังอย่างมากที่จะเอาดินแดนที่รัสเซียผนวกไปกลับคืนมาทั้งหมด โดยเฉพาะไครเมีย (พื้นที่นี้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างมากกับรัสเซีย เพราะเป็นที่ตั้งของกองเรือทะเลดำ)

ดังนั้น ความต้องการของชาวยูเครนและฝ่ายตะวันตกจึงได้แก่การพาประเทศกลับสู่ “สถานะเดิม” (status quo) ซึ่งก็คือการกลับสู่สถานะเส้นเขตแดนเดิมของปี 1991 ตามความตกลงบูดาเปสต์ ซึ่งเคยได้การรับรองจากรัสเซียมาแล้วในครั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม ตราบเท่าที่ประธานาธิบดีปูตินยังอยู่ในอำนาจ พร้อมกับการขับเคลื่อนกระแสชาตินิยมต่อต้านตะวันตกและต่อต้านรัฐบาลยูเครน โอกาสที่รัสเซียจะ “ยอมแพ้” โดยการยุติทัศนะ “ขยายจักรวรรดิ” ด้วยการยึดครองดินแดนของยูเครนคงเป็นเรื่องยาก

พร้อมกันนี้ รัสเซียเองยังมีอาวุธหนักอยู่ในคลังแสงอีกเป็นจำนวนมาก อันมีนัยว่ารัสเซียยังสามารถรบได้ในระยะยาว

 

2) ปลดปล่อยดอนบาสได้ แต่ยึดไครเมียคืนไม่ได้

สถานการณ์ในตัวแบบนี้มีความเป็นไปได้อยู่บ้าง อันเป็นผลจากความสำเร็จของการรุกกลับที่เคอร์ซอน ฉะนั้น จึงเป็นความหวังว่า เมื่อยูเครนได้รับความช่วยเหลือทางทหารจำนวนมากจากทางฝ่ายตะวันตกแล้ว น่าจะสามารถเปิดการรุกกลับทางแนวรบด้านตะวันออก และทำให้ยูเครนสามารถเอาพื้นที่ดอนบาสส่วนใหญ่กลับคืนมา

ซึ่งหากกองทัพยูเครนสามารถปลดปล่อยพื้นที่การยึดครองได้ ก็อาจต้องถือว่า เป็นชัยชนะครั้งใหญ่ (ดังที่กล่าวแล้วในข้างต้นว่า เราจะนิยามชัยชนะของยูเครนในระดับใด)

ผลลัพธ์แบบนี้ในความรู้สึกของประชาชนยูเครน คงเป็นเหมือน “ชัยชนะอย่างจำกัด” เนื่องจากดินแดนอีกส่วนคือไครเมีย ยังอยู่ภายใต้การยึดครองรัสเซีย และฝ่ายยูเครนคงไม่ยอมรับเงื่อนไขในรูปแบบเช่นนี้ โดยเฉพาะนับตั้งแต่การบุกของรัสเซียแล้ว

กระแสชาตินิยมยูเครนมีความเป็น “กระแสต่อต้านรัสเซีย” อย่างรุนแรง ซึ่งกระแสต่อต้านรัสเซียไม่ใช่เรื่องใหม่ในการเมืองยูเครน และกระแสนี้ปรากฏชัดในรูปของ “กระแสประชาธิปไตย” หรือ “กระแสยูโรไมดาน 2014”

ในตัวแบบนี้ กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในดอนบาสที่เป็นสายนิยมรัสเซีย และได้รับการติดอาวุธจากรัสเซีย คงไม่ยอมยุติบทบาท และคงดำรงปฏิบัติการทางทหารต่อไป

ผลอาจไม่แตกต่างกับสถานการณ์ที่กลุ่มนี้พยายามเข้าควบคุมพื้นที่ในปี 2014 ซึ่งรัฐบาลคีฟก็ไม่ยอม

 

3) สงครามยันกันต่อไป และรบต่อเนื่อง

ทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่า หลังจากการสิ้นสุดของฤดูหนาวแล้ว กองทัพรัสเซียน่าจะเปิดการรุกใหม่ เพื่อสร้างอำนาจของการควบคุมดินแดนทางด้านดอนบาส และยังเป็นสัญญาณว่าอีกด้วยว่า รัสเซีย (ประธานาธิบดีปูติน) ยังสามารถรบต่อได้

อีกทั้งคนในพื้นที่แถบนี้เองเป็นคนเชื้อสายรัสเซีย มีท่าทีสนับสนุนรัสเซีย และพื้นที่แถบนี้ยังมีรัสเซียเป็น “หลังพิง”

พร้อมกันนี้รัสเซียเองก็เสริมกำลังในพื้นที่ด้านนี้มากขึ้น การรบที่มีความรุนแรงที่เมืองบัคมุตเป็นสัญญาณของความรุนแรงของสงครามหลังฤดูหนาว

นอกจากนี้ สงครามในดอนบาสเกิดสืบเนื่องอย่างรุนแรงมาตั้งแต่ปี 2014 แม้จะมีความตกลงที่มินส์กมาแล้วถึง 2 ฉบับ เพื่อยุติปัญหาดังกล่าว สงครามดอนบาสหลังการบุกใหม่ 2022 ก็สะท้อนถึงการสู้รบอย่างหนักไม่ต่างจากเดิม

สะท้อนให้เห็น “การยัน” (stalemate) ของสงคราม ซึ่งการยันในทางทหารเช่นนี้ จะยิ่งส่งผลให้การสู้รบทอดยาวออกไป และผลลัพธ์ของการรบไม่อาจชี้ชัดได้ “ใครแพ้-ใครชนะ”

ตัวแบบเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า สงครามยูเครนจะยังไม่จบลงง่ายๆ ดังที่ประธานคณะเสนาธิการร่วมของสหรัฐ (JCS) กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า สงครามยูเครนจะไม่ยุติในปี 2023

หรือในอีกมุมหนึ่ง การสู้รบอาจทำให้เกิด “สงครามสนามเพลาะ” เช่นในสงครามโลกครั้งที่ 1 อันเป็นผลจากการ “ยัน” ของกำลังทั้งสองฝ่ายในสนามรบ

 

4) รัสเซียยึดได้ทั้งหมด ยูเครนแพ้สงคราม

สมมุติในอีกด้านคือ รัฐบาลตะวันตกไม่อาจแบกรับความช่วยเหลือทางทหารต่อยูเครนได้อีกต่อไป พร้อมกับกำลังทหารใหม่ของรัสเซียที่ถูกเกณฑ์ประมาณ 1.5-2 แสนนายอาจจะมีความพร้อมรบมากขึ้น และเสริมด้วยกำลังรบจากเบลารุส อาจทำให้กองทัพรัสเซียประสบชัยชนะ และสถาปนาอำนาจเหนือยูเครนได้ทั้งหมด

ซึ่งเราไม่อาจดูแคลนขีดความสามารถทางทหารของรัสเซียได้ทั้งหมด อีกทั้ง กระแสชาตินิยมรัสเซียยังมีความนิยมต่อตัวปูตินในระดับสูง และมีความเชื่อว่า ยูเครนเป็นของรัสเซีย และเชื่ออีกว่าการทำสงครามในยูเครนเป็นสิ่งที่มีความชอบธรรม

อีกปัจจัยที่สำคัญคือ การผลักให้เศรษฐกิจของรัสเซียมีความเป็น “เศรษฐกิจสงคราม” (war economy) มากขึ้น เช่น การกลับมาสู่การผลิตรถถัง

ซึ่งประมาณการว่ารัสเซียสามารถผลิตรถถังแบบ T-72B3 และ T-90M ได้ราว 200-250 คัน ตลอดรวมถึงการผลิตอาวุธปล่อยแบบครูซ (cruise missile) มีจำนวนมากขึ้น

จุดอ่อนใหญ่ของรัสเซียคือ การผลิตกระสุน (ทำให้ต้องพึ่งการสั่งเครื่องกระสุนจากเกาหลีเหนือ) และผลิตระบบอาวุธสมรรถนะสูงได้ยาก เนื่องจากการแซงก์ชั่นของตะวันตก แต่ยังคงผลิตอาวุธที่ใช้เทคโนโลยีต่ำได้อย่างต่อเนื่อง

ในตัวแบบเช่นนี้ กองทัพยูเครนเองก็ประสบปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะการขาดแคลนกระสุน ยานยนต์ และยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้รับมือกับการรุกใหญ่ในอนาคต อีกทั้งอัตราการสูญเสียที่เกิดทั้งในส่วนของกำลังพล และยุทโธปกรณ์ซึ่งการสนับสนุนของตะวันตกจึงเป็นปัจจัยสำคัญ

ดังนั้น ถ้าตะวันตกลดบทบาทความช่วยเหลือลง พร้อมกับอัตราการทดแทนความสูญเสียในทางทหารไม่มากพอ และกองทัพรัสเซียสามารถเปิดการรุกใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการแก้ปัญหาที่เป็นจุดอ่อนของกองทัพในปีแรกของสงครามได้จริงแล้ว

โอกาสชนะในสนามรบของรัสเซียอาจมีความเป็นไปได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว โอกาสเช่นนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นไปได้ง่าย

 

4) การขยายตัวและยกระดับของสงคราม

ความกังวลในทุกการรบที่เกิดขึ้นคือ การขยายสงครามออกนอกพื้นที่ความขัดแย้ง เช่น รัสเซียตัดสินใจโจมตีชาติสมาชิกของนาโตในพื้นที่ เช่น กรณีของโปแลนด์ หรือรัฐบอลติก รวมถึงฟินแลนด์ และสวีเดนในอนาคตด้วย

การโจมตีนี้จะนำไปสู่การใช้สิทธิตามมาตรา 5 จนกลายเป็น “สงครามรัสเซีย-นาโต” แต่ที่ผ่านมาต่างฝ่ายต่างพยายามหลีกเลี่ยงอย่างมากที่จะไม่ก่อให้เกิดการ “ยกระดับสงคราม” เพราะความขัดแย้งชุดนี้อาจกลาย “สงครามใหญ่ของยุโรป”

ซึ่งหากมองแบบสุดโต่งแล้ว สงครามเช่นนี้อาจก่อนกลายเป็น “สงครามโลก” ได้ด้วย หรือในระดับที่ต่ำกว่า อาจนำไปสู่การแทรกแซงของนาโตอย่างจำกัด

นอกจากนี้ อาจเกิดสถานการณ์แบบ “ข้ามเส้นแดง” ด้วยการที่รัสเซียใช้อาวุธที่มีอำนาจการทำลายสูง เช่น อาวุธนิวเคลียร์ แม้จะเป็นอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีที่หัวรบมีขนาดของเมกะตันต่ำก็ตาม

การใช้อาวุธนิวเคลียร์อาจกลายเป็นเงื่อนไขบังคับให้นาโตต้องเข้าสงคราม อีกทั้งประธานาธิบดีปูตินเองได้เคยกล่าวพาดพิงถึงอาวุธนิวเคลียร์มาแล้ว

 

5) การเจรจาหยุดยิง

สมมุติว่าการรบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้

1) กองทัพยูเครนสามารถดำรงสภาพการรบด้วยความสนับสนุนจากตะวันตก และเปิดการรุกได้อย่างต่อเนื่อง

2) กองทัพยูเครนสามารถปลดปล่อยดินแดนดอนบาสที่ถูกยึดครองได้เป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นไครเมีย

3) รัสเซียประสบความอ่อนแอทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารอย่างหนัก จนอาจเกิดวิกฤตภายใน

4) เกิดเสถียรภาพของแนวรบทางด้านดอนบาส อันเป็นจากการผลักดันของกองทัพยูเครน และการใช้กำลังเปิดการรุก เพื่อให้แนวรบของรัสเซียดันกลับไปสู่แนวที่รัสเซียบุกในปี 2022 มีข้อจำกัดมากขึ้น

5) เกิดแรงกดดันในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้นกับรัสเซีย จนผู้นำรัสเซียต้องยอมปรับเปลี่ยนท่าทีในทางทหารต่อปัญหายูเครน

ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้อาจทำให้เกิด “ความตกลงหยุดยิง” (ceasefire agreement) ชั่วคราว อันอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การเจรจาในกรอบใหญ่ของสันติภาพยูเครน เป็นแต่เพียงในตัวแบบเช่นนี้ ไม่อาจตอบได้ว่า เงื่อนไขดังที่กล่าวในข้างต้นจะเกิดขึ้นเมื่อใด อีกทั้งไม่อาจตอบได้ทั้งหมดว่า แม้จะเกิดเงื่อนไขดังกล่าวขึ้นจริงแล้ว ประธานาธิบดีปูตินจะยอมที่จะเปิดการเจรจาหยุดยิงหรือไม่

เพราะการหยุดยิงในขณะที่รัสเซียไม่สามารถบรรลุการควบคุมดินแดนของยูเครนได้ทั้งหมด อาจถูกตีความว่า เป็นความพ่ายแพ้ของรัฐบาลปูติน และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาล

ฉะนั้น แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ในมอสโก แต่ก็ไม่อาจบอกได้ว่าผู้นำใหม่ของรัสเซียในยุคหลังปูตินจะยอมยุติทัศนะขยายดินแดนที่ต้องการยึดยูเครน

 

สรุป

จากตัวแบบของสถานการณ์จำลองทั้ง 5 นั้น ฝ่ายตะวันตกคาดหวังอย่างมากที่จะเห็นถึงการกลับสู่สถานะเดิมของเส้นเขตแดนเช่นในปี 1991 (หมายถึงยูเครนชนะทั้งหมด) แต่หลายฝ่ายประเมินในความเป็นจริงว่า ถ้ายูเครนเปิดการรุกใหญ่ในปี 2023 ได้แล้ว ยูเครนอาจจะสามารถผลักดันเส้นแนวรบของรัสเซียในดอนบาสกลับไปได้บ้าง และกลายเป็นเส้นเขตแดนใหม่ แต่ไม่สามารถเอาไครเมียคืนมาได้

ส่วนในอีกด้านหนึ่ง โอกาสที่รัสเซียจะยึดและพายูเครนกลับสู่การควบคุมของรัสเซียได้เช่นในยุคสหภาพโซเวียตนั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งของฝ่ายตะวันตก เว้นแต่รัสเซียจะต้องยกระดับสงคราม

ซึ่งอาจมีนัยถึงการขยายสงคราม จนอาจกลายเป็น “สงครามรัสเซีย-นาโต” แต่ก็มีความเสี่ยงที่สงครามเช่นนี้จะควบคุมไม่ได้ ส่วนสันติภาพนั้น ดูจะอยู่ห่างไกลอย่างมาก

ดังนั้น ตัวแบบจำลองในข้างต้น จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของการเมืองโลก 2023!