ส่องสูตรข้ามขั้ว เพื่อไทย-พลังประชารัฐ สมการตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

กลิ่นอายการเลือกตั้งโชยชัดเตะจมูกเข้ามาเรื่อยๆ

ทุกพรรคการเมืองทยอยเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตตามแต่ละจังหวัดและภูมิภาค กระหน่ำลงพื้นที่หาเสียงประกาศนโยบาย สัญญาว่าหากได้เข้าไปมีอำนาจเป็นรัฐบาลแล้วจะทำอะไรให้ประชาชนบ้าง

รวมถึงการเปิดตัวว่าที่แคนดิเดตนายกฯ ที่จะมาเป็นตัวชูโรงเสริมความแข็งแกร่งและเป็นจุดขายที่สำคัญของพรรคนั้นๆ

แม้ว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็น ส.ส.เขต 400 เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และสูตรการคำนวณเลือกตั้งที่ปรับเปลี่ยนอีกนิดหน่อย แต่เพราะยังคงเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 รักษาคอนเซ็ปต์ไม่ให้เกิดพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง จนผูกขาดเป็นเผด็จการรัฐสภาเหมือนอดีตตามที่กล่าวอ้าง

จึงก่อกำเนิดให้เกิดรัฐบาลผสมเกือบ 20 พรรค ไร้เอกภาพในการทำงานฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะไม่มีพรรคการเมืองหลักที่มี ส.ส.ได้เกิน 250 คนหรือเกินกึ่งหนึ่งของสภา

 

ฉากทัศน์สูตรผสมของรัฐบาลมีหลากหลาย โดยจับกลุ่มจากพรรคตัวแปรหลักประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ และพรรครวมไทยสร้างชาติ เมื่อพิจารณาจากอุดมการณ์ จุดยืน นโยบาย และกระแสข่าวลือการ ‘ดีล’ รวมไปถึง ส.ส.ที่ทยอยยื่นใบลาออกย้ายไปค่ายนั้นย้ายไปค่ายนี้กันวุ่นวาย

สรุปสมการหลวมๆ ที่พอจะเห็นเค้าโครงหน้าตารัฐบาลได้ชัดเจน คือ พรรคเพื่อไทยอาจจูบปากพรรคพลังประชารัฐ ที่มีผู้จัดการคนเก่งอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นายพลมากฝีมือขัดเกลาตัวเองจนเป็นนักการเมืองคอนเน็กชั่นสิบทิศ วางสถานะตัวเองให้น่าเข้าหา พร้อมจับมือตั้งรัฐบาลกับทุกพรรคการเมือง

จึงมีกระแสข่าวลือหนาหูว่า ‘ปิดดีล’ กันเกือบลงตัวแล้ว

เพราะจากสูตรเลือกตั้งบัตรสองใบ และเพิ่มจำนวน ส.ส.เขต เข้าทางพรรคเพื่อไทย ที่พูดได้ไม่อายปากว่าจะแลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน แต่ไม่การันตีว่าแคนดิเดตนายกฯ ที่ตัวเองเสนอนั้น จะได้เป็นนายกฯ หรือไม่

จึงต้องอาศัยคนมากบารมีอย่าง ‘บิ๊กป้อม’ ให้ช่วยโน้มน้าว ส.ว.ที่อยู่ใต้อาณัติ ประเมินกันว่ามีอยู่ประมาณ 100 คน ช่วยดันแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยได้เป็นนายกฯ สมใจอยากเสียที

เพราะเมื่อเปิดตัว น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง ก็เกิดแรงกระเพื่อมต่อต้านจากวุฒิสภา ที่มีอำนาจเลือกนายกฯ

 

ฟากพรรคภูมิใจไทยก็เริ่มส่งสัญญาณเปิดกว้างโอบรับทุกพรรคการเมือง แม้จะมีเงื่อนไขไม่เอาพรรคการเมืองที่แตะต้องสถาบันฯ ซึ่งในสนามการเมืองตอนนี้มีแค่พรรคเดียวคือพรรคก้าวไกล จึงเป็นการตัดตัวเลือกที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการร่วมจัดตั้งรัฐบาลของตัวเอง

ในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคภูมิใจไทยคาดว่าจะได้ ส.ส.รวม 120 ที่นั่ง ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะได้จำนวนน้อยกว่านี้ แต่ก็คงเป็นจำนวนที่เป็นตัวแปรในการจับขั้วรัฐบาลอย่างแน่นอน

เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่วาดหวังจะไม่ให้ตกต่ำเข้าขั้นพรรคต่ำสิบ หวนกลับไปเป็นฝ่ายค้านอีก มีแนวโน้มว่าจะพาตัวเองไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วย

สำหรับพรรคน้องใหม่อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เพิ่งจะเริ่มวางอิฐก่อปูน สร้างตึกที่ทำการพรรค ต้องเร่งปลูกบ้าน สร้างฐานโหมให้ได้ ส.ส.เกินกว่า 25 เสียงขึ้นไปเพื่อให้เป็นพรรคการเมืองที่มีสิทธิเสนอแคนดิเดตนายกฯ หนึ่งเดียวคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลับมาเป็นนายกฯ สมัยที่ 3 ให้จงได้

ส่วนพรรคก้าวไกลเสนอแนวทางการตั้งรัฐบาลว่า ให้พรรคร่วมฝ่ายค้านชุดปัจจุบันนี่แหละ ปรับขั้วไปเป็นฝ่ายบริหารนั้นเหมาะสมที่สุด แต่ด้วยจุดยืนเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ที่แม้ตอนนี้ได้ลดดีกรีความแข็งกร้าวลงไปบ้าง จากการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เปลี่ยนเป็นการแก้ไขมาตราดังกล่าวให้มีโทษเบาลง

แต่ดูทรงเพื่อนๆ ก็ยังไม่อยากจะคบหาด้วย เพราะรู้ว่าลึกๆ แล้วจุดยืนของพรรคนี้เข้ามาทำการเมืองเพื่ออะไร จึงไม่เสี่ยงเอาตัวเข้าไปยุ่งให้ตัวเองต้องเดือดร้อนด้วย

ดังนั้น ไม่ว่าพรรคก้าวไกลจะได้ ส.ส.กี่สิบเสียง ก็มีสิทธิน้อยมากที่จะได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล

 

เป้าหมายของแต่ละพรรคการเมืองชัดเจนว่า อยากได้ ส.ส.มากที่สุด เพื่อเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลและต่อรองผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งตำแหน่งนายกฯ และตำแหน่งรัฐมนตรี

แต่สำหรับพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้อาจจะไม่ใช่แค่การได้เป็นนายกฯ เพียงเท่านั้น เพราะอาจจะมีการต่อรองผลประโยชน์อย่างอื่นที่อยู่นอกเหนืออำนาจของฝ่ายบริหาร จนมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่าวางแผนปูทางพานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายในแผ่นดินเกิดหรือไม่

จับสัญญาณผ่านการเคลื่อนไหวในโลกโซเชียล ที่พูดอย่างมั่นใจว่าจะกลับบ้านมาเลี้ยงหลาน รวมถึงการวางไพ่ตายใบสุดท้ายคือ ลูกสาวสุดที่รักอย่าง ‘อุ๊งอิ๊ง’ ที่ต้องอุ้มท้องหาเสียงโกยคะแนนนิยมเข้าพรรคเพื่อไทยให้มากที่สุด เพื่อใช้ต่อรองอำนาจให้ตัวเอง

ดังนั้น สูตรสำเร็จการจับขั้วจึงต้องดูหลังผลการเลือกตั้งอีกครั้งว่าพรรคไหนจะโกย ส.ส.ได้เต็มกระบุงกว่ากัน แถมยังต้องมาระแวดระวังกับกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังจัดทำอยู่ รวมถึงหลุมพรางที่อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงของคณะรัฐประหาร ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งตอนนี้ยังนั่งอยู่ในตำแหน่งบุคคลที่มีอำนาจสูงสุด กุมทั้งทรัพยากรคน เงิน และ กกต. ที่ดูจะทำงานช้าอืดอาด และคลุมเครือเรื่องการนับต่างด้าวมาคำนวณเขตเลือกตั้ง

จนต้องรอศาลรัฐธรรมนูญนัดเคลียร์วันที่ 3 มีนาคมนี้ เฉียดกับวันยุบสภาของ พล.อ.ประยุทธ์

 

‘พรรค ส.ว.’ 250 คน ซึ่งปัจจุบันเหลือ 249 คน ถูมือรอ พร้อมยกโหวตเลือกนายกฯ ตามออเดอร์แบบไม่แตกแถว ตามทิศทางลมการเมืองหลังเลือกตั้ง ที่มีตัวเลือกอยู่แค่ 2 คน ไม่ตู่ ก็ป้อม เท่านั้น

ความเคลื่อนไหวของวุฒิสภาปรากฏผ่านนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ที่ออกมาแสดงความเห็นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการระบุว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่เอา น.ส.แพทองธารเป็นนายกฯ และลงความเห็นว่าผู้ที่จะเป็นนายกฯ ควรจะเป็นคนที่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายอนุรักษนิยม และฝ่ายประชาธิปไตย เป็นคนมีวุฒิภาวะ และไม่สุดโต่ง แย้มแนบท้ายด้วยว่าชื่อ ‘ส.’ คือเหมาะสมสุด โดยยังท้า ‘สภาล่าง’ ว่า ถ้าไม่อยากต้องมาก้มหัวอาศัยใบบุญของ ‘สภาบน’ ก็ต้องไปรวมเสียงกันให้ได้ 376 เสียง หรือเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา เพื่อโหวตเลือกนายกฯ กันเอง แต่หากสภาโหวตกี่ครั้งก็ไม่เกิน 376 เสียง จะไปสู่ก๊อกสอง คือการเสนอชื่อบุคคลที่สามหรือบุคคลภายนอกมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งนายวันชัยมองว่าการโหวตเลือกนายกฯ จะลงตัวได้ตามกลไก

เมื่อจับสัญญาณผ่าน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. แสดงความเห็นอย่างมั่นใจว่า “การเลือกใครจะต้องอยู่ที่สถานการณ์ ผมขอฟันธงว่าไม่มีวันที่ลุงตู่ และลุงป้อม จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ทั้งสองคน อาจจะต้องมีคนใดคนหนึ่งหรือไม่มีเลยทั้งสองคนก็ได้ ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าใครจะได้รับเสนอชื่อเป็นนายกฯ บ้าง อยู่ที่ประชาชนจะเลือกใคร”

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังติดใจอยากเป็นนายกฯ อีกรอบ ทั้งที่รัฐธรรมนูญมาตรา 158 ขีดเส้นให้เป็นนายกฯ ได้อีก 2 ปีกว่า แต่จะมาลงเลือกตั้งเพื่อเป็นนายกฯ ที่มีวาระ 4 ปีได้อย่างไร วันหนึ่งจึงมาร้อง “อ๋อออ” ยาวๆ เมื่อวุฒิสภาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 158 “ปลดล็อกคนดีอยู่เกิน 8 ปีได้” หมายความว่าระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ก็จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตัวเองได้มีโอกาสทำลายสถิติเป็นนายกฯ ที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดของประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็ได้

ต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์จะได้เป็นนายกฯ จากพรรคที่ได้ ส.ส.เกิน 25 เสียงมาไม่มาก ก็โนสนโนแคร์ เพราะถือว่ายังเป็นที่โปรดปรานของฝ่ายอนุรักษนิยม กลุ่มผู้กุมอำนาจสำคัญของประเทศ ที่โยงใยเครือข่ายด้วยระบบอุปถัมภ์อยู่