หมอดูวิชาการส่องอนาคต 2033 (1)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

หมอดูวิชาการส่องอนาคต 2033 (1)

 

คณะกรรมการแอตแลนติก (The Atlantic Council, https://www.atlanticcouncil.org/about/) เป็นสถาบันคลังสมองอเมริกันด้านกิจการระหว่างประเทศที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1961 ในช่วงสงครามเย็น

ตั้งเป้าส่งเสริมเกื้อหนุนการร่วมมือกันสืบไประหว่างกลุ่มประเทศทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยในทวีปอเมริกาเหนือกับยุโรป เพื่อสร้างอำนาจนำต่อต้านค่ายคอมมิวนิสต์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

มีสำนักงานใหญ่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และศูนย์ภูมิภาครวมทั้งโครงการต่างๆ 16 แห่งที่เกี่ยวกับความมั่นคงระหว่างประเทศและเศรษฐกิจโลก

คณะกรรมการแอตแลนติกติดอันดับ 1 ใน 10 ของสถาบันคลังสมองทั่วโลกที่ชำนัญเฉพาะด้านนโยบาย ต่างประเทศและกิจการระหว่างประเทศ (#10) รวมทั้งด้านกลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ (#8) ซึ่งสร้างผลงานดีที่สุดในปี 2020 ตามการประเมินล่าสุดของโครงการคลังสมองและยุทธศาสตร์พลเรือนของมหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลเวเนีย (https://www.atlanticcouncil.org/news/press-releases/atlantic-council-ranked-as-a-leading-global-think-tank/) โดยมีบทบาทแข็งขันเด่นชัดหลังสงครามรัสเซียรุกรานยูเครนต้นปีที่แล้ว (อาทิ https://www.atlanticcouncil.org/in-depth-research-reports/issue-brief/the-stabilization-and-reconstruction-of-ukraine/; https://www.npr.org/2022/12/31/1146491009/whats-ahead-for-the-war-in-ukraine-in-2023)

ปรากฏว่าเมื่อ 11 มกราคมศกนี้ ศูนย์สโกว์ครอฟต์เพื่อยุทธศาสตร์และความมั่นคงแห่งคณะกรรมการแอตแลนติกได้เผยแพร่ผลการสำรวจความเห็นผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และเล็งการณ์ล่วงหน้า 167 คนเมื่อฤดูใบไม้ร่วงศกก่อนเกี่ยวกับปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โลกร้อน การป่วนปรับกระบวนทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจโลก และการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองของโลกรวม 10 ประเด็นว่าพวกเขาเล็งเห็นแนวโน้มว่ามันน่าจะเป็นอย่างไรในอีก 10 ปีข้างหน้าคือ ค.ศ.2033

(https://www.atlanticcouncil.org/content-series/atlantic-council-strategy-paper-series/2023-global-foresight-survey/)

คณะกรรมการแอตแลนติก คลังสมองนโยบายต่างประเทศอเมริกัน

ทําเนียบหมอดูวิชาการดังกล่าวประกอบด้วยพลเมือง 30 ประเทศทั่วโลก โดยส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกัน (60%) และที่เหลือส่วนมากก็เป็นชาวยุโรป นอกนั้นมาจากออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ (แต่ไม่มีจีนและไทยนะครับ แหะๆ)

ในแง่วิชาชีพ มีทั้งสังกัดภาคเอกชน (26%), สถาบันการศึกษาหรือวิชาการ (21%), องค์การไม่แสวงหากำไร (19%), ภาครัฐบาล (16%)

และที่ปรึกษาอิสระหรือผู้ทำงานไร้สังกัด (13%) โดยส่วนมากที่สุดเป็นเพศชาย อายุเลย 35 ปีขึ้นไป

 

10 ประเด็นแนวโน้มโลกที่หมอดูวิชาการทำนายทายทักว่าน่าจะเป็นใน 10 ปีข้างหน้าได้แก่ :

1) รัสเซียมีศักยภาพจะล่มสลาย : ประเทศรัสเซียดังที่เรารู้จักอาจไม่เหลือรอดอยู่ในทศวรรษหน้า

2) เกิดประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์ใหม่ๆ : เรากำลังมุ่งสู่สภาพที่ประเทศจำนวนมากขึ้นมีอาวุธนิวเคลียร์และมีความร่วมมือกันน้อยลงที่จะหยุดยั้งการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ – ทว่า ไม่แน่ว่าจำจะต้องเกิดการใช้อาวุธนิวเคลียร์จริงๆ

3) ความขัดแย้งเรื่องไต้หวัน : คาดว่าจีนจะทำการรุกไต้หวันทางทหาร

4) สหรัฐแยกคู่กับจีน : การแยกคู่ระหว่างสหรัฐกับจีนอาจไม่ตื่นเต้นเฉียบพลันเร้าใจอย่างที่เราคิด

5) อำนาจอเมริกันในอนาคต : สหรัฐจะยังคงเข้มแข็ง ทว่า ไม่ได้กุมอำนาจนำ

6) การปล่อยก๊าซคาร์บอนถึงจุดยอดสุด : นานาประเทศจะร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาภูมิอากาศ แต่อย่าเพิ่งหลงใหลได้ปลื้มว่าจะถึงจุดยอดสุดของการปล่อยก๊าซคาร์บอนแล้ว (และจากนั้นจะลดต่ำลง)

7) โรคระบาดทั่วกับวิกฤตเศรษฐกิจ : เตรียมรับมือการที่โลกจะพลิกพลิ้วอ่อนไหวยิ่งขึ้นอีกในเรื่องนี้

8) ประชาธิปไตย vs. อัตตาธิปไตย : ประชาธิปไตยยังต้องชักเย่อกับอัตตาธิปไตยต่อไปโดยประชาธิปไตยอาจเสียท่าถดถอยเพลี่ยงพล้ำบ้าง

9) ทศวรรษอันตรายของประชาธิปไตย : บรรดาประเทศประชาธิปไตยจะเผชิญทศวรรษยากลำบากจากภยันตรายอันเป็นระบบต่างๆ

10) แบบแผนโครงสร้างความมั่นคงระดับโลก : เหล่าองค์การความมั่นคงระหว่างประเทศน่าจะยังไม่เปลี่ยนแปลงไปโดยส่วนใหญ่ถึงแม้โลกจะเผชิญความเปลี่ยนแปลงและการท้าทายที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนก็ตาม

ขอขยายความคำทำนายทายทักทั้ง 10 ข้อของหมอดูวิชาการใน 10 ปีข้างหน้าโดยพิสดารดังต่อไปนี้ :

 

1) รัสเซียมีศักยภาพจะล่มสลาย

ผลสำรวจน่าตื่นใจที่สุดอย่างหนึ่งคือผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากบ่งชี้ว่าประเทศรัสเซียน่าจะล่ม สลายลงในช่วงทศวรรษข้างหน้า ในทำนองว่าสงครามรัสเซียรุกรานยูเครนอาจเป็นตัวเร่งให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวายมหาศาลในประเทศมหาอำนาจซึ่งมีคลังอาวุธนิวเคลียร์ใหญ่โตที่สุดในโลกแห่งนี้

ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบกึ่งหนึ่ง (46%) คาดหมายว่ารัสเซียน่าจะกลายเป็นรัฐล้มเหลวหรือประเทศแบ่งแยกออกจากกันเมื่อถึงปี 2033

ผู้ตอบแบบสอบถามกว่าหนึ่งในห้า (21%) เห็นว่ารัสเซียเป็นประเทศที่น่าจะกลายเป็นรัฐล้มเหลวมากที่สุดในโลกภายในสิบปีข้างหน้า ขณะอัฟกานิสถานซึ่งเป็นประเทศน่าจะกลายเป็นรัฐล้มเหลวอันดับถัดไปได้คะแนนความเห็นไม่ถึงครึ่งของรัสเซีย

ที่น่าตื่นใจกว่านั้นคือผู้ตอบแบบสอบถาม 40% คาดว่าประเทศรัสเซียจะแตกแยกจากภายในเนื่องจากการปฏิวัติ สงครามกลางเมือง ความแตกแยกทางการเมือง หรือสาเหตุอื่น ฯลฯ (ผู้ตอบแบบสอบถามชาวยุโรปถึง 49% คาดว่ารัสเซียแตกแยกแน่ ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามชาวอเมริกันที่คิดเช่นนั้นมีแค่ 36%)

ในแง่การใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่ปูตินขู่กลายๆ เป็นระยะ ปรากฏว่าผู้ตอบแบบสอบถาม 14% เชื่อว่า รัสเซียน่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในช่วง 10 ปีถัดจากนี้ไป และถ้าจำกัดวงดูในหมู่ผู้ตอบแบบสอบถามที่คิดว่า รัสเซียจะประสบทั้งภาวะรัฐล้มเหลวและประเทศแตกแยกใน 10 ปีข้างหน้าแล้ว ก็มีพวกที่เห็นว่ารัสเซียจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในกระบวนการนี้ด้วยถึง 22%

มองในแง่ดีมีความหวัง ในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถามที่เชื่อว่ารัสเซียจะกลายเป็นรัฐล้มเหลว หรือมิฉะนั้นประเทศก็จะแตกแยกออกจากกันในช่วง 10 ปีข้างหน้านั้น มีอยู่ 10% คิดว่ารัสเซียน่าจะกลายเป็นประชาธิปไตยได้มากที่สุดในบรรดาประเทศอัตตาธิปไตยทั้งหลายในปัจจุบันด้วย

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)