ดาวสภา ‘จิราพร สินธุไพร’ ตอบชัดๆ ‘เพื่อไทยสู้ไปกราบไป’ จริงหรือ?

หากชวนคุยถึงหนึ่งใน ส.ส.สมัยแรก ที่ทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างดีเยี่ยม ชื่ออันดับต้นๆ ที่หลายคนต้องเอ่ยขึ้น คงหนีไม่พ้น “ส.ส.น้ำ-จิราพร สินธุไพร” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 5 จังหวัดร้อยเอ็ด สังกัดพรรคเพื่อไทย

จิราพรเป็นบุตรสาวของ “นิสิต สินธุไพร” อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด และแกนนำคนเสื้อแดง ซึ่งเธอยอมรับว่าได้ติดตามคุณพ่อไปร่วมการชุมนุมของ นปช.โดยตลอด

“วันนี้ จุดยืนของคนเสื้อแดงถูกพิสูจน์แล้วด้วยกาลเวลาที่ผ่านมา ว่าคนเสื้อแดงไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และต่อต้านการทำรัฐประหาร หลักการนี้ยังยืนอยู่ยงจนถึงทุกวันนี้” ส.ส.ร้อยเอ็ด บรรยายถึงความปรารถนาทางการเมืองของมวลชนคนเสื้อแดง กับทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

แล้ววันหนึ่ง จิราพรก็ต้องลงสนามเลือกตั้งชิงตำแหน่ง ส.ส.เขต แทนผู้เป็นบิดา ซึ่งเธอนิยามภารกิจดังกล่าวว่าเป็นการ “อาสาถือไม้ประชาธิปไตยต่อจากคุณพ่อ”

จิราพรเป็นลูกสาว ส.ส. ที่ชื่นชอบตามดูการอภิปรายของบรรดานักการเมืองในสภา ซึ่งเธอเปรียบเทียบว่าเป็นเหมือนการดูดารา ดังนั้น เมื่อเดินเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในฐานะ ส.ส.หน้าใหม่ ช่วงแรกๆ เธอจึงเกิดความประทับใจที่ได้มีโอกาสพบปะกับเหล่าดาราที่ตนเองเคยติดตามฟังการอภิปรายของพวกเขาทางโทรทัศน์

ทว่า ประสบการณ์ท้าทายและน่าหนักใจที่สุด ก็ได้แก่ การเป็น “ส.ส.สมัยแรก” ที่ต้องทำหน้าที่ “ฝ่ายค้าน” คอยอภิปรายท้วงติงและตรวจสอบรัฐบาลอย่างหนักหน่วง

“เพราะปกติไม่ใช่คนที่พูดในที่สาธารณะเก่ง เป็นคนออกจะขี้อายด้วยซ้ำ ตอนนั้นขึ้นครั้งแรก อภิปรายเรื่องแผนปฏิรูปประเทศ พรรคให้ไปเตรียมตัวหนึ่งคืน

“ตอนที่เรารอขึ้นอภิปราย กำลังนั่งอ่านเนื้อหา ถ้าจำไม่ผิดมี ส.ส.ประมาณ 20 กว่าท่าน เดินเวียนมาบอก ไม่ต้องตื่นเต้นนะ บางคนเดินมาบอก ถือกระดาษอย่าสั่นนะ บางท่านถึงขั้นแนะนำว่าให้เอากระดาษแข็งๆ นะ อย่าเอากระดาษอ่อนๆ ถ้าสั่น เดี๋ยวเขาจะเห็นว่าเราสั่นเวลาถือกระดาษ” จิราพรถ่ายทอดประสบการณ์ของการอภิปรายในสภาหนแรก

เป็นที่รู้กันดีว่า ไม่ใช่นักการเมืองทุกคนจะเป็นนักอภิปรายที่ดีในสภา เพราะการปราศรัยกับชาวบ้านในพื้นที่กับการพูดจาให้เหตุผลในรัฐสภานั้นมีความแตกต่างกัน ส.ส.บางรายจึงปราศรัยหาเสียงเก่งมาก แต่กลับพูดในสภาไม่ออกเนื่องจากตื่นเต้น ซึ่งจิราพรก็ตระหนักถึงความกดดันนี้เป็นอย่างดี

“ตอนน้ำเข้าสภา เรารู้สึกว่าเราเป็นตัวแทนประชาชน เราแบกเอาความหวังและเสียงของประชาชนเข้าสภา เวลาที่เราอภิปรายไม่ใช่แค่สมาชิกในรัฐสภาฟัง แต่คนทั้งประเทศก็ฟังเราอยู่ มันเลยเป็นความกดดันอย่างหนึ่งเหมือนกัน ที่เราต้องเตรียมตัว เตรียมข้อมูลให้ดี”

อย่างไรก็ตาม เมื่อจิราพรประเดิมทำหน้าที่นักอภิปรายในสภาได้ดี ก็มีเสียงประเมินดังออกมาจากวอร์รูมของพรรคเพื่อไทยว่า “รอดแล้ว”

ผลงานโดดเด่นในสภาผู้แทนราษฎรของ ส.ส.จิราพร ก็คือ การตามติดกรณี “เหมืองทองอัครา”

ทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อเธอไปช่วย ส.ส.อาวุโสของพรรคอย่าง “สุทิน คลังแสง” จัดเตรียมเนื้อหาการอภิปรายในประเด็นดังกล่าว ด้วยความที่เคยทำงานในกระทรวงพาณิชย์ จนมีความรู้เรื่องเอฟทีเอ

ต่อมา พอพรรคเพื่อไทยได้ข้อมูลสำคัญในเรื่องนี้เข้ามาเพิ่มเติม สุทินจึงมอบหมายให้ ส.ส.หญิงรุ่นใหม่จากร้อยเอ็ด รับหน้าที่อภิปรายประเด็นเหมืองทองอัคราต่อเนื่องจากเขา

จิราพรยอมรับว่านี่เป็นงานที่ทั้งตัวเองและทีมสนับสนุนของพรรคเพื่อไทยต้องทำการบ้านอย่างหนัก แต่พอประเด็นถูกจุดติด ภาคประชาสังคมก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ด้วยการส่งข้อมูลเพิ่มเติมมาให้ทางพรรค

เมื่อถามว่ากรณีเหมืองทองอัคราจะไปจบตรงไหน? ส.ส.สมัยแรกผู้เกาะติดปัญหานี้อย่างจริงจังตอบว่า

“อย่างที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ตอนนี้ทางรัฐบาลมีความพยายามจะเจรจา ประนีประนอมยอมความ (กับบริษัทคิงส์เกต) โดยที่เอาทรัพยากร ทรัพย์สินของประเทศไปแลก เพื่อที่จะได้มีการถอนฟ้อง… จนตอนนี้ คำพิพากษายังไม่ออก และเชื่อได้ว่ามีความพยายามเจรจากันอยู่

“ถามว่าจุดจบอยู่ตรงไหน? ทางพรรคเพื่อไทยเราเตรียมข้อมูลหลักฐานเอาไว้แล้ว แต่ว่ารอเวลาที่เหมาะสม ถ้าพรรคเพื่อไทยได้มีโอกาสรับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลในสมัยหน้า เรื่องเหมืองทองอัคราจะเป็นหนึ่งเรื่องสำคัญที่เราจะติดตามต่อ จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อที่จะรื้อคดีทั้งหมด เพื่อไม่ให้ภาระต้องไปตกกับประชาชนและงบประมาณแผ่นดิน”

 

ปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดกับ ส.ส.หญิงบางคนของพรรคเพื่อไทย รวมทั้งจิราพร ในช่วงไม่กี่ปีหลัง ก็คือ การมีบรรดาแฟนคลับคนรุ่นใหม่คอยมาติดตามให้กำลังใจนักการเมืองเหล่านี้ ประหนึ่ง “ซุป’ตาร์เกาหลี”

ส.ส.ร้อยเอ็ด เขต 5 ยอมรับว่านี่เป็น “ประสบการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ” และแม้เธอจะค่อนข้างคุ้นชินกับวัฒนธรรมลักษณะนี้อยู่บ้าง ในฐานะที่เคยเป็นแฟนคลับศิลปินเกาหลี เช่น วงดงบังชินกิ ทว่า ก็ยังรู้สึกแปลกใจที่อะไรทำนองนี้มาเกิดขึ้นกับนักการเมืองไทย

เมื่อสอบถามว่า “แฟนด้อมพี่น้ำ” ที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ นั้นมาจากไหน? เจ้าตัวให้คำตอบว่า

“มันเป็นกระแสมาเองแบบธรรมชาติ ตอนแรก เราก็พยายามหาเหมือนกันว่าต้นตอมาจากไหน เข้าใจว่ามันน่าจะเป็นด้วยยุคโซเชียลมีเดีย ทำให้การทำงานของเราในสภามันเผยแพร่ออกไปได้หลายช่องทางมากขึ้น เข้าถึงคนได้มากขึ้น”

ก่อนที่จิราพรจะวิเคราะห์ถึงข้อดี-ด้านบวกของวัฒนธรรมตามกรี๊ดนักการเมืองในปัจจุบันว่า

“ตอนเด็กๆ เราดูการเมืองในฐานะคนนอก จะเห็นว่าเมื่อก่อน การเมืองเรารู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างรุนแรง จะเห็นการเมืองไทยช่วงนั้นในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติเองก็ตาม จะมีข่าวฆาตกรรมกันบ้าง ยิงหัวคะแนนกัน มันมีความรุนแรงในการเมืองไทย

“ทีนี้ เราก็เห็นว่ามีพัฒนาการทางการเมืองมาเรื่อยๆ อาจจะด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ด้วยโซเชียลมีเดียที่ประชาชนมีส่วนในการจับตาการเมืองได้ง่ายขึ้น มีส่วนร่วมทางการเมืองได้ง่ายขึ้น เลยทำให้ภาพลักษณะเหล่านั้นมันหายไป

“เหมือนภูมิทัศน์การเมืองมันก็เปลี่ยนไปในระดับหนึ่ง จากที่บอก เมื่อก่อนมันดูห่างไกล ดูรุนแรง ตอนนี้ กลายเป็นว่านักการเมืองกลายเป็นไอดอลของน้องๆ เยาวชนรุ่นใหม่บางกลุ่ม ที่มาติดตามการทำงานของเรา กลายเป็นว่าเราเป็นแรงบันดาลใจของเขาในการเรียน แล้วก็หลายๆ คนอยากเข้าสู่การเมือง อยากทำงานการเมือง

“เราว่ามันเป็นมิติเชิงบวกกับการเมืองไทย ที่เราพูดเสมอว่าอยากให้คนทุกเพศทุกวัยมีส่วนร่วมทางการเมือง”

 

ในช่วงท้ายของการสนทนา ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี ตั้งคำถามหนักๆ ใส่จิราพรว่า เธอมีความคิดเห็นอย่างไร ที่หลายคนมองว่าพรรคเพื่อไทยเล่นการเมืองแบบ “สู้ไปกราบไป”?

ส.ส.จากภาคอีสานผู้นี้มองว่า ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของไทย ยังไม่เคยมีพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยพรรคไหนที่ไปร่วมต่อสู้กับประชาชนมากเท่ากับคนของพรรคเพื่อไทย

“ถ้าสู้ไม่จริง สู้ไปกราบไป ยุบไทยรักไทย พรรคก็คงหายไปแล้ว คงไม่มีพลังประชาชนมายืนหยัดสู้ต่อ จนกระทั่งโดนยุบอีกรอบ โดนยุบสองรอบยังมีเพื่อไทยยืนหยัดอยู่”

ส.ส.น้ำพูดต่อว่า แม้พรรคเพื่อไทยจะโดนมรสุมการเมืองมาหลายระลอก กระทั่งสมาชิกพรรคหลายคนยังมีคดีการเมืองติดตัวมาถึงปัจจุบัน แต่สุดท้าย ทุกฝ่ายต่างตระหนักได้ว่า “เราปักหลักสู้ตรงนี้ไม่เคยหายไปไหน”

“เราก็เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของคนเสื้อแดง เราก็ยังศรัทธาในพรรคเพื่อไทย ที่วันนี้ไม่ได้ยอม จริงๆ ไม่เคยถอย ยังสู้อยู่”

“จิราพร สินธุไพร” ยืนยันถึงการสู้ไม่ถอยของพรรคเพื่อไทย ด้วยศักดิ์ศรีของ “ลูกหลานคนเสื้อแดง”