ได้เวลาปฏิรูปตำรวจแล้ว! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

วันนี้ ผลจาก “ชูวิทย์เอฟแฟ็กซ์” ที่เดินหน้าเปิดโปงเรื่องราวของอาชญากรรมข้ามชาติจากกลุ่ม “จีนเทา” ที่มีความเชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย และยังเปิดโปงเครือข่ายการพนันออนไลน์ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่เบื้องหลัง ข้อมูลชี้ขัดว่า ตำรวจส่วนหนึ่งกลายเป็น “แนวร่วมใกล้ชิด” ของอาชญากรรมข้ามชาติจีน และอีกส่วนทำหน้าที่เป็น “เจ้าของบ่อนพนันออนไลน์” เสียเอง

ข้อมูลจาก “ชูวิทย์เอฟแฟ็กซ์” ในแต่ละวัน ทำให้สังคมไทยได้รับรู้ด้วยความตกใจถึงบทบาทของตำรวจในทางลบ ผลที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ เสียงเรียกร้องให้เกิดการ “ปฏิรูปตำรวจ”

การปฏิรูปตำรวจในอนาคตจะต้องไม่ใช่ปฏิรูปตามแบบคณะรัฐประหาร 2557 และกลุ่ม ส.ว. ฝ่ายขวา ที่ชอบโฆษณาในเรื่องนี้ แต่สุดท้ายแล้ว ไม่ได้เกิดอะไรขึ้นจริงจัง ดังจะเห็นได้ว่า จนบัดนี้กว่า 8 ปีแล้ว การปฏิรูปตำรวจกลายเป็นเพียงรายการ “จำอวด” ของผู้นำรัฐประหาร ที่เวียนผลัดกันเข้ามาควบคุมองค์กรตำรวจผ่านองค์กรอย่าง “คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ” (ก. ตร.)

แต่ผลพวงจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากตำรวจและทหารในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เสียงเรียกร้องการปฏิรูปตำรวจเกิดคู่ขนานกับการปฏิรูปกองทัพ แม้มิติของการปฏิรูปใน 2 ส่วนนี้อาจจะแตกต่างกัน ตามเงื่อนไขของบทบาทและพฤติกรรมของบุคคลาการและองค์กร แต่โดยหลักการแล้ว ทิศทางไม่ได้แตกต่างกัน

ถ้าการปฏิรูปกองทัพต้องการสร้าง “ทหารอาชีพ” (professional soldier) เช่นไร การปฏิรูปตำรวจก็ต้องการสร้าง “ตำรวจอาชีพ” (professional police) เช่นนั้น … เป้าหมายหลักของการปฏิรูปองค์กรทั้งสองจึงไม่ได้แตกต่างกัน คือ สร้างทหารให้เป็นมืออาชีพเช่นไร ก็ต้องสร้างตำรวจให้เป็นมืออาชีพเช่นนั้นด้วย

ถ้าทหารไม่เป็นมืออาชีพแล้ว ภารกิจของการป้องกันประเทศจะถูกเบี่ยงเบนออกไป เช่น ภารกิจของการป้องกันประเทศถูกทำให้เป็นการแทรกแซงทางการเมือง และเมื่อการป้องกันประเทศไม่ถูกนิยามให้เกิดความชัดเจนแล้ว บทบาททหารก็กลายเป็นการสร้างอำนาจของผู้นำทหาร โดยอาศัยกองทัพเป็นเครื่องมือหลักในการทำรัฐประหาร ดังเช่นที่เห็นมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ในทำนองเดียวกัน ถ้าตำรวจไม่เป็นมืออาชีพแล้ว การรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย คำขวัญของ “แก๊งตำรวจเทา” เหล่านี้จึงไม่ใช่ “พิทักษ์สันติราษฎร์” ดังเช่นที่เราเห็นบทบาทของตำรวจเช่นนี้ในการให้ความคุ้มครองแก่บรรดา “แก๊งจีนเทา” และ “แก๊งพนัน” เป็นต้น จนกล่าวได้ว่า ต้นทุนทางสังคมของสถาบันตำรวจในสังคมไทย ลดต่ำลงจนแทบจะ “ล้มละลาย” แล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การปฏิรูปตำรวจจึงถูกมองว่า เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในกระบวนการแก้ปัญหา ไม่ว่าการปฏิรูปตำรวจจะสามารถเปลี่ยน “วัฒนธรรมองค์กร” ของตำรวจได้หรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อย การเริ่มต้นการปฏิรูปคือ จุดเริ่มของการสร้างความเปลี่ยนแปลง อันเป็นความหวังในการ “เพิ่มทุนทางสังคม” ให้แก่องค์กรตำรวจ เนื่องจาก องค์กรตำรวจวันนี้ตกอยู่ใน “วิกฤตศรัทธา” ที่มีภาวะ “ขาดทุนทางสังคม” อย่างน่าเป็นห่วง

การปฏิรูปตำรวจต้องเริ่มด้วยหลักการพื้นฐานว่า ตำรวจเป็นผู้รักษากฎหมาย และตำรวจก็จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายด้วย การเป็นผู้รักษากฎหมายไม่ใช่ปัจจัยที่อนุญาตให้ตำรวจมีอำนาจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือมีอำนาจที่จะดำเนินการนอกกรอบทางกฎหมายได้ (ทหารก็ต้องอยู่ภายใต้หลักการนี้เช่นกัน) ดังนั้น การปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องถูกกำกับด้วย “ประมวลจริยธรรมและธรรมาภิบาลของวิชาชีพ” และประมวลนี้จะเป็นตัวกำหนดนิยามของความเป็น “ตำรวจอาชีพ” เพื่อกำหนดอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ในสังคม รวมถึงกำหนดสิ่งที่ตำรวจไม่ควรกระทำและไม่อาจกระทำได้ด้วย

นอกจากนี้จะต้องตระหนักเสมอว่า ตำรวจในระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่ได้มีภารกิจเพียงในเรื่องของการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือการ “พิทักษ์สันติราษฎร์” เท่านั้น หากยังมีหน้าที่ในการ “พิทักษ์สิทธิมนุษยชน” และทั้งยังต้องทำให้องค์กรตำรวจมีสภาวะ “เปิดกว้าง-โปร่งใส-ตรวจสอบได้” เนื่องจากตำรวจเป็น “องค์กรติดอาวุธ” ของรัฐ ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดในสังคม การตรวจสอบตำรวจจากภาคประชาสังคม จึงเป็นประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง กล่าวคือ สังคมจะต้องมีบทบาทในการ “กำกับ-ตรวจสอบ” เพื่อให้องค์กรและบุคลากรของสถาบันตำรวจทำหน้าที่ด้วยความเป็น “ตำรวจอาชีพ” อย่างมี “ธรรมาภิบาล”

ดังนั้น กลไกและกระบวนการตรวจสอบตำรวจ ทั้งในแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการจึงมีความสำคัญในการสร้างตำรวจอาชีพ อีกทั้ง กลไกและกระบวนการเช่นนี้จะมีบทบาทโดยตรงในการควบคุมให้ตำรวจอยู่ภายใต้กฎหมาย และปฎิบัติหน้าที่ภายใต้ข้อบังคับของ “ประมวลจริยธรรมและหลักธรรมาภิบาลตำรวจ” ซึ่งอาจจะดูเป็นเรื่องใหม่สำหรับองค์กรตำรวจไทย แต่การจะทำให้บุคลากรเป็น “มืออาชีพ” ได้จริงนั้น การสร้างประมวลนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญประการหนึ่ง

แน่นอนว่า การปฏิรูปตำรวจไทยภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองและวัฒนธรรมองค์กรในแบบปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน เราคงต้องยอมรับความจริงว่า ผลประโยชน์จาก “กลุ่มสีเทา” ทั้งหลายยังมีอิทธิพลอย่างสูงในองค์กรตำรวจ รวมถึงอิทธิพลทางการเมืองจากชนชั้นนำ และกลุ่มที่มีอำนาจในสังคม ที่มองว่าการปฏิรูปตำรวจคือ ภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของพวกเขา (อาจไม่ได้แตกต่างจากการปฏิรูปกองทัพด้วย) ฉะนั้น การปฏิรูปทั้งตำรวจและทหารจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง 2566 เป็นอย่างยิ่ง

สุดท้ายนี้ การปฏิรูปตำรวจอาจต้องเริ่มไม่ต่างจากการปฏิรูปการเมือง ที่ต้องยกเลิกกฎหมายที่เป็น “มรดกบาป” ที่คณะรัฐประหาร 2557 ผูกตำรวจเอาไว้จนถึงปัจจุบัน การ “ปฏิรูป” อาจจะต้องเริ่มด้วยการจัดโครงสร้าง ก. ตร. ใหม่ เพื่อให้ ก. ตร. ทำหน้าที่เป็นต้นทางของการปฏิรูปตำรวจให้ได้ และต้องตระหนักเสมอว่า องค์กรนี้ไม่ใช่มีไว้เพื่อรักษาวัฒนธรรมเก่าขององค์กรตำรวจ ที่กำลังเผชิญ “ศรัทธาล้มละลาย” ในสังคมไทย

ได้เวลาปฏิรูปตำรวจแล้ว … ได้เวลาสร้างตำรวจอาชีพแล้ว ก่อนที่สำนักงานปทุมวันจะต้องทาสีตึกใหม่ ให้เป็น “สีเทา” ทั้งหมด !