เปิดใจ “ชัชชาติ” อดีต รมต.แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี สู่CEOอสังหาฯ หมื่นล้าน

จากภาพจำในฐานะ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีตรัฐมนตรีผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ซึ่งเป็นฉายาที่โลกโซเชียลมีเดียมอบให้เขาในสมัยร่วมคณะรัฐมนตรียุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ชีวิตของ “ชัชชาติ” ถึงจุดเปลี่ยนเมื่อมีรัฐประหารกลางปี 2557 รัฐมนตรีและนักการเมืองหลายคนจะตกงาน แต่…ไม่ใช่เขา

เพราะทันทีที่หลุดพ้นจากแวดวงการเมือง “เฮียตึ๋ง-อนันต์ อัศวโภคิน” ซูเปอร์บอสเครือแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ก็ฉกตัว “ชัชชาติ” มานั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)

ช่วงแรกของการปรับโหมดการทำงานใหม่ จากซีอีโอภาครัฐ (บนตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม) มาเป็นซีอีโอภาคเอกชน แม้สื่อหลายต่อหลายสำนักส่งเทียบเชิญขอนัดสัมภาษณ์เอ็กซ์คลูซีฟ แต่ชัชชาติก็เลือกที่จะโลว์โปรไฟล์ตัวเอง

อย่างไรก็ตาม รอไม่นานเพราะ 5 เดือนเศษหรือประมาณกลางปี 2558 “ซีอีโอชัชชาติ” ก็พร้อมเปิดตัวแถลงข่าวกับผู้สื่อข่าวสายอสังหาริมทรัพย์ นำเสนอแคมเปญแรกที่ผลิตจากมันสมองก้อนโตของเขา ใช้ชื่อว่า “The future is here” โดยเลือกโครงการซูเปอร์ลักเซอรี่แบรนด์ คิว ทเวลฟ์ (Q Twelve) เป็นสถานที่จัดแถลงข่าว

สำหรับคนที่อาจไม่รู้ โครงการคิว ทเวลฟ์ มีคฤหาสน์เพียง 12 หลัง ราคาหลังละ 80-150 ล้านบาทขึ้นไป ทำเลอยู่โซนพุทธมณฑลสาย 2 ย่านบ้านแพงของกรุงเทพฯ

วันนั้น ชัชชาตินำเสนอคัมภีร์หลักของการพัฒนาที่ดิน ไม่ใช่ “ทำเล ทำเล และทำเล” อีกต่อไป หากแต่เป็น “การเดินทาง การเดินทาง และการเดินทาง” (Transportation Transportation Transportation) เพราะทำเลยังคงเป็นทำเลเดิมๆ แต่ทำเลจะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อการคมนาคมขนส่งมีการเปลี่ยนแปลง ผลักดันให้ทำเลต้องเปลี่ยนตามไปด้วย

ล่าสุด อายุงานซีอีโอชัชชาตินับได้ 1 ปี 8 เดือน คราวนี้เขาเปิดห้องทำงานบนชั้น 7 อาคารลุมพินีทาวเวอร์ หัวมุมถนนสาทร ให้สัมภาษณ์เอ็กซ์คลูซีฟทีมข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” เหตุผลในการรับนัดสัมภาษณ์ครั้งนี้เว้ากันแบบซื่อๆ ว่า “…ตอนนี้สำเร็จแล้ว เจอกันได้แล้วครับ (หัวเราะ)”

ภาพความสำเร็จมาจากผลประกอบการครึ่งปีแรกบริษัทมีรายได้ 10,776 ล้านบาท เติบโต 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในด้านกำไรก็เพิ่มขึ้นเป็น 2,217 ล้านบาท เติบโต 33% เป้าหมายรายได้ทั้งปี 21,000 ล้านบาท เชื่อมั่นว่าทำได้แน่นอน

แต่ก่อนแต่ไรคิวเฮ้าส์ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าตลาดบ้านแพง จนถึงทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่เพียงแต่ทำน้อยลง เพราะสัดส่วนรายได้จาก 3 เซ็กเมนต์ “บน-กลาง-ล่าง” สูตรที่ปรุงออกมาคือ 25/50/25 ถอดรหัสรายได้เป็นบ้านแพง 25% บ้านระดับกลางๆ ราคา 3-10 ล้านบาท 50% กับตลาดล่างอีก 25%

กลยุทธ์ยุคซีอีโอชัชชาติ คือในเมื่อคิวเฮ้าส์มีโปรดักต์อสังหาฯ ทุกประเภท ครบทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดฯ จุดเน้นคือไม่ว่าจะจับตลาดกลุ่มไหน โปรดักต์จะต้องเป็นกลุ่มพรีเมียมของเซ็กเมนต์นั้นๆ เสมอ

แผนลงทุนครึ่งปีหลัง แม้จะแบไต๋ออกมาว่าเตรียมเปิดตัวห้องชุดราคาตารางเมตรละ 3 แสน ทำเลปากซอยสุขุมวิท 6 แต่สินค้าทาวน์เฮ้าส์กลับเป็นตัวที่หยิบยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยมาก มองว่าเป็นเมกะเทรนด์ในยุคที่รถไฟฟ้าหลากสีเริ่มทยอยสร้างเสร็จและเปิดให้บริการ

ตัวอย่างล่าสุดโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) เปิดบริการตั้งแต่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา โปรดักต์ธงที่เข็นออกมาสู้เป็นทาวน์เฮ้าส์มีนวัตกรรมภายใต้แนวคิด “พรีเมียม อีโคโนมี” ราคา 2.5-3 ล้านบาท แข่งกับคอนโดฯ ที่เปิดจนซัพพลายทะลักทะล้น

จุดแข็งอยู่ที่คอนโดฯ ตารางเมตรละ 8 หมื่น-1 แสนบาท เทียบกับทาวน์เฮ้าส์ตกตารางเมตรละ 3 หมื่น แต่ได้โฉนด ที่จอดรถ 2 คัน พื้นที่ก็เยอะกว่า แถมมีให้เลือกในรัศมีเพียง 500-800 เมตรห่างจากสถานีรถไฟฟ้าอีกต่างหาก

“โลกธุรกิจทุกวันนี้ต้องแข่งขันกันที่อินโนเวชั่น การเลือกทำเลก็เป็นอินโนเวชั่นอย่างหนึ่ง เซอร์วิส โปรดักต์พรีเมียม อีโคโนมี ก็เป็นอินโนเวชั่นได้ทั้งนั้น ถ้าจับจุดให้ถูกและเลือกนำเสนอให้เป็น”

กับคำถามใช้แนวทางบริหารภาครัฐมาปรับใช้กับการทำงานที่คิวเฮ้าส์บ้างหรือไม่ คำตอบคือนำแนวทางส่วนตัวมาใช้บริหารบางอย่างมากกว่า

“ตัวเราบริหารรัฐ เอกชนก็ตาม อยากให้ลูกน้องเป็นยังไงก็ทำอย่างนั้นให้เขาดู ตอนเป็นรัฐมนตรีบอกว่าให้ความสำคัญในการดูแลประชาชน เราก็ออกไปดูแล ไม่ใช่พูดอย่างทำอย่าง ถ้าไม่ออกไปดูก็ไม่รู้ว่าชาวบ้านลำบากยังไง หรือลูกบ้าน (ลูกค้า) คิดยังไง ถ้าไม่เคยไปฟังที่ลูกบ้านด่าก็ไม่มีประโยชน์ หลักง่ายๆ 2 งานนี้ไม่ต่างกันมาก เป็นเซอร์วิส อินดัสตรีเหมือนๆ กัน”

ถ้าอย่างนั้น บนเก้าอี้ซีอีโอคิวเฮ้าส์เข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรในองค์กรบ้าง

“หลายเรื่องครับ ทิศทาง อินโนเวชั่น ทำแบรนดิ้งให้ดูหนุ่มขึ้น เดิมคิวเฮ้าส์ดูแก่ๆ หน่อย ดูแลพนักงานให้ดีขึ้น ผมมองว่าทุกคนทำงานไม่ได้เพื่อบริษัทหรอก คนต้องดูแลครอบครัวและชีวิตตัวเอง นั่นคือที่เรารู้สึก เราต้องดูแลเขา (พนักงาน) ให้ดี แล้วเขาจะดูแลบริษัทให้ดีเอง อย่าไปคาดคั้น ทุกคนต้องทำเพื่อตัวเอง ผมก็บอกลูกน้องว่า เป้าหมายคุณไม่ใช่บริษัท แต่เป็นชีวิตคุณ แต่บริษัทช่วยให้ดูแลครอบครัวคุณให้ดี อันนั้นคือหัวใจ”

นอกจากคำตอบแบบยาวๆ เรื่องการบริหารคนแล้ว เมื่อถูกถามถึงสูตรการทำงานใน 1 วันของเขา คำตอบที่ได้กลับเรียบง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ

“ผมนี่ 3 ทุ่มเข้านอน ตื่นตี 3 ครึ่ง ก็มา วิ่งออกกำลังกายที่สวนลุมฯ วันละชั่วโมง 07.30 น. เริ่มทำงาน เลิกตอน 17.00-18.30 น. ปกติทุกอย่าง ถ้าเราไม่กลับ คนอื่นก็กลับไม่ได้ไง”

คําถามสุดท้ายหนีไม่พ้นวิเคราะห์ทำเลดาวรุ่ง ข้อมูลที่พรั่งพรูออกมา ทำเลเด่นสุดตอนนี้ยกให้โซนราชพฤกษ์เพราะถูกโอบล้อมด้วยอินฟราสตรักเจอร์ทั้งทางด่วนศรีรัชวงแหวนรอบนอกกับรถไฟฟ้าสีม่วง เปิดให้บริการแล้วทั้งคู่ ยังมีขยายถนนราชพฤกษ์ 10 เลน เปิดหน้าดินฝั่งธนฯ เพราะเดิมติดปัญหาการเดินทางข้ามฝั่งเจ้าพระยา

ที่เหลือทำเลดอนเมืองกับโซนบางนามีจุดเหมือนกันคือมีทั้งรถไฟฟ้ากับทางด่วนอยู่ใกล้ ลิงก์การเดินทางถึงกันสะดวก

และคำตอบสุดท้าย สไตล์ชัชชาติ เขาก็ยังยืนยันว่า คีย์เวิร์ดที่จะทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้ประสบความสำเร็จ ก็ยังคงเป็นเรื่อง Transportation Transportation และ Transportation นั่นเอง