จากแบรนด์อนุรักษนิยมก้าวหน้า สู่แบรนด์อนุรักษนิยมล้าหลัง

ประกิต กอบกิจวัฒนา

แฟนคลับ “ประชาธิปัตย์” ว่าไง
จะไปทางไหนต่อ
จะมีใครชี้ทางให้…ไหมนะ

ยังไม่มีการยุบสภา กกต.ยังไม่ประกาศวันเลือกตั้ง แต่เราก็เห็นป้ายโฆษณาหาเสียงชูนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองกันเต็มฟุตปาธ จนเริ่มจะไม่เหลือทางเท้าให้เดินกัน (อีกแล้ว)

ไม่นาน ชาวโซเชียลคงเตรียมกดปุ่ม “เครื่องด่า” ให้ทำงานเพื่อทวงสิทธิทางเท้าคืน (อีกแล้วเหมือนกัน)

ในจำนวนป้ายหาเสียงพรรคต่างๆ ที่วางกันเกลื่อนตอนนี้ มีข้อความที่เห็นแล้ว “เอ๊ะ” ขึ้นมาทันทีคือ ป้ายของพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยคำว่า “สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ” ยุทธศาสตร์ที่พรรคซึ่งมีอายุ 77 ปีใช้เป็นธงในการหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น

พรรคแก่ เอ้ย เก่าแก่ขนาดนี้ จะสามารถรวมพลังคนกลุ่มไหนให้มาร่วมสร้าง 3 เรื่องที่ประกาศไว้…ผมอยากชวนคุณมาช่วยกันคิด

 

ฉายาพรรค “ต่ำร้อย” ได้มาง่ายๆ
เพราะเลือกยืนอยู่ฝ่ายตรงข้ามเสียงข้างมาก…
ใช่หรือไม่

เมื่อค้นดูประวัติศาสตร์ของพรรคกับการได้ทำงานในฐานะผู้นำ ต้องย้อนกลับไปนานมาก นั่นคือ ปี 2535 ที่พรรคชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล และครั้งสุดท้ายที่พรรคได้ที่นั่งเกินร้อยก็คือ ปี 2554 ทั้งที่พรรคนี้มีหัวหน้าพรรคได้เป็นนายกรัฐมนตรีถึง 4 คนจาก 7 คน

แต่แล้วการประกาศอย่างมั่นใจว่าพรรคจะคว้าที่นั่งเกินร้อยในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะหัวหน้าพรรค กลับตอกย้ำภาพพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็นพรรค “ต่ำร้อย” ของจริง จนอภิสิทธิ์ต้องประกาศลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค

จำนวนที่นั่ง “ต่ำร้อย” สะท้อนว่าพรรคไม่สามารถลบภาพจำของคนส่วนใหญ่ที่นึกได้เพียงแค่ว่าทุกครั้งที่นายกฯ ต้องลงจากตำแหน่งก่อนวาระ พรรคประชาธิปัตย์เป็นได้เพียง “ตัวช่วย” จากการที่พรรคถูกมองมาตลอดยี่สิบกว่าปีว่า “เป็นศัตรูกับเขาไปทั่ว” ด้วยการโจมตีผู้นำพรรคฝ่ายตรงข้ามที่ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี

ไล่มาตั้งแต่บรรหาร ศิลปอาชา “ลูกจีน” ชวลิต ยงใจยุทธ “ลอยตัวค่าเงินบาท” ทักษิณ ชินวัตร “ล้มเจ้า” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร “โกงจำนำข้าว”

 

การขาดดีเอ็นเอของคนกรุงเทพฯ ในพรรค
ยิ่งทำให้กลายเป็นพรรคภูมิภาค
มาสำรวจกันแฟนคลับที่เหลืออยู่…วัยไหนแล้ว

ผมขอชวนทุกคนลองคิดกันเล่นๆ (ถ้าว่าง) ว่า นึกหน้าตาคนที่จะออกมาคูหาเพื่อกาให้ประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งหน้านี้ออกไหมครับ คนกลุ่มไหน อยู่ตรงส่วนใดของสังคมเรา

หลายคนที่กำลังอ่านอาจนึกในใจว่า อย่าไปห่วงเลยคุณประกิต จำไม่ได้หรือที่เขาเคยฟาดไว้ ถ้าเป็นพื้นที่ภาคใต้ ประชาธิปัตย์ “ส่งเสาไฟฟ้าลงยังชนะ”

ครับ เลือกตั้งซ่อมที่สงขลาและชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งกลับคืนไป 2 ที่ แต่นั่นคือเหตุการณ์ก่อนที่จะเกิดการแยกร่างจากพลังประชารัฐออกมาเป็นรวมไทยสร้างชาติ และถ้ากลับไปดูการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ปี 2562 ประชาธิปัตย์เสียที่นั่งในภาคใต้ไปไม่น้อย ส่วนในกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้เลย

ขอถามแฟนคลับประชาธิปัตย์ล่ะครับว่า เหตุใดถึงทิ้งกันได้ลงคอ

ว่าแต่ แล้วใครคือ “แฟนคลับประชาธิปัตย์”

ถ้าเป็นกรุงเทพฯ ก็น่าจะคือคนที่อยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน เช่น ย่านพลับพลาไชย ราชวงศ์ ราชเทวี บางรัก สีลม ส่วนในภาคใต้ ก็คงประมาณพัทลุง สตูล ภูเก็ต ระนอง นครศรีธรรมราช สงขลา ตรัง

พื้นที่เหล่านี้ เมื่อกลับไปดูผลการเลือกตั้งปี 2562 ต้องบอกว่ามันกำลังกลายเป็น “วันหวานเมื่อวาน” สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะจำนวนเสียงของคนรักประชาธิปัตย์แผ่วลง อ่อนแรงลงไปตามวัยของคนที่อยู่คู่พรรคมานาน

สำหรับผม หน้าตาคนที่เดินเข้าคูหา กาให้ประชาธิปัตย์ ผมเห็นแต่คนวัยหกสิบเจ็ดสิบขึ้นไป

การสร้าง แปลว่าต้องมีแรง มีพลัง ต้องไปรื้อถอนสิ่งที่มีอยู่

ในการทำแคมเปญหาเสียง ยุทธศาสตร์ “สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ” ยังขายไหวไหมกับคนวัยนี้

คนที่กำลังอ่านอาจอยากเตือนให้ผมนึกถึง “ลุงตู่ไง รวมไทยสร้างชาติ”…ก็นั่นไง ประกาศแบบนี้ พรรคประชาธิปัตย์ถึงได้หนีไม่พ้นคำครหาว่าไร้อุดมการณ์ เป็นได้เพียงพรรค “ตัวช่วย”

เอาล่ะ งั้นเราลองไปดูผลงานจากการหาเสียงครั้งที่แล้วว่าเมื่อได้เป็นรัฐบาล พรรคทำอะไรให้ประชาชนสำเร็จ หรืออย่างน้อยก็พยายามทำตามสัญญาที่ให้ไว้บ้าง

ตามข้อมูลเว็บไซต์ promise tracker ได้รวบรวมไว้ พรรคได้ให้คำมั่นสัญญา 35 เรื่อง ทำสำเร็จ 3 เรื่องคือ ประกันรายได้ข้าวหอมมะลิ ราคาปาล์ม และยาง เสนอต่อสภา 1 เรื่อง อยู่ในระหว่างดำเนินการ 5 เรื่อง เหลืออีก 26 เรื่องไม่ได้ดำเนินการเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งที่เป็นพรรคฝ่ายรัฐบาล

คำถามของผมคือ แล้วคนเมืองที่ (ยัง) เป็นแฟนคลับพรรค จะไปทางไหนต่อดี ในเมื่อพรรคไม่ได้ช่วยเหลืออะไรพวกเขาเลย นอกจากคำว่า “ประชาธิปไตยสุจริต” ที่ชอบนักชอบหนา

 

การเมือง คือเรื่องของการสร้าง
แต่พรรคกลับทิ้งขว้างคนรุ่นใหม่

น่าเสียดายมากที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ทิ้งคนรุ่นใหม่ไปเสียแล้ว ผมยังจำได้ถึงการประกาศตัวของกลุ่ม “นิวเดม” ที่ประกอบด้วยคนหนุ่มสาวหลายคนมาร่วมขบวนในปีกของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี 2561

กลุ่มนิวเดมประกาศนโยบายหลายข้อชวนให้ตื่นเต้น มีสีสัน และมีความหวัง ตั้งแต่เรื่องยกเลิกเกณฑ์ทหาร สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ส่งเสริมการแข่งขันอีสปอร์ต ไปจนถึงการเปิดให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนเริ่ม “เอ๊ะ” เริ่ม “อ้าว” นโยบายฟังคุ้นๆ นะ

ก็นั่นแหละครับท่านผู้อ่าน ผมแค่อยากเตือนความจำว่านโยบายที่มองกันว่าก้าวหน้า และทำเพื่อคนรุ่นใหม่นั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็เคยมี

แม้ “นิวเดม” มีนโยบายที่จับกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่การไม่ประสบผลสำเร็จในการหาเสียงของกลุ่มในเวลานั้น เราต้องยอมรับว่ามีหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือภาพลักษณ์ของประชาธิปัตย์มีส่วนอย่างมากที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่เลือก “นิวเดม” ทั้งที่เป็นคนรุ่นเดียวกัน นอกเหนือจากความเป็นคนหน้าใหม่ในสนาม อาจไม่สามารถสร้างศรัทธาให้กับคนรุ่นเก่าที่เป็นแฟนคลับเก่าแก่ของพรรค

ภาพลักษณ์ของพรรคที่เคยมีการนำเสนอ “ทฤษฎีแมลงสาบ” ในที่ประชุมพรรคเมื่อปี 2545 ถูกนำกลับมารื้อฟื้น และคำว่า “พรรคแมลงสาบ” กลายเป็นคำค้นหาที่ติดเทรนด์ไปพักใหญ่จากการตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคที่เลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำ ยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่แทบไม่สนใจเข้าร่วมในกระบวนการ “ฟัง คิด ทำ” ที่พรรคประชาธิปัตย์ตั้งใจชู เพื่อสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ โดยหวังว่าจะผลิตให้เกิด “เลือดใหม่” แทน “เลือดเก่าที่ไหลออก”

เหมือนที่เคยพูดไว้ทุกครั้งเวลาคุยกันถึงเรื่องการสร้างแบรนด์โดยเฉพาะกับพรรคการเมือง ถ้าจะสร้างพรรคการเมืองให้มีแบรนด์ที่น่าสนใจ และเรียกคะแนนเสียงได้ การสร้างด้วยคำว่า “เงิน คน ชาติ” ไม่น่าจะได้ผล คำเหล่านี้ “ช้ำ” ไปหมดแล้ว

แคมเปญของพรรคการเมืองต้องสร้างขึ้นจาก

1. สร้างให้ผู้นำมีบุคลิก มีความน่าเชื่อถือ มีเสน่ห์จับต้องได้

2. สร้างภาพลักษณ์พรรคให้ได้รับการยอมรับจากคนแทบทุกกลุ่ม

และ 3. สร้างนโยบายที่ตอบสนองต่อการใช้ชีวิตของผู้คนกำลังอาศัยในโลกที่ไม่แน่นอน ผกผัน ทุกอย่างเปลี่ยนได้รวดเร็ว

กลับไปดูองค์ประกอบของพรรคประชาธิปัตย์ในตอนนี้ เมื่อนึกถึงหน้าหัวหน้าพรรค คงไม่ต้องขยายความมากว่าเขาเป็นผู้นำที่ขาดเสน่ห์ขนาดไหน ส่วนยุทธศาสตร์ที่ประกาศออกมาซึ่งนอกจากไม่ตอบสนองกลุ่มคนรุ่นใหม่แล้ว แฟนคลับที่เหนียวแน่นและยังอยากลงคะแนนให้พรรค จะยังซื้อไหม

แล้วถ้าไม่เอาพรรคประชาธิปัตย์ แฟนคลับกลุ่มนี้จะหันไปพึ่งพาพรรคใดล่ะ

อาจจะไม่พ้น “ลุงตู่ ลุงป้อม” มั้ย ครั้งที่แล้วที่ประชาธิปัตย์เดินเกมพลาด ประกาศว่าจะไม่ร่วมงานกับ พล.อ.ประยุทธ์หรือเปล่า ถึงทำให้ฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์หันไปเทให้พลังประชารัฐ

คงต้องปล่อยให้แฟนคลับประชาธิปัตย์ เคว้งคว้าง อ้างว้างต่อไป หากพรรคประชาธิปัตย์ยังเดินหน้าหาเสียงด้วย 3 สร้างที่ว่านี้ เพราะไม่มีผลงานอะไรมาอวดแฟนคลับตัวเองอีกแล้ว

หลังหมดจากการเลือกตั้งครั้งนี้ การสร้างแบรนด์พรรคประชาธิปัตย์ยุคใหม่ให้กลับมาเป็นแบรนด์ยอดนิยมของฝั่งอนุรักษนิยมจึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก