KEF Uni-Core Technology

KEF Uni-Core Technology

 

กว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ที่แบรนด์ KEF จากสหราชอาณาจักรสายพันธุ์อังกฤษโลดแล่นอยู่ในยุทธจักรลำโพง พร้อมสร้างสีสันให้วงการได้ฮือฮากันเป็นระยะๆ ด้วยนานานวัตกรรมผ่านเทคโนโลยีแขนงนี้ ที่ล้วนประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่มาโดยตลอด

ซึ่งกับรางวัลต่างๆ ที่ได้รับมากว่า 300 รางวัล ล้วนตอกย้ำคำกล่าวที่ว่านั้นได้เป็นอย่างดี

และนั้นยังไม่ได้นับรวมถึงการถือครองสิทธิบัตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับลำโพงมากกว่า 150 ฉบับ ทั้งยังได้มีการตีพิมพ์เอกสารทางวิชาการออกมาเผยแพร่อีกกว่า 50 ชิ้นด้วย

ที่สำคัญคือได้รับรางวัลระดับสูงสุดของสหราชอาณาจักรอย่าง Queen’s Awards ในสาขาความสำเร็จทางด้านการส่งออกถึงสองรางวัลด้วยกัน

 

KEF เป็นแบรนด์ในสังกัดของ KEF Electronics Ltd. ที่ร่วมกันก่อตั้งขึ้นมาโดย Raymond Cooke และ Robert Pearch เมื่อปี ค.ศ.1961 ด้วยความมุ่งหมายในการออกแบบและผลิตลำโพงระดับไฮ-เอ็นด์ ด้วยนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี ที่ผสานเข้ากับการนำวัสดุอันทันสมัยมาใช้ โดยได้ชื่อย่อมาจาก Kent Engineering & Foundry ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์ทางด้านอุตสาหกรรมการเกษตรของบิดาคุณเรย์มอนด์ ที่ตั้งอยู่ในเมือง Maidstone มณฑล Kent ของอังกฤษ

โดยพื้นเพแล้วคุณเรย์มอนด์เคยเป็นวิศวกรออกแบบอยู่ที่ BBC: British Broadcasting Corporation จากนั้นก็ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคให้กับ Wharfedale ยักษ์ใหญ่ทางด้านอุตสาหกรรมลำโพงของสหราชอาณาจักร

เมื่อทางวาร์ฟเดลมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง เขาก็ได้ออกมาตั้งบริษัทร่วมกับคุณรอเบิร์ตเพื่อผลิตลำโพงตามแนวทางและแนวคิดของตนเอง

ความสำเร็จอันน่าทึ่งประการหนึ่งของลำโพงค่ายนี้ที่ได้บันทึกไว้ในหนังสือ KEF : 50 Years of Innovation in Sound ก็คือสามารถลดขนาดตู้ของลำโพงที่ให้เสียงเบสอันลือลั่นสนั่นห้อง จากแต่เดิมที่เคยมีปริมาตร 9-10 ลูกบาศก์ฟุต ให้ลดลงมาเหลือเพียงประมาณ 2 ลูกบาศก์ฟุต เท่านั้นเอง

ซึ่งความสำเร็จที่ว่านั้น ระบุว่าได้แนวทางมาจากการออกแบบระบบการทำงานภายในตู้ลำโพงที่เรียกว่า Acoustic Suspension หรือเป็นที่รู้จักและเรียกกันติดปากนักเล่นเครื่องเสียงว่า ‘ลำโพงตู้ปิด’ ที่คิดค้นขึ้นมาโดย Edgar Marion Villchur ปรมาจารย์ด้านการออกแบบลำโพงของอเมริกา เจ้าของฉายา American Inventor, Educator & Writer ผู้ก่อตั้งแบรนด์ผลิตภัณฑ์เครื่องเสียง (ลำโพง, เครื่องเล่นแผ่นเสียง และแอมปลิไฟเออร์) AR : Acoustic Research

ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของนักเล่นเครื่องเสียงทั่วโลกนั่นเอง

คุณูปการของคุณเอ็ดการ์ วิลเชอร์ ที่มีต่ออุตสาหกรรมและวงการเครื่องเสียงนั้น มิเพียงเป็นผู้คิดค้นระบบอะคูสติก ซัสเพนชั่น ของลำโพงเท่านั้น หากยังเป็นผู้คิดค้นระบบป้องกันการสั่นสะเทือนในเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบ ‘แขวนลอย’ ด้วยสปริงสามจุด ที่เป็นต้นแบบและเป็นแนวทางให้เทิร์นเทเบิลระดับ Super Hi-End หลายแบรนด์จากหลายๆ ค่าย เดินตามอย่างเคร่งครัดมาจนทุกวันนี้อีกด้วย

KEF ได้ชื่อว่าเป็นผู้ออกแบบและผลิตลำโพงรายแรก ที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการออกแบบและวัดค่าในการตรวจสอบ ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเมื่อเปิดตัวชุดตัวขับเสียงแบบ Uni-Q Driver เมื่อปี ค.ศ.1988 และมีพัฒนาการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นเจเนอเรชั่นที่ 12 แล้ว

และล่าสุดนับเป็นรายแรกอีกเช่นกันที่ใช้วัสดุ Metamaterial ในการดูดซับเสียงไม่พึงประสงค์ที่ใช้ติดตั้งอยู่ด้านหลังไดรเวอร์ นับเป็นอีกนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีที่ค่ายนี้คิดค้นขึ้นมา

รู้จักกันพอเป็นสังเขปเพื่อเรียกน้ำย่อยก่อนไปจานหลักเท่านี้ละกันนะครับ

 

จานหลักที่ว่าก็คือเรื่องราวของเทคโนโลยี Uni-Core ที่ค่ายนี้ได้พัฒนาขึ้นล่าสุด และนำมาใช้เป็นครั้งแรกในตู้ลำโพงที่ให้เสียงในย่านความถี่ต่ำพิเศษ คือ LFE : Low Frequency Effect ที่รู้จักกันในชื่อ Powered Sub-Woofer หรือบ้างก็เรียก Active Sub-Woofer เพราะผนวกภาคขยายเสียงหรือแอมปลิไฟเออร์เข้าไว้ในตัวด้วย ซึ่งได้แก่ Model KC62 ที่หากจำกันได้ตอนที่เป็นข่าวก่อนเปิดตัวที่อังกฤษ ผมได้หยิบมาพูดคุยให้ทราบเป็นการเกริ่นนำกันไปแล้ว

พร้อมบอกว่าอีกไม่นานคงเข้ามาพร้อมลุ้นราคา ว่าจะอยู่ในเกณฑ์ครึ่งแสน (บาท) ขึ้นหรือลง เพราะตามข่าวนั้นบอกว่าจะเปิดตัวด้วยราคา 1,400 ปอนด์

และตอนนี้ก็เข้ามาบ้านเราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผมได้เอามองเล่นลองใช้งานอยู่นานเดือนตั้งแต่ก่อนปีใหม่ ถึงวันนี้ก็ได้เวลานำมาเล่าสู่กันฟังตามประสาแล้วล่ะครับ

ส่วนราคาในบ้านเราขึ้นป้ายเอาไว้ที่เท่าไร ไว้ตอนท้ายๆ ค่อยเฉลยละกันนะครับ

หลังจากได้นำเสนอนวัตกรรม MAT : Meta-material Absorption Technology ผ่านลำโพงรุ่นใหม่ๆ ไปได้ไม่นาน KEF ก็ได้เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า Uni-Core ขึ้นมา สำหรับนำไปใช้กับลำโพงตลอดจนสับ-วูฟเฟอร์แบบแยกชิ้น เพื่อสนองตอบเจตนารมณ์ของทีมวิศวรกรเสียง ที่ต้องการออกแบบลำโพงสมรรถนะสูงภายใต้โครงสร้างที่มีขนาดเล็ก กะทัดรัด ซึ่งสามารถลดปริมาตรภายในตู้ลงได้อย่างมีนัยสำคัญ อันนำมาซึ่งจุดมุ่งหมายในการออกแบบลำโพงที่สวยงาม น่าใช้ โดยไม่ประนีประนอมหรืออ่อนข้อให้ในเรื่องของประสิทธิภาพการทำงานแต่อย่างใด รวมทั้งไม่ต้องการพื้นที่ในการหาที่ทางวางตั้งให้มากนักอีกด้วย

โดยมีความท้าทายแรกเพื่อการนั้นก็คือ ต้องบรรจุไดรเวอร์สองตัวเข้าไว้ภายในตู้ที่มีขนาดกะทัดรัดให้ได้

ซึ่ง Dr. Jack Oclee-Brown หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาของแบรนด์ ได้บอกว่าการออกแบบลำโพงให้ได้เสียงทุ้มที่มีพลัง และลงไปได้ต่ำลึก จากตัวขับเสียงและตู้ลำโพงที่มีขนาดเล็กกะทัดรัดนั้น เป็นความท้าทายทางวิศวกรรมอย่างมาก และเทคโนโลยี Uni-Core ของเรามันเป็นสิ่งที่ก้าวล้ำยิ่ง เพราะมันเปิดโอกาสให้เราสามารถใส่ไดรเวอร์สองตัวเข้าไว้ในพื้นที่ที่มีช่องว่างของปริมาตรค่อนข้างจำกัดได้ โดยไม่ทำให้สมรรถนะต้องด้อยลงแต่อย่างใด

แม้ว่าพิจารณาทางด้านกายภาพแล้ว จะเห็นได้ว่าลักษณะของการจัดวางไดรเวอร์ทั้งสองตัวนั้น เป็นแบบ Force-Canceling ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป

แต่ลักษณะการทำงานของเทคโนโลยี Uni-Core จะแตกต่างด้วยการใช้มอเตอร์ตัวเดียวในการขับ Voice Coil ของไดรเวอร์แต่ละตัวที่มีขนาดของขดลวดแตกต่างกัน โดยจัดเรียงให้อยู่ในศูนย์กลางเดียวกัน

ซึ่งการออกแบบในลักษณะนี้นอกจากช่วยประหยัดพื้นที่แล้ว การทำงานของไดรเวอร์แต่ละตัวก็ยังสามารถเปล่งศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ โดยไม่มีข้อจำทางด้านพื้นที่เหมือนชุดไดรเวอร์ของ Force-Canceling แบบอื่นๆ เพราะสามารถขยับตัวได้เต็มกำลัง ซึ่งส่งผลให้ได้เสียงที่ต่ำลึกอันเปี่ยมไปด้วยพลัง รวมทั้งใช้พื้นที่ร่วมกันน้อยลงด้วย

กล่าวโดยสรุปก็คือ Uni-Core Technology เป็นการควบรวมการทำงานของชุดไดรเวอร์แบบ Force-Canceling สองตัวให้มาอยู่ในระบบเดียวกัน ด้วยการใช้ขดลวดวอยซ์ คอยล์ ต่างขนาดที่จัดวางให้อยู่ร่วมแนวแกนเดียวกัน โดยมีจุดศูนย์กลางร่วมกันนั่นเอง

ซึ่งเป็นอีกเทคโนโลยีอันเกี่ยวกับลำโพงที่ KEF ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว •

 

เครื่องเสียง | พิพัฒน์ คคะนาท

[email protected]