ภารกิจฟื้นชีพ ‘โดโด้’ (1) | ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ใครๆ ก็ว่าน้อนนนนน “โง่”!!!! โง่เสียจนสูญพันธุ์…

ที่จริง ชื่อของน้อนนนนน ก็คือ “โดโด้ (dodo)” ซึ่งก็แปลว่า “โง่” นั่นแหละในภาษาโปรตุเกส พวกกะลาสีเรือโปรตุกีสเขาเรียกกัน แต่ถ้าในกลุ่มกะลาสีเรือชาวดัตช์ น้อนนนนจะถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “Walghvoghel” ซึ่งแปลว่า “นกจืดชืด”

ก็บนเกาะเมาริเทียส (Mauritius) ที่น้อนนนนอยู่มันไม่เคยมีนักล่ามาตามจองล้างจองผลาญน้อนนนเสียจนถึงขนาดเสี่ยงจะสูญพันธุ์ ด้วยขนาดตัวที่สูงใหญ่ได้ถึงราวสามฟุต ผู้ล่าในธรรมชาติก็เลยมีไม่มาก ทีมโดโด้ก็เลยอยู่กันแบบสงบสุข โลกสวย

จวบจนกระทั่งมนุษย์เริ่มย่างเท้าก้าวขึ้นมาบนเกาะ เมื่อนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่ไม่เคยมีใครมาระราน ตอนนี้มีทั้งคน ทั้งหมา ทั้งแมว ทั้งหมู แถมเผลอๆ ยังอาจมีหนูติดมาด้วยอีก ล่าตัวได้ก็ล่าตัว ล่าตัวไม่ได้ก็กินไข่ โดนจัดเต็มไปไม่กี่สิบปี น้อนนนนนก็เลยต้องจำใจจรลีจากโลกนี้ไปแบบงงๆ

จากสมญาภาษาดัตช์ ชัดเจนว่าเนื้อของน้อนนนไม่น่าจะอร่อย แต่ด้วยความพอโดนล่าอยู่บ่อยๆ ท้ายสุด น้อนนนนก็เลยโดนล่าเสียจนเหลือแต่ชื่อ “โดโด้” นกโง่ที่สูญพันธุ์

ภาพจารึกในปี 1961 ที่แสดงกิจกรรมบนชายฝั่งของเกาะเมาริเทียส (Mauritius) ของพวกผู้ล่าอาณานิคมชาวดัตช์ในยุคศตวรรษที่ 16 เป็นภาพแรกที่บันทึกการดำรงอยู่ของโดโด้เอาไว้ (ดูเลข 2 ทางซ้ายคือ Walghvoghel หรือนกจืดชืด)

ในปี 2015 ยูจีเนีย โกลด์ (Eugenia Gold) นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยสโตนีบรูก (Stony Brook University) ได้สแกนกะโหลกโดโด้จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกา (the American Museum of Natural History) เป็นสามมิติด้วยเทคนิคซีทีสแกน (CT scan)

ปรากฏว่า “ถ้าเทียบอัตราส่วนมวลสมองกับมวลตัว ถือว่าขนาดสมองของโดโด้ ไม่ถือว่าเล็ก” และถ้าเทียบกับนกอื่นๆ ด้วย เฉลี่ยแล้ว ก็น่าจะพอๆ กับพวกนกพิราบนั่นแหละ

แต่คำถามที่ยูจิเนียได้ย้อนกลับมาเสมอก็คือ “นกพิราบนี่ฉลาดแล้วเหรอ”

คำตอบก็คือ แน่นอน พิราบเองก็มีสมองที่ไม่ธรรมดาอยู่ อย่าลืมว่ามนุษย์สามารถฝึกพิราบไว้ใช้งานสื่อสารกันมาเนิ่นนานนับศตวรรษแล้ว “ก็ถ้าไม่ฉลาด จะฝึกเอามาใช้งานได้ด้วยหรือ?”

ที่จริง ยังมีคนที่คิดพิเรนทร์ยิ่งไปกว่านั้น เช่น เอาพิราบมาฝึกอ่านแมมโมแกรมก็ยังเคยมี

ก็เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่าที่จริงแล้ว นกโดโด้นั้น “โง่” จริงอย่างที่โดนกล่าวหาหรือไม่?

“ถ้าจะวัดระดับสติปัญญา มันมีอะไรมากกว่าแค่ขนาดสมอง เปเปอร์ของฉันก็ยังมีจุดอ่อนอยู่” ยูจีเนียยอมรับ

“เราใช้ขนาดหรือปริมาตรของสมองเป็นตัวเทียบสำหรับระดับสติปัญญา และเนื่องจากสมองโดโด้นั้นได้สัดส่วนเหมาะสมกับขนาดตัว เราก็เลยตั้งสมมุติฐานว่าพวกมันไม่น่าจะโง่อย่างที่เราเคยคิดกัน อย่างน้อยๆ ความเฉลียวฉลาดก็น่าจะไม่แพ้พวกนกพิราบ น่าเสียดายที่การตีความระดับสติปัญญาในสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วนั้นค่อนข้างซับซ้อน การใช้ปริมาตรของสมองอาจจะเป็นแค่ตัวเทียบเคียงตัวเดียวที่เราพอจะหาได้”

นอกเสียจากว่าจะมีใครมีความสามารถพอที่จะปลุกโดโด้ให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ได้อีกรอบ

ภาพโมเดลจำลองและโครงกระดูกของโดโด้ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งออกซ์ฟอร์ด (ภาพจาก BazzaDaRambler, Wikipedia)

และนั่นคือมิชชั่นระดับปราบเซียนอันใหม่ของสตาร์ตอัพชื่อดัง “โคลอสซัล ไบโอไซแอนซ์ (Collossal biosciences)” ที่เบน แลมม์ (Ben Lamm) นักธุรกิจหัวก้าวหน้า กับจอร์จ เชิร์ช (George Churh) ศาสตราจารย์ชื่อดังด้านพันธุวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ได้ร่วมกันก่อตั้งขึ้นมา

โคลอสซัลมีเป้าหมายหลักในการฟื้นชีพสัตว์สูญพันธุ์ (de-extinction) ให้มีโอกาสกลับขึ้นมาโลดแล่นได้อีกครั้งบนโลกใบนี้

ด้วยแนวคิดสุดทะเยอทะยาน เปิดตัวด้วยโครงการฟื้นชีพ “แมมมอธ” แล้วต่อด้วย “ไทลาซีน (thylacine) หรือ เสือทาสมาเนีย (Tasmanian tiger)”

โดโด้ นกโง่ คือมิชชั่นที่สาม!!!

ที่จริง มิชชั่นโดโด้ มีโอกาสเป็นความจริงขึ้นมาได้จากงานวิจัยบรรพพันธุศาสตร์ (palaeogenomics) เทคนิคเดียวกันเลยกับที่ทำให้สวานเต เพโบ (Svante P??bo) คว้ารางวัลโนเบลไปครองเมื่อปลายปีก่อน

ในอดีต งานวิจัยโดโด้ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยแบบวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เพื่อความอยากรู้ แต่พอพื้นฐานแน่น เทคนิคต่างๆ ถูกพัฒนาขึ้นมาจนสุกงอม จากงานวิจัยเพื่อความอยากรู้ ก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นงานวิจัยแนวประยุกต์

และผลงานที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านก็คือการอ่านลำดับพันธุกรรมทั้งหมดในจีโนมโดโด้ที่ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาครูซ (the University of California, Santa Cruz) นำโดยนักวิจัยโดโด้เบอร์ท็อปของโลกอย่าง “เบธ ชาปิโร (Beth Shapiro)” เพิ่งทำได้สำเร็จเมื่อต้นปี 2022

“ลำดับพันธุกรรมในจีโนมของโดโด้ได้ถูกหาจนครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว เพราะเรานี่แหละคือคนที่หาลำดับของมัน” เบธเปิดตัวอย่างอลังการในเว็บบินาร์ที่จัดขึ้นโดยรอยัลโซไซตี้ของสหราชอาณาจักร “มันยังไม่ได้ถูกตีพิมพ์ออกมา (ในตอนนั้น) แต่ข้อมูลมีแล้วล่ะ พวกเรากำลังวิเคราะห์กันอยู่”

นั่นคือข่าวใหญ่ที่ทำให้ทุกคนตะลึงอึ้ง ต่อไปนี้การทำวิจัยในวงการโดโด้จะเปลี่ยนไป เพราะข้อมูลเบื้องลึกพวกนี้

 

ชาปิโรคือหนึ่งในแฟนตัวยงของน้อนนนนน เธอสนใจโดโด้มานานกว่าสองทศวรรษแล้ว

ความสนใจเริ่มต้นขึ้นในปี 1999 ตอนที่เธอยังเป็นนักศึกษา เธอเข้าไปในพิพิธภัณฑ์และได้เห็นซากของโดโด้ที่ถูกเก็บรักษาเอาไว้เป็นอย่างดี ตัวอย่างโดโด้ที่ออกซ์ฟอร์ดนี้คือหนึ่งในตัวอย่างโดโด้ที่สมบูรณ์ที่สุดในโลก คือยังรักษาไว้ได้ครบทั้งเนื้อ หนัง และขน

เบธเก็บความตื่นเต้นไว้ไม่อยู่ เธอพยายามชักชวน ติดต่อ และตามตื๊อทางพิพิธภัณฑ์ ขอให้พวกเขายอมให้เธอเอาตัวอย่างที่เก็บรักษาไว้ราวไข่ในหินมาสกัดดีเอ็นเอ (ช่างกล้า และบ้าบิ่น)

แต่ใครจะรู้ ทางพิพิธภัณฑ์กลับสนใจเหมือนกัน และในท้ายที่สุด เบธก็สามารถสกัดดีเอ็นเอสายสั้นๆ จากไมโทคอนเดรียในเซลล์ของโดโด้แห่งออกซ์ฟอร์ดได้สำเร็จ และตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาในวารสาร Science ในปี 2002

เล่นเอาสะเทือนไปทั้งวงการ เพราะจากข้อมูลการสืบค้นสายวิวัฒนาการจากพันธุกรรมของโดโด้ ญาติที่สนิทที่สุดของนกโง่ที่มีหน้าตาละม้ายคล้ายกับนกกระจอกเทศตัวนี้ กลับเป็น “นกพิราบ”

แม้หน้าตาจะไม่ได้คล้ายอะไรกับพิราบเท่าไร แต่การค้นพบของเบธก็ฟันธงได้แล้วว่า “โดโด้ที่หลายคนมองว่าเหมือนนกกระจอกเทศแคระนั้น ที่แท้เป็นนกพิราบขนาดใหญ่ ไซซ์จัมโบ้”

และญาติที่ใกล้ชิดที่สุดที่ยังเหลืออยู่ของโดโด้ ก็คือ “นกพิราบนิโคบาร์ (nicobar pigeon)” ที่พบทั่วไปในแถบอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ของอินเดีย

 

“เราอยากรู้ว่าโดโด้ต่างจากนกพิราบนิโคบาร์อย่างไร และมียีนอะไรบ้างที่ทำให้โดโด้ เป็นโดโด้?” เบธให้สัมภาษณ์

เพื่อตอบคำถามนี้ เธอต้องหาลำดับพันธุกรรมทั้งหมดในจีโนมของโดโด้ ที่สูญพันธุ์ไปแล้วกว่าสามร้อยปี นี่คือภารกิจสุดหิน การสกัดดีเอ็นเอออกมาเพื่อวิเคราะห์จีโนมจากตัวอย่างในพิพิธภัณฑ์นั้นเป็นเรื่องที่สุดจะท้าทาย ตัวอย่างที่เอามาใช้ต้องถูกเก็บรักษาไว้อย่างสมบูรณ์จริงๆ แม้จะผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน และตัวอย่างแบบนั้นไม่ได้จะพบได้บ่อย

หลังจากการวิเคราะห์ดีเอ็นเอสายสั้นๆ จากโดโด้แห่งออกซ์ฟอร์ด เบธทุ่มเทความพยายามอีกหลายปีที่จะสกัดจีโนมของโดโด้ออกมาให้ได้จากตัวอย่างที่ขึ้นชื่อว่าสมบูรณ์ที่สุด แต่สิ่งหนึ่งที่เธอก็รู้อยู่แก่ใจคือ ตัวอย่างนี้ อาจจะเสื่อมสลายมากเกินกว่าจะให้ดีเอ็นเอที่สมบูรณ์พอสำหรับการวิเคราะห์จีโนม

“เราได้ดีเอ็นเอมาแค่นิดเดียว (จากโดโด้แห่งออกซ์ฟอร์ด) แต่ตัวอย่างพวกนั้นกลับไม่มีดีเอ็นเอที่สมบูรณ์” เบธเผย

เธอเริ่มค้นหาน้อนนนนนนจากพิพิธภัณฑ์อื่น และพบว่ายังมีตัวอย่างโดโด้อีกหลายร้อยตัวในพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก และหลายตัวดูมีสภาพดี แม้หน้าตาจะขี้เหร่ตามสไตล์โดโด้

และเธอก็ได้พบกับ “ตัวอย่างน้อนนนนที่ยอดเยี่ยม” จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

ตัวอย่างนี้ทำให้เธอและทีมสามารถหาข้อมูลจีโนมโดโด้ได้อย่างสมบูรณ์

 

ผลงานของเธอเข้าตาทีมโคลอสซัลในทันที เบธกลายเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาวิชาการของสตาร์ตอัพดาวรุ่งเงินหนาที่ตั้งแต่เปิดตัวมาในปี 2021 จำนวนของเงินลงทุนก็พุ่งเอาๆ จนตอนนี้มากถึง 225 ล้านเหรียญสหรัฐไปแล้ว

และในช่วงต้นปี 2023 โคลอสซัลก็ประกาศภารกิจที่ 3 ปฏิบัติการฟื้นชีพโดโด้

แน่นอนว่าโดโด้คงไม่ออกมาเดินเฉิดฉายให้ดูในระยะเวลาอันสั้น เพราะในดีเทล การแก้ไขยีนสัตว์ปีกนั้นไม่เหมือนกับแมมมอธ อีกทั้งการสร้างตัวอ่อนในสัตว์ที่ออกลูกเป็นไข่นั้นแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างแมมมอธและไทลาซีน

แต่ในระหว่างทางเบน แลมม์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งโคลอสซัล ก็ยังมั่นใจว่าจะมีเทคโนโลยีเด็ดๆ ที่น่าจะเอาไปประยุกต์ใช้ ได้อย่างหลากหลายในหลายวงการทยอยผุดออกมาให้ตักตวงผลกำไรเป็นระยะๆ ทั้งในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ในการปรับแต่งยีน การแก้ไขจีโนม ไปจนถึงการพัฒนาครรภ์จำลอง (artificial womb)

ที่สำคัญนี่อาจจะเป็นโอกาสที่สองสำหรับสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วให้ได้กลับมามีชีวิตอยู่อีกครั้งบนโลกใบนี้ ในยุคที่ความหลากหลายทางชีวภาพกำลังลดลงอย่างฮวบฮาบดังเช่นในปัจจุบัน

แต่นี่จะเป็นทางออกจริงๆ หรือสำหรับการอนุรักษ์?