เช็กเสียง ‘นักเรียนไทย’ หลัง ‘ตรีนุช’ โละ ‘ระเบียบทรงผม’!!

กลับมาเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในกลุ่มนักเรียน ภายหลัง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงนามในระเบียบ ศธ. ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566

โดยเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ระเบียบดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ส่งผลให้ “สถานศึกษา” แต่ละแห่งสามารถกำหนดระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการไว้ “ทรงผม” ของนักเรียน หรือนักศึกษา ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย…

สาเหตุที่สั่งยกเลิกระเบียบทรงผมนักเรียนเดิมนั้น เสมา 1 ระบุว่า เนื่องจากมีนักเรียนออกมาเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ เรียกร้องให้แก้ไขปรับปรุงระเบียบมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นการ “ลงโทษ” ที่ครูอาจลงโทษโดยการตัดผม หรือกล้อนผม ซึ่งส่งผลกระทบถึงร่างกายและจิตใจของเด็กๆ

“ประกอบกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ศธ.จึงพยายามหากลไก เพื่อให้แต่ละโรงเรียน แต่ละพื้นที่ สามารถวางกฎระเบียบ และจัดการการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ได้ และเพื่อให้นักเรียนได้เรียนอย่างมีความสุข” น.ส.ตรีนุชกล่าว

และเมื่อหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) ให้ความเห็นว่า รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด อาจอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 ประกอบกับมาตรา 39(1) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ ศธ. พ.ศ.2546 กำหนดเป็นนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดนำไปปฏิบัติได้!!

 

เบื้องต้น ศธ.ได้ยกร่างแนวนโยบายเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนของสถานศึกษา ดังนี้

1. การไว้ทรงผมของนักเรียน ของสถานศึกษาในสังกัด ศธ.และสถานศึกษาในกำกับดูแลของ ศธ. จะไว้ผมสั้น หรือผมยาวก็ได้ โดยอาจกำหนดลักษณะทรงผมได้ตามพันธกิจ บริบท และความเหมาะสมของแต่ละแห่ง

และ 2. สถานศึกษาอาจกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับไว้ทรงผมของนักเรียนได้ โดยวางระเบียบ หรือข้อบังคับของสถานศึกษา และควรระบุบทอาศัยอำนาจของกฎหมายเฉพาะมาตรา 39(1) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ ศธ. พ.ศ.2546

ดังนั้น ถ้าระเบียบทรงผมใหม่ใช้บังคับ จะทำให้สถานศึกษาสังกัด ศธ.กว่า 3 หมื่นแห่ง กำหนดระเบียบให้สอดคล้องกับบริบท และอัตลักษณ์ของตัวเองได้

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักเรียน คณะกรรมการสภานักเรียน คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง หรือผู้แทนผู้ปกครอง ชุมชนท้องถิ่น บุคคล หรือกลุ่มบุคคลอื่นใด ที่หัวหน้าสถานศึกษาเห็นสมควร ฯลฯ มีส่วนร่วม โรงเรียนควรรับฟังความคิดเห็น และเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา หรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียน

ก่อนประกาศใช้ โรงเรียนควรเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียน และแจ้งให้ทราบเป็นการทั่วไป เพื่อให้นักเรียนปฏิบัติได้ถูกต้อง

“การปลดล็อกครั้งนี้ ศธ.มีเป้าหมาย และเจตนา เพราะไม่อยากให้เรื่องทรงผมเป็นกรอบในการพัฒนาเยาวชน ไม่อยากให้เป็นกรอบในการเรียนรู้ และจำกัดความสุขของเด็ก ต่อไป ศธ.จะออกแนวนโยบายเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนของสถานศึกษาไว้ เพื่อที่จะให้โรงเรียนนำไปปฏิบัติตามได้” รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าว

ส่วนที่เด็กๆ กังวัลว่า โรงเรียนอาจจะยิ่งออกกฎทรงผมที่เข้มข้นมากขึ้น ละเมิดสิทธิเด็ก และทำโทษเด็กด้วยการกล้อนผมมากขึ้น

น.ส.ตรีนุชมองว่าเป็นคนละเรื่องกัน ระเบียบทรงผมเป็นเรื่องหนึ่ง และการลงโทษนักเรียนโดยที่ครูอาจใช้วิธีกล้อนผมนั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม และครูไม่ควรทำ!!

 

ด้าน ดร.วิสิทธิ์ ใจเถิง นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) มองว่าการยกเลิกระเบียบทรงผม และมอบอำนาจให้สถานศึกษา ผู้ปกครอง และนักเรียน มีส่วนตัดสินใจ เป็นเรื่องดี เพราะกระจายอำนาจให้สถานศึกษา ทำข้อตกลงร่วมกัน และควรประกาศให้สาธารณชนรับทราบ เพื่อให้นักเรียนตัดสินใจตั้งแต่เริ่มสมัครเรียน

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เป็นอีกเสียงที่เห็นด้วยกับการให้อำนาจสถานศึกษา นักเรียน และผู้ปกครอง ได้ตัดสินใจร่วมกัน แต่ที่ต้องระวังคือ โรงเรียนส่วนใหญ่ยังยึดติดระบบอำนาจนิยม และเข้าใจเรื่องสิทธิเด็กค่อนข้างต่ำ จึงต้องเฝ้าระวังเรื่องการลงโทษเด็กในเรื่องทรงผม ทั้งการกล้อนผม และการลงโทษอื่นๆ เพราะปัจจุบันโรงเรียนไม่ได้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย 100%

“ขณะเดียวกัน เมื่อเด็กได้รับสิทธิ และมีส่วนร่วมแล้ว ก็ควรรับฟังความคิดเห็นของผู้ใหญ่ด้วย เพราะโรงเรียนเป็นสังคมหนึ่งที่ต้องมีระเบียบ เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว

ขณะที่ ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ก็เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจให้โรงเรียนไปกำหนดระเบียบทรงผมเอง ซึ่งโรงเรียนเอกชน 90% เปิดกว้างเรื่องทรงผมนักเรียนอยู่แล้ว เพื่อให้เด็กได้เข้ามาเรียนอย่างสนุก มีความสุข ขอแค่ไว้ทรงผมสุภาพ เรียบร้อย อย่ายาวรุงรัง และปิดหน้าปิดตา

ปิดท้ายที่ รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ที่เห็นด้วย เพราะส่วนกลางควรให้โรงเรียนมีอิสระในการกำหนดระเบียบของตัวเอง และการที่โรงเรียนเปิดกว้างเรื่องทรงผม จะฝึกความรับผิดชอบของนักเรียน

ที่สำคัญ ทรงผมไม่ได้บ่งบอกถึงสติปัญญาในการเรียน ส่วนครูจะต้องเปลี่ยนความคิดด้วย!!

 

คราวนี้ลองมาฟังเสียงเด็กๆ ที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง

อย่าง ด.ช.ณัฐพล (สงวนนามสกุล) ชั้น ม.3 โรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ตัวแทนกลุ่มนักเรียนมูฟออน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกระเบียบทรงผมเดิม และให้โรงเรียนกำหนดระเบียบทรงผมของนักเรียน เพราะอาจจะละเมิดสิทธิเด็ก และนักเรียนเพิ่มขึ้น เพราะโรงเรียนอาจออกกฎระเบียบที่จำกัดสิทธิเด็กเสียเอง และหากนักเรียนไม่ปฏิบัติตาม ก็อาจกล้อนผม หรือลงโทษนักเรียน ซึ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพของนักเรียนอย่างมาก

“รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มีอำนาจสั่งการตามกฎหมายอยู่แล้ว ควรกำหนดระเบียบทรงผมนักเรียนใหม่ ให้โรงเรียนปฏิบัติตามดีกว่า โดยอาจกำหนดในระเบียบอย่างกว้างๆ ให้นักเรียนไว้ผมยาว และทรงผมตามต้องการได้ โดยทรงผมนั้น ยังต้องคงความเป็นนักเรียนอยู่ ส่วนควรห้ามทำสีผม ดัดผม ไว้หนวด ไว้เคราหรือไม่ ให้เป็นสิทธิของแต่ละบุคคลดีกว่า” ด.ช.ณัฐพลกล่าว

ด้านตัวแทนนักเรียนหญิงชั้น ม.3 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่ให้อำนาจโรงเรียนกำหนดระเบียบเกี่ยวกับทรงผม เพราะอาจจะออกระเบียบที่เข้มมากกว่าเดิม และนักเรียนจะไม่สามารถเรียกร้องสิทธิได้มากพอ อยากให้ ศธ.ออกระเบียบกว้างๆ ว่าให้อิสระนักเรียนไว้สั้น หรือยาว หรือทำสีผม ได้ตามความเหมาะสม เพื่อให้โรงเรียนไปปฏิบัติตามจะดีกว่า

“ถ้าให้โรงเรียนออกระเบียบทรงผมเอง เชื่อว่าจะไม่รับฟังความคิดเห็นนักเรียน การตัดผม กล้อนผม ลงโทษเด็ก และลิดรอนสิทธิเด็ก จะเพิ่มมากขึ้น” นักเรียนหญิงคนเดิมกล่าว

 

แทนที่นักเรียนจะร้องเฮ หลังรัฐมนตรีว่าการ ศธ.สั่งโละระเบียบทรงผมเดิม กลับออกอาการหวั่นๆ ว่า โรงเรียนจะออกกฎระเบียบทรงผมที่เข้มข้นกว่าเก่า…

ฉะนั้น เพื่อให้การคลอดกฎเกณฑ์ของแต่ละสถานศึกษา เป็นไปด้วยความราบรื่น และ “ไร้การต่อต้าน” จากนักเรียน…

“ผู้บริหาร” ควรระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ถกข้อดี ข้อเสีย เปิดใจรับฟังทุกฝ่าย…

โดยเฉพาะ “นักเรียน” ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง!! •