ดูความเหลื่อมล้ำโลกจากกราฟช้าง (2)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

ดูความเหลื่อมล้ำโลกจากกราฟช้าง (2)

 

กราฟช้างของบรังโก มิลาโนวิช นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันผู้เชี่ยวชาญปัญหาความเหลื่อมล้ำโลก (https://openknowledge.worldbank.org/handle/10986/16935) บ่งชี้ว่าผู้แพ้ในช่วง 20 ปีที่ระบอบโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ครองเศรษฐกิจโลกได้แก่ คนชั้นกลางระดับล่างในประเทศทุนนิยมพัฒนาของตะวันตก (กลุ่มประชากรโลกผู้มีรายได้ระหว่าง 70-90%/โคนงวงช้างที่ห้อยต่ำลงในวงกลม) ซึ่งถูกทอดทิ้งจากบรรดาทุนหัตถอุตสาหกรรมใหญ่ที่ย้ายฐานการผลิตไปแหล่งแรงงานราคาถูกที่อื่นโดยเฉพาะเอเชียและจีน

พวกนี้แหละที่กลายเป็นฐานเสียงของปรากฏการณ์ประชานิยม-ชาตินิยมฝ่ายขวาในตะวันตก โดยเฉพาะเบร็กซิทในสหราชอาณาจักรปี 2016 และรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในสหรัฐอเมริกาปี 2017

ในความหมายนี้ กราฟช้างจึงสะท้อนการที่อำนาจนำของลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neoliberal hegemony, หมายถึงการนำบนพื้นฐานความยินยอมพร้อมใจและเห็นดีเห็นงามของผู้ตาม & การยอมปฏิบัติตามโดยมิพักต้องบังคับ) เริ่มเสื่อมถอยและประสบวิกฤต จนเกิดวิกฤตซับไพรม์และเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ทั่วโลกเมื่อปี 2008 นั่นเอง

Branko Milanovic & กราฟช้างและผลสืบเนื่องทางการเมืองของมัน

ดังที่ ชองตาล มูฟ นักทฤษฎีการเมืองหญิงชาวเบลเยียมอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวไว้ในหนังสือ For a Left Populism (2018, pp. 11-12) ของเธอว่า :

“เราพูดถึง ‘จังหวะประชานิยม’ (a populist moment) ได้เมื่อภายใต้แรงกดดันของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือเศรษฐกิจสังคม อำนาจนำที่ครอบงำอยู่ถูกสั่นคลอนเสถียรภาพโดยการเพิ่มทวีขึ้นของข้อเรียกร้องที่ไม่ได้รับการตอบสนอง ในสถานการณ์เยี่ยงนั้น บรรดาสถาบันที่ดำรงอยู่พากันล้มเหลวในอันที่จะให้ได้มาซึ่งความจงรักภักดีของประชาชนขณะที่พวกมันเพียรพยายามปกป้องระเบียบเดิมดังที่เป็นอยู่ ส่งผลให้กลุ่มก้อนทางประวัติศาสตร์ที่สนองฐานทางสังคมให้แก่การก่อตัวของอำนาจนำแตกหลุดจากกันและเกิดความเป็นไปได้ที่จะสร้างองค์ประธานใหม่ของปฏิบัติการรวมหมู่ในนามประชาชนขึ้นมาซึ่งมีสมรรถภาพที่จะจัดประกอบระเบียบสังคมอันผู้คนประสบรู้สึกว่าอยุติธรรมแล้วนั้นขึ้นในรูปใหม่”

“จังหวะประชานิยมที่ว่านี้เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเกิดวิกฤตขึ้นแล้วต่อการก่อตัวของอำนาจนำแบบเสรีนิยมใหม่ซึ่งถูกดำเนินการคืบหน้ามาตามลำดับในยุโรปตะวันตกตลอดคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ก็แลการก่อตัวของอำนาจนำแบบเสรีนิยมใหม่นี้แหละที่ได้เข้าแทนที่รัฐสวัสดิการสังคมประชาธิปไตยแบบเคนส์ซึ่งเคยเสนอตัวแบบหลักทางเศรษฐกิจสังคมให้แก่เหล่าประเทศประชาธิปไตยในยุโรปตะวันตกทั้งหลายในช่วงสามสิบปี หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง (1945-1975)

“แก่นแกนแห่งการก่อตัวของอำนาจนำแบบเสรีนิยมใหม่ที่ว่านี้ประกอบสร้างขึ้นจากแบบแผนการปฏิบัติชุดหนึ่งซึ่งมุ่งยัดเยียดการปกครองของตลาด – อันได้แก่ การละเลิกกฎเกณฑ์กำกับควบคุม การแปรรูปเป็นของเอกชนและการรัดเข็มขัดทางการคลัง – รวมทั้งการจำกัดบทบาทของรัฐไปจนถึงการปกป้องกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินเอกชน ตลาดเสรีและการค้าเสรีให้แก่นานาประเทศ ลัทธิเสรีนิยมใหม่คือคำศัพท์ที่ใช้เรียกการก่อตัวของอำนาจนำแบบใหม่นี้ในปัจจุบันซึ่งหาได้จำกัดตัวมันเองอยู่แต่ในปริมณฑลทางเศรษฐกิจไม่ หากยังมีนัยแฝงแผ่กว้างกินความไปถึงความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสังคมและปัจเจกบุคคลซึ่งยึดหยั่งอยู่ในปรัชญาปัจเจกนิยมเจ้าสมบัติด้วย”

อย่างไรก็ตาม มูฟชี้ว่าจังหวะประชานิยมยังไม่ใช่การแลเห็นทางแก้ไขวิกฤต หากเป็นเพียง

“ช่วงว่างระหว่างอำนาจนำ (an interregnum) : ช่วงหนึ่งของวิกฤตที่ซึ่งหลักความเชื่อหลายประการของฉันทามติที่สถาปนาขึ้นล้อมรอบโครงการอำนาจนำหนึ่งๆ ถูกท้าทาย…ฉะนั้น ‘จังหวะประชานิยม’ จึงเป็นการแสดงออกของการต่อต้านอันแตกต่างหลากหลายต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจที่พบเห็นในช่วงหลายปีของอำนาจแบบเสรีนิยมใหม่นั่นเอง”

ในภาวะอีหลักอีเหลื่อที่สังคมกลืน (อนาคตใหม่) ไม่เข้า แต่ก็คาย (คสช.) ไม่ออกนี่เองที่อันโตนิโอ กรัมชี นักทฤษฎีและเคลื่อนไหวการเมืองชาวอิตาลี (1891-1937) เรียกว่า “ช่วงว่างระหว่างอำนาจนำ” ดังที่เขาบรรยายว่า :

“วิกฤตประกอบตัวขึ้นตรงความจริงที่ว่าสิ่งเก่ากำลังตายไปและสิ่งใหม่ยังไม่อาจเกิดมา ในช่วงว่างระหว่างอำนาจนำนี้แหละที่อาการป่วยไข้อันหลายหลากมากมายปรากฏขึ้นมา”

อาทิ นักเศรษฐศาสตร์เรี่ยไรเงินทำพิธีกรรม, ลุงคู่รักฟอร์เอฟเวอร์แยกพรรค, อธิบดีเรียกเก็บส่วย, ตำรวจทหารยักยอกเงินของกลางทุนจีนสีเทา, นักการเมืองเร่ร่อนย้ายพรรคเหมือนสัมภเวสี, นักวิชาการเที่ยวกว้านซื้อชื่อผู้ร่วมเขียนบทความวิจัย, ผู้ต้องหานักศึกษาอดข้าวอดน้ำเรียกร้องสิทธิประกันตัว ฯลฯ

ข้อคำถามติดค้างคือผ่านไปอีกกว่าสิบปี (2008-2023) หลังกราฟช้าง สถานการณ์การกระจายรายได้และความเหลื่อมล้ำของโลกเปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือไม่? อย่างไร? และคาดว่าอาจส่งผลทางการเมืองเช่นใดกันบ้าง?

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)