เข้าสู่เดือนที่ 9 ในตำแหน่ง… สนทนากับผู้ว่าฯ ชัชชาติ ในอุทยานกลางกรุง

สุทธิชัย หยุ่น

ชีวิตของคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในฐานะผู้ว่าฯ กทม. กำลังก้าวเข้าสู่เดือนที่ 9 ได้บทเรียนอะไรบ้าง?

วันก่อน ผมชวนคุณชัชชาติตั้งวงคุยที่อุทยานเบญจสิริแบบสบายๆ เพราะอยากได้บรรยากาศที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้อย่างกันเอง

พอทัก “ผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” คุณชัชชาติก็รีบแย้งว่า “ไม่จริงครับ เป็นฉายามานานแล้ว…”

แต่ผมสังเกตว่าท่านยังปราดเปรียวคึกคักอยู่เหมือนเดิม

“ผ่านมา 8 เดือนเข้าเดือนที่ 9 ความแข็งแกร่งนั้นยังมีอยู่ครบถ้วนไหม”

“ยังวิ่งอยู่ทุกเช้าครับ ดีครับ การวิ่งทำให้เรามีพลัง ตื่นแต่เช้าออกมาวิ่งดูเมือง แล้วก็เข้าที่ทำงาน ยังเข้มแข็ง ยังสนุกอยู่ครับ…”

ย้อนกลับไป 8 เดือนที่เจอกับเรื่องอะไรมากมายทั้งที่คาดไว้กับที่คาดไม่ถึง

“รู้สึกตัวเองคิดผิดไหมที่อาสามาเป็นผู้ว่าฯ กทม.?”

คุณชัชชาติหัวเราะก่อนที่จะบอกว่า “ไม่มีครับ มองไปข้างหน้าอย่างเดียวครับ”

เจ้าตัวบอกว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาในตำแหน่งนี้เป็นเรื่องดี “เป็นสิ่งที่ท้าทาย…ต้องเรียนว่าดีกว่าที่คาดไว้เยอะเลย”

ก่อนเข้ามามีคนขู่ว่า กทม.นี่ไม่ธรรมดานะ จะรับไหวหรือ

“แต่พอผมเข้ามาก็พบข้าราชการ กทม.ดีๆ มีเยอะเลย มีคนเก่งๆ ที่พร้อมจะเดินไปพร้อมกับเรา เขาไม่ให้เราเดินคนเดียว เป็นทีมงานที่ดี เป็นเพื่อนร่วมงานที่เข้มแข็ง…”

ผู้ว่าฯ ยืนยันว่าตั้งแต่พนักงานกวาดถนน เก็บขยะ ยันระดับบริหาร ทุกคนรู้สึกว่าเป็นทีมเดียวกัน

ทำให้นโยบายต่างๆ ที่วางเอาไว้ “ไปพอได้” และความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มดีขึ้น

ยังไม่กล้าบอกว่าไปได้ดีมาก

เพราะต้องยอมรับว่ายังมีอะไรที่ต้องปรับปรุงแก้ไขกันอีกมากมาย เพราะนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น

ผมเคยถามคุณชัชชาติว่า 100 วันแรกทำอะไรไปได้แค่ไหน วันนี้เข้าสู่วันที่กว่า 250 วันแล้ว ประเมินตัวเองอย่างไร?

“ความจริงเรามีนโยบาย 216 ข้อ ทำไปจริงๆ 160 ข้อ ศึกษาไป 30 ที่ยังไม่ได้ทำเกือบๆ 20 ข้อ…”

แต่ทุกอย่างมีเหตุมีผลของมันเพราะทุกคนก็ผลักดันกันเต็มที่

“เรามีสำนัก 16 สำนัก มี 50 เขต ทุกคนก็เดินหน้าพัฒนาเต็มที่…”

อะไรคือที่จับต้องได้ ที่ชาว กทม.เห็นได้ชัดเจน?

“เราเข้ามาก็ปลายปีงบประมาณแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่เราพยายามทำคือเปลี่ยนวิธีคิด (mindset) ของคนทำงานในสำนักงาน กทม. ให้บริการประชาชนให้มากขึ้น คือเอาคนเป็นที่ตั้ง…”

แน่นอน ผมก็ต้องอยากรู้ว่าในทางปฏิบัติทำอย่างไรจึงเปลี่ยน mindset ของพนักงาน กทม.ได้ เพราะระบบเก่าฝังรกรากมายาวนาน

“ทางหนึ่งคือการใช้เทคโนโลยี เช่น ระบบ Traffy Fondue ให้ประชาชนถ่ายรูปของปัญหาใน กทม. แล้วก็ด่ามาหน่อย เช่น ฝาท่อ 3 ปีไม่เคยซ่อมเลย ข้อความและรูปนี้ก็จะเข้ามาที่กระดานของเขต พอรู้พิกัด GPS ก็รู้เลยว่ามาจากไหน…”

เป็นรูปแบบของการร้องเรียนอย่างหนึ่ง

พอรูปและข้อความของปัญหาขึ้นจอ ก็รู้ทันทีว่ารับเรื่องเมื่อไหร่

 

ผมอยากรู้ว่าข้อความและรูปเดียวกันนี้ขึ้นจอของที่ทำงานผู้ว่าฯ ด้วยหรือไม่

“ทั้งโลกเห็นหมด ถ้าล็อกอินเข้ามาก็เห็นได้หมด”

ข้อมูลบนจอก็จะฟ้องเลยว่าเรื่องนี้ค้างมาแล้วกี่วัน

ผู้ว่าฯ ยอมรับ : “ช่วงแรก โห เหนื่อย”

เพราะวันแรก (31 พฤษภาคม) ก็เข้ามา 20,000 เรื่อง

“เขตก็เครียดเลย…เพราะมันเหมือนกับการปรับตัวเป็นปัญหา และมันเห็นปัญหาของ กทม.กันเลยทีเดียวว่ามันเป็นไซโล…”

คำว่า “ไซโล” กลายเป็นปัญหาเรื้อรังและยาวนานของระบบราชการไทย ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่น, ระดับภูมิภาคหรือระดับชาติ

พอคุณชัชชาติมานั่งบริหาร กทม. ก็ได้รับการยืนยันอีกครั้งว่าปัญหาที่คาราคาซัง แก้ไขไม่ได้อย่างเป็นรูปธรรมนั้นมีสาเหตุหลักคือทุกอย่างเป็น “ไซโล”

และเมื่อลงไปศึกษาจริงๆ ก็เจอว่าแต่ละปัญหานั้นไม่ได้เป็นเรื่องของเขตใดเขตหนึ่งโดยเฉพาะ

“บางเรื่องมันข้ามเขตและข้ามหน่วยงาน ทำให้เห็นว่าที่ผ่านมาแก้ปัญหาไม่ได้ก็เพราะการบริหารงานเป็นในรูปไซโล พอแจ้งปัญหามาที่จุดใดจุดหนึ่ง เขาบอกว่าไม่ใช่เรื่องของเขา เขาก็ไม่แก้…”

บางเรื่องข้ามไปเป็นของการประปานครหลวง ตำรวจ จราจร โยธาฯ …ข้ามไปไกลเลย

“แต่พอเรามีแพลตฟอร์มของเทคโนโลยีแบบนี้ มันก็สามารถเชื่อมต่อด้วยอินเตอร์เน็ต ไม่ใช่เรื่องอะนาล็อกแบบเดิมอีกต่อไป…” คุณชัชชาติบอก

 

ผมเสริมว่าท้ายที่สุดก็ต้องมีคนประสานหน่วยงานทั้งหมด เพราะพอรู้ปัญหา และรู้ว่ามันโยงกับหน่วยงานข้ามไปข้ามมามากมายก็ต้องมีคนประสานให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน

ผู้ว่าฯ ก็ต้องทำหน้าที่ตรงนั้นใช่ไหม

“ใช่ ผมก็ต้องประสาน เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง ผบ.ตร. เชิญให้มานั่งคุยกันเลย ขอให้หน่วยงานของแต่ละจุดที่เกี่ยวข้องมารับเรื่องไปเลย โดยสามารถประสานกันแบบออนไลน์ได้…”

“ช่วงแรกๆ ก็เหนื่อยนะ เพราะมันยังเป็นไซโลอยู่…”

คนที่ต้องปรับตัวอย่างมากก็คือ ผอ.เขต

“ใช่ แรกๆ ก็ต้องทำความเข้าใจ แล้วเขาก็ปรับตัว เขามีเจ้าหน้าที่เขต 3 คนมานั่งดูเฉพาะเรื่องร้องเรียนเลย พอร้องเรียนปุ๊บก็ต้องตอบสนองทันที…”

บางที เจ้าหน้าที่ต้องตื่นขึ้นมาตี 2 ตี 3 เพื่อรับเรื่องและรีบแก้ปัญหา

ผู้ว่าฯ ให้ผมเดาว่าทุกวันนี้มีคนร้องเรียนมากี่เรื่องแล้ว

“ตั้งแต่ผมเข้ามามีเรื่องร้องเรียนแล้ว 2 แสน 1 หมื่นเรื่อง…”

มีทั้งที่ซ้ำของเดิมกับจุดใหม่

“เราแก้ให้เขาไป 1 แสน 4 หมื่นเรื่องแล้วโดยที่ผมไม่ต้องสั่งการเลยเพราะมันเป็นอัตโนมัติ ระบบมันแจ้งอยู่ เช่น เขตนี้มีคนแจ้งมา 4 พันเรื่อง ทำเสร็จแล้วกี่เรื่อง ใช้เวลาเท่าไหร่ เฉลี่ยกี่วัน…”

ผอ.ไม่ต้องรายงานด้วยซ้ำ เพราะคอมพิวเตอร์ทำหน้าที่สรุปรายละเอียดให้อยู่แล้ว

“พอทำได้ 1 แสน 4 หมื่นเรื่องได้ คนก็เริ่มรู้สึกว่าสถานการณ์เปลี่ยนไป เพราะการตอบสนองดีขึ้น…”

แต่ก็ยังมีข้อที่มีปัญหาอยู่

 

“ปัญหาคือเรื่องไปค้างที่สำนักเยอะ เช่น เขตส่งเรื่องมาปุ๊บ สมมุติเป็นถนนที่เขตไม่ได้ดูแลเอง เช่น สุขุมวิทอาจจะเป็นเขตที่สำนักโยธาฯ ดู เรื่องก็ไปกองที่สำนักเยอะ เราก็ต้องไปไล่บี้ที่ส่วนกลาง…”

“บี้” ด้วยวิธีไหน?

“เอารองปลัดลงไปบี้เลย…ทุกเช้า”

แต่ละสำนักมีเรื่องร้องเรียนไม่เท่ากัน เช่น สำนักการคลังมีเรื่องร้องเรียนเพียง 47 เรื่อง ก็เคลียร์หมดแล้วเพราะมีเรื่องส่วนใหญ่เกี่ยวกับคนเกษียณ

“แต่สำนักโยธาฯ ตอนนี้มีเรื่องค้างอยู่หมื่นกว่าเรื่อง เพราะบางทีร้องมาเป็นงานใหญ่ มันแก้ยาก สำนักจราจรมีประมาณ 4 พันเรื่อง แต่ของเขตเคลียร์เกือบหมด…”

คุณชัชชาติบอกว่า

“นี่คือพลัง และเราไม่ได้ใช้งบประมาณรัฐบาล เพราะแพลตฟอร์มนี้เป็นของรัฐบาลทำอยู่แล้ว ความจริงเขาทำมา 4 ปีแล้ว…แต่การจะทำให้สำเร็จอยู่ที่การมุ่งมั่นที่จะทำพันธกิจให้สำเร็จ (ที่เรียกว่า commitment)”

การที่คนร้องเรียนมาถึง 2 แสนกว่าเรื่องนั้น “ไม่ได้แสดงถึงความอ่อนแอของ กทม.”

“มันแสดงว่าคนเริ่มไว้ใจเรา…”

แต่ที่สำคัญ “เราต้องไม่ให้เขาผิดหวัง ที่ค้างอยู่ต้องลุยต่อ…”

(สัปดาห์หน้า : เส้นเลือดฝอย vs เส้นเลือดใหญ่)