‘ฝุ่นพิษ’ วงจรอุบาทว์

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

กลับมาแล้ว ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ปลิวฟุ้งคลุมเมืองเชียงใหม่ กรุงเทพมหานคร จนคว้าสถิติแย่ๆ ในฐานะเมืองที่มีคุณภาพอากาศเลวร้ายเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้คน อันดับต้นๆ ของโลก แถมยังเป็นอันดับที่แย่กว่ากรุงปักกิ่งของจีนซึ่งมีประชากรมากถึง 24 ล้านคนเสียอีก

การกลับมาของฝุ่นพิษปีนี้จึงนับเป็นวงจรอุบาทว์เพราะยังไม่มีรัฐบาลชุดไหนสามารถลบล้างสถิติน่าอับอายซึ่งประจานอยู่ในเว็บไซต์ดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศของโลกได้เลย

เว็บไซต์ “เดอะ การ์เดียน” สื่ออังกฤษ ได้นำเสนอประเด็นมลพิษในอากาศของกรุงเทพมหานครด้วยการอ้างคำสัมภาษณ์ของคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ที่บอกว่าคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานครเข้าขั้นเลวร้ายและแนะนำให้ชาว กทม.ทำงานที่บ้านแทนการเดินทางไปยังสำนักงาน

ถ้าจะออกจากบ้าน “คุณชัชชาติ” แนะให้ตรวจสอบคุณภาพอากาศเสียก่อน และใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นพิษ

ผู้ว่าฯ ชัชชาติบอกว่า ประชาชนควรจอดรถส่วนตัวไว้ที่บ้าน นั่งรถประจำทางไปทำงานเพื่อลดปริมาณฝุ่นพิษ และได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบจุดที่เป็นแหล่งปล่อยฝุ่นพิษ เช่น พื้นที่ก่อสร้าง ตรวจจับรถปล่อยควันดำ

สื่ออังกฤษยังตีแผ่ว่า ในเขตภาคเหนือของไทย ปริมาณฝุ่นพิษปรากฏในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน สาเหตุมาจากการเผาป่า เผาบรรดาหญ้า เศษวัชพืช พืชไร่ ส่วน กทม.นั้นฝุ่นพิษมาจากการเผาไร่ โรงงานอุตสาหกรรม และพื้นที่ก่อสร้าง

เดอะ การ์เดียนอ้างข้อมูลของบริษัทสวิสแอร์คลอลิตี้ วันที่ 26มกราคมที่ผ่านมาระบุว่า ระดับฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 ในกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และลำปาง อยู่ที่ 63.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินกว่าระดับมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

“กระทรวงสาธารณสุขสั่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกจังหวัดตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่นพิษ” เดอะ การ์เดียนเผยคำให้สัมภาษณ์ของปลัดกระทรวงสาธารณสุข

 

จํานวนผู้ป่วยของไทยเชื่อมโยงกับมลพิษทางอากาศ เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวในช่วงเพียงสัปดาห์เดียว จากเดิมอยู่ที่ 96,000 ราย สัปดาห์ที่แล้ว พุ่งกระโดดเป็น 213,000 คน

ฝุ่นพิษมีผลต่อสุขภาพโดยตรง เช่น ระบบตา ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจ และหลอดเลือด หากร่างกายสัมผัสฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จะก่อให้เกิดอาการระเคืองตา น้ำตาไหล คันตา

ถ้าสูดฝุ่นพิษเข้าไปจะมีอาการแสบจมูก คัดจมูก แสบคอ ไอ หรือสัมผัสจะมีอาการคัน เป็นผื่น แต่ถ้าเจออากาศพิษทั้งฝุ่นและก๊าซในระดับรุนแรงมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เหนื่อยง่าย จนถึงขั้นเป็นมะเร็งปอด

คนไทยเจอมลพิษทางอากาศมานานแล้ว ตั้งแต่ผมเข้ามายึดอาชีพนักข่าวเมื่อ 30 กว่าปีก่อน เวลานั้นรถยนต์ยังใช้น้ำมันเบนซินผสมสารตะกั่ว โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมใช้น้ำมันดีเซล น้ำมันเตาเกรดต่ำและถ่านหิน เมื่อเผาไหม้ก็พ่นควันพิษดำโขมงปนเปื้อนไปด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และคาร์บอนมอนอกไซด์

สถิติคนป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ โรคทางเดินหายใจสูงมาก สาเหตุหลักมาจากมลพิษทางอากาศ เฉพาะปี 2534 มีคนป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจมากถึง 1.2 ล้านคน และเสียชีวิตเฉลี่ย 1,000-2,000 คนต่อปี

 

เพื่อนนักข่าวด้วยกันเล่าให้ฟังว่า ญาติซึ่งเป็นนักวิ่งเสียชีวิตเพราะสูดอากาศพิษระหว่างวิ่งข้างถนนในเขต กทม.แทบทุกวัน ควันพิษเข้าสะสมอยู่ในปอด ต่อมามีอาการเจ็บหน้า หายใจไม่ออก

หมอตรวจอาการเบื้องต้นพบว่าปอดมีปัญหาเพราะสูดควันพิษเข้าไป ถามคนไข้สูบบุหรี่หรือเปล่า ได้รับการปฏิเสธว่าไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ฝ่ายญาติเสริมข้อมูลว่าคนไข้ชอบวิ่งทุกเช้า วิ่งข้างถนน หมอจึงร้องอ๋อ คนไข้สูดควันรถจนปอดพัง

สารตะกั่วที่ใช้ผสมในน้ำมันนั้นมีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนทั่วโลก นักวิจัยของมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ศึกษาสภาพอากาศในกรุงลอนดอนที่มีผลจากการใช้น้ำมันผสมสารตะกั่วระหว่างปี 2557-2561 พบว่ายังมีสารตะกั่วปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมของกรุงลอนดอน ทั้งที่รัฐบาลอังกฤษประกาศห้ามใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมสารตะกั่วตั้งแต่ปี 2542 ผ่านมา 15 ปีสารตะกั่วยังตกค้างในระบบนิเวศ

สารตะกั่วเป็นสาเหตุหลักทำให้ผู้คนป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ โรคไต และหลอดเลือดหัวใจ

ส่วนบ้านเรา เลิกใช้น้ำมันผสมสารตะกั่วตั้งแต่ปี 2539 แต่คุณภาพอากาศในเมืองใหญ่กลับแย่ลง ปริมาณฝุ่นควันพิษไม่ได้ลดระดับลงเลย สถิติอากาศเลวร้ายในกรุงเทพมหานคร และ จ.เชียงใหม่ เข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิม

 

สภาพเมืองเชียงใหม่เหมือนอ่างกระทะ มีแนวเขาบังกระแสลม ทำให้ควันพิษตลบอบอวลไม่ล่องลอยไปไหน ยิ่งการจราจรติดขัดหนาแน่น มีการเผาไร่เลื่อนลอยกันเยอะเท่าไหร่ สภาพเมืองเชียงใหม่แปลงสภาพเป็นเมืองในหุบพิษ

เคยไปเชียงใหม่ช่วงหน้าร้อนปลายๆ เดือนมีนาคม อากาศที่นั่นเลวร้ายสุดๆ ในช่วงเช้าที่รถราวิ่งกันขวักไขว่พ่นควันรถผสมกับฝุ่นและหมอก พอถึงในช่วงบ่ายคิดว่าควันพิษน่าจะเจือจางแล้วขี้นไปบนดอยสุเทพตั้งใจจะดูเมืองจากมุมสูง แต่มองวิวอะไรไม่เห็นเลยเพราะควันพิษปกคลุมหนา

ไม่น่าแปลกใจทำไมควันพิษจึงคร่าชีวิตคนเชียงใหม่สูงมาก

เมื่อปีที่แล้ว มีข่าว รศ.ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร ผู้เชี่ยวชาญผึ้งระดับโลก เป็นอาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสียชีวิตด้วยมะเร็งปอด ทั้งที่ไม่สูบบุหรี่ แต่อาศัยอยู่ในเมืองเชียงใหม่ที่มีฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 สูงมากเป็นเวลากว่า 10 ปี

เมื่อรู้ตัวว่าได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษ อาจารย์ภาณุวรรณ ร่วมกับกลุ่มประชาชนนำเสนอร่างกฎหมายอากาศสะอาดเพื่อยกระดับการแก้ปัญหามลพิษในอากาศอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนดีกว่าเดิม

แต่ปรากฏว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยื้อยุดฉุดกระชากร่างกฎหมายอากาศสะอาดทั้งของกลุ่มอาจารย์ภาณุวรรณและร่างกฎหมายที่เป็นของ ส.ส.อีก 3 ฉบับเอาไว้ และยังไม่ทีท่าว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเมื่อไหร่ ทั้งที่รัฐบาลใกล้หมดวาระในเดือนมีนาคมนี้แล้ว

นี่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้จริงใจจริงจังในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศซึ่งเป็นวงจรอุบาทว์ที่หมุนวนกลับมาสร้างความเดือดร้อนให้กับคนไทยทุกปี •