โลกหมุนเร็ว/ของขวัญปีใหม่ของคนไทย

โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]

ของขวัญปีใหม่ของคนไทย

ลมหนาวเริ่มโชยมาแล้ว

แต่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมก็ยังจำรสชาติของน้ำที่ไหลบ่ามาท่วมบ้านเรือนเรือกสวนได้ดี

หลายแห่งน้ำยังไม่ลด นาข้าวยังจมน้ำ ผลผลิตเสียหาย

เพื่อนผู้ผันตัวไปเป็นเกษตรกรที่สีคิ้วเมื่อพบกันวันนี้ เล่าว่าข้าวในนาที่เพื่อนๆ รอวันสุกเหลืองจะไปช่วยเกี่ยวข้าวเล่นๆ นั้นทั้งสิบไร่ไม่เหลือ จมอยู่ในน้ำหมดแล้ว อนิจจา

เพื่อนบอกว่าระบบจัดการน้ำแบบตัวใครตัวมันทำให้เจ้าของที่ที่อยู่ใต้ลงไปทำคันดินกั้นไว้ ทำให้น้ำในที่ของเขาระบายออกไม่ได้ นาข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่หวังเก็บเกี่ยวจึงกลายเป็นแอ่งขังน้ำไปเสียแล้ว

เรื่องแปลกอยู่ที่ว่าหลังจากไปเป็นเกษตรกรอยู่ได้ไม่นาน เขาผู้นี้ก็เริ่มเกิดความเคยชินกับดินฟ้าอากาศ และเฉยๆ กับความเสียหาย

เขาเล่าว่าทางราชการมีการชดเชยให้กับเกษตรกรไร่ละพันบาท เขาก็ไปกรอกแบบฟอร์ม ปรากฏว่าเขาไม่ผ่านการตรวจสอบ ถามว่าทำไม ทางราชการตอบว่าเพราะคุณเช่าที่นา เขาบอกว่าทำไมหมู่บ้านโน้นก็เช่าแต่ยังได้เงินชดเชย โดนถามแบบนี้คนของรัฐก็กลับไปตรวจสอบอีกที แล้วก็บอกว่าในเอกสารมีคนมารับเงินชดเชยไปแล้ว เลขที่เดียวกับคุณ แต่ไม่ใช่ชื่อคุณ

ชุมชนนั้นมีมาเฟีย เขาเลยปล่อยเรื่องไว้แค่นั้น ไม่กล้าทำอะไรต่อ กลัวไม่คุ้มกัน

ตอนนี้เขาหันไปหาอาชีพเสริม ลงทุนซึ้ออุปกรณ์ทำไอศกรีม ให้ผู้ช่วยในไร่นำมะพร้าวมากมายมาทำไอศกรีมขาย เห็นทีจะต้องมีอาชีพเสริมไว้เป็นหลักประกันความไม่แน่นอนของการจัดการน้ำ

เรื่องความเป็นไปในสังคมชนบท เรื่องมาเฟียผู้ยิ่งใหญ่ ฝังรากลึกมานมนาน ใครจะขี่ม้าขาวมาแก้ไข แม้แต่นายกฯ ก็ยังทำไม่ได้ คงไม่ใช่ไม่รู้

โครงสร้างประชารัฐที่รัฐบาลนี้ทำ ฟังเท่าไหร่ก็ไม่เข้าใจ มันจะหลุดจากวงจรปลาใหญ่กินปลาเล็กหรือไม่ก็ไม่แน่ใจ

สัปดาห์ที่แล้วน้ำท่วมใหญ่ที่ขอนแก่น มีรับสั่งจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้นายกฯ ไปดูแล ทำไมต้องให้มีรับสั่งด้วย ก็ควรจะเป็นหน้าที่ของเบอร์หนึ่งอยู่แล้วมิใช่หรือ

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นก็มีข่าวที่อ่านพบจากหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นว่าสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ได้รับอนุมัติเงิน 50,000 ล้านบาทให้ขุดคลองระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม

คลองแห่งแรกที่จะขุดคือคลองบางบาล-บางไทร และอีกคลองคือคลองที่เชื่อมแม่น้ำป่าสักกับอ่าวไทย

สำหรับคลองบางบาล-บางไทรใช้งบประมาณ 10,000 ล้านบาท และได้รับความเห็นชอบจากชุมชนแล้ว

ข่าวนี้น่ายินดี เพราะการที่ชุมชนเห็นชอบร่วมกันไม่ใช่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ

เป็นอันว่าชาวอยุธยาจะได้เห็นความสนใจแก้ปัญหาจากภาครัฐเสียที จากที่ผ่านๆ มาต้องรับเคราะห์อยู่ซ้ำแล้วซ้ำอีก

สำหรับคลองที่สอง ยังต้องศึกษาผลกระทบอีกกว่าจะสรุปให้สร้างได้

นํ้าท่วมปีนี้เกิดขึ้นใน 11 จังหวัด เสียหายรุนแรงไม่แพ้ปี 2554 แม้ว่าจะเกิดคนละที ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง

อันที่จริงปัญหาอุทกภัยในภาคต่างๆ ของไทยมีสาเหตุต่างๆ กันตามภูมิประเทศ การแก้ไขคงต้องมีหลายแบบ และคงต้องวิเคราะห์ปัญหาโดยละเอียด แตกต่างกันไปตามภาคต่างๆ

สิ้นในหลวง รัชกาลที่ 9 แล้ว เหลียวไม่เห็นใครจะสนใจและลงลึกกับปัญหา พร้อมทั้งหาทางแก้อย่างจริงจังด้วยหลักวิชาและความคิดสร้างสรรค์อย่างพระองค์ท่าน

คนไทยอยากเห็นแผนบูรณาการที่เป็นมาสเตอร์แพลนครอบคลุมทุกภาค

นายกฯ พูดเมื่อไปดูสถานการณ์น้ำท่วมที่ขอนแก่นต้นเดือนพฤศจิกายนว่า ราษฎรทุกข์ ผมก็ทุกข์

มันไม่ใช่การแค่ไปแจกของ ปลอมประโลมแล้วความทุกข์จะหายไป

หวังว่าการตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติจะเป็นการเกาถูกที่คันเสียที เพราะว่าเมื่อเกิดน้ำท่วมก็ไม่รู้ว่ากรมทรัพยากรน้ำ กรมอุตุนิยมวิทยา หรือกรมชลประทานจะต้องรับผิดชอบ เดาว่าขอบข่ายหน้าที่ของทั้งสามกรมก็คงไม่ได้ต้องมาดูแลเรื่องน้ำท่วมและการป้องกันน้ำท่วมโดยตรง

ท่านนายกฯ ก็อดจะดุประชาชนไม่ได้ว่าอย่าดื้อดึง ทางราชการแนะนำอย่างไรก็ให้ทำตาม และยังแถมบอกว่า อย่านอนรอความช่วยเหลือ ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าจะให้เขาช่วยตัวเองอย่างไร น่าจะพูดออกมาให้ชัดๆ ไหมคะ ว่าให้เขาช่วยตัวเองอย่างไร

นายกฯ บอกว่าให้ประชาชาชนปรับทัศนคติ ไม่เข้าใจว่าทัศนคติอะไร หรือว่านายกฯ ไปเจอทัศนคติอะไรมาที่เราไม่ทราบก็ไม่รู้ได้

แต่ก็ขอบคุณที่ตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติขึ้นมา และมีแผนขุดคลองได้รวดเร็ว

ขอถือโอกาสแนะนำหน่วยงานใหม่เอี่ยมนี้สักหน่อยนะคะ เพราะนี่น่าจะเป็นของขวัญปีใหม่ชิ้นใหญ่สำหรับคนไทย

สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หน่วยงานภายใต้การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี จัดตั้งขึ้นตามข้อ 2 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 46/2560 เรื่อง การจัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2560 ทำหน้าที่บูรณาการข้อมูลสารสนเทศ ฝ่ายแผนงาน โครงการ ฝ่ายงบประมาณบริหารจัดการ และฝ่ายติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบโดยมีผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นผู้บังคับบัญชา

ในรายละเอียดก็จะทำหน้าที่ในการบูรณาการงานของกรมน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมอุตุนิยมวิทยา และกรมชลประทาน รวมบูรณาการข้อมูล แผนงานโครงการที่เป็นเรื่องใหญ่ต่อการบริหารจัดการเพื่อป้องกันเหตุรุนแรง หรือแผนงานใหญ่ๆ สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติจะเป็นผู้ดำเนินการเอง

สรุปว่านายกฯ แอ่นอกรับปัญหาน้ำท่วม และเป็นผู้ตัดสินใจแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาวเอง เช่น การสร้างเขื่อน ขุดคลอง ทำนองนี้

เมื่อนายกฯ จะดูแลเอง มีผลงานดี ก็เป็นเกียรติประวัติของนายกฯ เองน่ะแหละค่ะ