20 ปี ปฏิบัติการโปเชนตง บทพิสูจน์ภาวะผู้นำ ในสถานการณ์วิกฤต | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit
(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

29 มกราคม พ.ศ.2546 หรือช่วงเวลานี้ของเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

มวลชนเขมรกลุ่มใหญ่ไม่น้อยกว่าห้าร้อยคน ซึ่งกำลังตกอยู่ในอารมณ์คลุ้มคลั่งบุกเข้าสู่สถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ รวมทั้งกิจการห้างร้าน และสถานที่ต่างๆ ของชาวไทยในเมืองนั้น

พร้อมทั้งทุบทำลาย ไล่ล่า จะจุดเพลิงเผา จากความโกรธแค้น “กบ-สุวนันท์ คงยิ่ง” ดารานักแสดงสาวชาวไทยที่โด่งดังระดับซูเปอร์สตาร์

ภายหลังจากที่มีข่าวแพร่สะพัดไปทั่วกัมพูชาว่าเธอให้สัมภาษณ์ดูถูกเหยียดหยามชาวเขมร

และลำเลิกไปถึงขั้นทวงคืนนครวัดให้ตกเป็นของประเทศไทย

รายละเอียดของข่าวลือเรื่องกบ สุวนันท์ ดูหมิ่นชาวเขมรนี้มีเนื้อหาที่รุนแรงอย่างยิ่ง โดยกล่าวอ้างว่าเธอได้ไปออกรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งทางช่อง 7 แล้วพิธีกรถามว่า “คุณเกลียดอะไรมากที่สุดในโลก”

ซึ่งกบตอบว่า “ฉันเกลียดคนเขมรเหมือนกับที่เกลียดหมา เพราะคนเขมรขโมยนครวัดของพวกเรา”

นอกจากนั้น ยังมีคำถามต่อเนื่องมาอีกว่าอยากไปเที่ยวกัมพูชาหรือไม่ และถ้าหากมีโอกาสได้แสดงภาพยนตร์เขมรหรือภาพยนตร์ที่มีผู้กำกับฯ เป็นชาวเขมรจะแสดงหรือเปล่า เธอก็ตอบไปว่า “ยินดีแน่ถ้าเขมรตกลงคืนนครวัดให้กับประเทศไทย”

ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี ข่าวดังกล่าวสร้างความเดือดดาลให้กับชาวเขมรอย่างมาก

ถึงขั้นที่มีผู้ชมคนหนึ่งเรียกร้องให้กบ สุวนันท์ “ก้มหัวลงจูบเท้าชาวเขมรเพื่อเป็นการขอโทษ”

รวมทั้งเกิดกระแสการ “แบนไทยแลนด์” คืองดซื้อสินค้าและบริการทุกอย่างของชาวไทยเป็นการตอบโต้

ผนวกเข้าตัวผู้นำประเทศเองที่กระโจนลงมาโหนกระแสกับเขาด้วย

จากการที่สมเด็จฮุน เซน ปลุกกระแสชาตินิยมขึ้นอีกครั้งด้วยการประกาศลั่นว่า

“บางบ้านยังไม่มีแม้กระทั่งพระบรมสาทิสลักษณ์ของกษัตริย์และราชินีแห่งกัมพูชา หรือแม้กระทั่งรูปถ่ายของพ่อแม่ตนเองติดไว้ที่บ้าน แต่เหตุใดกลับมีภาพถ่ายของดาราสาวผู้นี้ติดเอาไว้”

หากมีสติในการเสพรับข่าวสารสักนิด ไม่ว่าใครก็ตามย่อมวินิจฉัยได้เองว่าข่าวการให้สัมภาษณ์ของกบ สุวนันท์ ต้องเป็นข่าวเท็จอย่างไม่ต้องสงสัย

เพราะในความเป็นจริงไม่มีซูเปอร์สตาร์คนใดจะออกมาพูดผ่านสื่อมวลชนอย่างก้าวร้าว หยาบคาย และทำลายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเช่นนี้ได้

แต่ดูเหมือนมีคนตั้งสติฉุกคิดอยู่น้อยเกินไป

ทำให้ในเวลาต่อมาไม่นานข่าวลือนี้ก็กลายเป็นความเชื่อจริงจัง

และกระพือไฟแค้นให้ลามทั่วกัมพูชาในชั่วข้ามคืน

ส่งผลให้เกิดการจลาจลขึ้นที่พนมเปญจนควบคุมสถานการณ์ไม่ได้

สังคมไทยในตอนนั้นได้ผ่านประวัติศาสตร์การได้และเสียดินแดนสมัยอาณานิคมมานานจนไม่มีใครสนใจจะไปทวงคืนดินแดนไหนแล้ว

หรืออย่างร้ายที่สุดคือต่อให้มีใครสักคนคิด เขาก็ไม่กล้าพูดออกสื่อ

อีกทั้งในปี 2545-2546 คนไทยก็ไม่ได้มีปมขัดแย้งอะไรกับชาวเขมรเลย

ดังนั้น การที่นักแสดงคนหนึ่งซึ่งกำลังขึ้นสู่จุดพีกและมีฐานแฟนคลับชาวกัมพูชามหาศาลจะออกมาพูดอะไรที่สิ้นคิดแบบนี้

ผู้ที่มีวิจารณญาณในการเสพข่าวย่อมรู้ได้ทันทีว่านี่คือข่าวปลอม

แล้วเหตุใดชาวเขมรส่วนหนึ่งจึงตกลงหลุมเฟกนิวส์นี้ได้โดยง่าย

 (Photo by CAMBODGE SOIR / AFP)

เป็นเพราะข่าวที่ออกมาไม่ใช่แค่ข่าวลือแบบปากต่อปากธรรมดา

แต่เป็นข่าวที่เริ่มมาจากหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ที่มีความน่าเชื่อถืออย่าง “รัศมีอังกอร์” (Rasmei Angkor) ในวันที่ 18 มกราคม 2546

ตามมาด้วยหนังสือพิมพ์ “เกาะสันติเพียบ” (เกาะสันติภาพ) เมื่อ 27 มกราคม หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อข่าวนี้เป็นที่พูดถึงไปทั่ว นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ก็ตอบคำถามนักข่าวและบอกชาวกัมพูชาอย่างเกรี้ยวกราดว่า

“อย่าทำผิดพลาด ดาราสาวคนนี้ไม่ได้มีคุณค่ามากมายเกินกว่าต้นหญ้าที่ขึ้นรายรอบนครวัดแต่อย่างใด”

และประกาศห้ามนำละครไทยที่มีกบ สุวนันท์ ร่วมแสดงอยู่เข้ามาฉายในประเทศ

ข่าวดังกล่าวนี้เกิดขึ้นอย่างจงใจจากใครสักคนที่อยู่เบื้องหลัง เนื่องจากกัมพูชาในขณะนั้นกำลังเข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ในช่วงกลางปี

ทำให้ต้นปีมีการงัดวิชามารออกมาใช้เพื่อหวังผลทางการเมืองด้วย

และเครื่องมือที่ใช้เรียกความนิยมได้มากและเร็วที่สุดอย่างหนึ่งก็คือการวิธีปลุกกระแสชาตินิยมนี่เอง

เพราะฉะนั้น ประชาชนชาวเขมรที่ถูก “ปั่น” จนหลงผิดแล้วขาดสติบุกตะลุยไปทำลายทรัพย์สินของคนไทยในตอนนั้นก็คือเหยื่อของโฆษณาชวนเชื่อที่ถูกปลุกเร้าในช่วงก่อนการเลือกตั้งจากมือที่มองไม่เห็น

 

เมื่อความไม่พอใจของชาวกัมพูชาขยายตัวจนเข้าสู่เหตุจลาจล

สถานทูตไทยเป็นสถานที่แรกที่ตกเป็นเป้าสูงสุด ฝูงชนมารวมตัวกันรายล้อมรอบสถานทูตมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งในที่สุดก็ทลายประตูรั้วบุกเข้าไปภายใน จากนั้นก็เผาอาคารสถานทูตจนวายวอด

ปลดธงชาติไทยลงจากเสา ไล่ล่าหาตัวคนไทยในที่นั้นกันจ้าละหวั่น

เดชะบุญที่ทุกคนหนีเอาตัวรอดไปได้อย่างหวุดหวิดด้วยการปีนออกจากสถานทูตทางด้านหลัง

และส่วนหนึ่งได้รับความช่วยเหลือจากสถานทูตญี่ปุ่นที่อยู่ข้างเคียง

รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในขณะนั้นรับมือกับวิกฤตการณ์อย่างฉับพลัน ด้วยการโทรศัพท์สายตรงถึงฮุน เซน ยื่นคำขาดให้จัดการเรื่องราวเข้าสู่ความสงบโดยด่วน ให้รับประกันความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยในกัมพูชา

หากไม่สามารถจัดการได้ภายใน 1 ชั่วโมง ไทยจะเข้าไปจัดการเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ด้วยการส่งหน่วยคอมมานโดเข้าไปในพื้นที่

จากนั้นก็ส่งตัวทูตกัมพูชากลับประเทศ ลดความสัมพันธ์ทางการทูตลงมาอยู่ในระดับอุปทูต และปิดพรมแดนห้ามชาวกัมพูชาเข้าประเทศไทย

คืนวันที่ 29 มกราคม 2546 นับเป็นคืนวันอันยาวนานที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา เมื่อนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ตั้งวอร์รูมขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล สั่งระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพทุกเหล่าทัพภายใต้แผนปฏิบัติการโปเชนตง อันประกอบไปด้วยแผนโปเชนตง 1 และโปเชนตง 2 เพื่ออพยพคนไทยในพนมเปญกลับประเทศทันที

แผน 1 คือการนำคนไทยกลับบ้านแบบปกติผ่านการลำเลียงด้วยเครื่องบิน C-130 จากสนามบินโปเชนตง

ขณะที่แผน 2 คือการนำคนไทยกลับบ้านหากเกิดเหตุรุนแรงที่ไม่คาดฝันหรืออาจลุกลามบานปลายเป็นสงคราม

ทีมปฏิบัติการนำโดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น และผู้บัญชาการเหล่าทัพ ได้แก่ พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์ ผบ.ทบ. พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา ผบ.ทอ. พล.ร.อ.ทวีศักดิ์ โสมาภา ทบ.ทร.

โดยมี พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ ประสานงานกับ พล.อ.เตีย บันห์ ของฝ่ายกัมพูชา จัดตั้งกองกำลังร่วมเพื่อทำการส่งเครื่องบินลำเลียงพล C-130 จำนวน 5 ลำ กับ G-222 อีก 1 ลำ พร้อมทั้งหน่วยคอมมานโดและหน่วยเคลื่อนที่เร็วจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษที่ลพบุรี 110 คนทำการอารักขา

ตลอดจนตระเตรียมอาวุธประจำกายกับสัมภาระจำเป็นพร้อมสำหรับการค้างคืนต่อสู้ในเมืองหากตกอยู่ในวงล้อมของฝูงชนจนไม่อาจเดินทางกลับได้

คล้ายๆ กับในภาพยนตร์เรื่อง Black Hawk Down ที่หน่วยเดลต้าของกองทัพสหรัฐอเมริกาตกอยู่ท่ามกลางกองกำลังฝ่ายตรงข้ามในกรุงโมกาดิชู เมืองหลวงของโซมาเลีย

ในขณะที่กองกำลังทางด้านดอนเมืองเดินทางเข้าช่วยชีวิตคนไทยในแสงแรกของวันที่สนามบินโปเชนตง ทางด้านอ่าวไทยก็ได้ส่งกองเรือเข้าประชิดพรมแดนด้านเกาะกง กับ จ.ตราด นำโดยเรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวงพุทธเลิศหล้า และเรือหลวงสุโขทัย พร้อมด้วยเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ เตรียมพร้อมเข้าสู่แผ่นดินกัมพูชาหากจำเป็นต้องทำ

รวมทั้งฝูงบิน F-16 ที่กองบิน 1 นครราชสีมา ที่จัดขบวนรอรับคำสั่งต่างๆ ด้วย

 

ปฏิบัติการโปเชนตงนี้เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ หลังจากที่ฝูงบินของไทยออกจากดอนเมืองในตอนรุ่งสางของวันที่ 30 มกราคม 2546 และนำชีวิตคนไทยมากกว่า 700 ชีวิตกลับสู่มาตุภูมิได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย สร้างความประทับใจให้กับคนไทยเป็นอย่างมาก

ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร พลิกสถานการณ์วิกฤตกลายเป็นฮีโร่ได้ในชั่วข้ามคืน

ความนิยมของรัฐบาลไทยรักไทยที่เพิ่งเข้าสู่อำนาจได้ไม่นานก็พุ่งสูงขึ้นจนกลายเป็นกลุ่มอำนาจใหญ่ที่หาใครมาสู้ยาก

ถือเป็นสถานการณ์วิกฤตที่พิสูจน์ภาวะผู้นำของทักษิณครั้งสำคัญ ไม่ต่างอะไรกับการก้าวทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดในกองทัพของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งปราบกบฏบวรเดช

ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นปรากฏการณ์ร่วมแรงร่วมใจที่เห็นได้ยากยิ่ง เมื่อทุกฝ่ายจับมือกันฟันฝ่าวิกฤตได้อย่างทรงประสิทธิภาพ โดยวางความขุ่นข้องหมองใจที่มีมาก่อนไว้ข้างหลัง

ดังจะเห็นได้จากการประกาศสนับสนุนปฏิบัติการอย่างแข็งขันจากฝ่ายค้าน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นคู่แข่งตัวฉกาจของพรรคไทยรักไทย และเป็นไม้เบื่อไม้เมากับทักษิณมาโดยตลอด

รวมทั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ ซึ่งก่อนหน้านั้นหนึ่งปีได้ถูกทักษิณสั่งย้ายจากตำแหน่ง ผบ.ทบ.ไปเป็น ผบ.สส. ภายหลังยุทธการตอบโต้กองทัพพม่าอย่างเด็ดขาดที่ชายแดนด้านทิศเหนือและตะวันตก

จนนำมาสู่วาทะ “โอเวอร์รีแอกต์” (overreact) อันเลื่องชื่อ

 

หมายเหตุ : ถ้อยคำสัมภาษณ์ในเครื่องหมายคำพูดยึดตามสำนวนแปลในบทความเรื่อง “เชือดกบ สุวนันท์ สังเวยลัทธิคลั่งชาติ แผนลับฝ่ายค้านเขมร!” ซึ่งไม่ได้ระบุชื่อผู้แปล ในนิตยสารเนชั่น สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 557 วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2546 ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้