ยาขมของนักสู้โรแมนติก | คำ ผกา

คำ ผกา
(Photo by Jack TAYLOR / AFP)

การเมืองไทยย่ำอยู่ที่เดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจริงหรือไม่?

ฉันคิดว่าการเมืองไทยไม่ได้ย่ำอยู่กับที่ และในด้านที่ถอยหลังเข้าคลอง มันมีความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกหลายอย่าง และคำพูดที่ว่า “เวลาอยู่ข้างเรา” อาจจะไม่ใช่แค่คำปลอบใจ ถ้าเราเห็นสัญญาณบวกนั้น

สำหรับฉัน จุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองไทยร่วมสมัยคือรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ออกแบบระบบการเลือกแบบคู่ขนาน บัตรสองใบ “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ”

เหตุที่ออกแบบมาเช่นนี้ เพราะเห็นว่าการมีพรรคการเมืองเล็กๆ หลายพรรค ทำให้เกิดการตั้งรัฐบาลผสม ทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ขาดเอกภาพในการทำนโยบายให้เป็นจริง เกิดการต่อรองของพรรคเล็กและ “งูเห่า” จึงต้องการระบบการเลือกตั้งที่หวังว่าในอนาคต ประเทศไทยจะมีพรรคการเมืองสู้กันแค่สองพรรคใหญ่

ณ วันนั้น สังคมไทยขานรับเรื่องนี้กันอย่างยิ่งและมองว่าปัญหารัฐบาลไม่มีเอกภาพ ทำงานไม่ได้จริง จะหายไป

และหากเราเหลือแค่สองพรรคใหญ่แข่งกัน เวลาที่พรรคไหนชนะการเลือกตั้งแล้วได้เป็นรัฐบาล มันทำให้เราประเมินได้ง่ายว่า พรรคนั้นทำงานเก่งจริงหรือไม่

ถ้ามีแต่ราคาคุย เลือกตั้งครั้งใหม่เราจะได้เลือกง่ายขึ้นว่าจะเอาคะแนนไปให้พรรคไหน

ไม่เหมือนก่อนหน้านี้ที่มีหลายพรรค และความล้มเหลวของรัฐบาลก็ไม่ชัดเจนว่ามันเกิดจากพรรคไหน โหวตเตอร์จึงเลือกตัวบุคคล เมื่อเป็นการเลือกตัวบุคคลก็เอื้อให้เกิดระบบบ้านใหญ่ ระบบอุปถัมภ์ และสิ่งที่สมัยนี้ชอบเรียกว่า “ธุรกิจการเมือง”

และเพราะผลลัพธ์จะเป็นการแข่งกันของพรรคการเมืองใหญ่แค่สองพรรค เพื่อคานอำนาจของพรรคขนาดใหญ่ที่อาจชนะการเลือกตั้งต่อเนื่องรัฐธรรมนูญ 2540 จึงออกแบบให้มี “องค์กรอิสระ” คานอำนาจรัฐบาล (พรรคที่ชนะการเลือกตั้ง) และนักการเมือง

 

ผลของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ไม่คาดฝันสำหรับปัญญาชน และชนชั้นนำไทยคือ ไม่คิดว่าจะมีพรรคการเมืองแบบพรรคไทยรักไทย ที่ออกนโยบายอันไปกระทบต่อ “โครงสร้าง” อำนาจเก่า และเหมือนจะโดยไม่ได้ตั้งใจด้วย

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกระจายอำนาจ ที่ทำให้ อบต. เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร มีตัวตน มีบทบาท สร้างผลงาน เชื่อมต่อกับประชาชนได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

นโยบายกองทุนหมู่บ้าน สามสิบบาทรักษาทุกโรค และการเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบราชการให้รวดเร็ว ฉับไว เปิด one stop service เปลี่ยนข้าราชการจากเจ้าคนนายคนเป็นคนให้บริการประชาชน

เปิดเส้นทางการบินให้โลว์คอสต์แอร์ไลน์ และน่าจะเป็นครั้งแรกที่คนไทยมีโอกาสเดินทางด้วยเครื่องบิน และค่าตั๋วเครื่องบินเกือบจะถูกกว่าค่าตั๋วรถไฟ ยิ่งเมื่อเทียบกับความเร็ว – มากกว่าความสะดวก แต่ขยายการเข้าถึงการบริโภคของสินค้าและบริการที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นของ “คนรวย” เท่านั้นได้ และทำให้พ่อแก่แม่เฒ่า ชาวบ้าน ตาสีตาสา อี่แก้ว อี่คำ เห็นว่า เออ ไม่ได้มีแต่เทวดานะ ได้ “บิน” อยู่บนฟ้า

สิ่งที่กลายเป็นภัยคุกคาม “อำนาจเก่า” คือชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรคไทยรักไทยที่ได้มา 374 เสียง เป็นพรรคที่กวาดเอาพรรคเล็กๆ มาเป็นมุ้งอยู่ในพรรคตัวเองได้หมด

ส่งผลให้ประชาธิปัตย์มีแนวโน้มจะเป็นพรรคฝ่ายค้านอย่างไม่มีวันลืมตาอ้าปาก

พรรคไทยรักไทยได้คะแนนนิยมจาก “รากหญ้า” อย่างเป็นเอกฉันท์ ขณะเดียวกัน ชนชั้นกลางในเมือง ปัญญาชน มองว่าทักษิณและไทยรักไทย ชักจะเหลิงในอำนาจ

และวาทกรรม เผด็จการรัฐสภาก็เกิดขึ้น

 

จะไม่เขียนเล่าซ้ำๆ ถึงการเกิดขึ้นของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่ผลของมันคือการรัฐประหารปี 2549 ท่ามกลางวาทกรรม ขายชาติ ล้มเจ้า เผด็จการรัฐสภา นโยบายประชานิยม มอมเมาประชาชน นักการเมืองเลว แสวงหาผลประโยชน์ ให้อำนาจโกงข้อสอบ เอาลูกเข้ารัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตากใบ กรือเซะ ฯลฯ

เกมการเมืองเปลี่ยนเมื่อพบว่า แม้จะทำรัฐประหาร ฆ่าคนเสื้อแดง จับคนเสื้อแดงเข้าคุก ทำลายทุกอย่าง แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550 พรรคเพื่อไทยก็ยังชนะการเลือกตั้งจนทำให้น้องสาวทักษิณ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีก

ผีทักษิณมันตามหลอกหลอนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนทำให้ม็อบ กปปส.จุดติด นำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้ง

การรัฐประหาร 2549 จุดติดด้วยวาทกรรม ขายชาติ ล้มเจ้า เผด็จการรัฐสภา โกง และทางปัญญาชนซื้อเรื่องกรือซะ ตากใบ ส่วนม็อบ กปปส.จุดติดด้วยเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เรียกกันว่า นิรโทษกรรมเหมาเข่ง

มวลชนปีกประชาธิปไตย ซื้อ “เรื่องเล่า” ว่าด้วยเรื่อง “ทักษิณอยากกลับบ้านเลยเกี้ยเซี้ย” ส่วนลูกจีนรักชาติ ซื้อการไล่ยิ่งลักษณ์ด้วยเรื่องโกงจำนำข้าว

จะเห็นว่า พรรคเพื่อไทยและตระกูลชินวัตร เริ่มเป็น “สนามอารมณ์” ของทั้งฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายสนับสนุนอำนาจอนุรักษนิยม

 

แม้ม็อบ กปปส.จะจุดติด และมีมวลชนไปร่วมด้วยจำนวนมาก แต่การรัฐประหารปี 2557 ไม่ได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญเหมือนปี 2549

หลายๆ คนไปม็อบ แต่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

ในขณะที่การต่อสู้ทางความคิดโดยนักวิชาการ “เสื้อแดง” รุ่นใหม่หลายคน ทำให้เกิดภาวะตาสว่างในหมู่คนรุ่นใหม่

ฉันเห็นว่า ภาวะ “ตาสว่าง” ของสังคมไทยมีสองระลอก

ระลอกแรก เป็นภาวะตาสว่างคนเสื้อแดงที่รู้ว่าต้นตอของปัญหาคืออะไร

และหากลงรายละเอียดจะเห็นว่า คนเสื้อแดงก็ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันหลังสลายการชุมนุม

เพราะมีทั้งแดงสยาม แดงอักษะ แดงทักษิณ

มีแดงสุดขั้วที่เลือกลี้ภัยไปต่างประเทศ และมีแดงบางส่วนที่สมาทานแนวคิดขวาจัดด้วย รวมไปถึงแดงปัญญาชน ที่รักษาความไม่ไว้วางใจในพรรคและทักษิณอย่างสม่ำเสมอ และเคลือบแคลงเรื่องจุดยืนว่าด้วยการ “เกี้ยเซี้ย”

ระลอกที่สอง เป็นภาวะตาสว่างของคนในรุ่นอายุ 13-20 ปีต้นๆ หรืออายุมากกว่านั้นแต่เพิ่งมาตื่นตัวทางการเมือง

การเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้จะแตกต่างจากกลุ่มตาสว่างรุ่นแรก นั่นคือต้องการเปลี่ยนแปลงที่หัวใจของปัญหาและท้าชนด้วยวัฒนธรรม pop culture ในยุคสมัยของเขาที่เติบโตมาพร้อมกับคุณค่าของความกล้าถกเถียง ท้าทาย และการทำ “มีม” ไปจนถึงการล้อเลียนในรูปแบบต่างๆ

ในสายตาของคนกลุ่มนี้ พรรคเพื่อไทยกลายเป็นพรรค “อนุรักษนิยม” ไม่ตอบโจทย์

 

นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เหมือนจะ “เคลื่อนไปข้างหน้า” ในการเมืองไทยร่วมสมัย

แต่ในการเคลื่อนไปข้างหน้าก็เหมือนวนกลับมาที่เดิม เพราะกลุ่มคนที่ตาสว่างในระลอกที่สอง มองว่าการเมืองผ่านระบบตัวแทนและการเลือกตั้งกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนนคือ เรื่องเดียวกัน และใช้เป้าหมายของการเมืองเชิงแอ็กติวิสต์มา “ตัดสิน” การเคลื่อนไหวทางการเมืองในระบบการเลือกตั้ง

ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและได้ดั่งใจ ขณะเดียวกันก็มองการเมืองด้วยสายตาแบบนักศีลธรรม ดี ชั่ว ขาว และดำ

ยังว่ายวนอยู่ในวาทกรรมชุดเดียวกับนักเคลื่อนไหวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คือเห็นว่าการเมืองต้องบริสุทธิ์ผุดผ่อง

การเลือกตั้งต้องปราศจากการเมืองบ้านใหญ่และการขายเสียง ไม่เอาการเมืองเครือญาติ ต้องปฏิรูปทุกสิ่งอย่าง เปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างให้สำเร็จ

ใครไม่ทำดังนี้ถือเป็นการเมืองหลอกลวง เกี้ยเซี้ย การเมืองเก่า ฯลฯ

 

สําหรับฉันทั้งหมดนี้ถือเป็นสัญญาณบวกว่า อย่างน้อยการเมืองไทยไม่ได้ย่ำอยู่ที่เดิม ประเด็นเรื่องมาตรา 112 กลายเป็นข่าวรายวันในหลากหลายมิติอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

กลุ่มคนขวาจัดต้องออกมาตั้งพรรคการเมืองในสนามการเลือกตั้ง เช่น ไทยภักดี

กลุ่มคนรุ่นใหม่มีพรรคก้าวไกลเป็นตัวแทน

กลุ่มคนที่ยืนยันการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง และมองว่าการเมืองระบบตัวแทน และรัฐสภา เป็นพื้นที่แห่งการเจรจา ต่อรอง หาจุดที่ไปต่อได้ ขณะเดียวกันก็เปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยสูญเสียน้อยที่สุด ก็มีพรรคเพื่อไทย เสรีรวมไทย ประชาชาติ เป็นตัวเลือก

ฝ่ายสืบทอดอำนาจก็ต้องมาตั้งพรรคการเมืองเพื่อสู้ในสนามเลือกตั้ง ทั้งพลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ

และแม้แต่ ส.ว.ก็ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่สำคัญองค์ประกอบขององคาพยพของกลุ่มก้อนอำนาจเก่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและอย่างที่ไม่มีคาดเดาได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะนำไปสู่อะไร

และอย่าลืมว่าในทุกๆ การเปลี่ยนแปลงมี “การกระทำ” ของเราทุกคนอยู่ในนั้นเสมอ และการ “ไม่ทำ” ก็คือ “การทำ” ในอีกแบบหนึ่งอยู่ดี

 

เพราะฉะนั้น เวลาพูดว่า เมื่อไหร่ประชาธิปไตยจะเกิด เมื่อไหร่การเมืองจะดีขึ้น พึงรู้ว่าเรามีส่วนในการขยับให้มันไปในทางใดทางหนึ่งเสมอ การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดจากวีรบุรุษ วีรสตรี คนเก่ง คนกล้า หนึ่งหรือสองคนทำให้มันเกิด

ที่สำคัญประชาธิปไตยไม่อาจเกิดขึ้นในชั่วข้ามวัน หรือในหนึ่งการเคลื่อนไหวต่อสู้ และความพ่ายแพ้ ไม่ได้หมายถึงการสะสมชัยชนะ

สู้ยาวๆ และอย่าดูถูกการเลือกตั้งและการเมืองระบบตัวแทน เพราะนั่นคือแหล่งที่มาของความเปลี่ยนแปลงดุลแห่งอำนาจ แม้จะยังไม่ใช่ประชาธิปไตยในอุดมคติ

ประชาธิปไตยคือกระบวนการ คือการเดินบนถนนเส้นนี้ไปโดยไม่มีคำว่า “สำเร็จ สมบูรณ์แบบ” รออยู่ข้างหน้า

หรือนี่อาจเป็นยาขมที่สุดสำหรับนักเคลื่อนไหวที่มีความโรแมนติกเป็นสรณะว่า ทำไมสู้แล้วไม่ชนะสักที