อุษาวิถี (13) อุษาวิถีจากกระแสอินเดีย (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (13)

อุษาวิถีจากกระแสอินเดีย (ต่อ)

 

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่า ภายใต้พัฒนาการดังกล่าวเมื่อกาลเวลาก้าวล่วงมาถึงจุดๆ หนึ่ง ชุดความความคิดหรือ “สัจธรรม” เหล่านี้ก็ถูกผสมกลมกลืนเข้าไปในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งยังคงทิ้งร่องรอยเดิมเอาไว้ให้เห็นอยู่บ้าง

ปรากฏการณ์นี้เองที่ได้กลายมาเป็นรากฐานวัฒนธรรมของอินเดียวิถีไปในที่สุด รากฐานนี้ส่วนหนึ่งได้แสดงตัวตนออกมาในรูปของสิ่งที่เรียกว่า “ศาสนาฮินดู”

หากไม่นับเอาคำว่า “ฮินดู” เพียงคำเดียวที่บางครั้งหมายถึง “ชาวอินเดีย” ในความเข้าใจของต่างชาติแล้ว (ที่ถูกควรเรียกว่า ชาวฮินดี) ฮินดูในแง่ศาสนาหรือลัทธิความเชื่อออกจะมีความเลือนรางไม่น้อย

เพราะไม่มีความแน่นอนด้วยมีหลายรูปหลายลักษณะ

แต่สิ่งที่สามารถสรุปได้ในเบื้องต้นก็คือ ฮินดูเป็นคำที่เกิดขึ้นหลังพุทธกาลไปแล้ว จนเมื่อมาเป็นศาสนาหนึ่งก็เป็นศาสนาที่งอกเงยจากศาสนาพราหมณ์ ทั้งนี้ โดยมีการผสมผสานเอาคำสอนของศาสนาพุทธเข้าไปด้วย

ไม่ได้หมายความว่าศาสนาพุทธเอาคำสอนของศาสนาพราหมณ์มาใช้ ดังที่มีผู้พยายามอธิบายหรือทำให้เข้าใจเช่นนั้น

และด้วยปรากฏการณ์ที่ว่านี้ ก็ได้ทำให้รากฐานวัฒนธรรมอินเดียดำรงอยู่มาได้ภายใต้โครงสร้างที่มีลักษณะร่วมเป็นของตนเองโดยเฉพาะ

โครงสร้างนี้ถือเป็นผลผลิตของกระแสพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ หรือกระบวนการเรียนรู้ของสังคมอินเดียเอง

นั่นคือ โครงสร้างทางสังคมที่มีระบบวรรณะ ระบบการปกครองตนเองประจำหมู่บ้านของแต่ละหมู่บ้าน และระบบครอบครัวร่วม

กล่าวคือว่า ในระบบวรรณะนั้นถึงแม้จะแยกคนออกเป็นชั้นอาชีพต่างๆ จนเกิดความรู้สึกที่เหลื่อมล้ำก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดตามมาด้วยก็คือ การแยกคนแต่ละชั้นออกเป็นชุมชนของตนเองออกไปอย่างอิสระ

โดยอิสระที่ว่านี้ได้นำมาซึ่งการจัดการปกครองกันเองของชนในวรรณะนั้นๆ ไม่มีใครมาก้าวก่ายใคร

ประเด็นก็คือว่า เมื่อเวลาผ่านไปนานวันเข้า สังคมก็พัฒนาจนมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น อาชีพใหม่ก็เกิดมากขึ้นตามมา และยิ่งเกิดขึ้นมากเพียงใด วรรณะย่อยก็เกิดมากขึ้นเพียงนั้น

กระแสพัฒนาการนี้มีมาจนปัจจุบันนี้

 

ฉะนั้น ภายใต้ความหลากหลายเช่นนี้ ผลที่ตามมาจึงกลายเป็นว่า ชนวรรณะต่ำอื่นๆ ก็สามารถที่จะยกระดับตนเองให้สูงขึ้นได้ด้วยเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี ถึงแม้จะยังมีไม่มากก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญยังมีอยู่อีกว่า การที่อาชีพมีส่วนในการแยกกลุ่มชนออกเป็นวรรณะโดยไม่ก้าวก่ายกันเช่นนี้ สังคมส่วนใหญ่จึงไม่มีการแก่งแย่งและกอบโกยกัน การแบ่งคนจึงไม่ส่งผลร้ายมากนัก

ส่วนผลดีที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อมีการจัดสรรทรัพยากร หรือผลผลิตที่ชนทุกวรรณะพึงจะได้รับ วิธีการก็คือว่า เนื่องจากทุกวรรณะต้องอิงซึ่งกันและกันผ่านอาชีพ ชนทุกวรรณะจึงมีส่วนบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่สังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เมื่อเป็นเช่นนี้ทุกคนตั้งแต่วรรณะที่สูงที่สุดลงมาจนถึงวรรณะที่ต่ำที่สุด จึงได้รับการจัดสรรหรือส่วนแบ่งผลผลิตที่ได้มา

จะเห็นได้ว่า โครงสร้างที่กล่าวมานี้ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างระบบวรรณะกับระบบการปกครองตนเองประจำหมู่บ้าน

ระบบหลังนี้เห็นได้ชัดว่า เป็นระบบที่มีรากฐานวัฒนธรรมทางเศรษฐกิจการเมืองแบบสาธารณรัฐเมื่อครั้งอดีต

 

ส่วนระบบที่สามหรือระบบครอบครัวร่วมนั้นหมายถึง ระบบที่เกิดจากการที่ทุกคนในครอบครัวมีส่วนร่วมในทรัพย์สินอย่างเท่าเทียมกัน หัวหน้าครอบครัวเป็นแต่เพียงผู้จัดการทรัพย์สินเท่านั้น

ดังนั้น ทุกคนในครอบครัวจึงมีหลักประกันในชีวิต ไม่ว่าจะเกิดมาพิกลพิการอย่างไรก็ตาม และบุคคลในครอบครัวจะไม่ได้รับการส่งเสริมให้แสวงหาประโยชน์ หรือสัมฤทธิผลเป็นส่วนตัว

แต่โดยให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของกลุ่มคณะและครอบครัวอย่างเป็นด้านหลัก

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ระบบครอบครัวร่วมดังกล่าวนี้เป็นรากฐานสำคัญยิ่งให้กับสองรากฐานแรก เพราะถึงที่สุดแล้วก็มิได้เป็นรากฐานที่ส่งเสริมความเป็นปัจเจก มากไปกว่าความเป็นส่วนรวม

ด้วยการเอื้อต่อกันของรากฐานโครงสร้างทั้งสามนี้จึงมีการกล่าวกันว่า ทั้งสามรากฐานนี้คือ “เสาค้ำโครงสร้างสังคมอินเดีย”

ซึ่งแม้จะเป็นโครงสร้างที่สืบทอดมาแต่โบราณกาลก็ตาม แต่ก็เป็นโครงสร้างที่ซึ่งเยาวหราล เนห์รู ได้กล่าวไปในหนังสือ พบถิ่นอินเดีย (หน้า 495-497) ว่า “หากไม่มีส่วนดีอยู่บ้างแล้ว โครงสร้างนี้ก็คงจะไม่มีชีวิตอยู่รอดมาได้จนถึงปัจจุบัน”

และเป็นโครงสร้างที่ “…มีอุดมคติทางปรัชญาแห่งวัฒนธรรมของอินเดียเป็นพื้นฐาน อันได้แก่การสร้างคนให้สมบูรณ์และเน้นหนักถึงคุณธรรมความดี สุนทรียภาพและสัจธรรม แทนที่จะเน้นหนักถึงความละโมบโลภมากและกอบโกย…

ได้มีการย้ำให้ปัจเจกบุคคลและกลุ่มคณะคำนึงถึงหน้าที่ ไม่ใช่สิทธิ…”

 

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้รากฐานของระบบครอบครัวร่วมได้สลายตัวไปด้วยการเข้ามาของทัศนะปัจเจกนิยม

และถึงที่สุด รากฐานของระบบภายใต้โครงสร้างที่ว่ายังคงเป็นระบบที่ปิดตนเอง ระบบนี้จึงสูญเสียพลังในเวลาต่อมา บรรดากลุ่มที่มีผลประโยชน์และทรงไว้ซึ่งอำนาจ ก็ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงใดๆ อีก ไม่ยอมให้มีการศึกษาหาความรู้แพร่ไปยังชนวรรณะอื่นๆ

การสูญพลังไปเช่นนี้เห็นได้ชัดว่า แม้โครงสร้างอันเป็นรากฐานวัฒนธรรมอันสำคัญยิ่งของอินเดียวิถีจะมีส่วนดีอยู่ด้วยก็ตาม แต่ในที่สุด จุดอ่อนอันสำคัญก็ยังคงมาจากระบบวรรณะ

ภายใต้ระบบนี้ประกอบกับการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตก สิ่งที่สังคมอินเดียสูญเสียไปจากโครงสร้างดังกล่าวก็คือ สิทธิชุมชนที่ปรากฏอยู่ในรากฐานวัฒนธรรมจากที่กล่าวมา

ซึ่งถูกทำลายไปแล้วไม่น้อย