การทูตไทย เมื่อเวียดนามบุกเขมร …และจีนลุยเวียดนาม

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

 

การทูตไทย

เมื่อเวียดนามบุกเขมร

…และจีนลุยเวียดนาม

 

สงครามเวียดนามสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในกลุ่มประเทศอินโดจีนทั้งหมดในปี 2518

พอถึงเดือนธันวาคมปีเดียวกัน เวียดนามส่งทหารรุกรานและยึดครองกัมพูชา

ทำให้บรรดาประเทศในภูมิภาคที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ในอาเซียนเกิดความวิตกหวั่นไหวต่อภัยคุกคาม “ที่มาถึงประตูหน้าบ้าน”

เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ทฤษฎีโดมิโน” ซึ่งหมายความว่าประเทศอื่นๆ ในย่านนี้จะล้มครืนตาม

ประเทศไทยถูกมองว่าจะเป็น “โดมิโน” ที่จะล้มเป็นตัวถัดไป

คุณอาสา สารสิน ในฐานะนักการทูตมืออาชีพได้เล่าในหนังสือ “ชีวิต-งาน อาสา สารสิน ในวาระสิริอายุครบ 7 รอบ” ตอนหนึ่งว่า

“การที่เวียดนามส่งกำลังทหารเข้ามายึดครองกัมพูชาและประชิดชายแดนไทย อีกทั้งยังมีชาวกัมพูชาหนีภัยมาอาศัยพักพิงตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาเป็นจำนวนแสนกว่าคน ได้ส่งผลให้เกิดความระส่ำระสายในประเทศไทยเป็นอย่างมาก

“เป็นการย้ำเตือนทฤษฎีโดมิโน ประกอบกับประเทศไทยเองกำกำลังเผชิญกับภัยคุกคามภายในประเทศจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

“ความวิตกกังวลนั้นถึงขั้นที่เศรษฐีไทยหลายคนเริ่มตระเตรียมจะอพยพครอบครัวไปตั้งรกรากในสหรัฐหรือประเทศตะวันตกอื่นๆ…”

เวียดนามให้เหตุผลต่อนานาชาติว่าการส่งกำลังทหารเข้ากัมพูชาก็เพื่อล้มล้างรัฐบาลเขมรแดงที่ทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชาชนของตนเอง

แต่หลายฝ่ายก็เชื่อว่าเวียดนามมีแผนการที่จะเสริมสร้างอิทธิพลของตนเหนือกลุ่มประเทศอดีตอินโดจีนทั้งหมด

“ทางด้านอาเซียนซึ่งขณะนั้นประกอบด้วยประเทศที่ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5 ประเทศคือ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์และไทย จึงได้ผนึกกำลังกันด้วยการดำเนินการทางการทูตและการเมืองระหว่างประเทศเพื่อระดมความสนับสนุนจากประชาคมโลกในการต่อต้านการยึดครองกัมพูชาโดยเวียดนามอย่างไม่ชอบธรรม

“อันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของไทยในฐานะเป็นรัฐด่านหน้า และต่อสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคโดยรวม…”

 

ผมเชื่อว่าคนไทยรุ่นนี้คงต้องการจะรู้ว่าการทูตไทยทำอย่างไรกับภัยคุกคามนั้น?

หัวใจสำคัญของการดำเนินยุทธศาสตร์ทางการทูตของไทยคือการจัดตั้งรัฐบาลผสมสามฝ่าย อันประกอบด้วยฝ่าย FUNCIPEC ของเจ้านโรดม สีหนุ กษัตริย์กัมพูชา ฝ่าย KPNLF ของนายซอน ซานน์ อดีตนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา และฝ่ายเขมรแดงที่มีนายเขียว สัมพัน เป็นผู้นำ

คุณอาสาเล่าว่า

“ผู้นำไทยและประเทศอื่นๆ ในอาเซียนด้วยการสนับสนุนจากฝ่ายจีนได้โน้มน้าวให้เจ้านโรดมสีหนุซึ่งลี้ภัยอยู่ที่ปักกิ่งหลังจากที่เวียดนามยึดครองกัมพูชากลับมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำของรัฐบาลผสมกัมพูชาเพื่อเป็นการรักษาที่นั่งกัมพูชาในสหประชาชาติไม่ให้ตกเป็นของรัฐบาลเฮง สัมริน ที่เวียดนามได้อุปโลกน์ขึ้นมา..”

จังหวะนี้มีความสำคัญต่อการป้องกันไม่ให้ไทยกลายเป็นโดมิโนตัวต่อไปด้วยอย่างน่าสนใจ

คุณอาสาวิเคราะห์ในหนังสือว่า

“เหตุการณ์ในกัมพูชาได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเวียดนามต้องแตกหัก ด้วยเหตุที่เวียดนามได้รุกรานและยึดครองกัมพูชาเมื่อปี 2521 ซึ่งเป็นรัฐบาลที่จีนให้การสนับสนุน

“จีนจึงโต้ตอบด้วยการโจมตีเวียดนามในปี ค.ศ.1979 และหันมาสนับสนุนไทยและอาเซียนอย่างเต็มที่ในการต่อต้านเวียดนาม

“ทั้งๆ ที่ทั้งสองประเทศ (จีนกับเวียดนาม) เป็นพันธมิตรร่วมอุดมการณ์เดียวกัน…”

ประจวบกับความขัดแย้งได้ปะทุขึ้นในกลุ่มประเทศค่ายคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมจนนำไปสู่การแตกหักของความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียตกับจีนที่ในอดีตเคยร่วมกันเป็นผู้นำของขบวนการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ทั่วโลก

โดยฝ่ายจีนกล่าวหาสหภาพโซเวียตว่าละทิ้งอุดมการณ์ และมุ่งดำเนินลัทธิครองความเป็นเจ้าโลก (global hegemony)โดยมีเวียดนามเป็นตัวแทนในการแผ่อิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อันเปรียบเป็นสนามหลังบ้านของจีน

คุณอาสาเล่าต่อว่า

“เหตุการณ์ที่เวียดนามรุกรานกัมพูชาในปี ค.ศ.1978 และการที่จีนตอบโต้เวียดนามในปี 1979 นั้นส่งผลให้จีนปรับนโยบายต่อการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอย่างชัดเจน…”

เดิมจีนได้แยกการดำเนินนโยบายต่อไทยเป็น 2 ระดับ

แม้ว่าจีนจะมุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับไทยในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล แต่จีนก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ของทั้งสองประเทศ

“ซึ่งท่าทีดังกล่าวของจีนได้สร้างความอึดอัดใจให้กับไทยอย่างยิ่ง…เพราะในช่วงนั้น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ประกาศท่าทีอย่างชัดเจนว่าต้องการล้มล้างรัฐบาลไทย และเปลี่ยนการปกครองของไทยเป็นระบอบคอมมิวนิสต์

“หลังจากเวียดนามเข้ายึดครองกัมพูชา จีนได้เปลี่ยนท่าทีดังกล่าว โดยยกเลิกการสนับสนุนที่เคยให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ปฏิเสธข้อเสนอของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามที่จะเข้ามาสนับสนุนแทนจีน…” คุณอาสาเล่า

เป็นจังหวะเดียวกับที่นโยบายภายในประเทศของไทยสมัยนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ คือนโยบาย 66/23 ที่เน้นการปรองดองในการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้บรรดานิสิตนักศึกษาที่ไปร่วมขบวนการฝ่ายคอมมิวนิสต์ออกมามอบตัวและกลับคืนสู่สังคม

ทำให้รัฐบาลไทยสามารถมีชัยชนะในการต่อสู้กับขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยได้ในที่สุด

นี่ย่อมพิสูจน์ว่าในท้ายที่สุดแล้ว ผลประโยชน์ของชาติมีความสำคัญเหนือสายสัมพันธ์ทางลัทธิอุดมการณ์

 

สถานการณ์ความขัดแย้งในกัมพูชายืดเยื้อกว่า 10 ปีก่อนจะคลี่คลายเมื่อสงครามเย็นยุติลงหลังจากกำแพงเบอร์ลินถูกพังทลายในปี ค.ศ.1989

และการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในเวลาต่อมา

ผลที่ตามมาก็คือความช่วยเหลือที่สหภาพโซเวียตเคยให้กับเวียดนามมีอันถูกตัดลง

อีกทั้งเวียดนามเองก็เริ่มเหนื่อยล้าจากการที่ต้องคอยค้ำจุนรัฐบาลหุ่นของตนในกัมพูชา

มิหนำซ้ำ ยังโดนโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก

พอรัฐบาลของนายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ ประกาศนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ไทยก็ผลักดันให้กัมพูชาทุกฝ่ายมาสู่โต๊ะเจรจา

รัฐบาลไทยจึงเปิดประตูติดต่อหารือฝ่ายฮุน เซน ด้วย

บางฝ่ายในไทยขณะนั้นมองว่าแนวทางของรัฐบาลชาติชายเช่นนี้อาจจะบั่นทอนสถานะของรัฐบาลผสมกัมพูชาสามฝ่ายที่อาเซียนได้ให้การสนับสนุน

และอาจเป็นการเสริมสถานะและอำนาจต่อรองของฝ่ายฮุน เซน

พอคุณอาสาเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศก็ตระหนักว่าเวลาทำงานมีไม่มาก จึงตั้งเป้าหมายอันดับแรกคือการเปิดศักราชใหม่ในความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านบนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจและผลประโยชน์ร่วมกัน

โดยเฉพาะปัญหากัมพูชา มีการเจรจาหลายรอบที่อินโดนีเซีย แต่กัมพูชาทั้งสี่ฝ่ายก็ยังไม่สามารถบรรลุถึงการปรองดองอย่างแท้จริง

และไม่สามารถตกลงกันได้ว่าด้วยกระบวนการบริหารประเทศของรัฐบาลชั่วคราวที่เรียกชื่อว่า Supreme National Council of Cambodia หรือ SNC

รัฐมนตรีอาสาบอกว่าไทยได้เดินนโยบายปฏิบัติต่อกัมพูชาและทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมและไม่ลำเอียง

พร้อมกันนั้นก็ยกสถานะเจ้านโรดม สีหนุ ให้อยู่ในฐานะสูงสุด และเป็นผู้นำสร้างความปรองดองระหว่างกัมพูชากับฝ่ายต่างๆ

ไทยเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกัมพูชาทั้งสี่ฝ่ายเมื่อ 23 มิถุนายน ค.ศ.1991 โดยไทยเป็นผู้ประสานและอำนวยความสะดวก

ที่ประชุมที่พัทยาบรรลุข้อตกลงว่าด้วยขั้นตอนการดำเนินการบริหารประเทศชั่วคราวภายใต้ SNC โดยให้เจ้าสีหนุเป็นผู้นำกัมพูชาในช่วงเปลี่ยนผ่าน

นำไปสู่การลงนามข้อตกลงสันติภาพในกัมพูชาในระหว่างการประชุมที่กรุงปารีสในเดือนตุลาคมในปีเดียวกัน

การทูตไทยในช่วงวิกฤตรอบบ้านเราจึงท้าทายความสามารถของการดำเนินวิเทโศบายให้รอดจากปากเหยี่ยวปากกาได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

(สัปดาห์หน้า : เมื่อ กต. เจรจาสหรัฐ ถอนสถานีสอดแนม ‘รามสูร’ 2519)