เรือเล็กกลางพายุใหญ่ 2566! กองทัพไทยใน ‘มหาสมุทรแห่งพายุ’

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

เรือเล็กกลางพายุใหญ่ 2566!

กองทัพไทยใน ‘มหาสมุทรแห่งพายุ’

 

“การผลักดันความเปลี่ยนแปลงจากภายนอก ในขณะที่กระทรวงกลาโหมไม่เต็มใจด้วยนั้น คือการเดินขึ้นเขาสูงชันที่ยากลำบาก”

Winslow T. Wheeler

ความเห็นเรื่องการปฏิรูปกองทัพอเมริกัน (2009)

 

ในสถานการณ์ของความผันผวนทางการเมืองปัจจุบัน กองทัพไทยเสมือนอยู่ท่ามกลาง “มหาสมุทรแห่งพายุใหญ่” ที่กำลังพัดอยู่ในสังคมไทย

ซึ่งพายุทางการเมืองเช่นนี้ดำเนินสืบเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา

สภาวะดังกล่าวในด้านหนึ่งจึงท้าทายอย่างมากต่อผู้นำกองทัพเอง ที่จะต้องพาสถาบันทหารให้ฝ่าฟันผ่านพายุเช่นนี้ไปให้ได้…

ถ้าเป็นกัปตันเรือ ก็จะต้องพาเรือเดินทางสู่จุดหมายปลายทางให้ได้อย่างปลอดภัย ไม่ล่มลงในใจกลางพายุนี้

ในอีกด้านหนึ่ง บทบาทของกองทัพถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในทุกมิติ และตามมาด้วยเสียงเรียกร้องให้เกิดการ “ปฏิรูปกองทัพ”

ซึ่งการเรียกร้องในเรื่องนี้จะดังมากขึ้น เสมือนเป็นพายุอีกลูกในปี 2566

 

ทำกองทัพให้เป็นการเมือง

กองทัพไทยไม่ว่าจะมองผ่านบริบทของตัวผู้นำทหาร หรือสถาบันทหาร จะเห็นได้ว่ากองทัพไทยถูกทำให้เป็นสถาบันทางการเมืองอย่างชัดเจน หรืออาจกล่าวในทางทฤษฎีคือ เกิดสภาวะ “politicization” กับสถาบันทหารของสังคมไทย

ดังจะเห็นถึงบทบาททางการเมืองของกองทัพในการเมืองไทยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งทำให้กองทัพกับการเมืองไทยเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้

กระบวนการทำให้เป็นการเมืองเช่นนี้ทำให้ทหารไทยกลายเป็น “ทหารการเมือง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะโอกาสที่กองทัพจะแยกตัวออกจากการเมืองนั้น ดูจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก

ซึ่งผู้นำทหารที่มีอำนาจควบคุมและบังคับบัญชากองทัพเอง ก็ไม่มีความคิดที่จะทำให้เกิด “การถอนตัวของทหารจากการเมือง” ตามแนวคิดของ “สำนักเปลี่ยนผ่านวิทยา” (Transitology) อันจะเป็นต้นทางของกระบวนการสร้างประชาธิปไตย (Democratization)

กล่าวคือ การถอนตัวของกองทัพออกจากการเมืองเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของ “การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย”

ตราบเท่าที่กองทัพยังดำรงบทบาทสำคัญในทางการเมืองแล้ว ความหวังที่จะสร้างความสำเร็จของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยย่อมไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้โดยง่าย ทั้งยังไม่มีหลักประกันว่าการมีบทบาทของกองทัพเช่นนั้น อาจพาสังคมกลับไปสู่ “การเปลี่ยนผ่านสู่อำนาจนิยม” ซึ่งก็คือสภาวะด้านตรงข้ามของประชาธิปไตยนั่นเอง

และมักจะพบเสมอว่าการพาสังคมการเมืองหวนคืนสู่ระบอบอำนาจนิยมนั้น กองทัพคือเครื่องมือหลักที่ใช้ในการโค่นล้มระบอบเลือกตั้ง ไม่ว่าจะใช้การรัฐประหาร หรือใช้การกดดันในแบบ “soft coup” ให้รัฐบาลพลเรือนต้องสิ้นสภาพไป และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้นำทหาร หรือปรากฏชัดด้วยการขึ้นสู่อำนาจของผู้นำทหารเอง

แต่การสร้างกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่อำนาจนิยม ที่มีรัฐประหารเป็นเครื่องมือหลักนั้น ย่อมนำไปสู่การจัดตั้ง “ระบอบทหาร” เพราะชนชั้นนำปีกขวา และบรรดาผู้นำสายขวาจัดทั้งหลายมักมีความเชื่อว่า รัฐบาลทหารคือ “เสาค้ำความมั่นคง” ของอำนาจรัฐฝ่ายขวาไทย โดยเฉพาะกลุ่มขวาจัดจะต้องยึดโยงอยู่กับอำนาจทางการเมืองของกองทัพอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

อันอาจกล่าวเป็นข้อสังเกตว่า อำนาจของฝ่ายขวาจัดไทยไม่อาจดำรงอยู่ได้โดยปราศจากอำนาจของฝ่ายทหาร

นอกจากนี้ สังคมไทยในช่วงที่ผ่านมาเห็นถึงการปรับตัวของปีกขวาจัดไทย ที่ไม่อาจเรียกว่าพวกเขาเป็น “อนุรักษนิยมกระแสหลัก” ได้อีกต่อไป

หากกลุ่มการเมืองในปีกนี้มีความโน้มเอียงเป็น “จารีตนิยม” มากขึ้น

หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการสนธิทางอุดมการณ์ จนเกิดความเป็น “อนุรักษนิยม-จารีตนิยม” และดำรงชุดความคิดแบบต่อต้านประชาธิปไตยเป็นทิศทางหลัก

หรือที่มักเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “สลิ่ม”

ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ให้คุณค่ากับประชาธิปไตย ทั้งยังต้องการทำลายระบอบนี้อีกด้วย

 

อำนาจรัฐเกิดจากปากกระบอกปืน

ชุดความเชื่อของฝ่ายขวาจัดไทยที่ต้องแอบอิงอยู่กับอำนาจทางการเมืองของกองทัพ ทำให้ “จักรกลการทำลาย” ระบอบเลือกตั้งที่ดีที่สุดคือ การใช้อำนาจทางทหารของ “กองทัพประจำการแห่งรัฐ” ทำลายตัวรัฐบาลที่คุมกองทัพเอง

จึงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่าผู้นำทหารขวาจัดไทยคือ กลุ่มที่นิยม “ความคิดเหมา เจ๋อตุง” โดยยึดคำสอนของประธานเหมา ที่กล่าวเป็น “คัมภีร์” สำหรับบรรดานักรบกองโจรทั่วโลกว่า “อำนาจรัฐเกิดจากปากกระบอกปืน” เป็นแนวทางหลัก

ฝ่ายขวาจัดไทยดูจะสมาทานชุดความคิดนี้อย่างมาก ฉะนั้น จึงต้องยอมรับจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงปัจจุบันว่า เครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดที่ใช้ทำลายการเมืองในระบอบประชาธิปไตยคือ “การรัฐประหาร”

และเมื่อทำรัฐประหารสำเร็จแล้ว กระบวนการที่เป็นสูตรสำเร็จทางการเมืองในเวลาต่อมาคือ การจัดตั้งรัฐบาลทหาร ตั้งสภานิติบัญญัติภายใต้การเลือกและการควบคุมโดยผู้นำรัฐประหาร

เมื่อเกิดความพร้อมทางการเมือง หรือความจำเป็นที่ต้องลดแรงกดดันจากเวทีสากล พวกเขาก็จะดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญ และประกาศกำหนดเวลาการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศ

วังวนเช่นนี้คือ “วงจรแห่งความล้มเหลว” ของระบอบประชาธิปไตยไทย

ความน่าหดหู่ใจก็คือ วงจรนี้เกิดขึ้นซ้ำซาก และพาสังคมไทยเข้าสู่ “กับดักรัฐประหาร” (coup trap)

ดังเช่นที่นักรัฐศาสตร์ได้ศึกษาตัวแบบของการยึดอำนาจของกลุ่มประเทศในแอฟริกา และพบว่าภาวะซ้ำซากของการรัฐประหารทำให้ “รัฐประหารครั้งนี้คือคำตอบของรัฐประหารครั้งหน้า”

และความน่าสนใจที่น่าอดสูในกรณีนี้ก็คือ กรอบความคิดของการรัฐประหารในทวีปแอฟริกาถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการยึดอำนาจของกองทัพไทย เพราะไทยในมุมมองของนักรัฐศาสตร์ตะวันตก เป็นประเทศที่การเมืองไม่อาจหลุดพ้นจาก “วงจรรัฐประหาร”

หรือกล่าวในอีกมุมหนึ่งคือ ไทยเป็นประเทศที่เข้าไปติด “กับดักรัฐประหาร” และไม่สามารถก้าวข้ามการยึดอำนาจของฝ่ายทหารได้เลย

การเมืองไทยในลักษณะเช่นนี้ทำให้สถานะเดิมของประเทศที่แม้ไทยอยู่ในระดับบนของ “ประเทศกำลังพัฒนา” ในมิติทางเศรษฐกิจ

แต่ในมิติทางการเมืองแล้ว ไทยยังคงสถานะของการเป็น “ประเทศด้อยพัฒนา” ที่มีโอกาสมีการรัฐประหาร การขาดความเป็น “นิติรัฐ” การไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องของสิทธิมนุษยชน ตลอดรวมถึงการไม่เคารพต่อเสรีภาพในการแสดงออกของบุคคล

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นดัชนีหลักของไทย หรือกล่าวได้ว่าสถานะทางการเมืองของประเทศตกต่ำ และประเทศขาดความน่าเชื่อถือทางการเมือง

อันอาจกล่าวเป็นข้อสรุปในภาพรวมได้ว่า “ไทยไม่มีเสน่ห์” และไม่ชวนให้น่าสนใจ

สถานะเช่นนี้แตกต่างอย่างชัดเจนจากกรณีของอินโดนีเซีย ซึ่งเราไม่ได้บอกว่าการเมืองอินโดนีเซียไม่มีปัญหา… ทุกอย่างดีหมดสำหรับรัฐบาลจาการ์ตา

แต่มุมมองเปรียบเทียบชี้ให้เห็นชัดว่า รัฐประหารสิ้นสุดลงแล้วในการเมืองอินโดนีเซีย และระบอบการเมืองที่จาการ์ตากำลังเดินหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่มากขึ้น

ไม่แตกต่างจากกรณีของเกาหลีใต้ ที่ก้าวข้ามพ้นจากการยึดอำนาจของผู้นำทหาร และเดินก้าวหน้ามากขึ้นสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี จนต้องถือว่าเกาหลีใต้ก้าวข้ามจากประเทศกำลังพัฒนาไปแล้ว

แม้ครั้งหนึ่งทั้งสี่ประเทศคือ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย เมียนมา และไทย ล้วนอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบทหารร่วมกัน และถือเป็นระบอบทหารที่เข้มแข็งของเอเชีย (ในอดีตประเทศที่ห้าที่มีระบอบทหารเช่นนี้คือ เวียดนามใต้ ซึ่งระบอบทหารได้พังทลายลงไปกับการล่มสลายของประเทศในปี 2518 ส่วนฟิลิปปินส์ในอดีตเป็นอำนาจนิยมภายใต้รัฐบาลพลเรือนฝ่ายขวา)

แต่วันนี้ การเมืองในเกาหลีใต้และอินโดนีเซียได้ล่วงหน้าการเมืองไทยและเมียนมา และเป็นการเดินที่ทิ้งห่างออกไปแล้ว…

ระบอบทหารในไทยและเมียนมาจึงดำรงสถานะเป็น “แฝดสยาม” แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการอยู่เช่นนี้ทำให้การเอื้ออาทรระหว่างผู้นำทหารที่มีอำนาจในรัฐบาลของสองประเทศ

ความสัมพันธ์ในแบบ “กองทัพต่อกองทัพ” เป็นปัจจัยเกื้อหนุนต่อการสร้างระบอบอำนาจนิยมในประเทศทั้งสอง

ซึ่งความสัมพันธ์เช่นนี้คือ ภาพสะท้อนของ “มิตรภาพของทหารการเมือง” ของสองประเทศดังกล่าว

 

เสียงร้องจากสังคม

ในสภาวะเช่นนี้ จึงทำให้เกิดเสียงเรียกร้องทางการเมืองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ ได้แก่

– สังคมอยากเห็นการ “ปฏิรูปทางการเมือง” ที่ทำให้กองทัพไทยถอยออกจากการเมือง และลดความเป็น “ทหารการเมือง” ลง เพื่อทำหน้าที่เป็น “กองทัพแห่งชาติ” ที่ไม่ใช่การเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำ และบรรดากลุ่มการเมืองขวาจัดที่ใช้กองทัพเป็น “จักรกลรัฐประหาร” เพื่อการทำลายระบอบประชาธิปไตย

– สังคมอยากเห็นการ “ปฏิรูปทางทหาร” ที่ทำให้กองทัพมีสภาวะของความเป็น “ทหารอาชีพ” พร้อมกับการสร้าง “วัฒนธรรมองค์กรทหารใหม่” ที่ทำให้กองทัพมีบรรทัดฐานและมาตรฐานในแบบสากล และยกเลิกคตินิยมของความเป็น “กองทัพแบบไทยๆ” ที่ไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่าการเป็นทหารการเมืองเพื่ออยู่ในอำนาจต่อไป ด้วยความเชื่อที่เป็น “มายาคติขวาจัด” ว่า ผู้นำทหารเป็นผู้ปกครองที่ดีที่สุด ซึ่งวันนี้พิสูจน์ชัดแล้วว่า “ไม่จริง” ในความเป็นจริงพบว่าผู้นำทหารไร้ประสิทธิภาพ และไร้ความรู้ความเข้าใจในการบริหารรัฐสมัยใหม่ (ที่มีความซับซ้อนมากกว่ากองทัพสมัยใหม่)

– สังคมอยากเห็นการ “ปฏิรูปภายใน” ที่จะช่วยลดทอนความเป็น “เสนาพาณิชย์นิยม” อันเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ภายในกองทัพอย่างไม่ถูกต้อง และเอื้อให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแก่ผู้นำทหารบางส่วน โดยเฉพาะนายทหารระดับบน ซึ่งประเด็นนี้รวมถึงการหาประโยชน์จากการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ การจัดซื้อจัดจ้างที่เกิดภายในกองทัพ

และรวมถึงการดำเนินการทางธุรกิจรูปแบบต่างๆ ภายในกองทัพอีกด้วย

 

เรือเล็ก-พายุใหญ่

การเมืองในปีใหม่ 2566 ที่กำลังเผชิญคลื่นลมแรงหลายลูกในสังคมไทยนั้น ผู้นำกองทัพจะพาสถาบันทหารฝ่าคลื่นลมใน “มหาสมุทรแห่งพายุ” ไปได้อย่างไร จึงเป็นประเด็นที่ท้าทายอย่างยิ่ง

และน่าสนใจอีกด้วยว่า “พายุอารมณ์” ของคนไทยต่อปัญหาของทหารจะก่อตัวเป็นพายุใหญ่หรือไม่

ผู้นำทหารอาจจะต้องตระหนักให้มากว่า ในมหาสมุทรแห่งพายุเช่นนี้ กองทัพเป็นเพียง “เรือรบลำเล็ก” ที่ลอยอยู่ท่ามกลางคลื่นลมแรงของพายุใหญ่ในสังคมเท่านั้นเอง!