สุรชาติ บำรุงสุข : 41 ปีแห่งการเคลื่อนไหว (5) เวลาที่รอคอยของฝ่ายขวา

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ถ้าหากฉันเกิดเป็นนกที่โผบิน ติดปีกบินไปให้ไกล ไกลแสนไกล จะขอเป็นนกพิราบขาว เพื่อชี้นำชาวประชาสู่เสรี”

เพลงเพื่อมวลชน

วงกรรมาชน

สถานการณ์จากกลางปี 2519 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการจัดนิทรรศการใหญ่ครั้งสุดท้ายในประเด็นของการต่อต้านฐานทัพสหรัฐในวันที่ 4 กรกฎาคมแล้ว ดูจะทวีความเข้มข้นมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

แม้จะไม่มีใครในหมู่พวกเราคาดเดาได้ถึงสถานการณ์ในอนาคตก็ตาม แต่ทุกคนก็อดหวั่นใจไม่ได้ว่าจุดสิ้นสุดของการเคลื่อนไหวของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยน่าจะใกล้เข้ามาแล้ว

และสำหรับฝ่ายขวาจัดที่ขับเคลื่อนด้วยพลัง “ขวาพิฆาตซ้าย” แล้ว การเคลื่อนไหวของขบวนนิสิตนักศึกษาประชาชนถือได้ว่าเป็นภัยคุกคามที่สำคัญในทางการเมืองและความมั่นคง และอาจกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งใน “ภัยหลัก” ที่จะต้องขจัดออกไปให้ได้

และคงไม่ผิดนักที่จะกล่าวด้วยสำนวนแบบสุดโต่งว่า จะต้อง “ขจัดให้สิ้นซาก” อย่างน้อยก็เพื่อยุติบทบาทของปัจจัยคุกคามในเมือง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์ของ “ความกลัว” หลังจากการล้มลงของระบบนิยมตะวันตกในอินโดจีนและการขับไล่ฐานทัพสหรัฐของขบวนนิสิตนักศึกษาประชาชนแล้ว

ขบวนนี้ถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงไทยในทัศนะของพวกขวาจัดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การประลองกำลัง

ในท่ามกลางสถานการณ์การต่อสู้ที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้นในช่วงกลางปี 2519 นั้น การทดสอบพลังของขบวนนักศึกษาประชาชนเกิดขึ้นเมื่อมีการนำ จอมพลประภาส จารุเสถียร กลับเข้ามาในประเทศไทยในวันที่ 15 สิงหาคม 2519

แม้ในเบื้องต้นจะมีการปกปิดข่าวการเดินทางเข้ามาในครั้งนี้ แต่ในเวลาต่อมาข่าวดังกล่าวก็แพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว

ศูนย์นิสิตฯ ไม่มีทางหลีกเลี่ยง นอกจากจัดเวทีประท้วงการเข้ามาในครั้งนี้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แต่พวกเราหลายคนก็เริ่มกังวลกับการเข้ามาของจอมพลประภาสว่าเป็นดัง “การขุดบ่อล่อปลา” เพื่อให้พวกเราจัดการชุมนุมต่อต้านขึ้น และจะฉวยใช้โอกาสจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดความรุนแรง จนนำไปสู่การปราบปรามครั้งใหญ่ได้

แน่นอนว่าการเดินทางเข้ามาในครั้งนี้อยู่ภายใต้ความดูแลของกลุ่มทหารขวาจัด

และขณะเดียวกันก็กลายเป็นปัญหา “อิหลักอิเหลื่อ” สำหรับรัฐบาลพลเรือนในขณะนั้นด้วย

การเปิดเวทีการประท้วงครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก

และเป็นไปดังคาด ก็คือกลุ่มนักเรียนอาชีวะที่มีท่าทีไปในทางขวาจัดได้เข้าปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยการปาระเบิด ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บกว่า 60 คน

เมื่อสถานการณ์ความรุนแรงยกระดับขึ้น รัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ตัดสินใจยุติปัญหาด้วยการให้จอมพลประภาสเดินทางออกนอกประเทศ

แม้จะมีการต่อรองขออยู่ในประเทศไทยต่ออีก 7 วัน แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ตอบรับข้อเรียกร้องดังกล่าว ส่งผลให้จอมพลประภาสต้องเดินทางกลับไปพำนักที่ไต้หวันดังเดิมในวันที่ 22 สิงหาคม 2519

การทดสอบพลังฝ่ายต่อต้านเริ่มขึ้นอีกครั้ง แม้ฝ่ายประชาชนจะได้รับชัยชนะ แต่ก็เป็นที่รับรู้กันว่าชัยชนะนี้อาจจะไม่ยั่งยืน

สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเสมือนกับการ “ทดสอบพลัง” ของขบวนนักศึกษาประชาชน เพื่อเตรียมที่จะสร้างสถานการณ์ชุดใหม่ต่อไป

เพราะอย่างน้อยก็เห็นได้ชัดถึงการจัดขบวนของฝ่ายต่อต้าน

ดังนั้น จึงไม่แปลกนักที่เมื่อก้าวสู่เดือนกันยายน ก็เริ่มมีข่าวว่า “จอมพลถนอมจะกลับประเทศไทย”

เวทีอภิปรายในระดับต่างๆ ดูจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า การทิ้ง “ไพ่จอมพลประภาส” ใบแรก แล้วยอมถอนไพ่ออก แต่ก็เตรียมที่จะทิ้ง “ไพ่จอมพลถนอม” ตามมาในระยะเวลาอันใกล้ชิดนั้น คิดเป็นอื่นไม่ได้นอกจากการเตรียมการสร้างสถานการณ์อีกครั้ง

และวัตถุประสงค์ก็ไม่น่าจะเป็นอื่นใดไปได้ นอกจากการปูทางสู่รัฐประหาร… แล้วในที่สุดจอมพลถนอมก็เดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 19 กันยายน 2519

หากย้อนกลับไปดูการสร้างสถานการณ์จากการนำจอมพลประภาสกลับ จนถึงการนำเอาจอมพลถนอมกลับ บ่งชี้ให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงบทบาทของกลุ่มทหารบางส่วนในยุคหลัง 14 ตุลาคม 2516 กลุ่มทหารปีกขวาจัดไม่ได้หายไปกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2516 แต่อย่างใด

พวกเขากลับซ่อนตัวอยู่กับความผันผวนทางการเมือง และพร้อมที่จะแสดงพลังอีกครั้งเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวยให้

ถ้าใช้สำนวนในนโยบายต่างประเทศแล้ว “ไพ่ประภาส” และ “ไพ่ถนอม” เป็นจุดสำคัญของทหารปีกขวาที่จะหยิบฉวยมาเล่น

และเมื่อไพ่ใบใหม่ถูกทิ้งลงบนเวทีการเมืองไทยด้วยการกลับมาอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดก็คือ จอมพลถนอมกลับเข้ามาด้วยการบวช… เป็น “มุขการเมือง” อย่างที่ไม่มีใครคาดได้เลย

จอมพลประภาสกลับออกไปเมื่อ 22 สิงหาคม และ 19 กันยายน จอมพลถนอมก็กลับเข้ามา แต่กลับมาด้วยการ “ครองผ้าเหลือง” ดูจากระยะเวลาที่ใกล้เคียงกันเช่นนี้

พวกปีกขวาอาจจะหวังว่าขบวนของฝ่ายต่อต้านอาจจะอ่อนล้าไปกับการขัดขบวน จนไม่น่าจะจัดการต่อต้านขึ้นได้อีก

วันเวลาของฝ่ายขวา

สําหรับบรรดาปีกขวาจัดแล้ว สถานการณ์ที่รอคอยดูจะมาถึงอีกครั้ง หลังจากต้องยอมถอยในช่วงเดือนสิงหาคม

พอกลางเดือนกันยายนพวกเขาก็เปิดการรุกใหม่

การเปิดการรุกครั้งนี้อาศัยความละเอียดอ่อนทางศาสนาเป็นโล่ เพราะการกลับมาในแบบของการบวช

และทันทีที่ข่าวออก สถานีวิทยุยานเกราะก็เดินเกมด้วยการเปิดเทปคำปราศรัยของจอมพลถนอมที่ขอความเห็นใจจากประชาชน อ่านได้ไม่ยากว่า พวกปีกขวาจัดพยายามสร้างให้เกิดภาพลักษณ์ใหม่สำหรับจอมพลถนอมในรูปแบบที่บวชเข้ามา เพราะรู้ว่าพวกเขาพลาดในการเอาจอมพลประภาสกลับในรูปแบบของฆราวาส เพียงขอความเห็นใจในฐานะ “คนแก่”

แต่ครั้งนี้เป็นการขอความเห็นใจในฐานะของ “ผู้ครองผ้าเหลือง”

ซึ่งนักปฏิบัติการจิตวิทยาของฝ่ายทหารขวาจัดทราบดีว่า คนไทยโดยทั่วไปแล้วพร้อมที่จะให้ความเห็นใจกับบุคคลที่อยู่ในผ้าเหลืองเป็นอย่างยิ่ง

หรือเป็นการฉวยโอกาสกับความรู้สึกของคนไทยที่มักจะยอมให้กับผู้ที่อยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์เสมอ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ผ้าเหลืองยังคงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพศรัทธาของผู้คนในสังคมไทย

ในวันที่จอมพลถนอมเดินทางมายังวัดบวรนิเวศฯ นั้น ผมถูกส่งออกไปดูสถานการณ์แถววัด ผมไปกับสมบูรณ์ (ที่แม้จะเป็นรองเลขาศูนย์ รุ่นที่ผ่านมา แต่ก็ยังคอยมาช่วยงานของศูนย์) ไปเดินสำรวจแบบ “ไร้เดียงสา” อย่างยิ่ง เพราะไม่ตระหนักเลยว่าในวันนั้น รอบๆ บริเวณวัดมีกลุ่มกระทิงแดงทำหน้าที่ดัง “ชุดลาดตระเวน” และคอยดูแลสถานการณ์รอบนอกกำแพงวัด…

ในระหว่างที่กำลังเดินอยู่ มีมือมาคว้าคอเสื้อ แล้วจับผมยัดใส่เข้าไปในรถ

มีนักข่าวไทยรัฐกำลังมาทำข่าวพอดี และพอรู้จักกับพวกเรา คงเห็นว่าถ้าปล่อยให้เราเดินไปแบบไม่รู้เรื่องรู้ราว คงได้เป็นข่าวขึ้น “หน้าหนึ่ง” แน่ๆ…

ผมรอดมาเพราะความช่วยเหลือของพี่นักข่าวท่านนี้จริงๆ วันนี้ผมยังอดคิดถึงพี่ท่านนี้กับเหตุการณ์ที่หน้าวัดบวรฯ ไม่ได้

แล้วในที่สุดการชุมนุมต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอมก็เริ่มขึ้น เป็นแต่เพียงครั้งนี้เริ่มที่ข้างหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ใช่ที่สนามหลวงหรือที่ธรรมศาสตร์อย่างทุกครั้ง พร้อมกันนี้ก็เคลื่อนไหวด้วยการยื่นหนังสือคัดค้านต่อคณะรัฐมนตรี โดยศูนย์นิสิตฯ ร่วมกับกลุ่มพลังต่างๆ เรียกร้องให้จอมพลถนอมออกจากประเทศไทยโดยเร็วที่สุด

และในท่ามกลางการเรียกร้องที่กำลังดำเนินไปเช่นนี้ สัญญาณร้ายชิ้นแรกก็ปรากฏเป็นข่าว…

พนักงานการไฟฟ้านครปฐม 2 คนที่เข้าร่วมช่วยเหลือการชุมนุมถูกจับแขวนคอเสียชีวิต วิชัย เกษศรีพงศ์ษา และ ชุมพร ทุมไมย เป็นเหยื่อรายแรกของขบวนขวาพิฆาตซ้ายในยุคหลังการกลับมาของจอมพลถนอม

และสื่อมวลชลบางส่วนที่รับไม่ได้กับการก่อเหตุเช่นนี้ ได้นำเอาข้อมูลต่างๆ มาให้แก่ศูนย์นิสิตฯ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เสียชีวิตทั้งสองคน

และข้อสรุปจากหลักฐานต่างๆ ที่รวบรวมได้ก็คือ ทั้งสองคนถูก “เจ้าหน้าที่” ฆ่าแขวนคอ ไม่ใช่การฆ่าตัวตาย

และที่ชัดเจนก็คือ ทั้งสองคนได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อต้านการเข้ามาของจอมพลถนอมด้วย ข้อมูลการเสียชีวิตของทั้งสองคนในปัจจุบันมีความชัดเจนมากขึ้น…

ขบวนการขวาพิฆาตซ้ายเริ่มออกล่าเหยื่ออีกแล้ว

เมื่อสถานการณ์เกินมาถึงจุดนี้ ศูนย์นิสิตฯ ก็ตัดสินใจยกระดับการชุมนุม จากเดิมที่เปิดเวทีที่จุฬาฯ ก็เพื่ออาศัยพื้นที่ของจุฬาฯ ในการรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้ชุมนุม อย่างน้อยต้องยอมรับถึงความใจกว้างของอาจารย์ฝ่ายกิจการนิสิตในยุคนั้นที่อนุญาตให้เราเอาพื้นที่ของจุฬาฯ เป็นจุดเปิดเวทีการต่อต้านจอมพลถนอม ถ้าเป็นปัจจุบันก็คงเป็นไปไม่ได้แน่นอน!

กระแสตอบรับการเคลื่อนไหวต่อต้านจอมพลถนอมขยับตัวมากขึ้น ในขณะเดียวกัน เราก็วิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ มากขึ้น เพราะการเรียกร้องครั้งนี้ดูจะไม่มีสัญญาณต่อบรับจากรัฐบาลเท่าใดนัก (เมื่อเปรียบเทียบกับครั้งต่อต้านจอมพลประภาส)

ศูนย์นิสิตฯ จึงตัดสินใจย้ายเวทีจากจุฬาฯ ไปสนามหลวงเพื่อแสดงถึงการยกระดับการชุมนุม

และขณะเดียวกันก็มีกลุ่มต่างๆ ประกาศเข้าร่วมการชุมนุมมากขึ้นเช่นกัน

ด้านหนึ่งเราดูจะใจชื้นขึ้นสักนิดจากการเข้าร่วมของพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก แต่อีกด้านหนึ่งพวกเราทุกคนที่ทำหน้าที่วิเคราะห์สถานการณ์ก็อดจะมีความกังวลใจไม่ได้ว่า แล้วนับจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น

รวมพลังขวาจัด

การดำรงเวทีการชุมนุมไว้ที่ท้องสนามหลวงกลายเป็นปัญหาอย่างยิ่งทั้งในแง่ของการรักษาความปลอดภัย ตลอดรวมถึงการต้องเผชิญกับปัญหาอากาศ เช่น เมื่อฝนตก เป็นต้น

ในที่สุดการชุมนุมก็ย้ายจากสนามหลวงเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้เมื่อครั้งชุมนุมที่จุฬาฯ จะเคยมีการถกแถลงกันแล้วว่า จุดอ่อนของการอยู่ในธรรมศาสตร์ก็คือ เราอาจจะเหมือนถูกจับอยู่ในกรง และถ้าถูกปิดล้อมแล้วก็อาจจะตกอยู่ในสภาพที่ถูก “ปิดประตูตีแมว” ได้ไม่ยาก

แต่สถานการณ์ขณะนั้น ศูนย์นิสิตฯ ดูจะไม่มีทางเลือกมากนัก

ความหวังมีอยู่ประการเดียวก็คือ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น เราจะสามารถสลายการชุมนุมและพาคนออกจากพื้นที่ดังกล่าวได้ทัน…

เราคิดแม้กระทั่งว่า ถ้าพวกปีกขวาจัดจะทำรัฐประหาร รถถังที่ต้องเคลื่อนย้ายออกจากหน่วยทหารแถวถนนเกียกกายอย่าง ม.พัน 4 เราก็น่าจะมีเวลาเตรียมเอาคนออกจากธรรมศาสตร์ได้

ต้องยอมรับว่าพวกเราที่คุมการชุมนุมนั้น ไม่ได้มีประสบการณ์อะไรมากนัก เป็นแต่เพียงคิดแบบนิสิตนักศึกษาที่ต้องเผชิญกับปัญหา

แต่ก็ตอบได้ว่าในที่สุดแล้ว เราคิดได้น้อยกว่าความเป็นจริงมาก

หากย้อนกลับไปดูสถานการณ์ในช่วงกลางเดือนกันยายนจากการชุมนุมต่อต้านจอมพลถนอมจนถึงการเปิดเวทีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2519 นั้น เรามีแต่ข้อมูลอย่างหยาบๆ ว่า ปีกขวาจัดคงจะทำรัฐประหารแน่ แต่รูปแบบและเงื่อนไขของการดำเนินการนั้น เราไม่มีข่าวสารอะไรเลย

อาจจะด้วยความเป็นจริงของ “วุฒิภาวะ” และเงื่อนไขของการต่อสู้ที่เกิดขึ้น เราอ่านรายละเอียดในการเคลื่อนไหวของปีกขวาจัดไม่ได้เท่าใดนัก เป็นแต่เพียงรับรู้ด้วยความรู้สึกว่า สถานการณ์ที่พวกเขาจะหยุดขบวนฝ่ายเราใกล้เข้ามาเต็มทีแล้ว

และรัฐประหารครั้งใหม่อาจจะไม่ใช่การเคลื่อนกำลังรถถังในแบบที่เราคิด

ประกอบกับเมื่อเสียงตอบรับจากรัฐบาลที่จะให้จอมพลถนอมกลับออกไปเหมือนเมื่อครั้งการเข้ามาของจอมพลประภาสก็ดูจะไม่ชัดเจน แต่ก็รับรู้จากข่าวสารว่า “กระแสขวาจัดพัดแรง” แต่สิ่งที่คาดเดาไม่ได้ก็คือ ถ้าพวกเขาไม่ยอมและตัดสินใจแตกหักกับการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วจะเกิดอะไรขึ้น แม้เราจะเคยถูกปิดล้อมและปะทะกับกลุ่มกระทิงแดงเมื่อครั้งจอมพลประภาสกลับเข้าประเทศแล้วก็จริง แต่ในครั้งนี้ พวกเขาจะยังคงใช้รูปแบบเดิมเหมือนเหตุการณ์ในเดือนสิงหาคม 2519 หรือไม่ แต่ถ้าพวกเขาใช้รูปแบบทางยุทธวิธีใหม่ๆ แล้ว ปฏิบัติการต่อต้านการชุมนุมของนักศึกษาประชาชนจะออกมาในลักษณะใด

ในความเป็นจริงก็คือ เราแทบตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้เลย จินตนาการและความรับรู้โดยวัยวุฒิของพวกเรายังจำกัดอยู่มากกับเกมของฝ่ายอำนาจ

แต่ในอีกด้านก็คงต้องยอมรับว่า การจะไม่มีการชุมนุมในการต่อต้านการเข้ามาของจอมพลทั้งสองเลยก็เป็นไปไม่ได้

ดังนั้น ถ้าการเข้ามาของจอมพลประภาสคือการทดสอบพลังฝ่ายเรา การเข้ามาของจอมพลถนอมก็คือการรวมพลังของฝ่ายขวาจัด ที่พร้อมจะเคลื่อนด้วยความรุนแรงของ “ขวาพิฆาตซ้าย”

…วันเวลาแห่งการรอคอยของฝ่ายขวาจัดกำลังจะมาถึงแล้ว!