เด็ก…กับการเป็นสุดยอดนักกีฬา

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน | พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

เด็ก…กับการเป็นสุดยอดนักกีฬา

 

วันเด็กแห่งชาติ ปี 2566 ตรงกับวันเสาร์ที่ 14 มกราคม

คำขวัญวันเด็ก 2566 จากนายกรัฐมนตรี คือ “รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่ความดี”

การเล่นกีฬาตั้งแต่เด็กเป็นการฝึกฝนให้เด็กมีความรับผิดชอบในหน้าที่ มีวินัย ซึ่งเป็นสองคุณสมบัติสำคัญมากในการมีอนาคตที่ดี

ปีนี้ มีมหกรรมกีฬานานาชาติของคนเอเชีย 2 รายการ คือ

ซีเกมส์ 2023 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 5-7 พฤษภาคม

เอเชี่ยนเกมส์ 2023 ที่เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 23 กันยายน-8 ตุลาคม

 

ปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาเป็นยอดนักกีฬาคือมีร่างกายและจิตใจที่แข็งแกร่ง แต่ก็ยังมีปัจจัยอย่างอื่นที่สำคัญมากในการที่นักกีฬาคนหนึ่งจะได้ชื่อว่าเป็นนักกีฬาชั้นแนวหน้า นั่นคือการตั้งใจฝึกฝนและทุ่มเทเวลากับกีฬาชนิดนั้นให้มาก

เรามีความเชื่อกันว่าคนที่มีความเป็นเลิศในกีฬาชนิดหนึ่งตั้งแต่วัยเด็ก จะมีคุณสมบัติได้ก้าวขึ้นเป็นนักกีฬาชั้นแนวหน้าในอนาคต

อย่างเช่นที่เกิดขึ้นกับไทเกอร์ วูดส์ (Tiger Woods) ยอดนักกอล์ฟแชมป์เมเจอร์ 15 รายการ ที่เริ่มเล่นกอล์ฟตั้งแต่อายุเพียงขวบครึ่ง

ทำให้หลายคนเห็นด้วยกับทฤษฎี 10,000 ชั่วโมงของมัลคอล์ม แกลดเวลล์ (Malcolm Gladwell) นักเขียนชาวแคนาดาเชื้อสายอังกฤษ ที่บอกว่า หากเราต้องการมีความเป็นเลิศในสิ่งใด จงใช้เวลาหมกมุ่นอยู่กับสิ่งนั้น 10,000 ชั่วโมง

 

แต่งานวิจัยของ ดร.อันเดร์ส อีริกสัน (Dr. K. Anders Ericsson) นักจิตวิทยา ชาวสวีเดน เสริมว่าการใช้เวลาหมกมุ่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลา 10,000 ชั่วโมงไม่สามารถทำให้เรามีความเป็นเลิศได้หากไม่ได้รับความรู้และการฝึกฝนอย่างจริงจังและถูกต้อง (Deliberate practice)

อีริกสันและทีมวิจัยพบว่าคนที่มีทักษะความเป็นเลิศ เกิดจากการฝึกฝนสิ่งนั้นอย่างจริงจังภายในช่วงเวลา 10 ปี หรือประมาณ 10,000 ชั่วโมง สำหรับบางคน (20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) แต่ต้องเป็นการฝึกฝนอย่างตั้งใจและเป็นระบบ ไม่ใช่การเล่นเอาสนุกสนาน ลองผิดลองถูกไปให้ครบ 10,000 ชั่วโมงแล้วหวังว่าจะกลายเป็นยอดฝีมือ

มีงานวิจัยบอกว่า ถ้าเราฝึกฝนกีฬาอย่างจริงจังมากๆ และมีที่ปรึกษาที่ดี ก็สามารถเป็นยอดนักกีฬาชั้นแนวหน้าด้วยการใช้เวลาฝึกฝนอย่างน้อย 4,000 ชั่วโมง

การตั้งใจฝึกอย่างรอบคอบ ( Deliberate practice ) เป็นการทำสิ่งเดิมซ้ำๆ แบบช้าๆ แต่มีความต่อเนื่องจนกระทั่งเรามีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น

แต่การใช้เวลาทั้งหมดไปกับการฝึกที่จริงจังและยึดตามกฎเข้มงวดก็อาจจะทำให้เราเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย เพราะขาดความสนุกในชีวิต เหตุผลหลักที่เยาวชนหลายคนเลิกเล่นกีฬาก็เพราะไม่รู้สึกสนุกกับกีฬานั้นอีกต่อไป

 

ดังนั้น การมี Deliberate play หรือการฝึกแบบเน้นความสนุก จะทำให้นักกีฬารู้สึกเพลิดเพลินกับกีฬาโดยไม่ต้องเจอกับความเข้มงวดทุกครั้ง ซึ่งแม้จะไม่ได้รับประโยชน์ด้านทักษะในทันทีแบบ Deliberate practice แต่ก็ช่วยพัฒนาประสบการณ์กระบวนการคิด ตัดสินใจและการเคลื่อนไหว ได้สัมผัสมุมที่สนุกสนานของกีฬาและไม่รู้สึกเบื่อหน่ายในกีฬาชนิดนั้น

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยควีนส์ (Queen’s University) ของแคนาดา พบว่าภายในช่วงอายุ 20 ปี นักกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งยอดฝีมือล้วนมีการแบ่งสันปันส่วนเวลาที่ใช้สำหรับ Deliberate play และ Deliberate practice อย่างเท่าๆ กัน

ยังมีความเชื่อที่ผิดๆ ว่าคนที่เล่นกีฬาหลายประเภทจะเสียเปรียบคนที่ใช้เวลาจดจ่ออยู่กับการฝึกฝนกีฬาประเภทเดียว

ในความเป็นจริงแล้วการได้เล่นกีฬาหลายๆ ประเภทเราสามารถพัฒนาทักษะของกีฬาประเภทอื่นแล้วนำไปปรับใช้ในกีฬาหลักของเราได้

เรื่องนี้มีการพิสูจน์ว่ายอดนักกีฬาทั้งหลายที่ประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่น ต่างใช้เวลาในการฝึกฝนกีฬาหลักของตัวเองน้อยกว่านักกีฬาคนอื่นในช่วงก่อนอายุ 15 ปี โดยคนที่มีประวัติผ่านการเล่นกีฬามาหลายประเภทไม่ได้สูญเสียประสิทธิภาพในการเป็นยอดนักกีฬา

 

ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่เคยเล่นฟุตบอลมาก่อนจะมีทักษะในการอ่านเกมการเล่นและคาดการณ์ล่วงหน้า ซึ่งทักษะดังกล่าวสามารถนำไปปรับใช้ได้กับกีฬาอย่างบาสเกตบอล ซึ่งนักกีฬาสามารถอ่านจังหวะคู่แข่งและพยายามขัดขวางการทำเกม

เส้นทางของยอดนักกีฬาในช่วงแรกเริ่ม เด็กๆ ส่วนใหญ่จะผ่านการเล่นกีฬาหลากหลายประเภท โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อความสนุกและฝึกฝนทักษะเบื้องต้น

เมื่อก้าวสู่วัยรุ่น นักกีฬาก็จะเริ่มเจาะจงชนิดกีฬาที่ตัวเองถนัดและพัฒนาทักษะจริงจัง แต่ก็ยังเน้นความสนุกเป็นหลักอยู่

พอผ่านช่วงอายุ 15 ปีก็จะเลือกกีฬาที่ถนัดมากที่สุด 1 ชนิดและเป็นช่วงเวลาของฝึกฝนอย่างเข้มงวด (Deliberate practice) แต่ก็มีสลับการฝึกแบบเน้นความสนุกผ่อนคลาย (Deliberate play)

ในบางครั้งการเป็นจะเป็นยอดนักกีฬาต้องอาศัยโชคช่วย ยกตัวอย่าง ประสบการณ์ตรงของนิโคล ฟอร์เรสเตอร์ (Nicole W. Forrester) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยไรเออร์สัน (Ryerson University) และเป็นผู้เขียนบทความเคล็ดลับการเป็นนักกีฬาชั้นแนวหน้า เล่าว่า ในวัย 18 ปีขณะที่เธอกำลังทำงานเป็นพนักงานในร้าน McDonald’s ก็มีโค้ชกรีฑามองเห็นหน่วยก้านที่เหมาะจะเป็นนักกีฬากระโดดสูงในตัวนิโคล จึงได้ให้เบอร์ติดต่อโค้ชกีฬากระโดดสูงของมหาวิทยาลัยโตรอนโต (University of Toronto)

นับจากนั้นในช่วง 15 ปี นิโคลกลายเป็นนักกีฬาโอลิมปิกไปแข่งขันที่ปักกิ่ง เป็นแชมป์กระโดดสูง 8 สมัยของแคนาดา และได้เหรียญในการแข่งขันกีฬาระดับใหญ่ๆ อีกมากมาย

โดยเฉพาะการคว้าเหรียญทองรายการ Commonwealth Games 2010 ที่อินเดียด้วยสถิติกระโดด 1.91 เมตร

โดยสถิติที่ดีที่สุดของเธอคือกระโดดได้สูง 1.97 เมตรเมื่อปี 2007

 

การจะเป็นยอดนักกีฬาต้องอาศัยส่วนประกอบสำคัญที่แตกต่างกันไปตามชนิดกีฬาและตัวบุคคล

แต่ท้ายที่สุดแล้วสำหรับหลายๆ คน การจะเป็นยอดนักกีฬาต้องผ่านการเล่นกีฬาหลากหลายชนิดและผ่านการฝึกฝนทั้งแบบสนุกสนานและจริงจัง

รวมไปถึงการได้รับแรงสนับสนุนจากผู้ฝึกสอน ทรัพยากร และการสร้างแรงบันดาลใจอยู่เสมอ

ที่สำคัญที่สุดคือในกีฬาบางชนิดนักกีฬาจะได้พบกับจุดสูงสุดของอาชีพหลังจากที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว

ดังนั้น การจะกลายเป็นนักกีฬาชั้นแนวหน้าไม่จำเป็นต้องเก่งมาตั้งแต่เด็กๆ เสมอไป ถ้าเราใช้เวลาในปัจจุบันทุ่มเทฝึกฝนอย่างตั้งใจเต็มที่