อุษาวิถี (11) อุษาวิถีจากกระแสอินเดีย (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (11)

อุษาวิถีจากกระแสอินเดีย (ต่อ)

 

ในรัชสมัยพระเจ้าอโศกนี้เองที่ชี้ให้เห็นว่า ศาสนาพราหมณ์ไม่เพียงจะยังคงบทบาทหรืออิทธิพลสูงอยู่ในสังคมอินเดีย แม้แต่ในรัชสมัยพระเจ้าอชาตศัตรูเท่านั้น หากยังน่าเชื่อด้วยว่า ภายหลังจากนั้นอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ก็ยังทรงอิทธิพลเรื่อยมา

ไม่ว่ากษัตริย์ในชั้นหลังจะเป็นพุทธศาสนิกดังเช่นพระเจ้าอชาตศัตรูหรือไม่ก็ตาม ตราบจนในรัชสมัยพระเจ้าอโศกนี้เอง ที่อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งอาจจะรวมไปถึงบทบาทของพราหมณ์ด้วยนั้น ได้ถูกบั่นทอนลงอย่างเป็นรูปธรรมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

และจะไม่ปรากฏอีกเลย หากมิใช่เพราะหลังจากรัชสมัยนี้ไปแล้ว ทุกอย่างได้กลับเข้ารูปรอยเดิมอีกครั้งหนึ่ง

กล่าวคือ ในปลายราชวงศ์เมารยะ กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ได้ถูกลอบปลงพระชนม์โดยอำมาตย์ของพระองค์เองเมื่อราวปี พ.ศ.296 (ก.ค.ศ.187) พร้อมกันนั้นก็สถาปนาราชวงศ์ศุงคะขึ้นมา

และภายใต้ราชวงศ์ใหม่นี้เองที่ได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อศาสนาพราหมณ์ และมีนโยบายเป็นศัตรูกับศาสนาพุทธ พิธีกรรมฆ่าสัตว์บูชายัญที่เลิกไปนานก็หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

 

หลังการล่มสลายของราชวงศ์เมารยะไปแล้ว อินเดียก็เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ นานา นั่นคือ การก้าวขึ้นมามีอิทธิพลของราชวงศ์สาตวาหนะ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อวัฒนธรรมอารยันทางภาคเหนือและทราวิฑทางภาคใต้เข้าด้วยกัน

ในห้วงนี้ได้มีชนชาติพันธุ์เผ่าต่างๆ เข้ามารบกวนสังคมอินเดียเป็นระยะๆ เช่น พวกศกะ (Saka) พวกเยว่ฉี (Yue-Chi) แต่ก็ถูกวัฒนธรรมอินเดียผสมกลมกลืนเข้าไปในที่สุด

การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ยังคงดำเนินเรื่อยมา แม้ในยุคสมัยที่ได้ชื่อว่าเป็นยุคทองยุคหนึ่งของอารยธรรมอินเดีย คือ ยุคราชวงศ์คุปตะ ที่เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 4 และสลายตัวไปคริสต์ศตวรรษที่ 7 พร้อมกับการก้าวขึ้นมาอีกระยะหนึ่งของพระเจ้าหรรษาวรรธนะแห่งรัฐกันยากุพช์ ซึ่งทรงทำนุบำรุงทั้งศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ โดยที่พระองค์เองเป็นพุทธศาสนิกในฝ่ายมหายาน

ภาพรวมการเปลี่ยนแปลงจากที่กล่าวมานี้ เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสพัฒนาการการดำรงอยู่ของศาสนาพราหมณ์และพุทธควบคู่กันไป

การระบุว่า กระแสศาสนาใดเป็นกระแสหลักหรือกระแสรองในห้วงพัฒนาแต่ละช่วงดังกล่าว ไม่สำคัญเท่ากับความจริงที่ว่า ศาสนาทั้งสองเริ่มที่จะกลมกลืนเข้าหากัน โดยสิ่งที่เข้าใจกันได้ก็คือ การยังคงบทบาทในสถาบันทางการเมืองของศาสนาพราหมณ์

เช่นเดียวกับเจตนารมณ์ในอันที่จะสร้างอินเดียให้เป็นมหาอาณาจักรเดียวกัน ที่ตลอดห้วงการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ สังคมอินเดียหาได้ประสบความสำเร็จโดยสมบูรณ์ และด้วยเวลาที่ต่อเนื่องยาวนาน

เอกภาพทางสังคมจึงยังคงเป็นปัญหาสืบมา

สิ่งซึ่งเป็นความโดดเด่นในยามที่ขาดเอกภาพก็คือ การที่รัฐต่างๆ สามารถปกครองกันเองโดยมีกษัตริย์ของตนเองเป็นผู้นำ และต่างก็สร้างความเจริญให้แก่รัฐของตนตามสมควร

 

ผลสะเทือนครั้งใหญ่เกิดขึ้นแก่สังคมอินเดียอีกครั้งหนึ่งเมื่อเกิดการรุกรานของชนมุสลิมนับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 เรื่อยมาเป็นระยะๆ กระทั่งในคริสต์ศตวรรษที่ 11 จึงเริ่มเห็นผล และมีอำนาจในหลายภาคส่วนของอินเดียสืบเนื่องยาวนานนับศตวรรษ

ในระหว่างนี้ คือในคริสต์ศตวรรษที่ 8 ศาสนาพุทธได้ตกอยู่ในภาวะเสื่อมถอยอย่างถึงที่สุด มีการคิดค้นนิกายอันพิสดารขึ้นมาจนแม้แต่ชั้นวรรณะกษัตริย์ก็ยังนับถือ

พุทธศาสนากลายเป็นสิ่งแสดงออกทางไสยศาสตร์อันงมงาย และมีกิจกรรมทางศาสนาที่วิปริตอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

จนเมื่อกองทัพของชนมุสลิมกรีธาเข้ามาในห้วงที่ว่า ศาสนาพุทธจึงถูกกวาดล้างทำลายลงไปจนแทบสิ้นสลาย

ในขณะที่ศาสนาพราหมณ์ซึ่งไม่ได้แสดงสิ่งใดเกินกว่าที่เคยเป็นมาอย่างสม่ำเสมอ ยังคงดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง

อย่างไรก็ตาม ตราบจนปี พ.ศ.2103 (ค.ศ.1560) การก้าวขึ้นสู่อำนาจของพระเจ้าอักบาร์แห่งราชวงศ์โมกุล ก็ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อการเมืองในรัชสมัยนี้ได้ยกเลิกการนำศาสนามาเกี่ยวพัน

สิทธิของชาวฮินดู (อินเดีย) ได้ถูกคืนให้โดยกษัตริย์มุสลิมพระองค์นี้

ถึงเวลานั้น พุทธศาสนาซึ่งบอบช้ำมาก่อนหน้านี้เป็นเวลานาน ก็ไม่มีแม้กระทั่งโอกาสที่จะก้าวขึ้นสู่กระแสหลักได้อีกต่อไป

 

เห็นได้ชัดว่า นโยบายดังกล่าวแม้จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมืองภายในที่สังคมอินเดียถูกปกครองโดย “ต่างชาติ” ที่เป็นชนมุสลิมก็ตาม แต่ถึงที่สุดแล้วก็ยังคงหนีไม่พ้นเจตนารมณ์มหาอาณาจักรที่เป็นเอกภาพ

ชนมุสลิมที่เข้ามาปกครองอินเดียในขณะนั้นก็เช่นกัน ที่มิอาจปฏิเสธเจตนารมณ์ที่ว่านี้ไปได้ เหตุฉะนั้น นโยบายของพระเจ้าอักบาร์ในด้านหนึ่งจึงมุ่งหวังให้เกิดเอกภาพ หรืออย่างน้อยก็เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคมอินเดียเองที่ตนยึดครองอยู่

นโยบายจากเจตนารมณ์ดังกล่าว ได้รับการยืนยันก็หลังสมัยพระเจ้าอักบาร์ไปอีกสองรัชกาล

นั่นคือ หลังจากที่พระเจ้าอักบาร์สิ้นพระชนม์ไปแล้วในปี พ.ศ.2148 (ค.ศ.1605) กษัตริย์อีกสองพระองค์ยังคงดำเนินนโยบายดังกล่าวสืบต่อมา จนกระทั่งถึงสมัยพระเจ้าเอารังซีบก็ได้ยกเลิกนโยบายนี้ ด้วยการหันกลับไปใช้นโยบายเดิมก่อนหน้าพระเจ้าอักบาร์

พระเจ้าเอารังซีบได้นำความผูกพันและความเข้มงวดกวดขันทางศาสนา โดยมีศาสนาอิสลามเป็นแกนสูงสุดมาใช้ในการบริหารประเทศ

หลังจากนั้นก็ได้กรีธาทัพเข้ารวบรวมรัฐต่างๆ เพื่อความเป็นเอกภาพอีกครั้งหนึ่ง โดย พระองค์สามารถทำได้สำเร็จก็แต่ในรูปแบบเท่านั้น หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว ภายในแต่ละรัฐกลับแตกแยกกันอย่างรุนแรง

และหลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว กษัตริย์องค์ต่อมาที่ประทับในเมืองหลวงกรุงเดลฮีก็เป็นผู้มีอำนาจแต่เพียงในนาม โดยอุปราชหรือขุนศึกที่ถูกส่งไปปกครองยังรัฐต่างๆ ต่างก็ตั้งตัวแข็งเมืองขึ้น