คน-คน-คน

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน มีโอกาสสัมภาษณ์คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือซีพีที่เขาใหญ่อีกครั้ง

ได้ถามหลายเรื่องมาก เล่าหมดคงต้องเป็นซีรีส์หลายตอนจบ

ขอเล่าแค่ 2 เรื่องนะครับ

เรื่องแรก เป็นเรื่องที่คุณธนินท์ไปคุยกับ “ปีเตอร์ หม่า” ซีอีโอของ “ผิงอัน”

“ผิงอัน” เป็นบริษัทการเงินที่ใหญ่มากในจีน

และ “ซีพี” ได้เข้าไปถือหุ้นเมื่อหลายปีก่อน

ถือเป็นการรุกคืบเข้าไปในธุรกิจการเงินในจีน

คุณธนินท์บอกว่าในเมืองจีน อาลีบาบา เท็นเซ็นต์ หัวเหว่ย อาจมียอดขายสูงกว่า “ผิงอัน”

แต่ “ผิงอัน” มีกำไรมากกว่า 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่คนไทยรู้จักดี

คุณธนินท์บอกว่ามีอยู่ 3 เรื่องที่เขาได้จาก “ปีเตอร์ หม่า”

เรื่องแรก ทำธุรกิจ ถ้าจะแซงคู่แข่ง อย่าแซงทางโค้ง เพราะอันตรายมาก

“แต่ให้เปลี่ยนเลนของคุณเพื่อจะแซง”

“การเปลี่ยนเลน” ผมตีความว่าหมายถึงการเปลี่ยนแนวธุรกิจ หรือทำไม่ซ้ำกับคู่แข่ง คิดกลยุทธ์ใหม่ๆ เจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่

ทำอะไรที่แตกต่างจาก “คู่แข่ง”

เรื่องที่สอง พนักงานของ “ผิงอัน” มีทั้งหมด 1.8 ล้านคน

“ทุกคนต้องมีวิกฤตทุกวัน เหมือนพรุ่งนี้จะสอบใหญ่ทุกวัน”

เรื่องที่สาม เป็นเรื่องการหา “คนเก่ง” แบบใหม่

ไม่ต้องหาเอง ให้คนอื่นหาให้เรา

“คนอื่น” ของคุณธนินท์หมายถึง “บริษัทที่ปรึกษา”

ตามปกติบริษัทใหญ่ๆ เวลาจะปรับโครงสร้าง หรือทำอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา เขาจะจ้างบริษัทที่ปรึกษามาวางกลยุทธ์และโครงสร้างองค์กร

“ปีเตอร์ หม่า” บอกว่า “ผิงอัน” จะจ้างบริษัทที่ปรึกษา 3 บริษัท ให้แข่งกัน

ทำรายงานแล้วต้องหา “ผู้บริหาร” มาทำด้วย

เขาไม่ยอมให้บริษัทที่ปรึกษาแค่ “คิด” แผนงาน

เพราะต่อให้แผนงานดีแค่ไหน ถ้าคนใหม่ที่มาทำไม่เก่ง

โครงการนั้นก็ล้มเหลว

“ปีเตอร์ หม่า” บอกว่าคนที่บริษัทที่ปรึกษาเสนอมา ถ้าไม่เก่ง ก็คัดออก ให้หาคนใหม่

แต่ถ้าเก่ง บริษัทก็เก็บไว้

กลายเป็น “เพชร” ขององค์กร

 

คุณธนินท์ให้ความสำคัญกับเรื่อง “คน” มาก

“บริษัทจะประสบความสำเร็จต้องเน้นเรื่องคน”

คุณธนินท์บอกว่า “คนเก่ง” ไม่ใช่คนที่เป็น “ผู้นำ” ที่ดีอย่างเดียว

ต้องเป็น “ผู้ตาม” ที่ดีด้วย

เพราะวันนี้ไม่มีใครเก่งคนเดียว ต้องทำงานเป็นทีม

“คนมีหลายประเภท บางคนเก่งขยัน บางคนเก่งละเอียด บางคนเก่งสร้างสรรค์ พอมารวมกันทำแล้วจะยิ่งมีประสิทธิภาพ”

เราอาจเก่งบางเรื่อง แต่บางเรื่องเราไม่เก่ง

“เราก็ต้องเป็นผู้ตามที่ดีในเรื่องนั้น”

มุมนี้น่าสนใจมาก เพราะที่ผ่านมาเราชอบคิดว่า “คนเก่ง” คือ “ผู้นำ”

แต่ลืมมองในมุม “ผู้ตาม” ด้วย

เพราะถ้าไม่เปิดใจยอมรับว่าบางเรื่องเราไม่รู้ แต่จะเป็น “ผู้นำ” ตัดสินใจทั้งที่เราไม่รู้เรื่อง

บางทีองค์กรก็พังได้

หลายปีแล้วที่ “เจ้าสัวซีพี” ใช้เวลาอยู่กับ “สถาบันพัฒนาผู้นำ” ที่เขาใหญ่มากกว่าอยู่ใน กทม.

ท่านให้เวลากับหลักสูตรเถ้าแก่เล็ก เถ้าแก่น้อย เถ้าแก่กลาง และเถ้าแก่ใหญ่ มาก

หลักสูตรเหล่านี้มีทั้งเด็กจบมหาวิทยาลัยใหม่ๆ มาลุยเป็นผู้ประกอบการอย่างจริงจัง

จนถึงการนำผู้บริหารในเครือทั้งหมดมาอบรม

นอกจากได้ความรู้แล้ว ยังเป็นกระบวนการทำให้ผู้บริหารแต่ละองค์กรในเครือได้รู้จักกัน และได้ถ่ายทอดความรู้ระหว่างกันอย่างไม่เป็นทางการ

ที่สำคัญคุณธนินท์ได้เห็นผู้บริหารรุ่นใหม่อย่างใกล้ชิด

เป็นวิธีการ “เรียนลัด” ของ “เจ้าสัวซีพี”

ส่วนเรื่องการพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ คุณธนินท์ก็ได้ความสดที่ไร้กรอบจาก “เด็กรุ่นใหม่”

“เถ้าแก่เล็ก” เป็นเสมือน “หน่วยขึ้นตรง” ของคุณธนินท์ เพื่อไปสำรวจดู “ปัญหา” และ “โอกาส”

เพราะผู้บริหารหรือพนักงานของแต่ละบริษัทซึ่งส่วนใหญ่เป็น “เบอร์ 1” มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด

บางทีก็เคยชินกับความสำเร็จ มองผ่านปัญหาและโอกาสบางอย่าง

แต่เด็กกลุ่มนี้เป็น “ลูกวัวไม่กลัวเสือ” ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เขาจะตั้งคำถามและสงสัยกับทุกเรื่อง

คุณธนินท์บอกว่าเด็กๆ มีเวลาไปเดินตลาดสด ไปสัมผัสพ่อค้า แม่ค้า ได้คุยได้ถามปัญหาต่างๆ

บางทีไปก็เจอปัญหา ถูกต่อว่า ต้องใช้ความพยายามในการจะได้ข้อมูลมาทำงาน

“ตัวผมและผู้บริหารคนอื่นๆ ก็ได้เรียนรู้”

ถามว่าได้อะไรจากโครงการนี้

คุณธนินท์บอกว่า จากโครงการแสนบาท อาจทำให้เป็นพันล้านได้

เพราะซีพีมีตลาด มีเงินทุน มีช่องทางต่างๆ ที่จะช่วยเรื่องสเกลได้

“แต่ต้องสำเร็จจากโครงการเล็กๆ ก่อน”

ฟังแล้วดูเหมือน “ฝัน” มาก

 

หลังจบการสัมภาษณ์ ตอนที่เดินลงจากเวที มีน้องผู้หญิงคนหนึ่งเดินมาสวัสดี

“พี่ตุ้ม จำแพรได้ไหม”

ผมสบตาแล้วหัวเราะ

“ต้องเปิดหน้ากากก่อน”

เห็นแค่ “ตา” ยังไงก็จำไม่ได้

พอน้องเปิดหน้ากาก ผมจึงทักกลับด้วยความดีใจ

“จำได้สิ แพรที่ทำโครงการขายสินค้าที่ปากช่องใช่ไหม”

“แพร” ยิ้ม

ครั้งก่อนที่เจอกัน เป็นช่วงที่ผมได้มาดูโครงการเถ้าแก่เล็ก เถ้าแก่น้อย ที่สถาบันผู้นำเครือซีพี

คุณธนินท์เล่าเรื่องเด็กคนหนึ่งคิดโครงการ “ปากช่องโมเดล” ขายหมู ไก่ กุ้ง และขนมหวานเข้าตลาดสดและร้านค้า

เด็กสาวอายุไม่ถึง 25 ปี ทำยอดขายเพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านบาทเป็น 20 ล้านบาท

จากนั้น ผมก็ได้เจอน้องผู้หญิงที่คุณธนินท์พูดถึง

“แพร” ณัชชาชนก

วันนั้นได้คุยกันไม่นาน แต่รู้เลยว่าเด็กคนนี้เก่งจริง ลุยจริง

“ตอนนี้แพรทำอะไร” ผมถาม

“ทำตลาดทุเรียนพรีเมียมส่งไปจีนค่ะ”

“แพร” เล่าสั้นๆ เรื่องการสร้างแบรนด์ทุเรียนเจาะตลาดลูกค้าจีนระดับบน ใช้ชื่อว่า “ซีพีเฟรช”

ก่อนจะส่งนามบัตร 2 ใบให้ผม

ใบหนึ่ง เธอมีตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัท ซีพี สตาร์เลนส์

อีกใบหนึ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายการค้า บริษัท ซีพี เฟรชแบรนด์

“ยอดขายเป็นไงบ้าง” ผมถามต่อ

“ดีมากค่ะ ปีนี้ได้พันล้านแล้ว”

“ปีนี้แพรอายุเท่าไรแล้ว”

“28 ปีค่ะ”

ครับ จาก “แสนบาท” เป็น “พันล้าน” ที่คุณธนินท์พูดบนเวที

คือ “แพร” เด็กน้อยมหัศจรรย์คนนี้

คุณธนินท์ไม่ได้ฝันครับ

มันเป็น “เรื่องจริง” •

 

 

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ | หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC