คณะทหารหนุ่ม (21) | “อินทรีบางเขน” ผู้บินเหนือเมฆ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.ร.อ.โกวิท วัฒนธรรม อดีตผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือ ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องเขยของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้เล่าเหตุการณ์เดียวกันไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วยว่า…

“ในช่วงบั้นปลายของชีวิต ก่อนที่ พล.ร.อ.สงัดจะถึงแก่อนิจกรรม ผมได้พูดคุยกับท่านเกี่ยวกับการปฏิวัติครั้งที่ 2 ท่านได้เล่าให้ผมฟังว่า การปฏิวัติครั้งที่ 2 ดูเหมือนจะมีการคิดและเตรียมการมาแล้วหลังจากการปฏิรูปเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ผ่านไปไม่นาน สาเหตุเป็นเพราะการบริหารงานของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีธานินทร์ กรัยวิเชียร ไม่เป็นไปตามนโยบายของคณะปฏิรูปฯ การแก้ไขปัญหาต่างๆ กระทำได้อย่างล่าช้าและเป็นขั้นตอนมากเกินไป”

“นอกจากนี้ ยังมีบุคคลในคณะปฏิรูปฯ บางท่านมีความประสงค์ที่จะขอเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเองเพื่อให้การแก้ไขปัญหาของชาติกระทำได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยที่บุคคลท่านนั้นได้แสดงความประสงค์กับ พล.ร.อ.สงัดอย่างเปิดเผย”

และเช่นเดียวกัน พล.ร.อ.โกวิท ก็มิได้ระบุนามบุคคลที่จะขอเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง

 

ปฏิวัติไม่ใช่งานเย็บปักถักร้อย

“เส้นทางสู่อำนาจ มนูญ รูปขจร อาทิตย์ กำลังเอก ใต้เงา เปรม ติณสูลานนท์” ของเสถียร จันทิมาธร มีเรื่องเล่าจาก “คนกลาง”…

“รัฐประหารเดือนตุลาคม 2520 นอกจากคณะทหารตำรวจที่เรียกตนเองว่า ‘คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน’ แล้วยังมีพลเรือนซึ่งเป็นนักกฎหมายส่วนหนึ่งได้รับเชิญให้เข้าร่วม คนหนึ่งในนั้นคือ นายสมภพ โหตระกิตย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

มีบันทึกของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับนายสมภพ โหตระกิตย์ ในสถานการณ์นี้ ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายสมภพ โหตระกิตย์ อย่างมีลักษณะประวัติศาสตร์ โปรดอ่าน

“วันหนึ่งเวลาประมาณเที่ยงเศษในเดือนตุลาคม 2520 ในขณะที่ท่านรองสมภพกำลังรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับข้าราชการที่ศาลาท่าน้ำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ท่านอดีตอธิบดีอัยการ คุณประเทือง กีรติบุตร ได้ขับรถแวะมาและขอคุยกับท่านเป็นการส่วนตัว พูดคุยซุบซิบกันอยู่คู่หนึ่งท่านก็เดินกลับมาบอกเราว่าท่านจะออกไปข้างนอกและสั่งให้ผมตามท่านไปด้วย เมื่อจะออกรถ ท่านจึงกระซิบบอกให้ขับตามท่านเข้าไปในสนามเสือป่า ผมก็ขับตามท่านเข้าไป

พอไปถึงจึงพบว่ามีทหารเดินกันขวักไขว่ เราถูกนำไปยังห้องห้องหนึ่งซึ่งมี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พล.อ.เสริม ณ นคร พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา และ พล.ร.อ.กวี สิงหะ ส่วนตำรวจก็มี พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น นั่งกันอยู่พร้อมหน้า ได้มีการบอกกล่าวว่าบ้านเมืองกำลังลำบากและคณะทหารกำลังดำเนินการยึดอำนาจ ขณะนั้นได้ส่งกำลังทหารออกไปยึดสถานที่สำคัญๆ แล้ว เวลาประมาณ 18.00 น. จะได้ประกาศให้ประชาชนทราบ ขอให้ฝ่ายพลเรือนซึ่งมีท่านรองสมภพและคุณประเทืองร่วมกันร่างแถลงการณ์และเตรียมการต่างๆ ตามที่จำเป็น ซึ่งท่านรองสมภพก็สั่งให้ผมดำเนินการ

หลังจากที่สอบถามจนได้ความกระจ่างถึงสาเหตุและวัตถุประสงค์ในการยึดอำนาจแล้ว ผมจึงลงมือร่างให้

ในขณะที่กำลังร่างอยู่นั้น ผมรู้สึกถึงอาการผิดปกติขึ้นในห้อง มีการพูดคุยกันเสียงดังขึ้นทุกที ได้ยินเสียง พล.ร.อ.สงัดพูดอย่างฉุนเฉียวว่า ‘ถ้าอย่างนั้นก็เลิกทำ เรียกกลับมาให้หมด แล้วต่างคนต่างกลับบ้าน’ ผมได้ยินดังนั้นก็หยุดทำงานและหันไปดูว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น

ได้ยินเสียงใครคนหนึ่งพูดว่า ‘ใจเย็น…ใจเย็นไว้ก่อน’ และนายทหารผู้ใหญ่หลายคนก็เดินออกจากห้องไป คงเหลือแต่ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ นั่งอยู่ในห้องกับพวกเราฝ่ายพลเรือนเท่านั้น

ผมกระซิบถามคุณประเทืองว่าเกิดอะไรขึ้น ท่านก็กระซิบบอกว่า เกิดมีปัญหากันนิดหน่อยกับกลุ่มทหารหนุ่มๆ ที่ถูกส่งออกไปยึดสถานที่ราชการ โดยนายทหารเหล่านั้นต้องการความแน่ใจว่าเมื่อยึดอำนาจสำเร็จแล้วใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี นัยว่าพวกเขาไม่ต้องการให้ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นนายกรัฐมนตรี

คุณประเทืองกระซิบบอกแล้วก็เดินไปหน้าแท่นบูชาซึ่งมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่หลายองค์และนั่งสวดมนต์พึมพำอยู่ พล.ต.อ.มนต์ชัยก็เดินไปนั่งสวดมนต์เช่นกัน ส่วนรองสมภพนั่งอยู่ห่างๆ

สำหรับผมซึ่งนั่งอยู่หน้าโต๊ะพิมพ์ดีดก็ได้แต่ยกมือกำพระที่ห้อยคออยู่พร้อมกับนึกว่าถ้าจะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องปล่อยให้เกิดไป ที่มาทำงานครั้งนี้ก็เป็นการมาทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา มิได้มีความทะเยอทะยานอะไรในทางการเมืองกับเขาเลย

ประมาณครึ่งชั่วโมงต่อมาบรรดานายทหารที่เดินออกไปก็กลับมาและเชิญ พล.ร.อ.สงัดออกไปด้วย หายกันไปอีกครู่หนึ่งจึงกลับมาพร้อมกัน ผมจึงทำงานของผมต่อไปจนแล้วเสร็จ

หลังจากยึดอำนาจเรียบร้อยแล้วไม่นานได้มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2520 โดยมี พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านรองสมภพได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้วย”

เรื่องเล่าจาก “คนกลาง” มีชัย ฤชุพันธ์ นี้มีจุดน่าสนใจตรง “เกิดมีปัญหากันนิดหน่อยกับกลุ่มทหารหนุ่มๆ ที่ถูกส่งออกไปยึดสถานที่ราชการ โดยนายทหารเหล่านั้นต้องการความแน่ใจว่าเมื่อยึดอำนาจสำเร็จแล้วใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี นัยว่าพวกเขาไม่ต้องการให้ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นนายกรัฐมนตรี”

ขณะที่คนใกล้ชิด พล.ร.อ.สงัด ต่างพูดตรงกันว่า “ครูหงัด” ไม่ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ ‘บุคคลในคณะปฏิรูปฯ บางท่าน’ มีความประสงค์ที่จะขอเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเองเพื่อให้การแก้ไขปัญหาของชาติกระทำได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยที่บุคคลท่านนั้นได้แสดงความประสงค์กับ พล.ร.อ.สงัดอย่างเปิดเผย

งานปฏิวัติไม่ใช่ “งานเย็บปักถักร้อย” จริงๆ

 

ผู้บินเหนือเมฆ

สถานการณ์เมื่อ 20 ตุลาคม 2520 วันลงมือยึดอำนาจจากนายธานินทร์ กรัยวิเชียร นั้น อาจสรุปได้ว่า กำลังที่ลงสู่ท้องถนนเพื่อควบคุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญในกรุงเทพฯ นั้น เป็นบทบาทของคณะทหารหนุ่มทั้งสิ้น

โดยคณะทหารหนุ่มเข้าใจว่า บก.คณะปฏิวัติที่สนามเสือป่า มีหัวหน้าคณะปฏิวัติชื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ตามที่ได้ตกลงรับปากกันไว้

ขณะที่ บก.คณะปฏิวัติที่สนามเสือป่า นายทหารระดับสูงต่างตกลงกันว่า หัวหน้าคณะปฏิวัติชื่อ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่

ความเข้าใจที่ไม่ตรงกันเช่นนี้จึงนำไปสู่ความสับสนโดยเฉพาะจากคณะทหารหนุ่ม จนเกือบจะเกิดการปะทะกันที่สนามเสือป่าอันมีกำลังนาวิกโยธินซึ่งเป็นกองกำลังเพียงหน่วยเดียวของนายทหารระดับสูงเฝ้าระวังอยู่

น่าสนใจว่า บุคคลเดียวที่ทราบสถานการณ์ทั้งสองฝ่ายดีที่สุด ชัดเจนที่สุดคือ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งขาข้างหนึ่งเหยียบอยู่ที่ตำแหน่ง “หัวหน้าคณะปฏิวัติ” ที่รับปากไว้กับคณะทหารหนุ่ม

ขณะที่ขาอีกข้างหนึ่งยังเหยียบอยู่ที่ บก.คณะปฏิวัติ สนามเสือป่า ในตำแหน่ง “เลขาธิการคณะปฏิวัติ” โดยมี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติที่ลงนามในประกาศคณะปฏิวัติฉบับแรกและทุกฉบับในเวลาต่อมา

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงเป็นคนเดียวที่ทราบปัญหาของทั้งสองฝ่ายซึ่งเข้าใจไม่ตรงกันจนเหตุการณ์เกือบบานปลาย และจบลงที่ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะปฏิวัติเพียงตำแหน่งเดียว แต่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

“หัวหน้าคณะปฏิวัติ” กับ “นายกรัฐมนตรี” ตำแหน่งไหนน่าปรารถนามากกว่ากัน?

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เหยียบบาทสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 15 ของประวัติศาสตร์การเมืองไทยเมื่อ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2520 และได้รับสมญาว่า “อินทรีบางเขน” ผู้บินเหนือเมฆ ในเวลาต่อมา