เล่นกีฬา ช่วยให้อายุยืน โกหกน้อยลง สุขภาพดีขึ้น | พิศณุ นิลกลัด

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน | พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

เล่นกีฬา ช่วยให้อายุยืน

โกหกน้อยลง สุขภาพดีขึ้น

 

ปีใหม่ หลายคนตั้งปณิธานทำสิ่งใหม่ๆ มุ่งมั่นทำสิ่งดีๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อสุขภาพ เช่น การเล่นกีฬา ออกกำลังกาย

กีฬามีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยลดน้ำหนักตัว ลดระดับความดันเลือด อีกทั้งทำให้ระบบหัวใจและปอดทำงานได้ดีขึ้น

แต่มีรายงานว่าไม่ใช่กีฬาทุกประเภทจะช่วยให้คนเล่นมีอายุยืนขึ้น

จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) ร่วมกับนักวิจัยจากฟินแลนด์และออสเตรเลีย ติดตามชีวิตคนกว่า 80,000 คน เป็นเวลาเฉลี่ย 9 ปี เพื่อหาคำตอบว่ากีฬาบางประเภทจะช่วยป้องกันการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรได้หรือไม่

พบว่า คนที่เล่นกีฬาประเภทที่ใช้ไม้ตี เช่น เทนนิส แบดมินตัน และปิงปองเป็นประจำอยู่ในกลุ่มที่มีโอกาสเสียชีวิตตลอดช่วงเวลาการสำรวจน้อยที่สุด และลดโอกาสเสี่ยงได้มากกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกายถึง 47%

คนที่ว่ายน้ำสามารถลดโอกาสเสี่ยงจากการเสียชีวิตมากกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกายได้ 28% คนเต้นแอโรบิกลดโอกาสเสี่ยง 27% และคนที่ปั่นจักรยานลดได้ 15%

แต่พบว่า การเล่นกีฬา เช่น ฟุตบอล รักบี้ หรือวิ่ง ไม่ได้ช่วยให้คนเล่นมีอายุยืนมากขึ้นกว่าปกติ

 

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ความแตกต่างอาจเกิดจากลักษณะสังคมที่ต่างกันไปของคนเล่นกีฬาแต่ละประเภท โดยคนที่เล่นกีฬาอย่างเทนนิสและสควอช (Squash) มักจะเป็นสมาชิกของสโมสรกีฬาและได้ทำกิจกรรมที่นอกเหนือจากการเล่นกีฬาร่วมกับสมาชิกคนอื่นๆ

หมายความว่า คนเหล่านี้มีเครือข่ายสังคมที่ใหญ่ อีกทั้งยังสามารถเล่นกีฬาและทำกิจกรรมร่วมกับสโมสรต่อไปได้เมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างยิ่ง

ในทางตรงกันข้าม คนที่เล่นกีฬาประเภททีมอย่างฟุตบอลและรักบี้ในสมัยวัยรุ่น เมื่อสมาชิกในทีมแยกทางไปมีครอบครัวกันหมด หรือตนได้รับบาดเจ็บไม่สามารถเล่นได้อีก ก็มักจะไม่เปลี่ยนไปเล่นกีฬาชนิดอื่น แต่จะกลายเป็นนั่งชมกีฬานั้นอย่างเดียว

อีกทฤษฎีหนึ่งอาจเกิดจากการที่นักกีฬาประเภททีม เช่น ฟุตบอล รักบี้ เจออุปสรรคในการปรับตัวไปเล่นกีฬาชนิดใหม่เมื่อเลิกเล่นกีฬาเก่า อาจเล่นไม่เก่ง หรือไม่มีเพื่อนเล่น ทำให้ไม่สามารถออกกำลังกายได้สม่ำเสมอเหมือนสมัยที่ยังเล่นฟุตบอลหรือรักบี้กับทีม ร่างกายจึงไม่ได้รับประโยชน์อย่างต่อเนื่อง

 

มีงานศึกษาที่น่าสนใจเรื่องประโยชน์ของการขี่จักรยานสำหรับผู้สูงอายุ โดยการศึกษานี้จัดทำโดย King’s College ของประเทศอังกฤษ พบว่า คนสูงอายุระหว่าง 55 ปี ถึง 79 ปีที่ขี่จักรยานเป็นประจำ มีสุขภาพดีกว่าคนรุ่นราวคราวเดียวกันที่ไม่ได้ขี่จักรยานมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

โดยคณะผู้ศึกษาของ King’s College ร่วมกับ University of Birmingham ได้ทำการศึกษาคนสูงอายุที่ขี่จักรยานเป็นประจำ และมีร่างกายฟิตมาก อายุระหว่าง 55 ปี ถึง 79 ปี จำนวน 120 คน แบ่งเป็นผู้หญิง 41 คน และผู้ชาย 84 คน โดยผู้หญิงต้องสามารถขี่จักรยานระยะทาง 60 กิโลเมตร ภายในเวลาไม่เกิน 5 ชั่วโมงครึ่ง ส่วนผู้ชายต้องขี่จักรยาน ระยะทาง 100 กิโลเมตร ให้ได้ภายใน 6 ชั่วโมงครึ่ง

จากนั้น คณะผู้ศึกษาได้ทำการศึกษากลุ่มคนสูงอายุทั้ง 120 คนที่ขี่จักรยานเก่ง ถึงความคล่องแคล่วว่องไวในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันต่างๆ เช่น ยืนขึ้นจากเก้าอี้ หรือเดินเป็นระยะ 3 เมตร ซึ่งหากใช้เวลาเกิน 10 วินาทีในการทำกิจกรรมเหล่านี้ แสดงว่าร่างกายกำลังร่วงโรยแล้ว

แต่สำหรับกลุ่มคนสูงอายุยอดนักขี่จักรยานทั้ง 120 คน สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ที่ทดสอบความคล่องแคล่วว่องไวได้ภายในเวลาไม่ถึง 15 วินาทีได้อย่างสบาย โดยเฉลี่ยแล้วใช้เวลาประมาณ 5 วินาที แม้กระทั่งคนที่อายุ 79 ปี

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า แม้การเสื่อมของร่างกายเป็นเรื่องตามธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย

 

นอกจากนี้ ยังพบว่า การโกหกน้อยลง ช่วยให้สุขภาพดีขึ้น

คณะนักจิตวิทยาแห่งยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ โนเทรอะ ดาม (University of Notre Dame) อเมริกา รายงานผลการศึกษาชื่อ Science of Honesty หรือศาสตร์แห่งความซื่อสัตย์ พบว่า การลดจำนวนการโกหกมีผลดีต่อสุขภาพกายและใจ

โดยเฉลี่ยคนอเมริกันโกหกสัปดาห์ละ 11 ครั้ง

คณะผู้ศึกษาได้ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 110 คน (66% เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย 34% เป็นคนในชุมชน) อายุระหว่าง 18-71 ปี (อายุเฉลี่ยที่ 31 ปี)

จำนวนครึ่งหนึ่งของกลุ่มสำรวจ คณะผู้ศึกษาได้ขอให้พยายามไม่พูดโกหก ไม่ว่าจะเป็นโกหกเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่เป็นเวลา 10 สัปดาห์ ส่วนอีกครึ่งหนึ่ง คณะผู้ศึกษาไม่ได้ขอให้ไม่โกหก

ทุกสัปดาห์ คณะผู้ศึกษาจะทำการตรวจกลุ่มผู้ถูกสำรวจทั้ง 110 คน ด้วยเครื่องจับเท็จ หรือโพลีกราฟ (Polygraph) เพื่อตรวจให้แน่ใจว่าสัปดาห์นั้นๆ โกหกไปกี่หน จากนั้นก็ตรวจสุขภาพด้วย

 

พบว่า กลุ่มผู้ถูกศึกษาที่ได้รับการขอร้องให้โกหกน้อยลง ยิ่งลดการโกหกลงเท่าไหร่ สุขภาพก็ดีขึ้นเท่านั้น เช่น การลดโกหกแบบ White Lie หรือการโกหกด้วยความหวังดี มีเจตนาดี จะช่วยลดอาการปวดหัว เจ็บคอ สภาพจิตใจดีขึ้น ลดความเครียด ลดความรู้สึกหดหู่

คณะผู้ศึกษาวิเคราะห์การโกหกน้อยลงทำให้สุขภาพกายและใจดีขึ้น ว่าเป็นเพราะทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนซื่อสัตย์ และความสัมพันธ์กับคนรอบข้างก็ดีขึ้น

เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นคนดีของตนเอง จึงสุขใจ แล้วส่งผลให้สุขกาย สุขภาพใจดีขึ้นด้วย