“เคยมืดมน ก็สว่างได้ เคยห่างไกลก็ใกล้เคียงขึ้นได้” เรื่องราวการต่อสู้เพื่อพัฒนาสวัสดิการในไทย

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

เมื่อมีการพูดถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมักเต็มไปด้วยความสิ้นหวัง เพราะนอกจากกลุ่มคนมั่งคั่ง ที่มีทรัพย์สินมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง พวกเขายังเกาะเกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจนิยม ซึ่งสะท้อนการไร้ซึ่งอำนาจของประชาชนคนส่วนใหญ่ในสังคม

เมื่อเงื่อนไขเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำมาก การเมืองที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย คนธรรมดาย่อมยากที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาได้

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากที่อื่น มีหลากหลายประเทศที่มีความยากจน มีความเหลื่อมล้ำมาก่อน มีหลายประเทศที่ปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการมายาวนานหลายทศวรรษ ประเทศเหล่านี้ก็ยังสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ประเทศเหล่านี้ยังสามารถที่จะยุติความไม่เท่าเทียมกันได้

แน่นอนที่สุดอาจมีหลายทศวรรษหรือว่านับศตวรรษที่การเปลี่ยนแปลงไม่เกิดขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่เกิดขึ้นในไม่กี่สัปดาห์ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่เคยมีมาได้

เมื่อมองย้อนกลับมาในกรณีของประเทศไทย สิ่งที่เราจะพบก็คือ ประเทศเราเองก็เคยมีช่วงเวลาที่สิ้นหวัง บางครั้งดูยาวนาน เหมือนกับเป็นกาลนิรันดร์

เคยมีช่วงเวลาที่ผู้มีอำนาจ มีอำนาจเบ็ดเสร็จ เมินเฉยต่อความทุกข์ยากของประชาชน แต่ไม่ใช่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะอยู่ตลอดไป

ในบทความนี้ผมจะชวนคิดถึงปรากฏการณ์ที่มีการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศไทย ในวันที่เราอาจคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นไปไม่ได้

 

ปรากฏการณ์แรกผมอยากพาย้อนกลับไปปี พ.ศ.2514 นับจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่หนึ่ง เมื่อหลายปีก่อน ได้มีการถือกำเนิดของมหาวิทยาลัยในภูมิภาคหลายแห่ง การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย กลายเป็นโอกาสในการเลื่อนสถานะของผู้คนในสังคม

ขณะเดียวกันก็ยังเป็นภาพสะท้อนของว่าที่อภิสิทธิ์ชน ที่จะมีโอกาสในการได้รับเครือข่ายและหน้าที่การงานที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อสังคมมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนามากขึ้น การต่อรองของกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่มีความยึดโยงกับประชาชน นำมาสู่การตั้งคำถามว่า เราสามารถมีมหาวิทยาลัยเปิดสำหรับประชาชน ทุกชนชั้นได้หรือไม่

ในทางสากล มหาวิทยาลัยเปิดหรือ Open University ก็ถูกผลักดันสนับสนุนโดยพรรคแรงงานในสหราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน ที่เป็นการเปิดโอกาสให้คนที่อยู่ในวัยทำงาน หรือคนที่ไม่สามารถจัดสรรเวลาในการเรียนในมหาวิทยาลัยแบบปิดได้ สามารถเข้าศึกษาได้ในระดับมหาวิทยาลัย

ในประเทศไทยช่วงนั้นก็มีข้อถกเถียงมากมายในหมู่ชนชั้นนำว่า ถ้าเกิดมหาวิทยาลัยเปิดให้ทุกคนได้เข้าเรียนโดยไม่ต้องสอบเข้า อาจเกิดปัญหาใหญ่ จะสิ้นเปลืองงบประมาณของประเทศ เพราะต้องมาสอนคนที่ไม่ได้ผ่านการคัดเลือก ไม่ได้มีความพร้อม ไม่ได้มีความตั้งใจ แบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยทั่วไป ซึ่งส่วนมากจะเป็นชนชั้นสูง หรือไม่ก็ชนชั้นกลาง หากเป็นชนชั้นล่างก็ต้องผ่านการคัดกรองอย่างเข้มงวด เพื่อให้ได้มีอภิสิทธิ์ในการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย

แม้จะมีข้อถกเถียงและการกีดขวางมากมาย แต่ในที่สุดมหาวิทยาลัยรามคำแหงก็ถูกก่อตั้งขึ้น ค่าเรียนในมหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่เกินหนึ่งพันบาทต่อปีการศึกษา ในช่วงเวลานั้น ซึ่งนับว่าถูกกว่ามหาวิทยาลัยรัฐในช่วงเวลาเดียวกันหลายเท่านัก

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยรามคำแหงยังคงมีค่าเทอมเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณปีการศึกษาไม่เกินสองพันบาท ขณะที่ค่าเทอมในมหาวิทยาลัยรัฐ หลักสูตรปกติสูงถึงหนึ่งหมื่นห้าพันบาทหรือสองหมื่นบาทแล้วแต่สาขา

มหาวิทยาลัยรามคำแหงเปิดโอกาสให้ทุกคนทุกชนชั้นที่ต้องการเรียนหนังสือสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องสอบเข้า

ซึ่งพบว่าแม้มหาวิทยาลัยรามคำแหงจะไม่ได้สมบูรณ์ที่สุดในเรื่องของคุณภาพการศึกษา แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้มีส่วนในการเพิ่มโอกาสมากมายแก่คนในสังคม

และเปลี่ยนมโนทัศน์สังคมไทยเกี่ยวกับการศึกษาระดับสูงไปไม่น้อย

 

อีกปรากฏการณ์หนึ่ง คือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งถูกผลักดันโดยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยปี พ.ศ.2544 ผมมีโอกาสสนทนากับผู้กำหนดนโยบายในช่วงเวลานั้น

เรื่องที่น่าสนใจคือเมื่อมีการทำโพลว่า นโยบายใดเป็นนโยบายที่ประชาชนต้องการที่สุดสำหรับการเลือกตั้ง นโยบายส่วนมากก็จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับค่าแรง แล้วก็การพักหนี้ ไม่มีเรื่องการรักษาพยาบาลติดมาอยู่ในผลสำรวจว่าเป็นนโยบายสำคัญอันดับต้นๆ เลย

เป็นเรื่องที่น่าสนใจแม้ว่าคนไทยในช่วงเวลานั้น กว่าเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ เลย สิทธิ์การรักษาพยาบาลจำเพาะอยู่ที่กลุ่มข้าราชการ และกลุ่มแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมก็เพิ่งเริ่มต้นนี้ได้สิทธิ์การรักษาพยาบาลเมื่อไม่นานมาก่อนหน้านั้น ไม่ต้องพูดถึงกลุ่มคนที่มีความสามารถในการซื้อประกันเอกชนก็นับว่ามีเพียงแค่หยิบมือเดียว

ไม่มีจินตนาการในหมู่คนส่วนใหญ่ได้เลยว่า การรักษาพยาบาลจะเป็นสิ่งที่ฟรีได้สำหรับทุกคน เราจะสามารถรักษามะเร็ง ผ่าตัดหัวใจได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ย้อนกลับไปยี่สิบกว่าปีก่อน การรักษามะเร็ง หัวใจ หรือการผ่าตัดใหญ่ ถือเป็นความหรูหราอย่างมากที่คนส่วนใหญ่ไม่อาจจะเข้าถึง

ภายใต้การผลักดันของภาคประชาชน ซึ่งได้รับการขานรับจากพรรคการเมือง นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถูกผลักดันขึ้น โดยใช้งบประมาณหลักหมื่นล้านบาทในปีแรกเท่านั้น โดยมีการนำร่องในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ก่อนที่จะถูกขานรับและนำไปปรับใช้ทั้งประเทศ

จากการรักษาได้เพียงแค่การรักษาในระดับปฐมภูมิก็ขยายตัวสู่การรักษาที่มีความซับซ้อนและค่าใช้จ่ายที่สูง

ปัจจุบันงบประมาณหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่ที่เกือบสองแสนล้านบาทต่อปี ผู้คนมากกว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ได้ใช้บริการจากภาครัฐเลย แต่มีผู้คนประมาณสามหมื่นคนต่อปี ที่ต้องใช้บริการแทบทุกเดือนและมีค่าใช้จ่ายมากกว่าปีละหนึ่งล้านบาท

ระบบนี้จึงเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เพื่อป้องกันการล้มละลายจากการเจ็บป่วยของผู้คน

ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ปรับเปลี่ยนลักษณะสำคัญของสังคมไทยหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการที่คนรุ่นใหม่สามารถมีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น พ่อหมดห่วงจากสุขภาพของพ่อแม่

ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้เกิดการตื่นตัวว่าด้วยจิตสำนึกทางการเมือง ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองในอีกหลายทศวรรษถัดมาเช่นเดียวกัน

 

ตัวอย่างที่ผมได้ยกมาเพียงแค่สองตัวอย่างเบื้องต้น ที่ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะเคยเผชิญกับภาวะที่มองดูแล้วสิ้นหวังไม่สามารถมีการเปลี่ยนแปลงได้

แต่การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น

บางครั้งอาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย แต่บ่อยครั้งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และครั้งสำคัญเริ่มต้นขึ้นจากเวทีเล็กๆ นำสู่การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างมากมายโดยที่ไม่สามารถที่จะย้อนกลับให้กลายเป็นแบบเดิมได้

ในปีใหม่ที่จะมาถึง ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นอีกปีของการต่อสู้

เป็นอีกปีของความหวัง

เป็นอีกปีที่เราจะพ้นจากความเหลื่อมล้ำและสามารถสร้างสังคมใหม่ที่เสมอภาคสำหรับทุกคนได้ในท้ายสุด